บันไดหนีไฟ ประตูหนีไฟ สำคัญอย่างไร? ทำไมต้องมี?

คนทำงานที่อาศัยอยู่บนอาคารสูง หรือมีที่ทำงานอยู่บนตึกสูง คงได้ทำการฝึกซ้อมหนีไฟ โดยหนีออกมาทาง บันไดหนีไฟ ประตูหนีไฟ อยู่บ่อยครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัย ในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้อย่างไม่คาดคิด และทราบหรือไม่ว่าบันไดหนีไฟที่ได้มาตรฐานนั้น มีลักษณะอย่างไร? และก่อนที่วิศวกรจะก่อสร้างอาคารสูงเขามีกฎเกณฑ์ในการสร้างบันไดหนีไฟอย่างไรบ้าง? และวิธีการใช้บันไดหนีไฟอย่างถูกต้องทำอย่างไร?

ตาม KACHA ไปทำความรู้จักกับ บันไดหนีไฟ ประตูหนีไฟ กันเลยดีกว่า

บันไดหนีไฟ ???? คืออะไร? สำคัญอย่างไร?

ในการออกแบบอาคารนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกนอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยภายในอาคารแล้ว ไม่ใช่ความสวยงามของตัวอาคาร แต่เป็นความปลอดภัยของผู้ใช้งานอาคาร การออกแบบอาคารให้มีความปลอดภัยเป็นสิ่งหลักที่สำคัญที่สุดที่ผู้ออกแบบอาคารต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยด้านโครงสร้างอาคาร หรือความปลอดภัยในการใช้งานอาคาร

210730-Content-บันไดหนีไฟประตูหนีไฟ-สำคัญอย่างไร--ทำไมทุกอาคารต้องมี-02

อันตรายที่เกิดจากการใช้งานอาคารมีหลายอย่าง อัคคีภัยเป็นภัยร้ายแรงอย่างหนึ่ง ที่สามารถเกิดขึ้นกับอาคารได้เป็นอันดับต้น ๆ มีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอัคคีภัยในอาคารได้ ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่ใช้เป็นสถานประกอบกิจการ หรืออาคารที่พักอาศัย เช่น การเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือเกิดเหตุขัดข้องของเครื่องใช้ไฟฟ้า การดัดแปลงพื้นที่ และเปลี่ยนแปลงการใช้งานของพื้นที่ภายในอาคาร ทำให้เกิดการใช้งานอาคารผิดประเภท การใช้วัสดุที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น วัสดุที่ติดไฟง่าย หรือไม่ใช้วัสดุทนไฟในห้องครัว การไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัยที่เหมาะสม หรือละเลยการดูแล และทดสอบระบบป้องกันอัคคีภัย เป็นต้น

ทางหนีไฟภายในอาคาร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งานอาคาร จึงมีการออกกฎหมาย เพื่อบังคับให้มีการออกแบบทางหนีไฟภายในอาคาร เพื่อควบคุมให้อาคารมีความปลอดภัย และมีมาตรฐานที่เหมาะสม ระบบทางหนีไฟ จะประกอบไปด้วย เส้นทางหนีไฟ ตัวทางหนีไฟ และป้ายทางหนีไฟ โดยทั้งหมดนี้ ต้องออกแบบอย่างถูกต้อง เพื่อทำหน้าที่ได้ดีที่สุด โดยเส้นทางหนีไฟเป็นเส้นทางให้สามารถนำคนออกจากภายในอาคารไปสู่ภายนอกอาคาร เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้โดยสะดวกรวดเร็ว

  • เส้นทางหนีไฟ คือ ทางออก และแนวทางออก เพื่อให้คนออกจากอาคารเมื่อเกิด อัคคีภัย โดยจะต้องเป็นเส้นทางซึ่งต่อเนื่องกัน เพื่อออกจากภายในอาคารไปสู่บันไดหนีไฟ หรือที่เปิดโล่ง ภายนอกอาคารที่ระดับพื้นดิน หรือออกสู่ทางสาธารณะ
  • ทางหนีไฟ คือ ส่วนหนึ่งของเส้นทางหนีไฟที่ถูกแยกออกจากส่วนอื่น ๆ ของอาคาร เพื่อความปลอดภัยตลอดทางจนถึงทางปล่อยออก โดยทางหนีไฟจะต้องมีส่วนปิดล้อมที่ไม่มีช่องให้ไฟ หรือควันจากภายนอกผ่านเข้ามาได้ และส่วนปิดล้อมนี้ ต้องมีอัตราการทนไฟเป็นไปตามที่กำหนด
  • ป้ายทางหนีไฟ คือ ป้ายทางออกฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่ใช้สื่อสารกับผู้ใช้อาคารให้ไปตามทิศทางที่ไปสู่ทางหนีไฟ และออกสู่ภายนอกอาคารได้
210730-Content-บันไดหนีไฟประตูหนีไฟ-สำคัญอย่างไร--ทำไมทุกอาคารต้องมี-03

การใช้ประตูหนีไฟอย่างถูกต้อง

  • ปิดประตูตลอดเวลาการกระทำอย่างง่าย ๆ เช่น การปิดประตูหนีไฟ จะช่วยจำกัดสิ่งที่เกิดจากไฟไหม้ เช่น ความร้อนและควันไฟ ให้อยู่ในพื้นที่เฉพาะและปกป้องพื้นที่ที่อยู่ติดกันและเส้นทางออก นอกจากนี้ การปิดประตูตลอดเวลา จะช่วยรักษาความดันอากาศที่เป็นลบในส่วนที่เกี่ยวกับทางเดิน โดยใช้ไฟและรหัสความปลอดภัย
  • อย่าเปิดประตูด้วยการงัด หรือโดยการงอกลไกการปิด อาจทำให้ประตูไฟไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากความเสียหายทางกายภาพแล้ว จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของการเผาไหม้สามารถเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อื่น ๆ และก่อให้เกิดการแพร่กระจายและความรุนแรงของเพลิงไหม้ได้
  • อย่าติดตั้ง “แผ่นวัสดุทึบ” สูงเกิน16 นิ้ว จากด้านล่างของประตูแผ่นวัสดุทึบขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นอ่างระบายความร้อน ซึ่งสามารถลดความต้านทานไฟของประตู
  • อย่าเก็บอุปกรณ์ หรือสารที่ติดไฟได้กับประตูหนีไฟ อาจทำให้วัสดุเหล่านี้ติดไฟได้ หากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่อีกด้านของประตู สิ่งนี้อาจเกิดอันตรายในทางเดิน โดยไม่เพียงเกิดกับผู้ที่ออกจากอาคารแต่ยังเกิดกับบุคลากรดับเพลิงที่เข้ามาภายในอาคารเพื่อดับเพลิง
  • ห้ามตอกตะปู หรือน็อต หรือสิ่งของอื่น ๆ เข้ากับประตูหนีไฟ การสร้างรู หรือรอยแตกในประตูหนีไฟ อาจทําการป้องกันอัคคีภัยลดลงและต้องมีการเปลี่ยนประตูหนีไฟ ควรติดป้ายเล็ก ๆ ที่ประตูหนีไฟ ขนาดน้อยกว่า50 ฟุตของประตูหนีไฟ และติดกับกาว ในบริเวณที่ไม่ใช่กระจก

ลักษณะทางหนีไฟตามกฎหมาย

ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการออกแบบอาคาร มีการบังคับให้ต้องมีทางหนีไฟอยู่ในอาคารหลายประเภทอาคาร และเป็นสิ่งสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของนักออกแบบที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ รวมทั้งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้อาคารควรต้องศึกษาเส้นทางหนีไฟให้ดีก่อนการใช้อาคารทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ใช้อาคารเอง

1. ทางหนีไฟสำหรับอาคารที่สูงไม่เกิน 23 เมตร

ตามกฎหมายเกี่ยวกับการออกแบบอาคารที่ชื่อว่ากฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) กำหนดไว้ว่าอาคารที่สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตร ได้แก่ อาคารที่สูง 3 ชั้น และมีดาดฟ้าเหนือชั้นที่ 3 ที่มีพื้นที่ดาดฟ้าเกิน 16 ตารางเมตร ต้องมีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 1 แห่ง นอกเหนือจากบันไดหลักของอาคาร

ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ได้กำหนดให้อาคารต่างๆ ดังต่อไปนี้ ที่มีการก่อสร้างหรือดัดแปลงเกิน 1 ชั้น ต้องมีทางหนีไฟโดยเฉพาะอย่างน้อย 1 ทางด้วย นอกเหนือจากบันไดปกติ อาคารที่กำหนด ได้แก่ โรงมหรสพ, หอประชุม, โรงงาน, โรงแรม, โรงพยาบาล, หอสมุด, ห้างสรรพสินค้า, ตลาด, สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ท่าอากาศยาน และสถานีขนส่งมวลชน รวมทั้งอาคารสาธารณะที่มีชั้นใต้ดินตั้งแต่ 1 ชั้นขึ้นไป และอาคารใดก็ตามที่มีชั้นใต้ดินตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป

210730-Content-บันไดหนีไฟประตูหนีไฟ-สำคัญอย่างไร--ทำไมทุกอาคารต้องมี-04

2. ทางหนีไฟสำหรับอาคารสูง

อาคารสูง หมายถึง อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป โดยวัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้า หรือวัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุดในกรณีที่เป็นอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยา โดยสำหรับอาคารสูงจะมีข้อกำหนดในรายละเอียดสำหรับทางหนีไฟเพิ่มขึ้น เนื่องจากอาคารสูงมีความซับซ้อนในการออกแบบระบบอาคารที่มากขึ้น และความยากลำบากในการอพยพคนออกจากอาคารที่มากกว่าเดิม ลักษณะของทางหนีไฟตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) มีดังนี้

  • อาคารสูงที่มีพื้นของอาคารต่ำกว่าระดับถนนหน้าอาคารตั้งแต่ 3 ชั้นลงไป หรือต่ำกว่าระดับถนนหน้าอาคารตั้งแต่ 7 เมตรลงไป ต้องมีบันไดหนีไฟจากชั้นล่างสุดสู่พื้นของอาคารที่มีทางออกสู่ภายนอกได้โดยสะดวก และบันไดหนีไฟนี้ ต้องมีระบบอัดลมที่มีความดันไม่น้อยกว่า 3.86 ปาสกาลเมตรทำงานอยู่ตลอดเวลา ผนังทุกด้านของบันไดหนีไฟต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนาไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร บันไดหนีไฟ ต้องอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 60 เมตร ตามแนวทางเดิน
  • อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมีการปิดกั้นบันไดที่ไม่ใช่บันไดหนีไฟของอาคาร ไม่ให้เปลวไฟหรือควันไฟเข้าไปได้ โดยจัดให้เป็นผนังหรือประตูที่ทำด้วยวัสดุทนไฟ และต้องทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
  • ต้องมีการติดตั้งแผนผังของอาคารไว้ในบริเวณห้องโถงหน้าลิฟต์ทุกแห่งของแต่ละชั้น ในตำแหน่งที่เห็นชัดเจน และชั้นล่างของอาคาร ต้องมีแผนผังของอาคารทุกชั้นเก็บไว้เพื่อตรวจสอบ และในแผนผังอาคารแต่ละชั้นต้องมีการแสดงตำแหน่งห้องทุกห้อง ตำแหน่งที่ติดตั้งสายฉีดน้ำดับเพลิง หรืออุปกรณ์ดับเพลิงอื่น ๆ ตำแหน่งประตูหรือทางหนีไฟ และตำแหน่งลิฟต์ดับเพลิงของชั้นนั้นด้วย
  • ต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้น ต้องมีบันไดหนีไฟจากชั้นสูงสุด หรือชั้นดาดฟ้าสู่พื้นดินอย่างน้อย 2 บันได แต่ละบันไดต้องอยู่ห่างกันไม่เกิน 60 เมตร ตามแนวทางเดิน และต้องแสดงการคำนวณให้เห็นว่าสามารถลำเลียงบุคคลทั้งหมดในอาคารออกนอกอาคารได้ภายใน 1 ชั่วโมง
  • บันไดหนีไฟต้องทำด้วยวัสดุทนไฟและไม่ผุกร่อน เช่น คอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นต้น บันไดต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ลูกนอนกว้างไปน้อยกว่า 22 เซนติเมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร มีชานพักบันไดกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร มีราวบันไดอย่างน้อย 1 ด้าน และห้ามสร้างบันไฟหนีไฟเป็นบันไดเวียน บันไดหนีไฟภายนอกอาคาร ผนังด้านที่บันไดพาดผ่านต้องเป็นผนังกันไฟ
  • บันไดหนีไฟภายในอาคารต้องมีผนังกันไฟกั้นโดยรอบ ยกเว้นช่องระบายอากาศ และต้องมีการใช้ไฟฟ้าฉุกเฉิน เพื่อเป็นแสงสว่างให้มองเห็นขณะเกิดเพลิงไหม้ได้ และมีป้ายบอกชั้น และป้ายทางหนีไฟที่ด้านในและด้านนอกของประตูหนีไฟทุกชั้นด้วยตัวอักษรที่สามารถมองเห็นได้ชัด ตัวอักษรต้องมีขนาดไม่เล็กว่า 10 เซนติเมตร
  • ประตูหนีไฟทำด้วยวัสดุทนไฟ เป็นบานเปิดแบบผลักออกสู่ภายนอก มีอุปกรณ์ที่บังคับให้บานประตูปิดเองได้ มีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร และไม่มีธรณีประตู
  • ต้องมีช่องทางเฉพาะให้บุคคลภายนอกเข้าไปบรรเทาสาธารณภัยได้ทุกชั้น จะเป็นลิฟต์ดับเพลิง หรือช่องบันไดหนีไฟก็ได้ และทุกชั้นต้องมีห้องว่างที่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตรติดต่อกับช่องทางนี้ และต้องเป็นบริเวณที่ปลอดจากเปลวไฟและควันเช่นเดียวกับช่องบันไดหนีไฟ และใช้เป็นที่ตั้งตู้หัวฉีดน้ำดับเพลิงประจำชั้นของอาคาร
  • ต้องมีทางหนีไฟทางอากาศ โดยต้องมีดาดฟ้า และมีพื้นที่บนดาดฟ้าด้านละไม่น้อยกว่า 10 เมตร เป็นที่โล่งว่าง และมีทางหนีไฟบนชั้นดาดฟ้า ที่จะนำไปสู่บันไดหนีไฟได้สะดวกทุกบันได และมีอุปกรณ์สำหรับหนีไฟจากอาคารลงสู่พื้นดินได้โดยปลอดภัยด้วย

3. ทางหนีไฟสำหรับอาคารประเภทต่าง ๆ

ลักษณะของทางหนีไฟตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง ข้อกำหนดลักษณะแบบของบันไดหนีไฟ และทางหนีไฟทางอากาศของอาคาร

ตึกแถวหรือที่พักอาศัยที่มีความสูง 4 ชั้น

  • ต้องมีบันไดหนีไฟเพิ่มเติมจากบันไดหลักในอาคาร โดยสามารถเป็นบันไดแนวดิ่งหรือบันไดลิงได้ ต้องสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ และติดตั้งในส่วนที่ว่างหลังอาคารได้ โดยบันไดหนีไฟต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร ระยะห่างของบันไดแต่ละขั้น 50-60 เซนติเมตร บันไดขั้นล่างสุดอยู่ห่างจากระดับพื้นดินไม่เกิน 3.50 เมตร ตำแหน่งของบันไดหนีไฟต้องอยู่ในทิศตรงข้ามกับบันไดหลัก และอยู่ใกล้กับช่องเปิดของประตูหรือหน้าต่าง หากเป็นตึกแถวที่มีความสูงเกิน 4 ชั้น บันไดหนีไฟต้องมีชานพักบันไดทุกชั้น

อาคารที่ไม่ใช่ตึกแถว ที่มีความสูง 4-7 ชั้น

  • ต้องมีบันไดหนีไฟภายในหรือภายนอกอาคารเพิ่มเติมจากบันไดหลักในอาคาร โดยบันไดหนีไฟต้องสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ บันไดแต่ละช่วงสูงไม่เกินความสูงระหว่างชั้นของอาคาร มีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ลูกนอนกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ตำแหน่งบันไดหนีไฟห่างจากประตูห้องสุดท้ายด้านทางเดินที่เป็นทางตันไม่เกิน 10 เมตร หากจำเป็นต้องมีบันไดหนีไฟ 2 ตำแหน่ง ให้สามารถใช้บันไดหลักเป็นบันไดหนีไฟได้ ระยะห่างระหว่างบันไดไม่เกิน 60 เมตร ช่องประตูหนีไฟต้องกว้างไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร
  • ต้องมีป้ายทางหนีไฟ เป็นป้ายเรืองแสงหรือเครื่องหมายไฟที่มีการส่องสว่างด้วยไฟสำรองฉุกเฉิน บอกทางออกสู่บันไดหนีไฟ ติดตั้งป้ายทางหนีไฟเป็นระยะตามทางเดินและหน้าทางออกสู่บันไดหนีไฟ และทางออกจากบันไดหนีไฟสู่ภายนอกอาคาร ป้ายทางหนีไฟมีแสงสว่างแสดงข้อความ ทางออก หรือเครื่องหมายที่มีแสงสว่างแสดงว่าเป็นทางออกอย่างชัดเจน

อาคารที่ไม่ใช่ตึกแถว ที่มีความสูงเกิน 12 ชั้น

  • มีบันไดหนีไฟเหมือนอาคารที่สูง 7-12 ชั้น แต่ต้องมีระบบอัดลมในทางหนีไฟที่เชื่อมบันไดหนีไฟ 2 บันไดที่ไม่ต่อเนื่องกันด้วย ส่วนบันไดหลักหรือบันไดอื่นตั้งแต่ชั้น 3 ขึ้นไปให้ออกแบบให้ใช้เป็นบันไดหนีไฟด้วย

อาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยอยู่ต่ำกว่าระดับดินมากกว่า 2 ชั้น

  • ต้องมีบันไดหนีไฟสู่ระดับพื้นดิน รายละเดียดเช่นเดียวกับอาคารที่มีความสูงเกิน 12 ชั้น

อาคารที่สูงเกิน 7 ชั้น

  • ต้องมีทางหนีไฟทางอากาศ โดยให้มีพื้นที่ส่วนหนึ่งบนชั้นดาดฟ้าเป็นที่ว่างเพื่อใช้เป็นทางหนีไฟทางอากาศ และต้องมีทางหนีไฟบนชั้นดาดฟ้าที่นำไปสู่บันไดหนีไฟได้ หรือมีอุปกรณ์ช่วยในการหนีไฟจากอาคารลงสู่พื้นดินได้อย่างปลอดภัย
210730-Content-บันไดหนีไฟประตูหนีไฟ-สำคัญอย่างไร--ทำไมทุกอาคารต้องมี-05

4. ทางหนีไฟสำหรับอาคารเก่าที่เป็นอาคารสูง 4 ชั้นขึ้นไปและอาคารสาธารณะ

อาคารเก่าที่ก่อสร้างมานานแล้ว ไม่มีทางหนีไฟ ทำให้มีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อผู้ใช้อาคาร จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอาคารเหล่านี้ให้มีระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัยด้วย ซึ่งตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ.2540) กำหนดว่า อาคารเก่าที่ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้าย ที่เป็นอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารขนาดใหญ่ อาคารสาธารณะ อาคารอยู่อาศัยรวม โรงงาน ภัตตาคาร และสำนักงาน  ที่มีสภาพที่อาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย ต้องมีการแก้ไขอาคารให้มีระบบความปลอดภัยเกี่ยวกับอัคคีภัย โดยกำหนดรายละเอียดที่ตัดมาเฉพาะทางหนีไฟไว้ ดังนี้

  • อาคารที่มีความสูง 4 ชั้นขึ้นไป ให้ติดตั้งบันไดหนีไฟ ที่ไม่ใช่บันไดในแนวดิ่งเพิ่มจากบันไดหลัก ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของอาคาร และสามารถลำเลียงบุคคลทั้งหมดในอาคารออกนอกอาคารได้ภายในหนึ่งชั่วโมง โดยบันไดหนีไฟภายในอาคารต้องมีผนังโดยรอบทุกด้านทำด้วยวัสดุที่ไม่ติดไฟ ช่องประตูบันไดหนีไฟต้องเป็นบานเปิดทำด้วยวัสดุที่ไม่ติดไฟ มีอุปกรณ์ที่บังคับให้ประตูปิดเองได้ และมีความกว้างไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร
  • ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างสำรอง มีป้ายบอกชั้นและป้ายทางหนีไฟที่ด้านในและด้านนอกของประตูหนีไฟทุกชั้น ตัวอักษรมีขนาดไม่เล็กกว่า 10 เซนติเมตร

ถึงแม้ว่าในยามปกติคงไม่มีใครให้ความสนใจกับบันไดหนีไฟกันเท่าไรนัก แต่เมื่อถึงคราวฉุกเฉินแล้ว บันไดหนีไฟ คือ สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอาคารสูง และวิศวกรผู้รับผิดชอบโครงการ จะต้องดูแลควบคุมการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ตรงตามมาตรฐาน และการกำหนดมาตรฐานทั้งหลายนั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย หรือทำงานในอาคารสูงนั่นเอง

>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<