“โรงงาน” กี่ประเภท เลือกให้เหมาะกับธุรกิจของคุณ ก่อนสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ต้องรู้อะไรบ้าง?

“โรงงาน” เป็นสถานอุตสาหกรรม ประกอบด้วยอาคาร และเครื่องจักร หรือที่เรามักจะพบบ่อย ๆ คือ เป็นกลุ่มอาคารซึ่งคนงานผลิตสินค้า หรือดำเนินการเครื่องจักร เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ นั่นเอง แล้วโรงงานนั้น สามารถแบ่งได้กี่แบบ กี่ประเภท บทความนี้ KACHA จะพาไปรู้จักกับ ประเภทของโรงงานต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

โรงงานคืออะไร?

โรงงาน ตาม พ.ร.บ. โรงงานฉบับแก้ไขใหม่ ได้เปลี่ยนขอบเขตความหมายโรงงานจากเดิม ต้องมีเครื่องจักร 5 แรงม้า หรือคนงาน 7 คน มาเป็น มีเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า หรือคนงานมากว่า 50 คน ฉะนั้นหากจำนวนแรงม้ารวมของเครื่องจักรน้อยกว่า 50 แรงม้า และจำนวนคนงานน้อยกว่า 50 คน จะไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน

230620-Content-โรงงานมีกี่ประเภท-02

กล่าวได้ว่าโรงงาน คือ อาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงาน 50 คน ขึ้นไป สำหรับ ทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุง แปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใด ๆ

ประเภทของโรงงาน มีอะไรบ้าง?

1) โรงงานจำพวกที่ 1

คือ โรงงานที่มีขนาดเครื่องจักรไม่เกิน 20 แรงม้า มีการประกอบธุรกิจ หรือดำเนินกิจกรรมภายในโรงงาน เช่น

  • โรงงานฟักไข่โดยใช้ตู้อบ
  • โรงงานทำน้ำตาลจากมะพร้าว
  • โรงงานซ่อมรองเท้า หรือเครื่องหนัง
  • โรงงานล้างรถยนต์
  • โรงงานซ่อมนาฬิกาและเครื่องประดับ
  • โรงงานทำเส้นขนมจีน

ดังตัวอย่างข้างต้น ถือเป็นโรงงานที่ไม่ก่อปัญหามลพิษ ได้รับการละเว้น ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4)

2) โรงงานจำพวกที่ 2

คือ โรงงานอุตสาหกรรม ที่มีเครื่องจักรขนาดมากกว่า 50 แรงม้า แต่ไม่เกิน 75 แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน แต่ไม่เกิน 75 คน แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของโรงงานด้วย เช่น

  • โรงงานผลิตน้ำดื่ม
  • โรงงานผลิตน้ำแข็ง
  • โรงงานทำไอศกรีม
  • โรงงานทำน้ำอัดลม
  • โรงงานแกะสลักไม้

ซึ่งโรงงานโรงงานจำพวกที่ 2 นี้ ได้รับการละเว้น ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) แต่ต้องแจ้งให้พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ทราบก่อนมีการก่อตั้งโรงงานหรือปฏิบัติงาน

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการแจ้งเจ้าหน้าที่พนักงาน เพื่อขอใบรับแจ้งประกอบกิจการ มีดังนี้

  • สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (สำหรับบุคคลธรรมดา)
  • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ระบุชื่อผู้มีอำนาจลงนาม ที่ตั้งสำนักงาน และวัตถุประสงค์ (สำหรับนิติบุคคล)
  • แผนผังแสดงสิ่งปลูกสร้างภายในบริเวณโรงงาน
  • เอกสารอื่น ๆ ตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด

3) โรงงานจำพวกที่ 3

คือ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีขนาดเครื่องจักรมากกว่า 75 แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 75 คน ซึ่งโรงงานจำพวกที่ 3 จำเป็นต้อง ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ก่อนการจัดตั้ง เพราะถือเป็นโรงงานที่อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษ หรืออาจสร้างความเดือดร้อน และต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

ห้ามตั้งโรงงานในสถานที่ใดบ้าง?

ก่อนจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ผู้ประกอบการต้องศึกษาข้อห้ามของทำเลที่ตั้งก่อนเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ดังนี้

  • โรงงานทั้ง 3 จำพวก ห้ามตั้งบริเวณชุมชนที่พักอาศัย หมู่บ้าน และอาคารชุด
  • โรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ห้ามตั้งภายในระยะ 50 เมตรบริเวณพื้นที่สาธารณ เช่น แหล่งอนุรักษ์ทรัพยากร หน่วยงานรัฐ โรงเรียน ศาสนสถาน เป็นต้น
  • โรงงานจำพวกที่ 3 ห้ามตั้งอยู่ภายในระยะ 100 เมตร บริเวณเขตติดต่อสาธารณสถาน

ผู้ประกอบการที่จะเลือกที่ตั้งโรงงานทั้ง 3 จำพวกนี้ ลองมองหากลุ่มนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนั้น โรงงานทั้ง 3 จำพวก ควรตั้งอยู่ในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีอาณาบริเวณกว้างขวาง ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และไม่ก่อให้เกิดเหตุอันตรายต่อบุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่น ก่อนจัดตั้ง และขอใบอนุญาต อย่าลืมหาทำเลเหมาะ ๆด้วย จะช่วยให้การขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน ผ่านได้ไม่ง่าย ๆ

ก่อนสร้างโรงงานต้องรู้อะไรบ้าง?

  1. ตรวจสอบประเภทของโรงงาน และการยื่นคำขออนุญาต โดยขั้นตอนแรกของการทำโรงงาน จำเป็นที่จะต้องมีการยื่นเรื่อง เพื่อขออนุญาตเปิดให้ถูกกฎหมาย แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนนั้น ต้องตรวจสอบก่อนว่าโรงงานที่คุณตั้งใจจะทำนั้นจัดอยู่ในประเภทใด
  2. ตรวจสอบสถานที่ตั้ง และทำเลต่าง ๆ ในการสร้างโรงงาน และศึกษาสถานที่ห้ามจัดตั้งโรงงานด้วย
  3. การเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ แนะนำให้เลือกผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ในการสร้างโรงงานก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการสร้างโรงงานนั้น ไม่ได้มีโครงสร้างเหมือนกับอสังหาริมทรัพย์ทั่วไป ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ด้านนี้จึงสามารถทำได้ดีกว่านั่นเอง
  4. สำรวจอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อโรงงาน เครื่องจักรอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ในระบบการผลิตสินค้าของโรงงาน แต่เครื่องจักรแต่ละชิ้นนั้น มีราคาสูงมาก จึงควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าให้ดี ๆ ก่อนนำมาใช้ในกระบวนการผลิต
  5. วางระบบความปลอดภัยในโรงงาน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงมาก ๆ เช่น ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบอุณหภูมิ ระบบไฟที่ส่องสว่าง ระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุ ชุดปฏิบัติการสำหรับพนักงาน เป็นต้น
  6. คำนวณค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ค่าเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษา และค่าระบบรักษาความปลอดภัย ต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่า เงินทุนที่มีนั้น เพียงพอต่อการสร้างหรือไม่ รวมถึงผลกระกอบการที่ออกมานั้นคุ้มค่ากับที่ลงทุนแค่ไหน และคืนทุนได้ภายในระยะเวลาเท่าไหร่
  7. ธุรกิจของคุณจำเป็นต้องมีโรงงานเป็นของตัวเองหรือไม่ อีกหนึ่งข้อเพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ลองถามตัวเองว่า ตอนนี้ธุรกิจของคุณ จำเป็นต้องมีโรงงานเป็นของตัวเองหรือไม่ เพราะการทำโรงงานต้องใช้ต้นทุนจำนวนมาก หากคุณเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ยังไม่มีทีม R&D ผลิตหรือพัฒนาสินค้าประจำธุรกิจ หรืออยากได้เพียงคลังสินค้า เพื่อจัดเก็บเท่านั้น ก็ไม่ควรจะสร้างโรงงานนั่นเอง
230620-Content-โรงงานมีกี่ประเภท-03

การเตรียมเอกสารขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)

ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง.4 นั้น แนะนำให้ติดต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามแต่เขตจังหวัดที่โรงงานของท่านตั้งอยู่ เพื่อทำการข้อคำแนะนำเพิ่มเติมด้านเอกสาร และวิธีการดำเนินการขอ จากนั้น จะเป็นขั้นตอนในการจัดเตรียมเอกสารในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ร.ง.4 ซึ่งรายการเอกสารเบื้องต้น จะมีรายการ ดังนี้

เอกสารสำหรับขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน มีดังนี้

  1. ใบแจ้งการประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง 1) สำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 / ใบคำขออนุญาต (ร.ง 3) สำหรับโรงงานจำพวกที่ 3
  2. ต้องการขอในนามนิติบุคคล สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล คัดสำเนาไม่เกิน 3 เดือน
  3. ต้องการขอในนามบุคคลธรรมดา สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
  4. หนังสือมอบอำนาจ
  5. เอกสารสิทธิใช้ที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เป็นต้น
  6. แผนผังอาคารโรงงาน ลงนามรับรองความปลอดภัยโดยวิศวกรควบคุมผู้มีใบอนุญาตจากสภาวิศวกร
  7. แผนผังแสดงการติดตั้งเครื่องจักร รับรองความปลอดภัยโดยวิศวกรควบคุมผู้มีใบอนุญาตจากสภาวิศวกร
  8. สำเนาหนังสืออนุญาตก่อสร้าง
  9. ขั้นตอนการผลิตโดยละเอียด
  10. เอกสารอื่นๆตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด เช่น รายงานประเมินความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาจมีเรียกขอเอกสารประกอบเพิ่มเติมแล้วแต่ประเภทของโรงงานของท่าน เช่น รายงานประเมินความเสี่ยง เป็นต้น โดยจัดเตรียมเอกสารทุกอย่างจำนวน 3 ชุด สำหรับพื้นที่กรุงเทพ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตได้ที่ ศูนย์บริการสารพันทันใจ กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08:30 -16:30 น. หรือยื่นเรื่องออนไลน์ ได้ที่ ระบบยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานแบบดิจิทัล ผ่านเว็บไซต์ http://dsapp.diw.go.th

ขั้นตอนการขอ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) เมื่อผู้ประกอบการยื่นเอกสารครบหมดแล้ว หลังยื่นเรื่องเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาพิจารณา 30 วัน หากเกิดปัญหาไม่ได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการมีเวลา 30 วันในการยื่นเรื่องอุทธรณ์ให้พิจารณาใหม่

  • รายละเอียดขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตโรงงาน ได้ที่: www.diw.go.th
  • รายละเอียดค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงงาน ได้ที่: http://reg3.diw.go.th/
  • รายละเอียดค่าธรรมเนียมรายปี สำหรับผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และโรงงานจำพวกที่ 3 ได้ที่: http://reg3.diw.go.th/

จบไปแล้วกับประเภทของ โรงงานอุตสาหกรรม และข้อควรรู้ก่อนตั้งโรงงาน ที่บอกเลยว่า ผู้ประกอบการทั้งหลาย ที่กำลังมีแผนสร้างโรงงานควรรู้ไว้ อย่าลืมศึกษาหาข้อมูล หาทำเล และยื่นขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฏหมายด้วย เพื่อความราบรื่นในกรประกอบกิจการของท่านเอง หวังว่าบทความนี้คงให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะจ๊ะ

บทความดี ๆ น่าอ่าน:

● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ●

KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!

เลือกดูสินค้าจาก KACHA คลิกเลย

อ้างอิงข้อมูลจาก ofm.co.th, proindsolutions.com, wolftcb.com, tot.co.th