“ยางมะตอย” คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
หลาย ๆ คนต้องรู้จักกับยางมะตอยกันอยู่แล้ว ที่เราเห็นนำมาใช้ทำถนนนั่นแหละ บทความนี้ KACHA จะพาไปทำความรู้จักกับ “ยางมะตอย” ว่าคืออะไร? มีคุณสมบัติ และประโยชน์ในการนำไปใช้งานอะไรบ้าง ตามไปอ่านในบทความพร้อม ๆ กันเลย
ยางมะตอย คือ?
ยางมะตอย (Asphalt) เป็นวัสดุที่สกัดจากน้ำมันดิบ มีสีดำ มีลักษณะเหนียว เป็นของเหลวข้นหนืด มีการเกาะยืดสูง เกิดจากผสมระหว่างสารประกอบไฮโดรคาร์บอน และสารอินทรีย์อื่น ๆ นำมาใช้ในงานก่อสร้างถนน โดยใช้เป็นวัสดุผิวหน้า มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ ทำหน้าที่ประสานระหว่างวัสดุเติม เช่น หินและทรายให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน โดยนำมาใช้ในการเทผิวหน้าถนน จะเรียกว่า แอสฟัลต์คอนกรีต (Asphalt Concrete) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า แอสฟัลต์ นั่นเอง
ยางมะตอยนั้น จะได้มาจากขบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โดยยางมะตอย จะเป็นส่วนของน้ำมันดิบที่หนักที่สุด และจะถูกนำไปผ่านขบวนการผลิตยางมะตอยต่อไป เพื่อให้ได้ยางมะตอยที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ ตามต้องการนั่นเอง
การกลั่นน้ำมันดิบ คือ การย่อยสลายสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ที่เป็นส่วนประกอบของปิโตรเลียมออกเป็นกลุ่ม (Groups) หรือออกเป็นส่วน (Fractions) ต่าง ๆ โดยกระบวนการกลั่น (Distillation) ที่ยุ่งยาก และซับซ้อน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ แบ่งได้ตามนี้
- น้ำมันส่วนที่เบากว่า (Lighter Fractions) เช่น น้ำมันเบนซีน (Petrol หรือ Gasoline), พาราฟิน (Paraffin หรือ Kerosene) และเบนซีน (Benzene)
- น้ำมันส่วนที่หนักกว่า (Heavier fractions) เช่น น้ำมันดีเซล (Diesel), น้ำมันหล่อลื่น (Lubricants) และน้ำมันเตา (Fuel Oils)
คุณสมบัติ และส่วนประกอบของยางมะตอย
อย่างที่รู้กันว่ายางมะตอย ได้รับความนิยมในการใช้งานอย่างกว้างขวาง มีคุณสมบัติที่สำคัญ 3 ประการ คือ
- คุณสมบัติในการยึดและประสาน (Connection) ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมวัสดุต่าง ๆ ให้ติดกัน เช่น การผสมยางมะตอยกับหินย่อย เพื่อใช้ท้าผิวจราจรต่าง ๆ เป็นต้น
- คุณสมบัติในการป้องกันน้ำซึมผ่าน (Waterproofing) เมื่อวัสดุเคลือบด้วยยางมะตอยแล้ว โอกาสที่น้ำจะซึมผ่าน จะเป็นไปได้ยากมาก ๆ
- คุณสมบัติที่เป็นของเหลว หรืออ่อนตัวเมื่อถูกความร้อน และจะแข็งตัวเมื่อเย็นลง คุณสมบัตินี้ ทำให้สามารถนำยางมะตอยมาใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น เช่น การทำถนน เมื่อทำให้ยางมะตอยเหลว สามารถผสมยางมะตอยกับวัสดุต่าง ๆ ได้ดี และเมื่อลาดยางแล้วจะเย็นลงจนเกิดการแข็งตัว
สำหรับส่วนประกอบของยางมะตอย มีอยู่ 2 ส่วน คือ
- ส่วนที่เป็นของแข็ง คือ Asphaltenes มีลักษณะเป็นผงสีดำ
- ส่วนที่เป็นของเหลว ได้แก่ เรซิ่น สารอโรเมติก และความชื้น
ประเภทของ ยางมะตอย มีอะไรบ้าง?
ยางมะตอยสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้
1) Asphalt Cement ชื่อย่อ AC
ได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบ ในส่วนที่ข้น และหนักที่สุด ซึ่งจะมีหลายเกรดตามความอ่อน แข็ง มีราคาถูก ยางแอสฟัลต์ AC นั้น เป็นยางแข็ง ต้องให้ความร้อนถึงจะละลายเป็นของเหลว จะใช้ทำงานถนนเท่านั้น เช่น AC 60/70
2) Asphalt Emulsion หรือยางมะตอยน้ำ
คือ ยางแอสฟัลต์ ที่ผลิตจากการนำยางแอสฟัลต์ มาตีให้กระจายเป็นอนุภาคเม็ดเล็ก ๆ อยู่ในน้ำให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้สารเคมีประเภท อิมัลซิไฟเออร์ หลังจากใช้งาน น้ำในแอสฟัลต์ อิมัลชั่น จะระเหยไป คงเหลือไว้แต่แอสฟัลต์ ให้เกาะตัวกันเป็นฟิล์มต่อเนื่อง เคลือบหุ้มวัสดุมวลรวม หรือพื้นผิวทาง ใช้ในการซ่อมถนน เช่น CSS-1 (20 – 70°C)
3) Cutback Asphalt
คือ การผสมแอสฟัลต์ซีเมนต์ กับสารละลาย ให้เป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อแข็งตัว สารละลายจะระเหยไป เหลือแต่แอสฟัลต์ซีเมนต์ เช่น MC-30 (30 – 90oC), MC-70 (50 – 110°C) โดยปกติจะใช้ในงานรองพื้น (Prime Coat) ก่อนที่จะลาดยาง เพื่อป้องกันการไหลซึมของน้ำลงไปในพื้นดินที่อัดไว้ก่อนหน้านี้
การแบ่ง คัตแบกแอสฟัลต์ โดยการเทียบอัตราเร็วของการระเหย สามารถแบ่งได้ 3 ชนิด ดังนี้
- Rapid curing (ชนิดแข็งตัวเร็ว) ชื่อย่อ RC ประกอบด้วยแอสฟัลต์ซีเมนต์กับตัวทำละลายที่ระเหยเร็ว (จุดเดือดต่้า) ได้แก่ น้ำมันเบนซีน หรือ Naphtha
- Medium curing (ชนิดแข็งตัวเร็วปานกลาง) ชื่อย่อ MC ประกอบด้วยแอสฟัลต์ซีเมนต์กับตัวทำละลายที่ระเหยเร็วปานกลาง ได้ Kerosene (น้ำมันก๊าซ)
- Slow curing (ชนิดแข็งตัวช้า) ชื่อย่อ SC ประกอบด้วยแอสฟัลต์ซีเมนต์กับน้ำมันที่ระเหยช้า หรือได้จากการกลั่นโดยตรง คัตแบกแอสฟัลต์ชนิด SC นี้ บางครั้งก็เรียกกันว่า Road Oils
4) Polymer Modified Asphalt โพลิเมอร์โมดิฟายส์แอสฟัลต์
คือ ยางแอสฟัลต์เกรดพิเศษ ที่ได้จากการผสม ระหว่างโพลีเมอร์ กับ แอสฟัลต์ซีเมนต์ ภายใต้กระบวนการผสมที่ดำเนินการในโรงงานผลิต โดยใช้เครื่องผสมที่ออกแบบโดยเฉพาะ สารโพลีเมอร์ที่ใช้ผสม ได้แก่ SBS (Styrene Butadiene Styrene), EVA (Ethylene Vinyl Acetate) หรือสารโพลีเมอร์อื่น ๆ ซึ่งเมื่อนำมาผสมเป็นผิวทาง แอสฟัลต์คอนกรีตชนิดผสมร้อน (Hot Mix Asphalt) จะให้คุณสมบัติที่เหนือกว่าผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตทั่วไป มีคุณสมบัติ คือ
- มีความต้านทานต่อการล้าที่ดีกว่า
- มีความต้านทานสูงต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างถาวร
- มีความยืดหยุ่นสูงที่อุณหภูมิต่ำมาก หรือสูงมาก
- มีความต้านทานต่อการบิดตัว ระหว่างวัสดุมวลรวมกับวัสดุเชื่อมประสาน
- มีความต้านทานต่อการหลุดลอกที่ดีกว่า
- ไม่มีการไหลเยิ้มของวัสดุเชื่อมประสาน
ข้อควรระวังในการใช้งานยางมะตอย
- ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส โดยตรงกับยางมะตอย
- ควรหลีกเลี่ยงการสูดดม โดยตรงกับยางมะตอย
- ควรสวมใส่ชุด และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากความร้อนของยางมะตอยระหว่างปฏิบัติงาน รวมทั้งหน้ากาก ปลอกแขน และถุงมือหนัง เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน
เรียกได้ว่า ยางมะตอยนั้น จะถูกใช้งานในงานก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนน หรือทางเดินเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะใช้งานโดยการเทราด หรือผสมกับวัสดุรวมพวกหินต่าง ๆ ในชั้นของผิวทาง เช่น การเตรียมผิวทาง การฉาบผิวทาง การเสริมผิวทาง การก่อสร้างผิวทาง และการซ่อมแซมผิวทาง
สำหรับภาคครัวเรือนมักมีการใช้ยางมะตอยในด้านต่าง ๆ เช่น การซ่อมหลุม การยาแนวคอนกรีต เป็นต้น ซึ่งสามารถหาซื้อยางมะตอยสำเร็จรูปที่มีการผสมวัสดุรวมพร้อมใช้งานได้ อย่างไรก็ตามก่อนนำยางมะตอยมาใช้งาน อย่าลืมศึกษาข้อมูลรายละเอียด ขั้นตอนการใช้งานให้ดีก่อนทุกครั้งด้วย
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- “งานก่อสร้าง” คืออะไร? แต่ละประเภทเป็นอย่างไรบ้าง?
- ราคาก่อสร้างโกดังต่อตารางเมตร 2566 เท่าไหร่ เช็กให้ชัวร์ ก่อนสร้างโกดัง
- BOQ คืออะไร จำเป็นไหมในการก่อสร้างบ้าน?
- โกดังสำเร็จรูป VS โกดังสร้างเอง แบบไหนดีกว่ากัน?
KACHA ผู้จัดจำหน่าย รอกโซ่ รอกโซ่มือสาว เครนยกของ และอุปกรณ์เสริมสำหรับงานช่าง ต่าง ๆ ราคาจับต้องได้ สินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจ นอกจากนี้ บริษัทของเรา ยังมีบริการรับ สร้างโกดัง สร้างโรงงาน สร้างคลังสินค้าต่าง ๆ จากช่างมืออาชีพที่มีประสบการณ์ การันตีผ่านมาตรฐานก่อสร้าง และความปลอดภัยต่าง ๆ เข้าชมเว็บไซต์ www.kacha.co.th