รู้จัก ประเภทของหลอดไฟ มีกี่แบบ ใช้งานอย่างไรบ้าง?

“หลอดไฟ” ???? เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทุกคนคุ้นเคยกัน ตัวช่วยส่องแสงสว่างในตอนกลางคืน ที่ทุก ๆ บ้านจะต้องมีกันอย่างแน่นอน บทความนี้ KACHA จะพาไปรู้จักกับ ประเภทหลอดไฟ หลายชนิดหลายขนาดให้เลือกใช้ ว่าแต่จะมีอะไรกันบ้างนั้น ตามไปดูกัน

ประเภทของหลอดไฟ

ในปัจจุบันประเทศเรา มีการใช้หลอดไฟมากมายหลายประเภทไปตามยุคตามสมัย บางชนิดนิยมใช้มาเป็นระยะเวลายาวนาน บางชนิดเช่น หลอด LED ก็เพิ่งมานิยมใช้งานเมื่อไม่กี่ปี  และเนื่องจากมีการพัฒนานวัตกรรมมากมายเกี่ยวกับด้านการประหยัดพลังงาน จนกลายมาเป็น หลอด LED ล่าสุดที่นิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั่นเอง

  • หลอดไส้ (Incandescent Lamp) เป็นหลอดไฟที่มีการใช้งานมานานมาก มีอีกชื่อที่เรียก คือหลอดดวงเทียน เพราะมีแสงแดง ๆ คล้ายแสงเทียน หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับหลอดชนิดนี้กันเป็นอย่างดี มีทั้งชนิดแบบแก้ว และฝ้า ไส้หลอดทำมาจากทังสเตนให้ความร้อนสูง หลักการทำงาน คือ กระแสไฟฟ้าจะผ่านไส้หลอดเปลี่ยนจากพลังงานไฟฟ้าเป็นความร้อน เมื่อไส้หลอดร้อนจะเปล่งแสงออกมา หลอดไส้นั้นมีข้อเสีย คือ เมื่อมีความร้อนสะสมมาก ๆ อายุการใช้งานจะยิ่งสั้นลง โดยกินไฟมาก เนื่องจากสูญเสียไปกับความร้อนที่เกิดขึ้น
210629-Content-ประเภทของหลอดไฟ-มีอะไรบ้าง-ใช้งานต่างกันอย่างไร02
  • หลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent tube) หรือหลอดเรืองแสง ให้แสงสว่างมากกว่าหลอดไส้ถึง 5 เท่า อายุการใช้งานนานกว่าหลอดไส้ประมาณ 7-8 เท่าตัว โดยตัวหลอดมีไส้โลหะทังสเตนติดอยู่ที่ปลายทั้ง 2 ข้าง ของหลอด ผิวภายในฉาบด้วยสารเรืองแสง โดยมีการใส่ไอปรอทไว้เล็กน้อย หลักการทำงาน คือ เมื่อกระแสไฟฟ้าใหลผ่านปรอท จะคายพลังงานในรูปแบบรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อกระทบสารเรืองแสงที่ฉาบไว้ หลอดก็จะเปล่งแสงออกมา อายุการใช้งานมีตั้งแต่ 6000 ถึง 20000 ชั่วโมง
  • หลอดฮาโลเจน (Halogen) พัฒนามาจากหลอดไส้ ที่ใช้ก๊าซฮาโลเจนบรรจุภายใน ทำให้ทนทานกว่าหลอดไส้ปกติ ให้ค่าความถูกต้องของสีถึง 100 % มักใช้กับพื้นที่ที่ต้องการแสงสว่างเป็นพิเศษ เช่น พื้นที่งานแสดงสินค้า มุมอับของบ้านห้องทำงาน อายุการใช้งาน 1500-3000 ชั่วโมง
210629-Content-ประเภทของหลอดไฟ-มีอะไรบ้าง-ใช้งานต่างกันอย่างไร03
  • หลอดเมทัลฮาไลด์ (Metal halide) เป็นหลอดที่จัดอยู่ในกลุ่มให้ความเข้มแสงสูง หลักการทำงาน คือ Arc ไฟฟ้าวิ่งผ่านก๊าซในโคมไฟ หลอด arc ที่มีขนาดเล็ก จะผสมกับแรงดันสูงของอาร์กอน ปรอท และความหลากหลายของโลหะผสมกัน ทำให้เกิดสีสันต่าง ๆ ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการแตกตัวของปรอท และไอโลหะที่ผลิตไฟนี้ จะทำให้ อุณหภูมิ และความดันเพิ่มขึ้น หลอดเมทัลฮาไลด์ จึงทำงานภายใต้ความดัน และอุณหภูมิสูง ส่วนใหญ่จะใช้ส่องสว่างในสนามกีฬา ใช้เป็นไฟสาดอาคาร เพื่อเน้นความสวยงาม โดยมีอายุการใช้งานถึง 24000 ชั่วโมง
  • หลอดแสงจันทร์ หรือ หลอดไฟไอปรอท หลอดประเภทนี้ ทำงานด้วยการปล่อยประจุความเข้มข้นสูง หลักการทำงาน คือ ใช้ไฟฟ้าแรงสูงกระโดดผ่านไอปรอทที่อยู่ภายในหลอด เพื่อให้เกิดแสงสว่าง มีอายุการใช้งานประมาณ 24000 ชั่วโมง มีค่าความถูกต้องของสีค่อนข้างต่ำ ให้แสงสีขาวค่อนข้างเข้ม แสงจะออกนวลมีปริมาณแสงสว่างต่อวัตต์สูงกว่าหลอดชนิดอื่น ๆ แสงส่องสว่างได้ไกลเหมาะกับ โรงงาน โกดังสินค้า สนามกีฬา
  • หลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดตะเกียบ มีการทำงานคล้ายหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา คือ”หลอดตะเกียบ” ซึ่งมีแบบที่บัลลาสต์ในตัว และแบบอยู่ภายนอก มีรูปร่างที่หลากหลาย เช่น แบบเกลียว แบบหลอด แบบหลอดสี่แถวเป็นต้น โดยจะมีอายุการใช้งานที่มากกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์
210629-Content-ประเภทของหลอดไฟ-มีอะไรบ้าง-ใช้งานต่างกันอย่างไร05
  • หลอด LED โดยหลอดไฟ LED ถือว่าได้รับการพัฒนามาจากเทคโนโลยีในยุคใหม่ ๆ หลักการทำงานจะต่างจากหลอดทั่ว ๆ ไป โดยแสงสว่างเกิดขึ้นจากการเคลื่อนของอิเล็กตรอนภายในสารกึ่งตัวนำหลอด LED ลดจุดด้อยต่าง ๆ ของหลอดไฟที่ผ่านมา เช่น เรื่องความร้อน เนื่องจากไม่มีการเผาไส้หลอด มีอายุการใช้งานที่นาน 50000 ชั่วโมง ใช้ Watt น้อยแต่ให้แสงสว่างมากกว่า ถนอมสายตา เนื่องจาก มีการกระพริบของหลอดน้อยมาก ไม่มีสาร UV ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โทนสีของแสง เป็นอย่างไร?

หากสังเกตให้ดี จะพบว่าแสงที่สว่างออกมาจากหลอดไฟแต่ละดวงนั้น มีโทนสีที่แตกต่างกัน และแต่ละโทนก็ให้ความรู้สึกทางอารมณ์ และสร้างบรรยากาศให้ห้องนั้น ๆ เป็นไปในทิศทางที่ต่างกัน และยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการมองเห็นด้วย

สีของแสง หรือเรียกอีกอย่างว่า อุณหภูมิสี (Color Temperature) มีหน่วยเป็นเคลวิน (Kelvin) คือ ค่าที่บอกเราว่าแสงที่ได้มีความขาวบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน ถ้าหลอดไฟมีค่าอุณหภูมิสีของแสงน้อย แสงที่ได้จะออกมาในโทนสีเหลือง แต่ถ้าค่าอุณหภูมิสีของแสงสูงขึ้น แสงที่ได้จะออกมาในโทนสีขาว หรือสีขาวอมฟ้า ซึ่งหลอดไฟที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปมีให้เลือกอยู่ 3 โทนสีหลัก คือ

  • หลอดไฟ Warm White มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 2,500-3,300 เคลวิน ให้แสงในโทนส้ม ทำให้รู้สึกถึงความอบอุ่น ผ่อนคลาย เป็นกันเอง เหมาะนำไปใช้ในห้องนอน ห้องรับแขก ห้องน้ำ หรือมุมอ่านหนังสือในตอนกลางคืน แต่แสง Warm White จะทำให้สีที่สะท้อนกลับมาผิดเพี้ยนไม่ตรงตามจริงได้ เช่น เห็นเสื้อสีขาวเป็นสีนวล จึงควรระมัดระวัง หากติดตั้งในบริเวณที่มีกิจกรรมที่ต้องการเห็นค่าสีของวัตถุที่ถูกต้อง
  • หลอดไฟ Cool White มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 4,000 เคลวิน แสงจะออกมาทางสีขาว เป็นสีโทนเย็น ดูแล้วสบายตา นิยมใช้กันในร้านค้าต่าง ๆ เพื่อช่วยให้สีสันของสินค้าดูสดใสกว่าความเป็นจริง
  • หลอดไฟ Daylight มีอุณหภูมิสีอยู่ที่ 6,000-6,500 เคลวิน ถือเป็นสีมาตรฐานที่นิยมใช้มากที่สุด เพราะให้สีใกล้เคียงกับแสงอาทิตย์ จึงไม่ทำให้สีของวัตถุที่สะท้อนกลับมาผิดเพี้ยน หรือหลอกตา แสง Daylight สามารถใช้ได้กับทุกที่ที่ต้องการความสว่างสดใส ช่วยกระตุ้นร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า สดชื่น

การใช้งานของทั้ง 3 โทนสีนี้ ยังสามารถผสมผสานรวมกัน เพื่อไม่ให้โทนสีใดสีหนึ่งเด่นเกินไปได้อีกด้วย เช่น ใช้หลอดไฟ Warm White และ Cool White ในห้องทานข้าว จะช่วยให้บรรยากาศดูอ่อนโยน ในขณะที่อาหารก็ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น หรือใช้หลอดไฟ Warm White เพื่อเน้นเฟอร์นิเจอร์ให้ดูโดดเด่นท่ามกลางแสง Daylight เป็นต้น

เลือกหลอดไฟแบบไหนประหยัดที่สุด

หลอดไฟเป็นอุปกรณ์ที่มีอายุ หรือรอบการใช้งาน เมื่อเสื่อมสภาพก็ต้องซื้อหลอดใหม่มาเปลี่ยน ดังนั้น หากจะพูดถึงความประหยัดหรือความคุ้มค่าแล้วนั้น นอกจากพลังงานที่ใช้คงต้องนำเรื่องของอายุการใช้งานมาเป็นส่วนประกอบด้วย รวมไปถึงราคาและการให้ความสว่าง

หลอดไฟที่ประหยัด และคุ้มค่าที่สุดในปัจจุบัน คงต้องยกให้หลอดไฟแอลอีดี (LED) ในสมัยที่หลอดไปแอลอีดีถูกคิดค้นขึ้นมาแรก ๆ มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้คนไม่นิยมเลือกใช้ถึงแม้ว่าจะมีอายุการใช้งานนานกว่าหลอดไฟแบบอื่น ๆ แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้หลอดไฟแอลอีดี (LED) มีราคาที่ถูกลง ไม่ต่างจากหลอดประเภทอื่นมากนัก

นอกจากเรื่องของราคาที่ไม่แตกต่างจากหลอดไฟแบบอื่น ๆ มาก หลอดไฟแบบแอลอีดี (LED) ยังประหยัดพลังงานได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับหลอดไฟแบบหลอดไส้ และประหยัดพลังงานมากกว่าหลอดตะเกียบถึง 40% แถมอายุการใช้งานมากกว่าหลอดไฟแบบหลอดไส้ถึง 15 เท่า

ข้อดีของหลอดไฟแอลอีดี (LED) เมื่อเทียบกับแบบอื่น ๆ คือ เป็นหลอดไฟที่ไม่ปล่อยรังสียูวี ทำให้ปลอดภัยต่อผิวของเรา รวมทั้งให้แสงสว่างที่ถูกต้อง ชัดเจน ทำให้สีวัตถุไม่เพี้ยน และบางรุ่นก็สามารถปรับโทนสีได้ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะถูกพัฒนาให้ใช้พลังงานน้อยลงเรื่อย ๆ อีกด้วย

210629-Content-ประเภทของหลอดไฟ-มีอะไรบ้าง-ใช้งานต่างกันอย่างไร06

เลือกหลอดไฟต้องดูอะไรบ้าง?

หลาย ๆ คนมักเข้าใจผิดว่าการจะเลือกหลอดไฟให้ดูที่วัตต์ ยิ่งวัตต์มากยิ่งสว่าง แต่จริง ๆ แล้ววัตต์เป็นหน่วยของพลังงานที่ใช้ ยิ่งมากแปลว่ายิ่งกินไฟ การที่เราจะเลือกหลอดไฟมาใช้มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เราต้องนำมาพิจารณาอยู่หลายตัวด้วยกัน

  1. ค่าพลังงาน: มีหน่วยเป็นวัตต์ที่เราเห็นบนกล่องหลอดไฟ เป็นค่าพลังงานที่ใช้ ยิ่งวัตต์สูง ยิ่งทำให้ใช้ไฟฟ้ามากตามไปด้วย
  2. ค่าฟลักซ์แสงสว่าง: มีหน่วยเป็นลูเมน (Lumen) เป็นหน่วยวัดความสว่างของแสงที่เปล่งออกมา ยิ่งมากแสดงว่าหลอดไฟดวงนี้ให้แสงสว่างมาก
  3. ค่าประสิทธิภาพ: หรือเรียกว่า Efficacy เป็นการนำค่าแสงสว่าง (ลูเมน) มาหารด้วยค่าพลังงาน (วัตต์) ค่าที่ออกมา แปลได้ว่า หลอดไฟหลอดนี้ใช้พลังงาน 1 วัตต์ ให้แสงสว่างกี่ลูเมน ยิ่งสูงแปลว่า 1 วัตต์ให้แสงสว่างเยอะ ทำให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

นอกจากเลือก หลอดไฟ ประเภทหลอดไฟ และโทนสีของแสงหลอดไฟแล้ว เรายังจำเป็นต้องพิจารณาถึงกำลังในการกินไฟ หรือที่เรียกว่าจำนวนวัตต์ (Watt หรือ W) ให้เหมาะสมเพื่อที่จะใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและประหยัดค่าไฟในอนาคต เพราะยิ่งวัตต์มาก แสงที่ได้ก็สว่างมาก และกินไฟมากด้วยเช่นกัน รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมเลือกซื้อหลอดไฟให้ตรงตามความต้องการและการใช้งานด้วย

สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย