กระดาษทิชชู มีกี่ประเภท เลือกใช้งานอย่างไรให้เหมาะสม?
กระดาษทิชชู ของใช้อเนกประสงค์ที่ใช้งานได้อย่างหลากหลายทั้ง เช็ด ซับ ห่อ และทำความสะอาดสิ่งสกปรก
นอกจากจะหยิบใช้ง่ายแล้ว ยังสะอาด ปลอดภัย แถมราคาไม่แพงอีกต่างหาก
วันนี้ KACHA จะพาไปทำความรู้จักกับ ทิชชู่ ว่าแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้งานยังไง ตามไปดูกันเลย!
รู้จักกับ กระดาษทิชชู
ทิชชู่ ทำมาจากอะไร?
กระดาษทิชชู ผลิตจากเยื่อกระดาษที่ได้จากต้นไม้ มีทั้งเยื่อบริสุทธิ์และเนื้อเยื่อเวียนใหม่ บางชนิดก็ได้จากการผสมกัน แต่ละแบบมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนี้
- เนื้อกระดาษเยื่อบริสุทธิ์ (Virgin Pulp 100%) เป็นกระดาษทิชชูที่มีคุณสมบัติดีที่สุด ราคาก็แพงที่สุดเช่นกัน เนื้อกระดาษจะมีสีขาวสว่าง มีความนวลเล็กน้อย ให้สัมผัสนุ่มลื่น เหนียว และซึมซับได้ดี
- เนื้อกระดาษเยื่อผสม (Mixed Pulp) ผสมกันระหว่างเนื้อเยื่อบริสุทธิ์กับเนื้อเยื่อเวียนใหม่ คุณภาพของเนื้อกระดาษจะอยู่ระดับกลาง ๆ ส่วนใหญ่แล้วอัตราการผสมจะอยู่ที 80:20 ซึ่ง 80% นั้นเป็นเยื่อเวียนใหม่ ส่วนอีก 20% เป็นเยื่อบริสุทธิ์ กระดาษจะออกเป็นสีขาวหม่น เนื้อกระดาษจะเป็นจุดเล็กน้อยจากการปนเปื้อนของหมึกพิมพ์ ส่วนเนื้อสัมผัสจะคล้ายแบบแรก แต่ซึมซับได้น้อยและยุ่ยง่ายกว่า นิยมใช้ในห้างสรรพสินค้า สำนักงาน หรือโรงงานที่มีคนใช้งานเป็นจำนวนมาก
- เนื้อกระดาษเยื่อเวียนใหม่ (Recycle 100%) หรือเนื่อเยื่อจากกระดาษรีไซเคิล ถือเป็น ทิชชู่ ที่เกรดต่ำที่สุด เนื้อจะมีความหยาบและซึมซับได้น้อยกว่าแบบอื่น แต่ย่อยสลายง่ายที่สุด สามารถทิ้งลงในชักโครก ไม่ทำให้อุดตัน
สาระน่ารู้ : ปัจจุบันมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลายบริษัทจึงหันมาผลิตทิชชูด้วยการใช้เยื่อเวียนใหม่แทนการใช้เนื้อเยื่อบริสุทธิ์ เพราะมีตัวเลขเปรียบเทียบชัดเจนว่า การผลิตกระดาษ จำนวน 1 ตัน จากเยื่อรีไซเคิล 100% ช่วยลดการโค่นต้นไม้ได้ถึง 17 ต้น ใช้น้ำน้อยลง 26,500 ลิตร และน้ำมันน้อยลง 378 ลิตร
ประเภทของ กระดาษทิชชู
1) กระดาษชำระ (Bathroom tissue)
กระดาษชำระ หรือ กระดาษเช็ดก้น ผลิตจากเยื่อบริสุทธิ์ที่ได้จากต้นไม้ และเยื่อเวียนใหม่จากกระดาษรีไซเคิล โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นม้วนกลม ความหนา 2 ชั้นขึ้นไป มีทั้งแบบมีลวดลาย สี และขาวสะอาด ขนาดแตกต่างกันตามการผลิต นิยมติดตั้งใช้งานร่วมกับที่แขวนกระดาษทิชชูในห้องน้ำ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดึงใช้งาน กระดาษชำระมีหน้าที่หลัก คือ ชำระการขับถ่าย คุณสมบัติจึงต้องนุ่มพอสมควร และที่สำคัญต้องย่อยสลายน้ำได้ดี ไม่ทำให้ท่ออุดตัน หากทิ้งลงไปในโถส้วมหรือชักโครก
กระดาษชำระมี 2 ประเภท คือ
- กระดาษชำระม้วนใหญ่ นิยมติดตั้งในห้างสรรพสินค้า สำนักงาน และองค์กรต่าง ๆ ที่มีคนใช้ห้องน้ำร่วมกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีราคาถูก ซึ่งลักษณะของกระดาษประเภทนี้ จะมีความบางเป็นพิเศษ ซึมซับได้น้อย เน้นไปที่ปริมาณในการทำความสะอาดมากกว่า
- กระดาษชำระม้วนเล็ก เนื้อสัมผัสกระดาษมีความหลากหลาย มีทั้งกระดาษเยื่อบริสุทธิ์และกระดาษหมุนเวียนใหม่ นิยมใช้ในบ้าน และ ร้านอาหารขนาดเล็ก ซึ่งประเทศไทยมีการประยุกต์กระดาษประเภทนี้ด้วยการวางบนโต๊ะอาหาร
คุณสมบัติ : เนื้อนุ่มพอประมาณ บาง และย่อยสลายในน้ำได้ดี
2) กระดาษเช็ดหน้า (Facial tissue)
ใช้สำหรับทำความสะอาดผิวหน้าโดยเฉพาะ เช่น เช็ดคราบเหงื่อ เช็ดเครื่องสำอาง ซับความมันบน หรือเช็ดสิ่งสกปรกบนใบหน้า คุณสมบัติที่สำคัญ คือ ต้องมีความต้องสะอาด เนื้อเหนียว นุ่ม อ่อนโยน ไม่ระคายเคืองผิว (ค่า pH ประมาณ 5.5 – 8.5) และไม่มีสารเคมีหรือสารอันตรายเจือปน ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแผ่น บรรจุอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีจำนวนแผ่นมากน้อยแตกต่างกันออกไป ส่วนมากใน 1 กล่อง บรรจุ 60 , 80 , 180 หรือ 200 แผ่น
คุณสมบัติ: เนื้อนุ่ม สัมผัสเรียบเนียน ปราศจากฝุ่นละออง ไม่มีสารเคมี ไม่ยุ่ยง่ายเมื่อเปียกน้ำ
3) กระดาษเช็ดปาก (Napkin)
กระดาษทิชชูประเภทนี้ มักพบที่ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือโรงแรม ใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดริมฝีปากระหว่างรับประทานอาหาร คุณสมบัติของเนื้อกระดาษจึงต้องมีความอ่อนนุ่ม เหนียว ไม่เปื่อยยุ่ยน้ำง่าย และที่สำคัญคือต้องไม่มีสิ่งเจือปน เพราะว่าสารเคมีเหล่านั้นอาจเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านการเช็ดปากได้ ส่วนใหญ่กระดาษทิชชูประเภทนี้ จะมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม มีทั้งหนาและบาง บรรจุอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายกับกระดาษเช็ดหน้า แบ่งได้ 3 ประเภท คือ
- Dinner napkin หรือ กระดาษเช็ดปากสำหรับอาหารเย็น เป็นวัฒนธรรมของฝั่งตะวันตก ที่มีการใช้ผ้ากันเปื้อนรองเวลารับประทานอาหาร ซึ่งสามารถเปลี่ยนมาใช้กระดาษแทนเพื่อความสะดวก กระดาษจึงต้องเนื้อหนา ไม่ยุ่ยง่าย
- Cocktail napkin ใช้พันรอบแก้ว หรือ นำมาเช็ดปาก
- Mini napkin กระดาษเช็ดปากขนาดเล็ก โดยทั่วไปมักจะพบในร้านอาหาร ส่วนใหญ่มีสีขาว ชมพู และน้ำตาล ร้านอาหารบางแห่งนำมาตกแต่ง เพื่อประดับบนโต๊ะอาหาร
คุณสมบัติ : เนื้อเหนียว ไม่ยุ่ยง่าย ซึมซับน้ำได้ดี ไม่จำเป็นต้องนุ่มนวลเหมือนกระดาษเช็ดหน้า
4) กระดาษเช็ดมือ (Hand towel)
กระดาษทิชชูประเภทนี้พบเห็นได้ทั่วไป ตามห้องน้ำโรงพยาบาล โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และห้องน้ำสาธารณะ ส่วนมากบรรจุไว้ในกล่องที่ติดไว้ตามผนังข้างอ่างล้างมือ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน นอกจากนี้ ยังมีการบรรจุแบบห่อ หรือกล่องขนาดเล็ก สำหรับพกไว้ใช้ระหว่างวัน คุณสมบัติของกระดาษประเภทนี้ ไม่จำเป็นต้องนุ่มมาก แต่ต้องมีความเหนียว แข็งแรง ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย และที่สำคัญ คือ ต้องซับความชื้นได้ดี
คุณสมบัติ : เนื้อหนา เหนียว ไม่ยุ่ยง่าย ซึมซับน้ำได้ดี
5) กระดาษทิชชูอเนกประสงค์ (Kitchen towel)
กระดาษทิชชูอเนกประสงค์ส่วนใหญ่ผลิตจากเยื่อบริสุทธิ์ 100 % แต่กระบวนการฟอกสีขาวอาจต่างกัน ลักษณะจะเหมือนกับกระดาษชำระ 2 ม้วนต่อกัน มีทั้งสีขาว และ สีน้ำตาล กระดาษชำระชนิดนี้จะมีความแข็ง หนา เหมาะสำหรับใช้งานในห้องครัว หรือทำความสะอาดพื้นที่ต่าง ๆ เช่น เช็ดสิ่งสกปรกบนโต๊ะ ซับน้ำมันจากการทอด ซึ่งการเลือกซื้อก็ต้องเลือกชนิดที่ไม่มีสารปนเปื้อนเท่านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าเวลาดูดซับความมันหรือทำความสะอาดอาหาร จะไม่มีสารตกค้างหรือสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
คุณสมบัติ : เนื้อหนา เหนียว ไม่ยุ่ยง่าย ซึมซับน้ำได้ดี
หากใช้กับอาหาร ควรเลือกกระดาษทิชชูจากเยื่อบริสุทธิ์ 100 % และได้รับการรองรับว่าเป็น Food Grade จาก FDA (องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา)
ประโยชน์อื่น ๆ ของกระดาษทิชชู
- ช่วยดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ในตู้เย็น เพียงวางทิชชูไว้ในช่องแช่แข็ง กลิ่นเหม็นคาวของอาหารในตู้เย็นก็จะลดน้อยลง
- รักษาความสดใหม่ให้ผักผลไม้ ใช้ทิชชูห่อผักและผลไม้ก่อนนำเข้าตู้เย็น ทิชชู่จะช่วยซึมซับความชื้นที่เป็นสาเหตุของเน่าเสีย
- ลดคราบเหลืองของรองเท้า ห่อกระดาษทิชชู่ให้ทั่วรองเท้าก่อนนำไปตาก กระดาษทิชชู่จะช่วยซับความชื้นและป้องแสงแดด ช่วยลดคราบเหลืองได้ดี และช่วยให้รองเท้าผ้าใบแห้งเร็วขึ้นด้วย
- ป้องกันสนิมเกาะกระทะเหล็ก หลังจากล้างทำความสะอาดกระทะเสร็จเรียบร้อย ให้วางกระดาษทิชชู่ม้วนเล็ก 2 ถึง 3 ม้วน ไว้รอบกระทะ โดยเน้นที่บริเวณขอบกระทะเหล็ก กระดาษทิชชู่จะช่วยดูดซับความชื้นและน้ำที่ซึมลงในกระทะออกหมด ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดสนิม
- เช็กเมล็ดพันธุ์ เพียงนำกระดาษทิชชู 2 แผ่นไปชุบน้ำพอชื้น แล้วนำเมล็ดพันธุ์มาวางกระจายให้ทั่วแผ่นกระดาษทิชชู จากนั้นก็นำกระดาษทิชชูเปียกน้ำอีก 2 แผ่นมาปิดทับอีกครั้ง แล้วหมั่นรดน้้ำให้ครบ 2 สัปดาห์ หากพบว่าเมล็ดพันธุ์เจริญเติบโต แสดงว่าเมล็ดพันธุ์นั้น ๆ สามารถนำไปเพาะปลูกได้ตามปกติ
จบไปแล้วสำหรับบทความ กระดาษทิชชู หวังว่าทุกคนได้จะความรู้เพิ่มเติม และเลือกใช้ ทิชชู่ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เพราะนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว ยังช่วยประหยัดเงิน และทรัพยากรธรรมชาติได้ดีอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง : Baanlaesuan, ReamsandRolls, Cleanatic, Pmit
บทความดี ๆ น่าอ่าน :
KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!