ประเภทของปูน มีอะไรบ้าง? แต่ละชนิดเหมาะกับงานแบบไหน?

ปูนก่อสร้าง ไอเท็มสำคัญในการสร้างที่อยู่อาศัย อาคาร โครงสร้างต่าง ๆ นอกจากนี้ยังใช้เชื่อมวัสดุให้ยึดเกาะกัน รวมถึงหล่อขึ้นรูปเป็นชิ้นงานได้ตามต้องการ

ปัจจุบัน ประเภทของปูน จึงเพิ่มมากขึ้น เพราะปูนถูกผลิตให้มีคุณสมบัติที่ต่างกัน เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย ผู้ใช้งานจึงต้องเลือกให้เหมาะกับงาน

วันนี้ KACHA จะพาไปหาคำตอบว่าปูนมีกี่ประเภท? แต่ละชนิดเหมาะกับงานแบบไหน? ตามไปดูกันเลย!

ประโยชน์ “ปูน” ในงานก่อสร้าง

ประเภทของปูน ประโยชน์ “ปูน” ในงานก่อสร้าง

ปูน ส่วนประกอบสำคัญในการก่อสร้างบ้าน อาคาร ตึก รวมถึงงานประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงโครงสร้าง สามารถทำเป็นพื้น เสา คาน งานผนัง งานก่ออิฐ งานฉาบตกแต่ง งานยึดเกาะเชื่อมต่อวัสดุ ถือเป็นไอเท็มที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรง เพิ่มความสวยงาม ปกปิดข้อบกพร่อง เติมเต็มความสมบูรณ์ของสิ่งก่อสร้าง แถมยังช่วยเก็บงานก่อสร้างหยาบ ๆ ให้เรียบร้อยขึ้นอีกด้วย ทำให้ปูนมีความจำเป็นไม่ต่างจากเหล็ก หิน ดิน ทราย หรือวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เลย จะเห็นว่า ปูนมีประโยชน์มากมายในงานก่อสร้าง ทำให้ปัจจุบันมีการผลิต ประเภทของปูน ให้รองรับการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง เราจึงต้องสำรวจความต้องการ รวมถึงประเภทงานที่อยากได้ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้รับเหมาที่อาจจะแอบอ้างหลอกลวงด้วยการเลือกใช้วัสดุผิด ๆ เพื่อโก่งราคานั่นเอง

ประเภทของปูน มีอะไรบ้าง?

ปูนที่ใช้ในงานก่อสร้าง มีเกณฑ์การแบ่งหลายแบบ ซึ่งในบทความนี้เราจะแบ่งตามประเภทของงาน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายขึ้น ดังนี้

ปูนสำหรับงานโครงสร้าง

ประเภทของปูน มีอะไรบ้าง? ปูนสำหรับงานโครงสร้าง

ลักษณะของปูนโครงสร้างจะต้องมีความแข็งแรง เนื้อปูนต้องหดตัวได้สูง ไม่อุ้มน้ำมาก แห้ง เซ็ตตัวไว และไม่แตกร้าวง่าย เพื่อให้รับน้ำหนักและแรงกระแทกจากวัสดุอื่นได้ ปูนประเภทนี้นิยมนำมาสร้างเป็นเสา คาน และงานรากฐานต่าง ๆ ผู้ใช้จึงต้องเลือกให้ดีเป็นพิเศษ รวมถึงกะปริมาณสัดส่วนการผสมให้พอดี เพื่อให้ตัวอาคารมีสมดุล แข็งแรง คงทน ใช้งานได้นานขึ้น

1) ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดา หรือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 (Ordinary Portland Cement) เป็นปูนซีเมนต์พื้นฐาน นิยมใช้มากที่สุด เหมาะกับงานทั่วไปที่ต้องการความแข็งแรงสูง เช่น งานก่อสร้างบ้าน อาคาร  งานถนน ทางเท้า กำแพง หรือ สิ่งก่อสร้างที่อยู่ในสภาพอากาศปกติ เช่น อยู่ไกลน้ำทะเล ไม่อยู่ในทะเลทรายหรือหิมะ ข้อเสียของปูนประเภทนี้ คือ ไม่ทนต่อด่างในน้ำหรือดิน

2) ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ดัดแปลง

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ดัดแปลง หรือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 2 (Modified Portland Cement) ทนต่อซัลเฟตได้สูงกว่าปกติแต่ไม่ถึงระดับรุนแรง เหมาะกับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ทะเล โครงสร้างที่มีความหนา เช่น ตอม่อท่าเทียบเรือ เขื่อนริมฝั่ง กำแพงกั้นดิน สะพานท่าเรือ และโครงสร้างที่ต้องสัมผัสกับน้ำหรือดิน

3) ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดแข็งตัวเร็ว

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดแข็งตัวเร็ว หรือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 3 เป็นเนื้อปูนที่มีความละเอียด แข็งตัวเร็ว รับแรงได้เร็วกว่าปูนประเภทอื่น เหมาะกับงานที่เร่งด่วน งานที่ต้องรื้อถอนเร็วกว่าปกติ นิยมใช้ในงานหล่อผลิตภัณฑ์ คอนกรีตอัดแรงสําเร็จรูป เช่น แผ่นพื้นอัดแรง เสาเข็มอัดแรง เสาไฟฟ้า,เสาและคานสําเร็จรูปสําหรับงานอาคาร, คานสะพานสําเร็จรูป, และหมอนรางรถไฟ เป็นต้น  ไม่ควรใช้กับงานโครงสร้างขนาดใหญ่ เพราะความร้อนจากปฏิกิริยาไฮเดรชั่นจะสูงมากในช่วงแรก อาจทําให้โครงสร้างนั้นแตกร้าวได้

4) ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดเกิดความร้อนต่ำ

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดเกิดความร้อนต่ำ หรือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 4 เหมาะกับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ งานที่ต้องทนกับความร้อน โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนกั้นน้ำที่ต้องอาศัยทนต่อการแตกร้าวจากความร้อน

5) ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดต้านทานซัลเฟตได้สูง

ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดต้านซัลเฟตได้สูง หรือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 5 มีระยะเวลาแข็งตัวช้าที่สุด เหมาะกับการใช้ งานก่อสร้างที่ต้องสัมผัสกับด่างสูง เช่น ดิน ทะเล หรือโครงสร้างที่ต้องสัมผัสกับซัลเฟตสูง เช่น งานก่อสร้างบ่อบําบัดน้ำเสีย งานที่ต้องสัมผัสกับน้ำเสียโดยตรง โครงสร้างใต้ดิน ฯลฯ

ASTM C 150 มาตรฐานปูนของสหรัฐอเมริกา แบ่งปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ออกเป็น 8 ประเภท เพิ่มประเภทกระจายกักฟองอากาศอีก 3 ประเภท ได้แก่ ประเภท 1 A, ประเภท 2A, และประเภท 3A เพิ่มสารกระจายกักฟองอากาศ ช่วยป้องกันการแตกร้าวที่เกิดจากการเพิ่มปริมาณของน้ำที่กลายเป็นน้ำแข็ง เหมาะสําหรับงานโครงสร้างในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น

ปูนสำหรับงานก่อ งานฉาบ

ประเภทของปูน มีอะไรบ้าง? ปูนสำหรับงานฉาบ

1) ปูนซีเมนต์ผสม (Mixed Cement)

ปูนซีเมนต์ผสม คือ ปูนซีเมนต์ที่ผสมวัสดุเฉื่อยหรือเติมหินปูนในอัตราส่วน 1:4 (ประมาณ 25 – 30%) เพื่อให้ปูนเหนียว ยึดเกาะผนังได้ดี แข็งตัวช้า ช่วยลดการแตกร้าวของผนังได้ จึงเหมาะกับงานก่อและงานฉาบที่ต้องใช้ความประณีตและเวลาในการทำ เหมาะสําหรับก่ออิฐ  ฉาบปูน ตกแต่ง และเทคอนกรีตโครงสร้างขนาดเล็ก เช่น ตอม่อ เสาคาน พื้นบ้านชั้นเดียว ลานวัด งานปั้นบัวโอ่งซีเมนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ด้วยคุณสมบัติที่เหนียว ลื่น จึงเป็นที่นิยมใช้ในงานปูนปั้น แต่ไม่เหมาะกับงานโครงสร้างเพราะรับน้ำหนักได้น้อย

2) ปูนซีเมนต์สำเร็จรูปหรือปูนมอร์ต้า

ลักษณะการใช้งานคล้ายกับปูนซีเมนต์ผสม แต่ไม่มีส่วนผสมของหินปูน มีเพียงแค่ปูนซีเมนต์ ทราย และน้ำยาผสมคอนกรีต จึงทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ เป็นอีก ประเภทของปูน ที่ใช้งานง่ายมาก เพียงแค่เติมน้ำลงไปก็สามารถใช้งานได้เลย

คลิกเพื่ออ่าน ปูนสำเร็จรูป คืออะไร? เลือกใช้อย่างไรให้เหมาะกับงาน  

3) ปูนซีเมนต์ Masonry

ปูนซีเมนต์ Masonry เป็นปูนที่มีเนื้อละเอียด มีความเรียบเนียนสูง เวลาฉาบไม่ต้องใช้แรงเยอะ อุ้มน้ำได้ดี ช่วยลดการดูดซึมน้ำของผนังอิฐ หมดกังวลกับรอยแตกหรือผนังลอกหลังจากที่ปูนแห้ง ผลิตขึ้นเพื่อใช้กับงานฉาบผนังเท่านั้น ก่อนนำไปใช้งานต้องผสมกับทรายและน้ำ

 ปูนสำหรับงานพิเศษ

ปูนซีเมนต์ขุดเจาะน้ำมัน (Oil-Well Cement)

1) ปูนซีเมนต์ขุดเจาะน้ำมัน (Oil-Well Cement)

ส่วนมากผลิตจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภททนซัลเฟตสูง ผสมกับสารหน่วงปฏิกิริยาไฮเดรชั่น ทำให้ก่อตัวช้า สามารถทนต่อซัลเฟตด่างและเกลือ ใช้ในสภาวะที่มีความกดดันและอุณหภูมิสูง ๆ ที่ระดับความลึกของน้ำทะเลได้ เหมาะสําหรับงานขุดเจาะบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

2) ปูนซีเมนต์ขาว (White Portland Cement)

ปูนซีเมนต์ขาว มีลักษณะเป็นสีขาว ผสมเข้ากับสีต่าง ๆ ได้ คุณสมบัติแข็งตัวช้า ยึดเกาะดี แต่มีความทนทานต่ำ รับน้ำหนักได้น้อย ผลิตเพื่อใช้ในงานตกแต่งเน้นสวยงามเป็นหลัก สามารถสร้างสรรค์วัสดุชิ้นงาน เพื่อประดับตกแต่งได้ เช่น เทอร์ราซโซ งานหินขัดงานหินล้าง กรวดล้าง ทรายล้าง รวมถึงงานตกแต่งภายในและภายนอกอาคารที่เน้นสวยงามและความทนทานเป็นหลัก  แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

  • งานเทอร์ราซโซ หรืองานหินขัด (Terrazzo) เหมาะสําหรับงานแต่งผิว เช่น พื้นผนัง Counter Top
  • งานเทอร์ราซโซมวลละเอียด (Finazzo) ใช้งานคล้ายเทอร์ราซโซ แต่ให้ความนุ่มนวลเรียบเนียนกว่า
  • งานแนชเชอรัลลุค (Natural Look) หรือ งานหินล้าง กรวดล้าง ทรายล้าง เหมาะสําหรับงานตกแต่งภายนอก เช่น พื้นผนัง กําแพง รั้วบ้าน เป็นต้น
  • งานหล่อและงานปั้น (Casting and Sculpture) เช่น อ่างน้ำพุ เคาน์เตอร์ เก้าอี้สนาม อ่างอาบน้ำ ฯลฯ
  • งานคอนกรีตขาว (White Concrete) เหมาะกับงานผนังอุโมงค์ รั้วกั้นถนน หรืองานที่ไม่ต้องการทาสี เนื่องจากปูนซีเมนต์ช่วยสะท้อนแสงได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาเป็นแผ่นผนังสําเร็จรูปหรือคอนกรีตสําเร็จรูปในขั้นตอนต่อไปได้

จะเห็นว่า ประเภทของปูน แบ่งได้หลายชนิดตามการใช้งาน หากเป็นปูนสำหรับโครงสร้างต้องเน้นความแข็งแรง เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของส่วนประกอบอื่น ๆ ได้ แต่ถ้าเป็นปูนสำหรับก่อหรือฉาบต้องเน้นที่ความเรียบเนียนแห้งช้า ดังนั้น ผู้ใช้จึงต้องเลือกชนิดของปูนให้เหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการใช้งาน

บทความที่น่าสนใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก CPAC Academy