ไขข้อสงสัย กรวดล้าง ทรายล้าง คืออะไร? มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?
เชื่อว่าหลายคนคงเคยคุ้นหูกันมาบ้าง เมื่อเวลาจะทำพื้นตรงบริเวณนอกบ้าน ลานจอดรถ พื้นที่รอบสระว่ายน้ำ หรือพื้นที่เปียกต่าง ๆ ช่างก็มักจะแนะนำกันมาว่า “ทำพื้น กรวดล้าง ทรายล้าง ไหม?” ซึ่งเราจะนึกภาพออกว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าให้มาเลือกว่าจะใช้วัสดุไหน? สีแบบไหน? ขนาดเท่าไหร่? ก็คงนึกไม่ออก KACHA จึงจะพาไปรู้จักวัสดุ กรวดล้าง ทรายล้าง ที่นำมาใช้ ความแตกต่าง ข้อดี ข้อเสีย รวมไปถึงการนำมาใช้งานจะเป็นอย่างไร? ตามไปดูกัน
กรวดล้างทรายล้าง คืออะไร?
หิน กรวด ทราย นำมาผสมกับปูนซีเมนต์ขาว แล้วนำมาปูพื้น หรือฉาบผนัง และทำการล้างคราบซีเมนต์ออก เพื่อเผยให้เห็นผิวสัมผัสของหินธรรมชาติ สามารถเลือกขนาดหินได้ตามต้องการ โดยเบอร์หินยิ่งมาก ขนาดหินยิ่งเล็ก ซึ่งปกติแล้วถ้านำมาใช้สำหรับงานพื้น จะอยู่ที่เบอร์ 5 ส่วน สำหรับงานผนัง จะอยู่ที่เบอร์ 6 นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามเข้าไปด้วยอย่าง สีผสมซีเมนต์ เปลือกหอย หรือเศษกระจก การใช้งานหลายบ้าน นิยมนำมาใช้ภายนอก เพราะด้วยพื้นผิวมีสัมผัสที่หยาบกันลื่นได้ดี จึงเหมาะกับการนำมาใช้ตรงบริเวณพื้นที่เปียก หรือลานจอดรถนั่นเอง
กรวดล้างทรายล้าง มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร?
ข้อดี | ข้อเสีย |
---|---|
มีความแข็งแกร่ง ทนทาน ผิวสัมผัสที่หยาบ ป้องกันการลื่นได้ดี สามารถสร้างสรรค์ลวดลาย และสีสันให้ดูเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ไม่จำกัด อีกทั้งลวดลายขนาดใหญ่ได้ต่อเนื่องอีกด้วย | เนื่องจากกรวดล้าง ทรายล้างมีร่องมาก จึงยากต่อการทำความสะอาด เพราะเชื้อรา ตะไคร่น้ำ หรือมีของเหลวบางชนิดหกใส่ เช่น น้ำมันเครื่อง จะเกิดคราบสกปรกฝังตัวลึกทำให้ดูเก่าเร็ว |
กรวดล้างกับทรายล้าง แตกต่างกันอย่างไร?
ทั้ง 2 ประเภทนี้ มีขั้นตอนการทำเหมือนกัน จะต่างกันที่วัสดุตั้งต้น เช่น ทรายเม็ด หรือหินกรวด
- กรวดล้าง มีแหล่งที่มาจากทะเล รูปทรงมีลักษณะก้อนกลมมน และสีที่แตกต่างกันหลากหลายสี เช่น น้ำตาลนวล, เหลืองเข้ม, เหลืองอ่อน, เขา, เทา, ดำ
- ทรายล้าง มีแหล่งที่มาจากน้ำจืด รูปทรงมีลักษณะเป็นเกร็ดละเอียด มีขนาด และสีให้เลือกใช้เพียงแบบเดียว คือ สีน้ำตาลแดงเหมือนทรายทั่วไป
ข้อควรรู้ก่อนทำ กรวดล้างทรายล้าง
- ขั้นตอนล้างคราบซีเมนต์ ให้นำกรดเกลือมาผสมให้เจือจาง แล้วเทล้างคราบปูนซีเมนต์บนทรายล้างให้ดูสีสันสดใสสวยงาม หากไม่ผสมให้เจือจาง จะทำให้ปูนซีเมนต์ และทรายล้างหลุดออกเยอะ จากนั้น ควรเคลือบผิวด้วยน้ำยาป้องกันตะไคร่น้ำ และเชื้อรา รวมถึงสิ่งสกปรกต่าง ๆ และไม่ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์เป็นกรด
- เมื่อทำลวดลายรูปแบบไหน ขนาดไหนก็ตาม ทั้งพื้น และผนัง ควรมีเส้นแบ่งพื้นที่ที่ทำจากวัสดุทองเหลือง อะลูมิเนียม หรือพีวีซี (PVC) เพราะเวลาเกิดรอยร้าวนั้น จะเกิดตามเส้นที่แบ่งไว้ เวลาซ่อมแซม ก็จะซ่อมเฉพาะบริเวณที่เสียหายตามพื้นที่ที่แบ่งไว้ ง่ายต่อการทำงานมากขึ้น
จะทำพื้นกรวดล้างทรายล้าง ต้องมีงบประมาณเท่าไหร่?
ราคากรวดล้างทรายล้าง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณหินล้าง ปริมาณทรายล้าง และชนิดของหินล้างที่เลือกใช้ โดยการทำนั้น จะรวมเหมาค่าแรงเพียงอย่างเดียว หรือรวมเหมาค่าแรง+ค่าของ ขึ้นอยู่กับการคุยตกลงกัน โดยราคาจะอยู่ที่ประมาณ 180-600 บาทต่อตารางเมตร
5 ขั้นตอนการทำพื้นทรายล้าง มีอะไรบ้าง?
1. ขั้นเตรียมงานและตรวจแบบพื้นทรายล้าง
การเตรียมพร้อมก่อนเริ่มงาน ให้ขอผู้รับเหมาดูแบบที่เขียนมาแล้วเทียบกับสถานที่จริงว่ามีระยะต่าง ๆ ถูกต้อง ลวดลายการแบ่งช่องเป็นไปตามที่ต้องการ รวมทั้งดูสเปควัสดุที่ระบุในแบบกับทราย หรือหินกรวดที่ผู้รับเหมาซื้อมาว่าตรงกัน ถ้าทุกอย่างถูกต้องแล้ว ถึงอนุมัติให้ผู้รับเหมาเริ่มงานได้
2. ขั้นเตรียมพื้นที่ก่อนเททรายล้าง
การเตรียมพื้นที่ก่อนการเทพื้นทรายล้าง ให้ปรับระดับของพื้นให้เรียบด้วยปูนผสมกับทรายในอัตรา 1 ต่อ 1 หนาประมาณ 3-4 เซนติเมตร แล้วจึงทำการแบ่งพื้นที่ที่จะเททรายล้างออกเป็นช่องเล็ก ๆ โดยไม่ควรเกินช่องละ 4 ตารางเมตร เพื่อป้องกันการแตกร้าว ถ้าใช้กระเบื้องเป็นตัวกั้นขอบหรือตัวแบ่งช่อง ให้ติดกระเบื้องให้เรียบร้อยก่อน ทิ้งไว้ 1-2 วันให้ปูนแข็งตัว ก่อนจะเทพื้นทรายล้าง นอกจากนี้ยังมีอีก 2 วิธีที่นิยมทำกัน คือ การฝังเส้น และการชักร่อง โดยมีวิธีทำ ดังนี้
|
|
3. การหล่อเททรายล้าง
เริ่มต้นด้วยการผสมกรวด หรือทรายที่เลือกไว้กับปูนซีเมนต์ ทราย สีฝุ่น ในอัตรา 1 ต่อ 1 เทหล่อลงในช่องที่ได้ทำการแบ่งไว้ตามแบบ ใช้เกรียงเกลี่ยส่วนผสมให้เต็มช่อง แล้วใช้ไม้สามเหลี่ยมปาดหน้าให้ส่วนผสมเรียบได้ระดับเท่ากัน แล้วนำปูนซีเมนต์แบบไม่ผสมโรย และอัดลงบนพื้นผิวให้แน่น จากนั้น ใช้เกรียงตบและกดให้กรวดเรียงตัวกันแน่น แล้วทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมงเพื่อรอล้างกรวด หรือทราย
4. การล้างกรวดหรือทรายล้าง
หลังจากการฉาบ หรือปาดกรวด หรือทรายลงไปจนได้รูปแล้ว ทิ้งไว้ให้ปูนเซ็ตตัวประมาณครึ่งชั่วโมง โดยใช้มือจิ้มดูว่าปูนยุบ หรือนิ่มหรือยัง ทั้งนี้อย่าให้ปูนแข็งเกินไป เพราะจะล้างปูนไม่ออก แต่ถ้าปูนนิ่มเกินไปก็จะทำให้กรวด หรือทรายหลุดออกมา ทั้งนี้ก็ต้องดูจากหน้างานเอง เพราะแต่ละคนผสมปูนข้น หรือเหลวต่างกัน และสภาพอากาศต่างกัน ถ้าโดนแดดปูนก็จะแข็งตัวเร็วขึ้น เมื่อปูนได้ที่แล้ว ให้ใช้แปรงสลัดน้ำลงไปบนผิวกรวด หรือทราย แล้วใช้แปลง หรือแปรงทาสีปัดและเช็ดน้ำปูนออกจนเห็นเม็ดกรวด หรือทรายทั้งหมด เพื่อโชว์เม็ดกรวด หรือทรายให้เห็นชัด ๆ ทั้งนี้มีช่างบางคนแนะนำให้ลองใช้น้ำยาล้างห้องน้ำหรือกรดเกลือที่ผสมกับน้ำ เพื่อล้างปูนได้ดียิ่งขึ้น
หลังจากล้างกรวดหรือทรายเสร็จแล้วให้รอปูนแห้งก่อน แล้วค่อยล้างด้วยกรดเกลือผสมน้ำเพื่อล้างคราบขาวหม่นๆ ของน้ำปูนออกจากซอกเม็ดหิน ก็จะได้เป็นพื้นผิวกรวดล้างหรือทรายล้างที่สวยถูกใจ
5. การตรวจรับงานพื้นทรายล้าง
ตรวจสอบพื้นที่กรวดล้าง หรือทรายล้างทั้งหมด ระดับผิวพื้นต้องไม่เป็นลูกคลื่น เรียบเป็นแผ่นเดียวกัน ถ้าใช้การฝังเส้น เส้นต้องเรียบเสมอไปกับพื้นกรวดล้างหรือทรายล้าง มีระยะที่ถูกต้องตามแบบไม่เอียง ถ้าใช้การชักร่อง ก็ต้องมีการเก็บรายละเอียดร่องให้เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ควรเข้ามาดูช่างช่วงก่อนเทกรวดล้างหรือทรายล้าง เพื่อจะได้สามารถแก้ไขทัน ซึ่งถ้ารอมาตรวจหลังจากงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว คือ ต้องทุบบางส่วนเพื่อทำใหม่เลยทีเดียว จากนั้นให้ดูที่ความสวยงามของกรวดล้าง ทรายล้าง ลายหินต้องกระจายตัวสม่ำเสมอกัน ไม่มีหินโผล่แหลมออกมา มีการขัดเอาเนื้อปูนออกจากผิวของพื้นหินกรวด ไม่มีคราบปูนและคราบขาว ทั้งนี้ควรให้ช่างทำความสะอาดและเคลียร์พื้นที่รอบ ๆให้เรียบร้อยก่อนตรวจรับงาน ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย