“เหล็กแผ่น” มีกี่ประเภท คุณสมบัติและการใช้งานเป็นแบบไหน
เหล็กแผ่น วัสดุที่มีความสำคัญในงานก่อสร้างและงานอุตสากรรม ไม่ว่าจะเป็น งานโครงสร้าง งานประกอบชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าแผ่นเหล็กมีหลายประเภท และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป วันนี้ KACHA จะพาไปรู้จักแผ่นเหล็กว่ามีลักษณะอย่างไร
แต่ละประเภทเหมาะกับงานแบบไหน ตามไปดูกัน!
รู้จัก เหล็กแผ่น คืออะไร ?
เหล็กแผ่น คือ เหล็กที่มีลักษณะเป็นแผ่นเรียบแบน ผลิตจากเหล็ก เหล็กผสมโลหะ หรือเหล็กผสมกับวัสดุต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐาน มาตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการ เช่น รูปทรงสี่เหลี่ยม วงกลม ทรงสามเหลี่ยม เจาะรู ไม่เจาะรู โดยใช้สนิป หรือกรรไกรตัดเหล็กในการตัด สามารถกำหนดความหนา ความกว้าง และความยาวที่ต้องการได้ ถือเป็นอุปกรณ์งานช่างชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญ นิยมนำไปใช้ในงานโครงสร้างเหล็ก ทั้งในงานก่อสร้างและอุตสาหกรรม เช่น แผ่นเหล็กปูพื้น กระโจม กันสาด ราวบันได รั้ว โครงสร้างงานระเบียง สะพานเหล็ก ประกอบโครงสร้างรถยนต์ ประกอบโครงสร้างเรือ ประกอบชิ้นส่วนการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ประเภท และ การใช้งาน
1. เหล็กแผ่นดำ (Hot Rolled Steel Sheet)
เหล็กแผ่นดำ (Hot Rolled Steel Sheet) ผลิตจากการนำเหล็กแผ่นหนามารีดด้วยความร้อนสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียส เพื่อให้ได้ขนาดและความหนาตามต้องการ ก่อนจะนำไปม้วนหรือขึ้นรูป ในประเทศไทยแบ่งแผ่นเหล็กชนิดนี้ ออกเป็น 2 แบบ คือ
- เหล็กแผ่นลาย มีพื้นผิวนูน ลวดลายคล้ายกับเมล็ดข้าว ความหนาอยู่ระหว่าง 2-9 มม. โดยพื้นผิวบนเนื้อเหล็กนี้ จะเพิ่มแรงเสียดทาน ลดความลื่นได้ดี นิยมนำไปใช้ปูพื้นทางเดิน หรือ พื้นรถบรรทุก
- เหล็กแบนตัด/เหล็กแผ่นแบน เป็นเหล็กแผ่นที่คุณสมบัติทนทานต่อการพับได้ดี ความหนาอยู่ระหว่าง 3-25 มม. นำไปแปรรูปหรือขึ้นรูปเป็นชิ้นงานได้หลากหลาย เช่น แหนบรถบรรทุก ฝาท่อ รางน้ำ ฯลฯ
เกรดของเหล็ก : แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ SS400, SS490 และ SPHC
คุณสมบัติ : มีความแข็งแรง ทนต่อสภาพอากาศ และความร้อนได้อย่างยอดเยี่ยม มีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน
การใช้งาน : นำไปประยุกต์ใช้หรือสร้างชิ้นงานได้หลากหลาย ทั้งการขึ้นรูป งานปูพื้นกันลื่น งานโครงสร้าง เหล็กแผ่นเจาะรู หรือตัดพับเป็นชิ้นส่วนในยานยนต์
มาตรฐานรับรองคุณภาพ = มอก.1479-2558, 528-2560, JIS G3131, JIS G3101
2. เหล็กแผ่นดำขัดผิว (Pickled and Oiled Steel Sheet)
เหล็กแผ่นดำขัดผิว (Pickled and Oiled Steel Sheet) เป็นการนำเหล็กแผ่นดำมาผ่านกระบวนการรีดร้อน ในความร้อนระหว่าง 1,000 – 1,250 องศาเซลเซียส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพแผ่นเหล็กให้สูงขึ้น มีความหนาลดลง เพื่อให้ได้ขนาดและความหนาตามที่ต้องการ ส่วนพื้นผิวเหล็กจะมีความเรียบ สีขาวเทา ดูสวยงามกว่าแผ่นเหล็กดำ
เกรดของเหล็ก : แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ SS400, SS490 และ SPHC
คุณสมบัติ : พื้นผิวมีความละเอียดและสวยงาม ความทนทานสูง เนื้อเหนียว ไม่สึกกร่อนง่าย อายุการใช้งานยาวนาน เชื่อมประสานได้ดี
การใช้งาน : ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ใช้เป็นชิ้นส่วนของอุปกรณ์ไฟฟ้า, ถังก๊าซ, ถังคอมเพรสเซอร์(ระบบทำความเย็น), ถังแรงดัน ชิ้นส่วนยานยนต์ และงานโครงสร้างต่าง ๆ
มาตรฐานรับรองคุณภาพ = มอก.1479-2558, 528-2560, JIS G3131, JIS G3101
3. เหล็กแผ่นขาว (Cold Rolled Steel Sheet)
เหล็กแผ่นขาว (Cold Rolled Steel Sheet) เป็นเหล็กที่ผลิตด้วยการนำเหล็กแผ่นดำมารีดเย็น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดสนิมออก จนผิวของเหล็กกลายเป็นสีขาว หรือสีขาวเทา ก่อนจะนำไปรีดอีกรอบด้วยอุณหภูมิปกติ เพื่อให้ได้ความหนาระหว่าง 0.35 – 3.40 มม. จากนั้นก็จะนำไปขัดจนขึ้นเงาและเคลือบผิวจนมีความเงา แวววาวและเรียบขึ้น เพื่อความสวยงาม
คุณสมบัติ : พื้นผิวมันวาวสวยงาม เคลือบผิวด้วยสารเคมีไอออนฟอสเฟต ไม่ขึ้นสนิมหรือผุกร่อนง่าย เนื้ออ่อนตัวสูงเมื่อเทียบกับแผ่นเหล็กดำ ขึ้นรูปง่าย
การใช้งาน : ใช้ในงานอุตสาหกรรมทั่วไป เหมาะสำหรับการใช้กับชิ้นงานที่ต้องการความละเอียด เช่น งานเฟอร์นิเจอร์, งานโครงสร้างอุปกรณ์ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เน้นความสวยงามและแข็งแรง
มาตรฐานรับรองคุณภาพ = มอก.2012-2558
4. เหล็กแผ่นสังกะสี (Galvanized Steel Sheet)
เหล็กแผ่นสังกะสี (Galvanized Steel Sheet) เกิดจากการนำเหล็กม้วนดำมาผ่านกระบวนการรีดเย็น และเคลือบทั้งสองด้านด้วยสังกะสีในอ่างกัลวาไนซ์ (Galvanized) ที่เหลวและความร้อนสูง ก่อนจะนำไปตัด พับ หรือม้วน เพื่อให้เหมาะกับชิ้นงานแต่ละประเภทต่อไป มีลักษณะเป็นเหล็กแผ่นบาง ๆ แบน เรียบเนียน และมีผิวมันวาว
คุณสมบัติ : พื้นผิวเรียบและมันวาว มีสารเคลือบป้องกันสนิมและการกัดกร่อนได้ดี ทนทานต่อน้ำและความชื้นได้ยอดเยี่ยม อายุการใช้งานยาวนาน
การใช้งาน : ใช้ในงานโครงสร้างทั่วไป เช่น กันสาด ราวบันได รั้ว ระเบียง รวมถึงใช้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครื่องใช้ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
มาตรฐานรับรองคุณภาพ = มอก.50-2561 หรือ JIS G3302
เลือก เหล็กแผ่น ยังไงให้ได้คุณภาพ?
- ผ่านมาตรฐาน มอก. แผ่นเหล็กที่มีเลข มอก. หรือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ระบุไว้ชัดเจน นับว่าเป็นแผ่นเหล็กที่ได้มาตรฐาน ใช้งานได้ปลอดภัย ซึ่งมาตรฐานมอก.ของแผ่นเหล็กจะแตกต่างกันไป สามารถตรวจสอบแต่ละประเภทได้ตามข้างต้นเลย
- เลือกให้ถูกประเภท อย่างที่เราทราบไปแล้วว่า แผ่นเหล็กมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีคุณสมบัติที่หลากหลาย เหมาะกับการใช้ผลิตชิ้นงานที่แตกต่างกัน ถ้าเราเลือกให้ถูกประเภท งานของเราก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เกรดของเหล็ก เกรดของเหล็กก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่ออายุการใช้งาน และประสิทธิภาพในการใช้งาน ถ้าเราเลือกเหล็กที่เกรดสูง ก็จะได้งานที่ทนทาน สวยงามตามคุณลักษณะเฉพาะของเหล็กนั้น ๆ
- ขนาดของแผ่นเหล็ก ขนาดและความหนาของเหล็กแผ่น เป็นเรื่องที่จำเป็นไม่แพ้ข้ออื่น เราต้องสามารถบอกขนาด และความหนาของเหล็กแผ่นที่เราต้องการได้ ซึ่งขนาดของเหล็กแผ่น ประกอบไปด้วย ความกว้าง (W) x ความยาว (L) x ความหนา (T) เพื่อให้ได้ขนาดที่สมบูรณ์แบบ ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินความจำเป็น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและความรวดเร็วในการผลิต
จะเห็นได้ว่า เหล็กแผ่น แต่ละประเภทนั้นมีคุณสมบัติเด่นที่แตกต่างกันออกไป เราจึงต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้แผ่นเหล็กที่เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหาย ช่วยประหยัดค่าซ่อมแซ่มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : ชัชวรรณ เมทัลม , เฮียเชษฐ
บทความที่น่าสนใจ :