รู้จักกับ ประเภทอาคาร มีอะไรบ้าง? แบบไหนต้องขออนุญาต
เรียกได้ว่า อาคาร เป็นอีกหนึ่งสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญ เป็นสถานที่อยู่อาศัย หรือเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งการก่อสร้างของอาคารแต่ละประเภท จะมีกฎหมายควบคุมอาคาร เป็นมาตรฐานที่ทำให้โครงสร้างมีความแข็งแรง ทนทาน และลักษณะของอาคาร จะต้องเหมาะสมกับการใช้งานด้วย
บทความนี้ KACHA จะพาไปทำความรู้จักกับ “ประเภทอาคาร” มีความสำคัญอย่างไร และอาคารแบบไหนที่จะต้องทำการขออนุญาต ไปดูพร้อม ๆ กันเลย
ประเภทอาคาร มีอะไรบ้าง?
การก่อสร้าง อาคาร ในแต่ละครั้ง จะต้องคำนึงถึงความแข็งแรง ความมั่นคงของโครงสร้างเป็นสิ่งแรก ซึ่งประกอบไปด้วย เสา, คาน, พื้น และหลังคา จึงทำให้โครงสร้างของอาคารแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งานอาคารประเภทนั้น ๆ เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์รุนแรง และเป็นอันตรายต่อชีวิต สามารถแบ่งออกได้ 4 ชนิดหลัก โดยอ้างอิงมาจาก “พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522” มาตรา 4 ดังนี้
-
อาคารสูง
คือ อาคารที่สามารถเข้าอยู่อาศัย หรือเป็นพื้นที่ใช้สอย โดยที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป จะต้องวัดความสูงของอาคารตั้งแต่พื้นดินของชั้นล่างสุด ไปยังพื้นดาดฟ้า และถ้าหากเป็นอาคารที่มีหลังคาทรงแบบจั่ว หรือทรงปั้นหยา จะต้องวัดระดับจากพื้นดินที่สร้าง ถึงผนังที่สูงที่สุด เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และโรงแรม เป็นต้น
-
อาคารขนาดใหญ่พิเศษ
คือ อาคารที่มีพื้นที่ของทุกชั้นรวมกัน มีขนาดมากกว่า 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป โดยภายในอาคาร หรือบางส่วนของอาคาร สามารถเป็นที่อยู่อาศัย หรือเป็นพื้นที่ใช้สอยได้ สำหรับทำธุรกิจประเภทเดียวกัน หรือหลายประเภทก็ได้ เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ หรือสนามกีฬา เป็นต้น
- อาคารชุมนุมคน
คือ อาคารที่มีขนาดของพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือเป็นพื้นที่สามารถรองรับคนได้มากกว่า 500 คน โดยอาคารนั้น สามารถใช้ประโยชน์ในการชุมนุมได้
-
โรงมหรสพ
คือ อาคาร หรือพื้นที่ สำหรับแสดงความบันเทิง ให้ผู้ชมสามารถเข้าไปใช้บริการ จะมีการเสียค่าบริการ หรือไม่เสียก็ได้ เช่น โรงภาพยนตร์ โรงแสดงละคร และอาคารที่มีการแสดงอื่น ๆ เป็นต้น
ประเภทของอาคาร ที่ต้องควบคุมการใช้
ตาม “กฎหมายควบคุมอาคาร” ของพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2522 มาตรา 32 ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และวัตถุประสงค์ในการใช้ หรือเปลี่ยนการใช้ของอาคาร จะต้องดำเนินเรื่องเพื่อขอใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยอาคารที่ถูกควบคุมการใช้ แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
- อาคารที่เใช้เป็นโกดังสินค้า โรงแรม, คอนโดมิเนียม หรือสถานพยาบาล
- อาคารที่เอาไว้ใช้ในทางพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่เพื่อการศึกษา หรืออาคารที่จะต้องทำตามกำหนดของกฎกระทรวง
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะสร้าง อาคาร ได้นั้น จะต้องได้รับใบอนุญาตให้สามารถทำการก่อสร้างก่อน หรือหากใครไม่อยากยื่นขอใบอนุญาตสำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร สามารถส่งเอกสารตามมาตรา 39 ทวิได้ และแจ้งเป็นหนังสือ เพื่อส่งมอบให้กับเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับทราบ แล้วจะได้รับการตรวจสอบภายใน 30 วันหลังจากที่แจ้งไป
ประเภทของอาคาร ที่ต้องได้รับการตรวจสอบ
สำหรับบุคคลที่เป็นเจ้าของอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน และอาคารตามที่กำหนดภายใต้กฎกระทรวง จะต้องมีผู้ตรวจที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรม หรือทางสถาปัตยกรรม ให้ทำการตรวจสอบตามความเหมาะสม เกี่ยวกับสภาพของอาคารก่อน เช่น โครงสร้าง ระบบไฟฟ้าภายในอาคาร ระบบแจ้งเตือนป้องกันเหตุอัคคีภัย หรือระบบความปลอดภัยต่าง ๆ ที่ไม่เกิดอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินให้เกิดความเสียหาย
หลังจากที่ได้ทำการตรวจสอบแล้ว จะต้องรายงานผลให้กับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้ทำการพิจารณาว่า อาคารของคุณนั้น จะสามารถออกใบรับรองการตรวจสอบได้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนในอาคาร และนอกอาคารนั่นเอง
การยื่นขออนุญาตอาคาร ทำได้อย่างไร?
- การยื่นคำขอ ต้องให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เป็นคนตรวจสอบ และออกใบอนุญาต กรณีที่ไม่ผ่านจะมีหนังสือแจ้ง บอกถึงเหตุผลว่าทำไมอาคารของคุณถึงไม่ได้รับการอนุญาต ภายในระยะเวลา 45 วัน หลังจากที่ยื่นคำขอไป
- หากไม่ได้รับการตอบรับจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หลังจากที่คุณได้ยื่นเรื่องไปเรียบร้อย อาจจะเกิดจากเหตุการณ์ที่เจ้าพนักงานไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ หรือยังไม่ได้แจ้งว่า ทำไมคุณถึงไม่ผ่านการอนุญาตภายใน 45 วัน โดยเจ้าพนักงานสามารถขยายเวลาได้สูงสุดไม่เกิน 90 วัน (ยื่นขยายได้ 2 ครั้ง แต่ละครั้งจะต้องไม่เกิน 45 วัน) และจะต้องทำหนังสือแจ้งเหตุผลของการขยายเวลา ให้คุณได้รับทราบก่อน
- ได้รับใบอนุญาต เมื่อได้รับใบอนุญาต จะต้องมีหนังสือที่ระบุชื่อผู้ควบคุมการก่อสร้าง วันที่เริ่ม และวันที่สิ้นสุด และจะต้องแนบหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุม เพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับทราบ
กล่าวได้คือ การขออนุญาตตามประเภทอาคาร มีความสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย เพราะอาคารที่มีความสูง หรือว่ามีพื้นที่ บริเวณโดยรอบค่อนข้างกว้างขวาง จะต้องถูกออกแบบให้โครงสร้างสามารถตอบโจทย์กับการใช้งานได้ และต้องคำนึงถึงการรองรับน้ำหนักของอาคารเป็นหลัก เพื่อให้อาคารมีความแข็งแรง และมั่นคง ไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่าง ตึกถล่ม จากการที่สร้างอาคารแล้วนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
จบไปแล้ว ประเภทอาหาร แต่ละแบบ และการขออนุญาตก่อนทำการสร้าง คงทำให้หลายคนหลายสงสัยกันบ้างแล้วใช่ไหม อย่างไรก็ตามก่อนสร้างอาหาร อย่าลืมศึกษาหาข้อมูลประเภทอาคารให้ดีก่อนสร้างกันด้วย เพื่อความปลอดภัยในอนาคตนั่นเอง บทความหน้าจะมีอะไรดี ๆ มาฝากนั้น ติดตามกันด้วยนะจ๊ะ
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
อ้างอิงข้อมูลจาก vkb.co.th