“ถุงมือ” มีกี่ประเภท? ทำความรู้จักให้ดี ก่อนเลือกใช้งาน
ถ้าจะพูดถึงเรื่อง ถุงมือ ที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น ก็คงจะเป็นถุงมือที่ใช้ในทางการแพทย์ และถุงมือที่ใช้สำหรับทำความสะอาดใช่ไหม แต่รู้ไหมคะว่าเรายังมีถุงมืออีกหลายชนิด ซึ่งถุงมือแต่ละชนิดนั้นก็ใช้กับงานที่แตกต่างกันออกไป
บทความนี้ KACHA จะพาไปทำความรู้จัก “ถุงมือ” แต่ละแบบ แต่ละชนิด พร้อมกับคุณสมบัติในการป้องกัน จะมีอะไรบ้าง ไปดูเลย
ถุงมือ คือ?
อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลชนิดหนึ่ง นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อป้องกันมือจากการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ หรือใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางการแพทย์ สำหรับงานอุตสาหกรรม และงานครัวเรือน จะมีการใช้ในหลากหลายวัตถุประสงค์ เช่น ใช้ป้องกันสารเคมี ใช้ในการสัมผัสอาหาร หรือใช้ในการปกป้องชิ้นงานจากการปนเปื้อน เป็นต้น
โดยถุงมือที่ได้รับความนิยม และผลิตขายกันอยู่ในตลาดปัจจุบัน คือ ถุงมือยาง นั่นเอง สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- ถุงมือที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ (Natural Rubber Gloves) ผลิตจากน้ำยางจากต้นยางพารา มีความยืดหยุ่นสูง มีการระบายอากาศที่ดี และสวมใส่ได้เป็นเวลานาน สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ แต่มีข้อเสีย คือ อาจเกิดอาการแพ้ได้ สำหรับผู้ที่แพ้ยางธรรมชาติ และอายุการเก็บรักษาสั้น
- ถุงมือที่ผลิตจากน้ำยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber Gloves) ผลิตจากการสังเคราะห์ทางเคมี ได้มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จัดเป็นโคโพลีเมอร์ชนิดหนึ่ง มีความทนทานต่อสารเคมีได้ดีมาก มีความยืดหยุ่นพอสมควร แต่จะน้อยกว่ายางธรรมชาติ อายุการเก็บรักษาที่ยาวนานกว่า ทนทานต่อตัวทำละลาย และน้ำมันได้ดีกว่า แต่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
ถุงมือที่เรารู้จัก มีอะไรบ้าง?
ถุงมือนั้น ถือเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงานได้ เช่น อันตรายจากการสัมผัสสารเคมี อันตรายจากการถูกของมีคม บาด ตัด หรือขูดขีดผิวหนัง อันตรายจากการจับของร้อน เป็นต้น ดังนั้น ต้องมั่นใจก่อนว่าถุงมือที่เราเลือกใช้นั้นเหมาะสมกับงานจริง ๆ เพราะหากเกิดอันตรายจากการเลือกใช้ถุงมือที่ไม่เหมาะสม อาจจะทำให้ต้องสูญเสียมือจนกลายเป็นคนพิการได้
ถุงมือใช้แล้วทิ้ง
ถุงมือใช้แล้วทิ้ง หรือ ถุงมือยาง นิยมใช้ในห้องแล็บทางการแพทย์ ออกแบบเพื่อป้องกันผู้สวมใส่ และวัตถุที่ถูกจับ จะต้องใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ทางนิ้ว และต้องการความคล่องตัวในเวลาเดียวกัน มีลักษณะบาง ประมาณ 4-8 มิลลิเมตรเท่านั้น มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ช่วยลดแรงตึง และความเมื่อยล้าของผู้สวมใส่ แต่ข้อเสีย คือ ความทนทานน้อย ส่วนใหญ่ผลิตจากยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ เช่น Vinyl, Polyethylene เป็นต้น
** สำหรับการนำถุงมือใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร จะต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การอาหารและยาก่อนเท่านั้น
- การใช้งานที่เหมาะสม: นิยมนำไปใช้ในการทำงานและกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย ทั้งทางด้านครัวเรือน ทางเชิงพาณิชย์ ทางการแพทย์ และโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ
- ข้อควรระวัง: หลีกเลี่ยงการทำงานกับวัตถุที่มีความแหลมคม ไม่แนะนำให้ใช้ในงานทั่วไป
ถุงมือป้องกันสารเคมี
ถุงมือป้องกันสารเคมี ผลิตจากยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ต่าง ๆ จะมีความสามารถในการป้องกันสารเคมีได้ในระดับ 1 แต่ส่วนใหญ่ที่นิยม ผลิตจากยางไนไตรมากกว่า เพราะจะมีความเหนียว ทนทาน และที่สำคัญ ป้องกันการแพ้ได้ เพราะว่าไม่มีส่วนประกอบที่เป็นโปรตีนจากยางธรรมชาติ นอกจากนี้ ถุงมือไนไตร ยังทนทานต่อ สารเคมี กรด ด่าง หรือน้ำมันต่าง ๆ ได้ดี ไม่แพ้ยางธรรมชาติ อย่างไรก็ตามถุงมือที่สามารถป้องกันสารเคมีได้ ก็จะมีระดับการกันของสารเคมีแต่ละชนิดไม่เท่ากัน โดยอาจจะทนทานต่อสารเคมีได้ดีมาก หรือทนทานได้พอสมควร หรือแม้ทนทานได้น้อย ผู้ใช้งานควรเลือกให้เหมาะและถูกต้องกับหน้างานที่ต้องใช้
- การใช้งานที่เหมาะสม: เหมาะกับงานอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท และเป็นที่นิยมนำไปใช้งานกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น งานการแพทย์ โรงงานผลิตอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ งานพ่นสี งานซ่อมบำรุง งานอิเล็กทรอนิกส์ งานระบบไฟฟ้า ฯลฯ
- ข้อควรระวัง: ไม่ควรนำไปใช้กับงานที่ต้องสัมผัสกับสารละลาย ที่มีคลอรีนผสมอยู่ และไม่ควรวางในที่ที่มีแสงแดด หรือโอโซน ส่องถึงตลอดเวลา จะทำให้ถุงมือชนิดนี้เสื่อมสภาพได้ และหลีกเลี่ยงการทำงานกับวัตถุที่มีความแหลมคม
ถุงมือหนัง
เป็นถุงมือที่ผลิตจากหนังสัตว์ หรือหนังฟอก ใช้ป้องกันอันตรายจากประกายไฟ หรือสะเก็ดไฟที่เกิดจากงานเชื่อม ใช้ป้องกันความร้อนได้ ในระดับปานกลาง และใช้สวมทับถุงมือกันไฟฟ้า เพื่อป้องกันการฉีกขาด และยืดการใช้งานของถุงมือด้านใน
- การใช้งานที่เหมาะสม: ใช้ในงานเชื่อมต่าง ๆ งานก่อสร้าง งานที่ก่อให้เกิดประกายไฟ งานสัมผัสความร้อน และงานอุตสาหกรรมทั่วไป
- ข้อควรระวัง: ไม่ควรนำถุงมือหนังไปซักโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้หนังเสื่อมคุณภาพเร็วยิ่งขึ้น ความสามารถในการป้องกันการกระแทก หรือการหนีบ ค่อนข้างต่ำ และเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วเมื่อตากแดด
ถุงมือกันบาด เส้นใยสแตนเลส
เป็นถุงมือที่ผลิตจากลวด หรือเหล็กไร้สนิม มีลักษณะเป็นลวดเส้นเล็ก ๆ นำมาถักเป็นรูปถุงมือ นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะงานที่ต้องมีของมีคมเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะถุงมือชนิดนี้ มีความสามารถในการป้องกันการตัด และเฉือนได้ ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดจากการโดนของมีคมบาด
- การใช้งานที่เหมาะสม: งานที่เกี่ยวข้องกับของมีคม เช่น งานตัดที่ใช้มีดคัตเตอร์ กรรไกร หรืองานเคลื่อนย้ายกระจก แผ่นเหล็ก และแผ่นกระเบื้อง เป็นต้น
- ข้อควรระวัง: ไม่ควรใช้ในงานที่มีโอกาสปนเปื้อนกับน้ำมัน
ถุงมือผ้า และถุงมือเคลือบชนิดต่าง ๆ
เป็นถุงมือที่ทอด้วยผ้าฝ้าย หรือใยผ้าอื่น ๆ ระดับการป้องกันขึ้นอยู่กับความหนาของชั้นผ้า มีคุณสมบัติช่วยป้องกันฝุ่น สะเก็ด การขัด การครูด หรือช่วยป้องกันการลื่นในขณะจับวัตถุ เช่น ก้อนอิฐ ลวดต่าง ๆ แต่ไม่สามารถป้องกันอันตรายจากการสัมผัสสารเคมีได้
- การใช้งานที่เหมาะสม: งานซ่อมบำรุงทั่วไป ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การยก เคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักเบา งานทำความสะอาดทั่วไป หรือในรุ่นที่มีการถักที่ละเอียดมากขึ้น ต้องการคุณภาพสูง ไม่ทิ้งลอยขนจากถุงมือ เช่น งานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เป็นต้น
- ข้อควรระวัง: ไม่ควรใช้ในงานที่มีโอกาสสัมผัสสารเคมี หรือเปื้อนน้ำมันโดยตรง หากไม่ใช่รุ่นที่มีการเคลือบด้วย PU หรือ PVC หลีกเลี่ยงการทำงานกับวัตถุที่มีความแหลมคม
ถุงมือป้องกันไฟฟ้า
ถุงมือที่ผลิตมาเพื่อกันกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะ ส่วนมากผลิตมาจากยางสังเคราะห์ จำพวก Ethylene Propylene Diene Monomer หรือ EPDM ซึ่งถุงมือยางทั่วไป ไม่สามารถนำมาใช้กับไฟฟ้าได้ เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตที่ต่างกัน ทำให้มีคุณสมบัติในการป้องกันที่ต่างกัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกใช้ถุงมือกันไฟฟ้า โดยเฉพาะในการป้องกัน ซึ่งถุงมือชนิดนี้ สามารถแบ่งออกได้ 5 ระดับ ตาม Voltage หรือแรงดันไฟฟ้าที่จะใช้งาน เช่น class 00 สามารถป้องกันไฟฟ้าได้ 500 V. โดยคุณสมบัติหลัก ๆ แล้ว จะต้องสามารถป้องกันไฟ้ฟ้าได้ มีความแข็งแรง ยืดหยุ่นสูง และราคาของถุงมือ ขึ้นอยู่กับการทนทานต่อกระแสไฟฟ้า
- การใช้งานที่เหมาะสม: ถุงมือชนิดนี้ เหมาะกับงานที่ต้องสัมผัสกับงานที่มีกระแสไฟฟ้าต่ำ ไปจนถึงแรงสูงไหลผ่าน
- ข้อควรระวัง: ก่อนการใช้งาน ควรตรวจสอบถุงมือให้ดีก่อนใช้ทุกครั้งว่า มีรอยขาด รูรั่ว โดยการสังเกตุด้วยตาเปล่า หรือใช้วิธีการเพิ่มลมเข้าไปในถุงมือ แค่พอให้ถุงมือพองตัว แล้วค่อย ๆ บีบลมออก พร้อมกับฟังเสียงลมที่รั่วออกมาก บางครั้ง หากเก็บไว้นานจนเกินไป ถุงมืออาจจะเสื่อมสภาพ เนื่องจากความร้อน และช่วงอายุของถุงมือ
ถุงมือพลาสติก
ถุงมือพลาสติก เป็นหนึ่งในถุงมือใช้แล้วทิ้ง ทำมาจากพลาสติกบาง แต่ค่อนข้างเหนียว ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันความสกปรก จากการสัมผัสสิ่งของ หรืออาหาร แต่ไม่สามารถป้องกันสารเคมี ความร้อน ความเย็น หรือไฟฟ้าได้ เหมาะสำหรับสวมใส่ปรุงอาหาร หรือสวมใส่ออกไปช้อปปิ้ง ช่วยป้องกันการสัมผัสสิ่งของสกปรก หรือแบคทีเรียได้
ลักษณะทั่วไป และขนาดของถุงมือ
- ความหนา (Thickness) การวัดขนาดของถุงมือ จะวัดเป็น Mil (1 Mil= 0.001) การเลือกความหนาขึ้นอยู่กับลักษณะงาน เช่น ถ้าต้องการความยืดหยุ่น และความรู้สึกจากการสัมผัสมาก ก็เลือกใช้ถุงมือที่มีความหนาน้อย แต่ถ้าต้องการการป้องกันมากขึ้น ต้องการความทนทาน ก็ต้องเลือกที่มีความหนามากขึ้น
- ความยาว (length) เป็นความยาวที่วัดตั้งแต่ช่วงฝ่ามือจนถึงปลายของถุงมือ ควรเลือกความยาวให้สัมพันธ์กับระยะ หรือตำแหน่งที่ต้องการการป้องกัน
ความยาวที่แนะนำโดยทั่วไป คือ
- ป้องกัน มือ และข้อมือ ความยาวที่แนะนำ คือ 9-14 นิ้ว (23-26 ซม.)
- ป้องกัน ท่อนแขนช่วงล่าง ถึง ข้อศอก ความยาวที่แนะนำ คือ 14-18 นิ้ว (36-46 ซม.)
- ป้องกัน ท่อนแขน ถึงหัวไหล่ ความยาวที่แนะนำ คือ ประมาณ 31 นิ้ว (76 ซม.)
- ขนาด (Size) ควรเลือกใช้ถุงมือที่มีขนาดพอดี ไม่คับ ไม่หลวมจนเกินไป เพราะถ้าใช้ขนาดเล็กเกินไป ถุงมืออาจจะปริแตก ฉีกขาดได้ หรือถ้าใช้ถุงมือขนาดใหญ่เกินไป ก็อาจจะเกิดการลื่นหลุดจากมือ จนเกิดอุบัติเหตุในการทำงานได้เช่นกัน
ขนาดของถุงมือ จะถูกระบุในหน่วยนิ้วตั้งแต่ 6-11 นิ้ว ขึ้นอยู่กับเส้นรอบวงฝ่ามือของผู้ใช้งาน วิธีการวัด คือ ใช้สายวัดลองพันฝ่ามือ แล้ววัดดูว่าได้เส้นรอบวงเท่าไหร่ และเลือกใช้ตามขนาดนั้น ๆ ดังนี้
- 6-7 นิ้ว = Extra small
- 7-8 นิ้ว = small
- 8-9 นิ้ว = Medium
- 9-10 นิ้ว = Large
- 10-11 นิ้ว = Extra large
แนะนำวิธีเลือกซื้อถุงมือยาง ที่ควรต้องรู้!
- หลาย ๆ คนอาจไม่รู้ว่า ตัวเองมีอาการแพ้ถุงมือที่ผลิตจากยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ ต้องลองสักเกตุอาการตัวเองก่อนซื้อ ถ้ามั่นใจว่าไม่มีอาการแพ้ สามารถเลือกซื้อถุงมือแพทย์ชนิดที่มีแป้ง และไม่มีแป้งได้ หรือจะใช้เป็นถุงมือที่ทำจากยางสังเคราะห์ หรือถุงมือไนไตร ก็ได้
- สำหรับบางคนที่มีอาการแพ้แป้ง จากการสวมใส่ถุงมือที่มีแป้ง ควรเลือกซื้อถุงมือชนิดที่ไม่มีแป้ง หรือซื้อถุงมือยางสังเคราะห์ จะดีกว่า
- หากอาการแพ้โปรตีนในถุงมือแพทย์ มีผื่นคันขึ้น แนะนำให้ใช้เป็นถุงมือแพทย์ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์
- หากมีการใช้งานหนัก สัมผัสสารเคมี จำพวก กรด เบส น้ำมันต่าง ๆ ควรเลือกซื้อถุงมือแพทย์ ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ดีกว่า เพราะมีความหนา ทนทาน ต่อการสัมผัสสารเคมีได้
- สำหรับคนที่ใช้งานที่ต้องสัมผัสกับน้ำ ควรเลือกซื้อถุงมือแพทย์ ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ ชนิดหนา เพื่อความสบายใจ และกันรั่วได้
เป็นอย่างไรกันบ้างกับ ถุงมือ แต่ละชนิด การนำไปใช้งานก็แตกต่างกัน ดังนั้นก่อนเลือกใช้งาน ควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานด้วย เพื่อความปลอดภัยของเราเองด้วย บทความหน้าจะมีสาระดี ๆ อะไรมาฝากกันอีกนั้น อย่าลืมติดตามกันด้วยนะจ๊ะ
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- ทำความรู้จัก หมวกนิรภัย หมวกเซฟตี้ ดีอย่างไร? มีแบบไหนบ้าง?
- รวม 20 “คำศัพท์ช่าง” ควรรู้ไว้ จะได้หายสงสัย?
- “10 อุปกรณ์ช่าง เครื่องมือช่าง ประจำบ้าน” ที่ทุกบ้านต้องมี!
KACHA ผู้จัดจำหน่าย รอกโซ่ รอกโซ่มือสาว เครนยกของ และอุปกรณ์เสริมสำหรับงานช่าง ต่าง ๆ ราคาจับต้องได้ สินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจ นอกจากนี้ บริษัทของเรา ยังมีบริการรับ สร้างโกดัง สร้างโรงงาน สร้างคลังสินค้าต่าง ๆ จากช่างมืออาชีพที่มีประสบการณ์ การันตีผ่านมาตรฐานก่อสร้าง และความปลอดภัยต่าง ๆ เข้าชมเว็บไซต์ www.kacha.co.th