บ่อเกรอะบ่อซึม คืออะไร?
บ่อเกรอะบ่อซึม เป็นถังบำบัดน้ำเสีย บ่อเกรอะ เป็นบ่อที่ปิดมิดชิด ของเสียไหลออกไม่ได้ จะมีได้ก็เพียง ส่วนน้ำ หรือของเหลวไหลล้นออกไปสู้บ่อซึม แล้วน้ำ หรือของเหลวจากบ่อซึม ก็จะซึมออกสู่ดินของเสียภายในบ่อ
ลักษณะของบ่อเกรอะบ่อซึม
ลักษณะที่สำคัญของบ่อเกรอะ คือ ต้องป้องกันตะกอนลอย และตะกอนจมไม่ให้ไหลไปยังบ่อเกรอะขั้นสอง เช่น ใช้แผ่นกั้นขวาง หรือท่อรูปตัวที (สามทาง)
บ่อเกรอะมีใช้อยู่ตามอาคารสถานที่ทั่วไปจะสร้างเป็นบ่อคอนกรีตในที่ หรือถ้าเป็นอาคารขนาดเล็ก หรือบ้านพักอาศัยก็มักนิยมสร้างโดยใช้วงขอบซีเมนต์ ซึ่งมีจำหน่ายตามร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วไป แต่ปัจจุบันมีการสร้างถังเกรอะสำเร็จรูป จำหน่ายโดยใช้หลักการเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นบ่อคอนกรีต 2 ถัง ขึ้นรูปจากปลอกวงแหวนซีเมนต์มาเรียงซ้อนกัน บ่อแรกเราจะเรียกว่า บ่อเกรอะ จะเป็นด่านแรกที่รับสิ่งปฏิกูลจากภายในบ้านโดยตรง มีหน้าที่กักเก็บสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลาย และตกตะกอนตามธรรมชาติ กากปฏิกูลจะตกตะกอนไปอยู่ที่ก้นบ่อ ส่วนน้ำที่อยู่ตอนบนของบ่อจะไหลลงสู่ บ่อซึม ซึ่งเป็นบ่อที่อยู่ถัดมา โดยน้ำที่ผ่านจากบ่อเกรอะมาแล้ว จะค่อย ๆ ซึมลงไปในดิน และชั้นหินด้านล่างอย่างช้า ๆ การทำงานของทั้ง 2 บ่อนี้จะต่อเนื่องกันไป เพื่อย่อยสลายของสิ่งโสโครกจากน้ำทิ้งภายในบ้านนั่นเอง
บ่อเกรอะ – บ่อซึม แตกต่างกันอย่างไร?
โดยส่วนใหญ่แล้ว น้ำที่ผ่านการใช้ในการอุปโภค และบริโภคแล้วภายในครัวเรือนนั้น จะแปรสภาพกลายเป็น น้ำเสีย เนื่องจากมีการปนเปื้อน สิ่งสกปรกต่าง ๆ โดยทั่วไป น้ำเสียจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
-
น้ำทิ้ง (Waste Water)
คือ น้ำเสียจากการชำระล้างอาบน้ำ โดยจะระบายสู่สาธารณะโดยแรงโน้มถ่วง โดยท่อควรมีความลาดเอียงอย่างน้อย 1:100 รวมทั้ง ต้องมีท่ออากาศ เพื่อให้อากาศในท่อ มีทางระบาย เพื่อการไหลที่ดี และมีจุดเปิด (Clean Out) เพื่อทำความสะอาดในกรณี เกิดการ อุดตัน บริเวณจุดหักจุดเลี้ยวของท่อส่วนน้ำทิ้ง จากครัวนั้น ควรมีบ่อดักขยะ และถังดักไขมัน ก่อนระบายสู่ทางสาธารณะ เพื่อป้องกันการอุดตัน
-
น้ำโสโครก (Soil Water)
คือ น้ำเสียรวมไปถึงสิงปฏิกูลจากสุขภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โถส้วม โถปัสสาวะ ส่วนมากท่อจะแยกออกจากน้ำทิ้ง เพื่อลดปัญหาเรื่องกลิ่น โดยน้ำโสโครก จะต้องมีการบำบัดก่อนระบายสู่สาธารณะ ตามมาตรฐาน หรือกฏกระทรวงฉบับที่ 44 (พ.ศ.2538)
ในปัจจุบันนี้ระบบบำบัดน้ำเสียภายในครัวเรือนสามารถทำได้สองทาง ทางแรกก็คือการทำ บ่อเกรอะ-บ่อซึม ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปและมีมานานแล้ว
วิธีการก่อสร้างบ่อเกรอะ-บ่อซึม
คือ การใช้ถังคอนกรีตสำเร็จรูป ทรงกระบอก มาต่อ ๆ กัน ฝังในดิน จำนวน 2 บ่อ บ่อที่ 1 รับน้ำมาจากแหล่งน้ำเสียต่าง ๆ แล้วจะมีถังบำบัด โดยธรรมชาติ น้ำส่วนที่ล้นออกมาจากถังที่ 1 จะเข้าไปในถังที่ 2 คือ บ่อซึม แล้วจะมีการกระจายน้ำออกไปตามดินโดยรอบ
ข้อเสียของการใช้บ่อเกรอะ-บ่อซึม คือ จะต้องตั้งอยู่ห่างจาก แหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคทั่วไป เพราะความสกปรก จะกระจายมาตามดินได้ และในกรณีที่มีน้ำใต้ดินสูง ก็ไม่อาจใช้บ่อเกรอะและบ่อซึม ได้เพราะน้ำในบ่อซึม จะไม่สามารถซึมออกไปในดินได้ และเมื่อถึงเวลาเต็ม จะต้องมีการดูดสิ่งปฏิกูลจากบ่อเกรอะออกไปทิ้งด้วยมิฉะนั้นจะใช้งานไม่ได้
ปัญหาสิ่งอุดตันในท่อน้ำทิ้ง
ท่อน้ำทิ้งจะรับน้ำจากโถสุขภัณฑ์โดยตรงแล้วส่งต่อไปยังถังบำบัด หรือบ่อเกรอะ-บ่อซึม ที่จะระบายสู่พื้นดิน หรือแหล่งน้ำสาธารณะต่อไป แต่หากมีสิ่งอุดตัน โดยเฉพาะเศษขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือย่อยสลายได้ยาก เช่น เศษกระดาษทิชชู่ ผ้าอนามัย หรือเศษขยะชิ้นใหญ่ติดค้างในท่อ ซึ่งจะทำให้เกิดการอุดตันในท่อ และส่งผลให้น้ำจากสุขภัณฑ์ไม่สามารถระบายออกไปได้ และอาจเกิดการไหลย้อนกลับ จนชักโครกเกิดอาการกดแล้วไม่มีแรงดูดชำระล้างนั่นเอง
ปัญหาสิ่งอุดตันค้างในท่อน้ำทิ้งสุขภัณฑ์สามารถแก้ไขได้โดยการใช้ไม้ยางปั๊ม กดให้เกิดแรงดันเพื่อดันน้ำ และสิ่งอุดตันให้เคลื่อนผ่านลงไป ทั้งนี้ การทิ้งเศษขยะที่ย่อยสลายยากลงไปบ่อย ๆ จะทำให้ถังบำบัดสำเร็จรูป หรือบ่อเกรอะ-บ่อซึมเต็ม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากต่อการแก้ไขในอนาคต จึงควรระมัดระวังการทิ้งเศษขยะลงไป
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้บ่อเกรอะ-บ่อซึม จะมีผู้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีปัญหา และรายละเอียดปลีกย่อยที่ยังแก้ไขไม่ได้อยู่ ดังนั้น ในปัจจุบัน จึงได้มีวัสดุชนิดใหม่ออกมา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น วัสดุชนิดนั้น คือ ถังบำบัดน้ำเสีย สำเร็จรูป ที่มีขายทั่วไปตามท้องตลาดนั่นเอง