ประเภทกระจก มีกี่แบบ? คุณสมบัติเป็นยังไง? ติดตั้งที่ไหนดี?

ในปัจจุบัน กระจกมีให้เลือกหลายแบบ แต่ละแบบมีข้อดี – ข้อเสีย แตกต่างกันไป  ดังนั้น การเลือก ประเภทกระจก ให้ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้

วันนี้ KACHA จะพาทุกคนไปรู้จักวัสดุชนิดนี้กันว่าแต่ละประเภทเหมาะกับสถานที่ไหน? การใช้งานเป็นอย่างไร? และมีอะไรที่ต้องพิจารณาบ้าง? ตามไปดูกันโลดด!!

1) กระจกทั่วไป / กระจกโฟลต (Float Glass)

กระจกทั่วไป / กระจกโฟลต (Float Glass) กระจกใส (Clear Float Glass) กระจกสีตัดแสง (Tinted Float Glass)

กระจกทั่วไป หรือ กระจกโฟลต (Float Glass) ใช้การหลอมและอบด้วยวิธีทั่วไป คุณสมบัติมีความโปร่งแสง ผิวเรียบ แข็งแรง สะท้อนแสงได้ดี ในท้องตลาดนิยมใช้งานกระจกโฟลต ความหนาตั้งแต่ 2 – 20 มม. ขึ้นไป

  • กระจกโฟลตใส (Clear Float Glass) เกิดจากหลอมของซิลิก้า ทำให้มีรอยต่อระหว่างกระจกน้อย เนื้อราบเรียบ ให้มิติภาพสะท้อนสมบูรณ์ ภาพมองผ่านชัดเจน ติดตั้งใช้งานได้ทั้งผนังภายนอกและภายใน เหมาะกับการใช้แสดงสินค้า หรือ ห้องที่ต้องการมองเห็นทัศนียภาพภายนอกอย่างชัดเจน ไม่เหมาะกับพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว
  • กระจกโฟลตสี (Tinted Float Glass) หรือ กระจกสีตัดแสง มีการผสมออกไซด์ในเนื้อกระจก เพื่อให้เกิดสีสันสวยงาม ช่วยดูดกลืนความร้อน ลดความเข้มของแสงได้ นอกจากนี้ยังช่วยตัดแสงที่ส่องเข้ามาในตัวอาคาร ทำให้ประหยัดพลังงานภายในอาคารกว่าแบบใส กระจกประเภทนี้สามารถดูดกลืนพลังงานความร้อนที่ส่องมากระทบชั้นผิวกระจกได้ประมาณ 40-50 % กระจกที่มีสีเข้มจะมีค่าการดูดกลืนพลังงานความร้อนมากขึ้น *ปริมาณของแสงที่ทะลุผ่าน จะขึ้นอยู่กับความหนาของสี และความเข้มข้นของสีในเนื้อกระจก* สีที่เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดจะเป็นสีเขียว

ข้อดี

  • กระจกมีความโปร่งใส แสงลอดผ่านได้สูง
  • พื้นผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์
  • นำไปเคลือบโลหะให้เป็นกระจกสะท้อนแสงได้
  • นำไปแปรรูปเป็นกระจกนิรภัยลามิเนต, กระจกฉนวนความร้อน, กระจกเคลือบสี, กระจกเงา, กระจกดัดโค้ง, กระจกพ่นทราย, กระจกแกะสลัก, กระจกพิมพ์ลาย และกระจกอื่น ๆ ได้

ข้อเสีย

  • ปริแตกง่าย ลักษณะการแตกเป็นปากฉลาม มีความแหลมคม เสี่ยงอันตรายต่อผู้ใกล้เคียง
  • มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก ไม่ทนต่ออุณหภูมิ และแรงดันลมในที่สูง

การนำไปใช้งาน

ใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ใช้เป็นกระจก ประตู หน้าต่าง บ้านพักอาศัย สำนักงาน ร้านค้า ตู้แสดงสินค้า ห้องแสดงสินค้าทั่วไป ฯลฯ

ข้อควรระวัง

ผู้ใช้งานไม่ควรทาสีหรือติดแผ่นกระดาษใด ๆ ลงบนผิวกระจก ไม่ควรติดตั้งในจุดที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทก และไม่ควรติดตั้งในจุดที่มีอุณหภูมิสูง เช่น หน้าเตาไฟในห้องครัว

2) กระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass)

ประเภทกระจก กระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass)

กระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass) เป็นการนำกระจกโฟลตใส หรือ กระจกธรรมดา มาผ่านกระบวนการอบความร้อน (ประมาณ 700 °C) และทำให้เย็นอย่างช้า ๆ ทำให้กระจกประเภทนี้มีความแข็งแกร่ง รับแรงดันลมได้ดีกว่ากระจกทั่วไปถึง 2 เท่า เมื่อกระจกแตกจะมีลักษณะเป็นแผ่น ๆ ติดอยู่กับกรอบไม่หลุด กระจกกึ่งนิรภัย เหมาะกับการติดตั้งในโครงสร้างอาคารสูง เพราะสามารถป้องกันการแตกจากความร้อนได้กว่ากระจกทั่วไป

ข้อดี

  • แข็งแรงกว่ากระจกทั่วไป 2 เท่า รับแรงกระแทก แรงกด แรงบีบได้ดี
  • ทนต่อแรงดันของกระแสลมในที่สูงได้ โดยเฉพาะผนังอาคารสูง พื้นกระจก หรือ หลังคากระจก
  • ทนความร้อนแบบปกติได้สูงถึง 290ºC โดยที่เนื้อกระจกไม่ปริแตก
  • ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ตั้งแต่ 70 – 100ºC
  • เมื่อปริแตก รอยแตกจะวิ่งเข้าไปหาเฟรม ไม่หลุด ปลอดภัยกว่ากระจกทั่วไป

ข้อเสีย

  • ไม่สามารถ ตัด เจีย เจาะ หรือบาก ได้ ดังนั้น การวัดพื้นที่จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้หน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำ ซึ่งการเผื่อหลวมจะช่วยให้การติดตั้งง่ายขึ้น แต่ต้องไม่หลวมจนกระจกหลุดจากคิ้ว
  • เป็นกระจกที่ผ่านกระบวนการความร้อนสูงจนเนื้อกระจกนิ่ม กระจกอาจเป็นคลื่น และมีโอกาสโก่งตัวอยู่เล็กน้อย
  • ไม่สามารถใช้ทดแทนกระจกกันไฟได้ เพราะกระจกฮีทสเตรงค์เท่นไม่สามารถกันไฟเพื่อความปลอดภัยต่อผู้อาศัยตามข้อกำหนดของการกันไฟได้

การนำไปใช้งาน

ใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร ทั้งอาคารขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และสูง (Glass Curtain Wall), ใช้ทำพื้นกระจก (Glass Floor) และใช้ทำหลังคากระจกสกายไลท์ (Skylight Glass)

ข้อควรระวัง

หากใช้งานภายนอกอาคารไปนานๆ อาจเกิดปัญหาการแยกตัวของกระจก หรือที่เรียกว่า Delamination (เกิดขึ้นได้น้อย)

3) กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass)

ประเภทกระจก กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass)

กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass หรือ T/P) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระจกอบ ผลิตจากกระจกโฟลตใสแล้วนำมาอบด้วยความร้อน จากนั้นทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็วด้วยการเป่าลมเย็นทั้ง 2 ด้าน เพื่อสร้างแรงอัดที่ผิวกระจกให้แข็งแกร่งขึ้น สามารถรับแรงได้มากกว่ากระจกทั่วไป 5 – 10 เท่า และยังสามารถดัดได้มากกว่า 3 เท่า รับแรงอัดของลมได้ดี แต่ไม่สามารถทำการตัดหรือเจาะได้ เนื่องจากทนต่อแรง Point Load ได้ต่ำ ความหนาของกระจกนิรภัยเทมเปอร์ที่นิยมผลิตในท้องตลาด คือ 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15 และ 19 มิลลิเมตร เป็น ประเภทกระจก ที่ได้รับความนิยมติดตั้งเป็นกระจกนิรภัยในอาคารมาก

ข้อดี

  • มีความแข็งแกร่ง ทนกว่ากระจกธรรมดา 5 -10 เท่า ใช้ในสภาพที่เสี่ยงต่อการแตกร้าวได้ดี
  • ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้ถึง 150ºC มีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึงและแรงที่ทำให้หักงอสูง (Bending Strength)
  • ตอนแตกจะเป็นเม็ดเล็ก คล้ายเมล็ดข้าวโพด หล่นออกจากกรอบ ไม่มีความคม เกิดอันตรายและบาดเจ็บได้น้อย
  • เหมาะกับงานที่มีความเสี่ยงต่อการแตกร้าว และต้องการความปลอดภัยที่เกิดจากกระจกแตกร้าว (safety)

ข้อเสีย

กระจกนิรภัยเทมเปอร์มีราคาสูงกว่ากระจกทั่วไป เนื้อกระจกมองทะลุผ่านจะบิดเบี้ยวเล็กน้อย ไม่สามารถ ตัด เจีย บาก เจาะ ได้ หากนำมาใช้งานต้องสั่งขนาดและสเป็กจากโรงงาน และมีอัตราการแตกด้วยตัวเองเฉลี่ย 8 แผ่นใน 1,000 แผ่น

การนำไปใช้งาน

ใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร เช่น ใช้เป็นประตูบานเปลือย ฉากกั้นอาบน้ำ ผนังกั้นภายใน ผนังกระจกทั้งสองหน้า ใช้ทำเป็นตู้โทรศัพท์ ห้องโชว์ ตู้สินค้าอัญมณีที่โปร่งแสง กระจกงานเฟอร์นิเจอร์ หน้าต่างกระจก ผนังกระจกทั่วไป บริเวณที่มีความร้อนสูงกว่าปกติ บริเวณที่ต้องรับแรงปะทะของกระแสลมความเร็วสูง พื้นที่ที่ต้องการความโปร่งแสง แต่ก็ต้องการความคงทนต่อแรงกระแทก

ข้อควรระวังในการใช้งาน

 การวัดพื้นที่จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้เป็นหน่วย มม. ในการวัดเพื่อความแม่นยำ และไม่ควรใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์เดี่ยว ๆ เป็นหลังคา พื้น หรือขั้นบันได ห้ามใช้ทดแทนกระจกกันไฟ เพราะกระจกนิรภัยเทมเปอร์ไม่สามารถกันไฟตามข้อกำหนดได้

คลิกเพื่ออ่าน: กระจกเทมเปอร์ หรือ กระจกนิรภัย มีคุณสมบัติอย่างไร? 

4) กระจกลามิเนต (Laminated Glass)

ประเภทกระจก กระจกลามิเนต (Laminated Glass)

กระจกลามิเนต (Laminated Glass) หรือ กระจกนิรภัยหลายชั้น เกิดจากการนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass) และกระจกธรรมดา (Floated Glass) ตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบติดกันด้วย PVB หรือ EVA ทำให้มีความแข็งแรงและความปลอดภัยสูง เมื่อกระจกแตกหักเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น สามารถรับแรงเลื่อน แรงปะทะบ่อย ๆ ได้ นอกจากนี้ ยังป้องกันเสียงรบกวนภายนอกและเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา แถมยังป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตมากกว่า 90 % ทนต่อแรงอัดกระแทก ป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้ เหมาะที่จะนำมาใช้งานเป็นกระจกนิรภัยอาคารอย่างมาก

ข้อดี

  • ป้องกันเสียงรบกวนภายนอกและเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา
  • ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี และ กันรังสียูวีได้มากกว่า 90 %
  • เมื่อกระจกแตก เศษกระจกจะไม่ร่วงหล่นลงมา ลดอันตรายได้มากขึ้น
  • ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก ป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้
  • สามารถเคลือบสีได้ตามความต้องการ

ข้อเสีย

  • ในความหนาเท่ากันกระจกลามิเนตจะรับแรงได้น้อยกว่ากระจกธรรมดา,
  • ฟิล์ม PVB มีคุณสมบัติดูดความชื้น ถ้าใช้กระจกนี้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง จะทำให้การยึดเกาะระหว่างกระจกและฟิล์มไม่ดี อาจเกิดการแยกตัวออกจากกันได้

การนำไปใช้งาน

ผนังภายนอกอาคารสูง, ราวกันตก, หลังคา Skylight, กั้นห้องที่ไม่ต้องการให้เกิดเสียงทะลุทั้งเข้า-ออก กระจกนิรภัยอาคาร ตู้กระจกแสดงสินค้า สถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการโจรกรรม กระจกกันกระสุน ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ และสถานที่อื่น ๆ ที่ต้องการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ

ข้อควรระวังในการใช้งาน 

เมื่อใช้กระจกประเภทนี้ไปนาน ๆ จะพบว่ากระจกจะปรากฏรอยลูกคลื่นตามแนวรอยบากระหว่างแผ่นกระจก หรือ การแยกตัวของกระจกลามิเนต(Delamination) มักจะเกิดบริเวณขอบกระจก ,บริเวณรอยบาก หรือขอบที่เจาะรูยึดกับฟิตติ้ง

5) กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units)

ประเภทกระจก กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units)

กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units) ผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เกิดจากการนำกระจก 2 แผ่นมาประกบกัน แล้วนำเฟรมอะลูมิเนียม (Aluminum Spacer) มาคั่นกลาง บรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวนไว้ภายใน เช่น อากาศแห้ง (Dried Air) หรือ ก๊าซเฉื่อย ทำให้เก็บรักษาอุณหภูมิได้ดีมาก แม้ว่าอุณหภูมิภายในกับภายนอกแตกต่างกันก็ไม่ทำให้เกิดฝ้าหรือหยดน้ำ สามารถสะท้อนความร้อนได้ประมาณ 95%-98% กระจกประเภทนี้มีจุดประสงค์ เพื่อป้องกันความร้อนและประหยัดพลังงานเป็นหลัก

ข้อดี

  • ลดความร้อนจากภายนอกที่จะเข้าสู่อาคาร ช่วยประหยัดพลังงานได้ดี
  • แสงลอดผ่านกระจกได้ ความร้อนน้อย ประหยัดไฟ
  • เครื่องปรับอากาศด้านในไม่ต้องทำงานหนัก
  • ป้องกันเสียงรบกวนจากด้านนอกได้
  • ไม่ทำให้เกิดฝ้า หรือ หยดน้ำ สามารถรับแรงดันลมได้

ข้อเสีย

  • น้ำหนักค่อนข้างมาก เพราะหนากว่ากระจกทั่วไป
  • ขนาดของกรอบเฟรม มีขนาดที่กว้างขึ้นกว่ากระจกทั่วไป
  • ต้องเผื่อระยะในการติดตั้งมากกว่ากระจกทั่วไป

การนำไปใช้งาน

ใช้กับอาคารขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ หรือ อาคารสูงระฟ้า ที่ต้องการควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ทั้งด้านเสียง,อุณหภูมิ และการประหยัดพลังงาน

ข้อควรระวังในการใช้งาน

ไม่ควรติดตั้ง ประเภทกระจก ฉนวนกันความร้อน ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้อายุการใช้งานสั้นลง และไม่ควรให้ลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศกระทบกระจกโดยตรง

6) กระจกเคลือบผิว / กระจกสะท้อนแสง (Surface coated glass)

ประเภทกระจก กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units)

กระจกเคลือบผิว หรือ กระจกสะท้อนแสง (Surface coated glass) เกิดจากการนำกระจกใสไปเคลือบออกไซด์ให้มีความมันวาว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ และ กระจกแผ่รังสีต่ำ

1. กระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ (Solar Reflective Glass) เคลือบผิวด้วยออกไซด์ ความโปร่งแสงต่ำ สามารถสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ที่จะผ่านเข้าสู่อาคารได้ประมาณ 30% กระจกแบบนี้คนจากนอกอาคารจะมองเข้ามาในอาคารลำบาก แต่คนที่อยู่ในอาคารจะมองออกข้างนอกได้ชัด

  • ช่วยลดแสง แสงที่ผ่านเข้ามาในอาคารไม่จ้าเกินไป
  • สร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่คนภายในอาคาร

2. กระจกแผ่รังสีต่ำ หรือ กระจกโลว์อี (Low-E Glass) เคลือบผิวด้วยด้วยโลหะเงินบริสุทธิ์ (Silver) ออกแบบเพื่อสะท้อนพลังงานความร้อน แต่ยังคงให้แสงสว่างผ่านเข้ามาได้มาก ถือเป็น ประเภทกระจก ที่มีประสิทธิภาพสูงอีกชนิดหนึ่ง ช่วยประหยัดพลังงานได้ดี มีปัญหาแตกร้าวน้อยกว่าแบบ Solar มีให้เลือกหลายแบบ ตั้งแต่ระดับทั่วไป คือ ฮาร์ดโค้ท โลว์อี (Hard Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อน (Emissivity) 15-36% และกระจกซอฟท์โค้ท โลว์อี (Soft Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อนต่ำแค่ 2-10%

  • ป้องกันการถ่ายเทความร้อนผ่านกระจกได้ดี
  • แสงลอดผ่านได้มากกว่ากระจกสะท้อนแสง
  • ช่วยสะท้อนรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (UV) ได้บางส่วน (ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต)

การนำไปใช้งาน

 เหมาะกับติดตั้งนอกอาคาร อาคารสูง อาคารสำนักงาน สถานที่ที่ต้องการประหยัดพลังงาน

ข้อควรระวังในการใช้งาน

  • ระมัดซีเมนต์หล่นติดกระจก หรือใช้พลาสเตอร์ติดบนกระจก เพราะอาจทำวัสดุเคลือบกระจกเสื่อม
  • ควรติดตั้งด้านที่เคลือบวัสดุให้อยู่ด้านในอาคารเสมอ
  • ไม่ควรเป่าความเย็นลงบนกระจกโดยตรง เพราะจะทำให้กระจกแตกได้

เป็นอย่างไรบ้างกับ ประเภทกระจก ที่เราได้รวบรวมมาในวันนี้ มีเยอะมากเลยใช่ไหมคะ ดังนั้น ก่อนจะซื้อกระจกมาติดตั้งใช้งาน อย่าลืมดูสภาพแวดล้อมของสถานที่และจุดประสงค์ของการใช้งาน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับคุณสมบัติกระจกแต่ละแบบ เพื่อประสิทธิภาพที่ดี คงทน คุ้มค่า จะไม่เปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์น้าาา

ขอบคุณข้อมูลจาก : TERRABKK , ExpertWindow&Door