ความรู้จัก ปูนกาว หรือกาวซีเมนต์ คืออะไร?

กาวซีเมนต์ หรือนิยมเรียกกันว่าปูนกาว เป็นซีเมนต์ผสมสารยึดเกาะ มีการยึดเกาะกับพื้นผิวได้ดีกว่าปูนกระเบื้องแบบเก่าที่ใช้ปูนทราย ไม่จำเป็นต้องนำกระเบื้องแช่น้ำก่อนการปูให้เสียเวลา กาวซีเมนต์หรือปูนกาว สามารถปูกระเบื้องได้ทุกพื้นผิว ทั้งผิวมันวาว หรือแม้แต่ปูทับกระเบื้องเดิม แม้แต่กระเบื้องแผ่นใหญ่อย่างแกรนิตโต้ หรือกระเบื้องเล็ก ๆ อย่างโมเสก 

ประเภทของปูนกาวหรือกาวซีเมนต์

ปูนกาวหรือกาวซีเมนต์ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  • ปูนกาวซีเมนต์แบบผง

เหมาะสำหรับงานติดตั้งกระเบื้องที่มีขนาดใหญ่ เช่น การปูกระเบื้องแกรนิตโต้ หรือหินอ่อน ที่มีขนาดตั้งแต่ 16 × 16 นิ้วขึ้นไป ปูนกาวซีเมนต์แบบผง ไม่นิยมนำมาใช้กับกระเบื้องขนาดเล็ก ข้อจำกัดของปูนกาวซีเมนต์แบบผง คือการใช้งานที่ยุ่งยาก ผสมยาก แห้งไว ทำให้แนวกระเบื้องที่จัดไม่สวยเท่าที่ควร

  • ปูนกาวซีเมนต์สำเร็จรูป

ปูนประเภทนี้ถูกผสมมาแล้ว ใช้งานง่าย ซื้อมาเป็นถังเปิดฝาแล้วใช้ได้เลย เหมาะสำหรับงานกระเบื้องที่มีขนาดเล็ก ส่วนมากมักไม่เกิน 16 × 16 นิ้ว 

210527-Content-ปูนกาวหรือกาวซีเมนต์-ใช้งานอย่างไรจึงจะเหมาะสม02

ปูนกาวทั้ง 2 ชนิดนี้ เหมาะกับงานกระเบื้องที่แตกต่างกัน ผู้ใช้ควรเลือกให้เหมาะสมกับงาน โดยคำนึงถึงรายละเอียด ดังนี้

  1. ตรวจสอบดูว่าเป็นงานภายในอาคาร หรือภายนอกอาคาร
  2. ตรวจสอบประเภทของกระเบื้องที่จะติดตั้งว่า เป็นกระเบื้องเซรามิก ดินเผา หิน หรือโมเสก
  3. ตรวจสอบขนาดของกระเบื้องที่จะติดตั้งว่า มีขนาดเล็ก หรือใหญ่
  4. ตรวจสอบความเปียกชื้นในพื้นที่ที่จะใช้งาน

เลือกใช้ปูนกาว หรือกาวซีเมนต์

  • กระเบื้องขนาดเล็กไม่เกิน 30 × 30 เซนติเมตร ด้วย กระเบื้องที่มีขนาดเล็ก ทำให้ปูได้ง่าย แต่จำนวนแผ่นกระเบื้องมีปริมาณมาก เป็นงานที่ต้องการความเร็วสูง จำเป็นต้องใช้กาวซีเมนต์ที่มีความแห้งตัวเร็ว 
  • กระเบื้องเซรามิกขนาดกลาง ที่ใช้ปูพื้นภายใน และภายนอกอาคาร ผนังฉาบ, ปูผนังคอนกรีต, พื้นเทปรับระดับ และพื้นคอนกรีต สำหรับขนาดกระเบื้องไม่เกิน 60 × 60 เซนติเมตร ควรใช้กาวซีเมนต์ หรือปูนกาวที่ผสมสารเยอะยึดเกาะพิเศษ ทำให้มีแรงยึดเกาะระหว่างพื้นผิว และกระเบื้องสูง 
  • กระเบื้องเซรามิกขนาดใหญ่ และแกรนิตโต้ ขนาดสูงสุด 90 × 90 เซนติเมตร ซึ่งจะมีน้ำหนักมากกว่าแผ่นกระเบื้องทั่วไป ควรใช้กาวซีเมนต์ ที่ผสมเพิ่มทำให้แห้งตัวช้า เพื่อจะได้มีเวลาในการปรับแต่งกระเบื้องได้
  • สำหรับพื้นผิวที่จะใช้ปูกระเบื้อง เช่น พื้นผิวปูนซีเมนต์, พื้นผิวกระเบื้องเก่า, พื้นผิวซีเมนต์บอร์ด หรือปูทับพื้นผิวกระเบื้องเดิม ซึ่งพื้นผิวแต่ละชนิด ต้องใช้ปูนกาวที่มีความเหนียวแตกต่างกัน
  • งานปูกระเบื้องห้องน้ำ สระน้ำ นิยมใช้กระเบื้องโมเสกแก้ว แนะนำให้เลือกใช้กาวซีเมนต์ ที่ออกแบบมาเพื่องานปูกระเบื้องโมเสกโดยเฉพาะ

ประโยชน์ของการใช้ปูนกาว หรือกาวซีเมนต์

  1. ง่ายต่อการใช้งาน
  2. มีฝุ่นปูนน้อยกว่าปูนซีเมนต์ทั่ว ๆ ไป เหมาะสำหรับปูในบ้านได้
  3. ไม่ต้องเอากระเบื้องไปจุ่มน้ำก่อน แค่แกะกระเบื้องออกมา ก็เอาไปวางบนปูนกาวที่เตรียมไว้ได้เลย
  4. สามารถใช้กับการปูกระเบื้องได้หลายรูปแบบ เช่น การปูกระเบื้องแก้ว แกรนิตโต้

ข้อควรรู้ : อย่าลืมหาแผ่นกระดาษ หรือแผ่นพลาสติกมาปูพื้นที่ใช้ผสมปูนกาวด้วย เพราะปูนอาจทำให้พื้นเปื้อน และขัดไม่ออกได้

ตารางเปรียบเทียบ ปูนกาว VS ปูนซีเมนต์ ในการปูกระเบื้อง

ข้อดี ข้อเสีย

ปูนกาว หรือ
กาวซีเมนต์

  • ใช้งานได้เร็วและมีประสิทธิภาพ
  • ใช้งานง่าย ผสมน้ำอย่างเดียว
  • ยึดติดกระเบื้องได้ดีกว่า
  • ใช้งานได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังปูกระเบื้อง
  • สามารถปูได้หลายพื้นผิว
  • ฉาบปูนกาวได้บางกว่า ไม่ทำให้ระดับพื้นเสีย
  • ราคาต่อถุงค่อนข้างสูง
  • ต้องคำนวณความสูงของพื้นผิวดี ๆ

ปูนซีเมนต์

  • ราคาถูก
  • สามารถปรับระดับความสูงของพื้นผิว ในขณะปูได้เลย
  • ใช้เวลานานในการปู
  • กระเบื้องต้องเปียก และอาจมีคราบได้
  • อาจเกิดเชื้อราใต้กระเบื้องเพราะชื้น
  • กระเบื้องหลุดร่อนได้ง่าย
  • ใช้กับกระเบื้องขนาดเล็กเท่านั้น
  • มีข้อจำกัดในการปูในหลายพื้นผิว
  • ไม่สามารถใช้กับกระเบื้องแก้วได้

???? ทำไม ถึงไม่เอาปูนซีเมนต์ มาใช้ปูกระเบื้อง?

ปูนซีเมนต์ทั่ว ๆ ไป นิยมใช้ในงานฉาบ, งานเท, งานก่อสร้าง, งานซ่อมทั่ว ๆ ไป และไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการปูกระเบื้อง ซึ่งการออกแบบนั้นสำคัญมาก เพราะเมื่อมันไม่ได้ถูกออกแบบมาไว้ใช้ปูกระเบื้อง เหมือนปูนกาว การที่จะทำให้กระเบื้องยึดติดกับเนื้อปูนนั้น ทำได้ไม่ดี นั่นเอง

210527-Content-ปูนกาวหรือกาวซีเมนต์-ใช้งานอย่างไรจึงจะเหมาะสม03

ทิ้งท้ายสักนิด! สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ในการใช้งานปูนกาว : ควรเริ่มต้นผสมปูนกาวกับน้ำแบบน้อย ๆ ซะก่อน โดยอาจใช้น้ำประมาณ 1 ลิตร ผสมจนปูนเริ่มเหนียวดี หลายคนอาจจะสงสัยว่า จะใช้น้ำอัตราส่วนเท่าไหร่ หรือจะใช้ปูนจำนวนเท่าไหร่ จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้มีสูตรสำเร็จ และมันอาศัยประสบการณ์ เท่านั้น และควรมีผ้าปิดจมูกระหว่างการผสมปูนด้วย เพราะอาจมีฝุ่นปูนฟุ้งออกมาได้ ????????