ไม้ เป็นวัสดุก่อสร้างอย่างหนึ่งที่สำคัญ มีทั้ง ไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน เป็นวัสดุในท้องถิ่นที่หาได้ง่าย และใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างที่ใช้ในการก่อสร้าง หรือเป็นวัสดุตกแต่ง ด้วยลวดลาย สีสัน ผิวสัมผัสที่ดูสบาย อบอุ่น และความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ของไม้ จึงทำให้ ไม้เป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่นิยมนำมาใช้ในงานหลายประเภท แต่การเลือกประเภทไม้ให้เหมาะสมกับการใช้งานนั้น ก็นับเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เช่นเดียวกัน

ตาม KACHA ไปรู้จักกับ ไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน และข้อแตกต่างกัน จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปดู

ไม้เนื้อแข็ง คือ

ไม้เนื้อแข็งจะมีวงปีมากกว่าไม้ชนิดอื่น มีระยะเวลาเติบโตช้า และไม้ต้องมีอายุมาก ถึงจะนำมาใช้งานได้ ไม้ชนิดนี้ส่วนใหญ่ จะมีเนื้อไม้ที่มีสีเข้ม เนื้อไม้มีความเหนียว และแข็งแรงมาก จึงมีความทนทานสามารถนำมาใช้กับงานภายนอกที่ต้องตากแดด และโดนฝนได้ดี

ไม้เนื้อแข็งจะมีข้อดี คือ แข็งแรง และทนทาน แต่ก็มีข้อเสีย คือ อาจเกิดการบิดตัวของไม้ เมื่อเวลาเกิดความชื้น ความร้อน หรืออุณหภูมิเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม้ หดและขยายตัวได้ ซึ่งไม่เนื้อแข็งทุกชนิดส่วนใหญ่ จะเกิดการบิดตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกัน

220701-Content-รู้จักกับ ไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน ต่างกันอย่างไร02

ประเภทของไม้เนื้อแข็ง 

1.ไม้เต็ง 

ไม้มีสีน้ำตาลอ่อน ถ้าตัดทิ้งไว้นานสีจะเข้มขึ้น เนื้อไม้มีความแข็งมากทำให้ไส และตัดแต่งได้ยาก เมื่อทิ้งไว้ให้แห้งแล้ว ไม่นิยมใช้สำหรับงานภายใน เนื่องจากผิวหยาบและเสี้ยนลายไม้ไม่ค่อยสวยงาม จึงนิยมใช้กับงานโครงสร้างที่ไม่ต้องการความสวยงามมาก เช่น เสา คาน ตง วงกบ ประตู-หน้าต่าง เหมาะที่จะใช้กับงานภายนอกเป็นหลัก เนื่องจาก ทนสภาพดิน ฟ้า อากาศได้ดี

2.ไม้รัง

ลักษณะเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อหยาบ แต่มีความแข็งแรงคงทนมาก เมื่อแห้งจะมีความแข็งแรง และคุณสมบัติคล้ายไม้เต็ง แต่ความแข็งแรงนั้นมีน้อยกว่าไม้เต็ง แต่ยังพอที่จะสามารถใช้ทดแทนไม้เต็งได้ แต่ในปัจจุบัน ไม้รังหายาก และมีราคาแพงมาก จึงไม่นิยมนำมาใช้ซักเท่าไหร่ นิยมนำไปใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการรับน้ำหนักมาก เช่น เสา พื้น คาน

3.ไม้แดง

ลักษณะไม้มีสีน้ำตาลเข้มอมแดง ผิวลายไม้มีความชัดเจน เนื้อไม้มีความแข็งแรง ทนทาน มีราคาแพง และสัมผัสผิวลาย สีสันของไม้ที่มีความสวยงาม นิยมนำมาใช้ในส่วนประกอบโครงสร้าง เช่น พื้น วงกบประตู-หน้าต่าง แต่ไม่นิยมนำมาทำเฟอนิเจอร์ เพราะเนื้อไม้มีความแข็ง ทำให้ขัดแต่งได้ยาก

4.ไม้มะค่า

ลักษณะไม้มีสีน้ำตาลเข้มอมส้ม ไม้มะค่า เป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่นิยมมาก มีคุณสมบัติที่ดี คือ เนื้อไม้มีความแข็งแรงมาก สีไม้ และเส้นลวดลายไม้ชัดเจนสวยงาม นิยมใช้กันมาก เช่น พื้นไม้ หรือพื้นบันได หรือส่วนโครงสร้างในบ้านที่ต้องการโชว์ให้เห็นผิวไม้ที่มีความสวยงาม ทำให้ปัจจุบันไม้มะค่าหายาก และมีราคาแพง ไม้มะค่าบางส่วน จึงนำเข้ามาจากทางแอฟริกา ซึ่งภูมิอากาศแถบนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับบ้านเรา แต่สีของไม้จะไม่สวย และเข้มเท่าไม้มะค่าในประเทศเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม้มะค่าจะมีราคาแพงกว่าไม้แดง

5.ไม้ตะแบก

เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนอมเหลือง สีไม้อ่อนที่สุดในบรรดาไม้ในประเทศ จึงสามารถนำไม้ไปย้อมสีตามที่ต้องการได้ง่าย ลายไม้เรียกได้ว่ามีความสวยงามใกล้เคียงกับ ไม้สัก และทำการไสตกแต่งได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกัน หากโดนความร้อน หรือความชื้น สามารถบิด และโก่งตัวได้ง่ายเช่นกัน นิยมนำมาใช้งานภายในเท่านั้น เช่น พื้นบ้าน บานประตู

6.ไม้ตะเคียน

เป็นไม้เนื้อแข็งมากเช่นเดียวกัน และเป็นไม้อีกชนิด นิยมนำมาใช้สร้างบ้าน ไม้ตะเคียน จะมีสีออกเหลืองทอง แต่จะกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม เมื่อทิ้งไว้นาน และถูกแสงแดด นิยมนำมาทำวงกบ และพื้นไม้ เนื่องจากมีความคงทนสูง จึงสามารถนำไปต่อเรือได้เช่นเดียวกัน

เนื้อของไม้ตะเคียนนั้น จะมีตำหนิ เรียกว่า “รูมอด” ซึ่งมีลักษณะเป็นรูเล็ก ๆ อยู่ในเนื้อไม้ ซึ่งเป็นลักษณะทางธรรมชาติของไม้ชนิดนี้ หลายคนกังวลว่า การที่ไม้มีรูแบบนี้ อาจจะทำให้ไม้ไม่ทนแข็งแรง แต่จริง ๆ แล้วรูมอดที่เห็นนั้น ไม่ได้มีผลต่อความแข็งแรงของไม้แต่อย่างใด

ไม้เนื้ออ่อน คือ

เป็นไม้ที่มีระยะเวลาการเจริญเติบโตเร็ว ทำให้มีวงปีที่กว้าง ลายไม้ที่ได้จึงน้อย และไม่ละเอียด เนื้อไม้ มีความแข็งแรงทนทานน้อย ไม้ชนิดนี้ จะมีสีของไม้แตกต่างกันออกไปมาก ตั้งแต่ไม้ที่มี สีจางอ่อนไปจนถึงสีเข้ม เนื้อไม้ไม่แข็งมากนัก จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนของโครงสร้าง ที่ต้องการรับน้ำหนัก ไม่เหมาะที่จะใช้กับงานภายนอก ที่ต้องตากแดด ตากฝน จึงนิยมนำมาใช้กับงานตกแต่งภายใน เฟอร์นิเจอร์ หรือส่วนโครงสร้างที่ไม่ได้รับน้ำหนัก

220701-Content-รู้จักกับ ไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน ต่างกันอย่างไร03

ประเภทของไม้เนื้ออ่อน

1.ไม้สัก

เป็นไม้เนื้ออ่อน ที่มีลวดลายสวยงาม และคุณภาพดีที่สุด เนื้อไม้มีสีน้ำตาลทอง ผิวลาย ละเอียดสวยงาม ไม้ตรง เกิดการบิดงอ โก่งตัวได้ยาก ไม้สักที่ดี จะต้องใช้เวลานานมากในการเจริญเติบโต ไม้สักที่มีอายุมาก จะผลิตน้ำมันธรรมชาติของสัก ซึ่งมีกลิ่นที่ปลวกไม่ชอบ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความเชื่อว่า ไม้สักไม่โดนปลวกกิน แต่หากเป็นไม้สัก ที่ปลูกโตเร็ว จะไม่มีน้ำมันชนิดนี้ สะสมอยู่ในเนื้อไม้ ปลวก จึงเลือกกินไม้สักชนิดนี้ได้เช่นกัน หรือที่เรียกไม้สักชนิดนี้ว่าเป็น ไม้สักที่ได้จากป่าปลูก ซึ่งระยะเวลาการปลูกยังไม่ยาวนานพอที่จะเกิดน้ำมันตามธรรมชาติ จึงแก้ปัญหาด้วยการอาบน้ำยากันปลวกแทน ก็จะสามารถช่วยป้องกันปลวกได้อีกทางหนึ่ง

ไม้สักที่ดีที่สุด คือ ไม้สักทองซึ่งในสมัยนี้ ค่อนข้างหาได้ยากมาก ไม่มีการนำมาใช้เป็นไม้จริงล้วน ๆ เนื่องจากมีราคาสูง นิยมนำมาทำเป็นไม้วีเนียร์ เพื่อใช้ปะผิวไม้ชนิดอื่นแทน จะนิยมใช้ในงานที่มีราคาแพง เช่น นำไปใช้เป็นผิวของเรือยอร์ช  เนื่องจากไม้สัก เป็นไม้ที่มีความสวยงามและคงทน จึงนิยมเลือกใช้ไม้ชนิดนี้ เป็นส่วนประกอบโครงสร้าง หรือส่วนต้องการความสวยงามประณีต เช่น บานประตู หน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์

2.ไม้ยางพารา

ต้นยางพารา เป็นต้นไม้โตเร็ว และมีมาก ทำให้สามารถนำมาใช้ในระบบอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากต้นยางนั้น จะมีสารอาหารของปลวก และเชื้อรา ทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการปรับปรุงคุณภาพของไม้ด้วยการอัดน้ำยากันปลวก และอบแห้ง เพื่อให้เนื้อไม้คงทนแข็งแรง ทำให้สามารถนำมาใช้งานได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม้ยางพารานั้น ราคาไม่แพง สามารถหาได้ง่าย และมีข้อดีอีกอย่างคือ เป็นไม้สีอ่อน ทำให้สามารถนำไปทำสีได้ง่ายด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้มีการนำไม้ยางมาใช้งานกันอย่างกว้างขวาง และหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการต่อไม้แบบ FJL (Finger Joint Laminate) ที่สามารถนำไม้ยางท่อนสั้น ๆ มาต่อกัน เพื่อให้ได้ไม้ยาวมากขึ้น ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานมาก และนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของบ้านแล้วเช่นกัน เช่น ประตู วงกบ ประตู ไม้พื้นบันได เฟอร์นิเจอร์

3.ไม้จำปา

ลักษณะเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อน จึงสามารถย้อมทำสีได้ง่าย เนื้อไม้ละเอียด เสี้ยนน้อย แต่ไม่คงทนต่อความชื้น มักใช้ในส่วนของงานภายในอาคาร เช่น ประตู ในสมัยก่อนไม่นิยมนำไม้จำปามาใช้ในส่วนประกอบของบ้าน เนื่องจากสมัยก่อนนิยมใช้ไม้จำปาสำหรับต่อโลงศพ คนที่มีความเชื่อในเรื่องนี้ ก็จะไม่นิยมใช้ไม้ชนิดนี้ในการสร้างบ้าน แต่ปัจจุบัน ในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป จะเห็นว่ามีการใช้ไม้จำปามากขึ้น

4.ไม้มะม่วง ทุเรียน ขนุน

เรียกได้ว่าเป็นไม้ที่หาได้ง่าย มีมาก และราคาถูก แต่เป็นไม้เนื้ออ่อน ที่จำเป็นต้องนำมาผ่านกรรมวิธีอัดน้ำยากันปลวก และอบแห้ง จึงจะสามารถนำมาใช้งานได้ดี ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำ เฟอร์นิเจอร์ เพราะเนื้ออ่อน สามารถ ไส ตัด ตกแต่งได้ง่าย

กลสมบัติของไม้ เป็นอย่างไร?

ไม้ที่เรานำมาใช้ในงานก่อสร้าง มีอยู่หลายชนิด และหลายประเภท ซึ่งการรับกำลัง ก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนั้น การเลือกใช้ไม้ให้ถูกต้องตามลักษณะของงานก่อสร้าง ย่อมก่อให้เกิดความปลอดภัย และเหมาะสมกับประเภทของงานนั้น ๆ ซึ่งไม้แต่ละประเภท จะมีความแตกต่างกันออกไป โดยการจำแนก จะคำนึงถึง กลสมบัติของไม้ ดังนี้ 

  • น้ำหนักไม้ (Weight) ไม้ที่เหมาะสำหรับนำมาใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ควรผ่านการผึ่ง หรืออบให้เหลือความชื้นประมาณ 12-15% โดยน้ำหนัก เพื่อลดปัญหาการบิดตัว หดตัว และแตกปริในภายหลัง
  • ความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity) เป็นกลสมบัติที่แตกต่างกันไปตามชนิดของไม้ โดยทั่วไป ไม้ที่มีน้ำหนัก และความถ่วงจำเพาะสูง มักจะเป็นไม้ที่ให้กำลังสูงกว่าไม้ที่มีความถ่วงจำเพาะต่ำ
  • หน่วยแรงดัด (Bending Stress) เป็นกลสมบัติที่ใช้กับการออกแบบโครงสร้างประเภทคาน เพื่อให้สามารถกำหนัดหน้าตัด ที่เหมาะสมที่นำมารองรับน้ำหนักบรรทุก
  • โมดูลัสแตกหัก (Modulus of Rupture) เป็นหน่วยแรงดัดของไม้ที่วัด เมื่อถูกแรงดัดประลัยกระทำ จนถึงขั้นแตกหัก
  • โมดูลัสยืดหยุ่น (Modulus of Elasticity) เป็นกลสมบัติในการต้านทานต่อการโก่งตัวของคานในแนวดิ่ง โดยทั่วไป ไม้ที่มีความชื้นมาก จะโก่งตัวมากกว่าไม้ที่ผึ่งแห้งดีแล้ว เมื่อรับน้ำหนักบรรทุกเท่ากัน
  • หน่วยแรงอัดขนาดตามแนวเสี้ยน (Compressive Stress Parallel to Grain) เป็นกลสมบัติที่ใช้ในการพิจารณาการออกแบบโครงสร้าง ที่ต้องรับแรงอัด เช่น เสา โดยการที่รับแรงของเสา จะเปรียบเสมือน มีเสากลวงเล็ก ๆ ของเซลส์ไม้หลาย ๆ เซลส์ ช่วยกันยันซึ่งกันและกัน ทำให้รับกำลังได้ดี
  • หน่วยแรงอัดตั้งฉากกับแนวเสี้ยน (Compressive Stress Perpendicular to Grain) เป็นกลสมบัติที่ใช้พิจารณาในการออกแบบโครงสร้างคาน ที่ต้องรับแรงอัดเป็นจุด เพื่อตรวจสอบการยุบตัวของเสี้ยนไม้ให้อยู่ในขอบเขตยืดหยุ่นที่ยอมให้เท่านั้น 
  • หน่วยแรงดึงขนานกับแนวเสี้ยน (Tensile Stress Parallel to Grain) เป็นกลสมบัติที่ให้ค่าสูงสุดของไม้ในการออกแบบโครงสร้างไม้
  • หน่วยแรงดึงตั้งฉากกับแนวเสี้ยน (Tensile Stress Perpendicular to Grain) เป็นกลสมบัติที่ไม่ค่อยได้ใช้ในงานออกแบบ 
  • หน่วยแรงเฉือนขนานกับแนวเสี้ยน (Shearing Stress Along Grain) เป็นกลสมบัติในการต้านทานการแยกออกจากกันของคานไม้ ระหว่างครึ่งบนกับครึ่งล่าง โดยจะมีค่ามาสุด ที่จุดกึ่งกลางความลึกปลายคาน 

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ ไม้เนื้อแข็ง ไม่เนื้ออ่อน ที่เรานำมาฝากกัน ถึงแม้ว่าไม้จะเป็นวัสดุที่สามารถใช้ได้กับหลายส่วนการก่อสร้าง แต่จริง ๆ แล้ว ไม้แต่ละอันนั้น ก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ควรศึกษา และจำแนกการใช้งานของไม้แต่ละประเภทให้ถูกต้องกับคุณสมบัติ และการใช้งานของไม้ในงานก่อสร้างด้วย บทความหน้าจะมีอะไรมาฝากอีกนั้น อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง :

● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● 

KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!

เลือกดูสินค้าจาก KACHA คลิกเลย ????????

ข้อมูลจากเว็บไซต์ dsignsomething.com