ปั๊มน้ำ คืออะไร?
ปั๊มน้ำ คือ เครื่องมือที่ช่วยในการส่งน้ำ ประกอบด้วย Mechanic และ Electricity / Engine มี 2 ส่วน คือ หัวปั๊ม มอเตอร์ และมอเตอร์ทำหน้าที่หมุนให้ตัวปั๊มเคลื่อนที่ เพื่อผลักน้ำจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง โดยแรงดัน และปริมาณน้ำ ตามการออกแบบของแต่ละการใช้งาน ช่วยเสริมน้ำให้แรงขึ้นไปถึงอีกจุดหนึ่งได้พร้อมกับปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ถ้าเราต้องการปริมาณน้ำมาก แรงดันจะน้อย ถ้าเราต้องการปริมาณน้ำน้อย แรงดันจะมาก
สิ่งต้องเตรียมก่อนจะมี “ปั๊มน้ำ”
- เตรียมพื้นที่ให้พร้อมก่อนติดตั้ง
การเตรียมพื้นที่ และกำหนดจุดติดตั้งที่เหมาะสม เป็นปัจจัยแรก ๆ ที่มองข้ามไม่ได้ เพราะมีส่วนทำให้ปั๊มทำงานได้ดี และยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น โดยปกติจะเลือกวางในระดับพื้นดินใต้ชายคาบ้านที่ไม่มีน้ำท่วมขัง ปั๊มน้ำเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความร้อน จึงไม่ควรติดตั้งชิดผนัง ต้องห่างจากกำแพงอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อให้มีพื้นที่ระบายความร้อน และสามารถเข้าซ่อมบำรุงได้สะดวก ที่สำคัญไม่ควรติดตั้งติดปั๊มน้ำไว้ใกล้ห้องนอน เนื่องจากปั๊มน้ำจะทำงานอัตโนมัติ มีการปั๊มน้ำตลอดทั้งวัน เมื่อมีการใช้น้ำจุดใด ๆ เสียง และแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องปั๊มน้ำ อาจส่งผลกระทบกับห้องดังกล่าวได้
- ถังเก็บน้ำ จำเป็นต้องมี
สิ่งที่ต้องมีก่อนติดตั้งปั๊มน้ำทุกกรณี คือ ถังเก็บน้ำ การติดตั้งปั๊มน้ำอย่างถูกวิธี ต้องต่อท่อน้ำประปาจ่ายน้ำเข้าในถังเก็บน้ำก่อนเสมอ แล้วจึงค่อยต่อปั๊มน้ำกับถังเก็บน้ำ ห้ามต่อเครื่องสูบน้ำเข้ากับท่อประปาโดยตรง เพราะนอกจากผิดกฎหมายตามข้อบังคับ กปน. ฉบับที่ 26 แล้ว การดึงน้ำจากท่อประปาสาธารณะมาใช้เฉพาะบ้านตนเอง ยังส่งผลให้เพื่อนบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปริมาณน้ำที่น้อยลง และอาจส่งความเสียหายต่อระบบท่อภายในบ้านของเราเองด้วย
อ่านบทความเพิ่มเติม : เลือก ถังเก็บน้ำ ให้เหมาะกับบ้านทำได้อย่างไร?
สำหรับขนาดของถังเก็บน้ำในบ้านพักอาศัย ต้องเลือกขนาดที่เพียงพอต่อการใช้งานของคนในบ้าน โดยอ้างอิงจากสถิติความต้องการใช้น้ำเฉลี่ยปริมาณ 200 ลิตรต่อคน สำหรับสำรองน้ำใช้ใน 1 วัน
วิธีการคำนวณ คือ นำจำนวนคน x 200 (ลิตร) x จำนวนวัน จะได้ปริมาณน้ำที่จะใช้ เช่น ในบ้านที่มีสมาชิก 4 คน จะเท่ากับ 4 x 200= 800 ลิตรต่อวัน และควรเผื่อฉุกเฉิน 2-3 วัน ดังนั้น ถังน้ำสำหรับครอบครัว 4 คน จึงควรมีขนาด 1,500-2,500 ลิตร
ประเภทของปั๊มน้ำ
แบ่งประเภทของกลุ่มใช้งานแบบคร่าว ๆ เราจะสามารถแบ่งปั๊มน้ำออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรม
- ปั๊มน้ำสำหรับระบบทำความเย็น ปั๊มที่ใช้ในการส่งน้ำ Water cooling
- ปั๊มน้ำสำหรับอุตสาหกรรมเคมี ใช้สำหรับสูบน้ำที่มีปริมาณของเคมีปนอยู่ด้วย
- ปั๊มน้ำสำหรับเครื่องกรองน้ำ ใช้ในการผลักแรงดันน้ำเข้าไปที่ตัว filter หรือตัวกรองเพื่อทำให้น้ำสะอาดขึ้น เรียกว่า ระบบ RO (Reverse Osmosis)
- ปั๊มน้ำสำหรับโรงงานผลิตอาหาร จะใช้ปั๊มที่วัสดุเกรดค่อนข้างสูง อาจจะเป็นสแตนเลสหรือทองเหลือง
- ปั๊มน้ำสำหรับโรงงานผลิตน้ำแข็ง
- ปั๊มน้ำสำหรับโรงงานผลิตน้ำตาล จะเป็นปั๊มที่ใช้ในการสูบน้ำเชื่อม จะเป็นปั๊มเฉพาะทาง
- ปั๊มน้ำสำหรับงานชลประทาน ส่งน้ำปริมาณมาก ๆ
ใช้ในกลุ่มที่อยู่อาศัย
ถ้าแบ่งปั๊มน้ำย่อยลงมาอีก จะสามารถแบ่งปั๊มน้ำได้อีกหลายประเภท ปั๊มสำหรับที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว อาคารพาณิชย์ ทาวน์เฮ้าส์ จะรวมไปถึงอาคารขนาดเล็ก 5-7 ชั้น รวมไปถึงอาคารสูง 10 ชั้นไป ปั๊มน้ำในกลุ่มที่อยู่อาศัย แบ่งออกเป็น
- ปั๊มสูบน้ำเก็บบนอาคาร (Transfer)
- ปั๊มเสริมแรงดัน (Booster Pump)
- ปั๊มดับเพลิง (Fire Pump) สำหรับอาคาร
- ปั๊มจุ่ม
คุณสมบัติสำคัญในการเลือกซื้อปั๊มน้ำ
- เลือกกำลังวัตต์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน
เครื่องปั๊มน้ำปัจจุบัน มีให้เลือกหลายแบรนด์ หลายรุ่น แต่ละรุ่นมีจุดขายชวนให้ซื้อต่างกัน ผู้บริโภคบางท่านเข้าใจผิดคิดว่าปั๊มน้ำที่ดีจะต้องมีความแรงและกำลังวัตต์สูง ๆ ไว้ก่อน ซึ่งแรงวัตต์สูงนั้นดีแต่อาจจะดีเกินความจำเป็นสำหรับบ้านที่มีจุดใช้น้ำน้อย ก่อนทำการตัดสินใจซื้อ จึงต้องศึกษาคุณสมบัติของปั๊มน้ำให้เหมาะสมกับการใช้งานเป็นหลัก โดยพิจารณาจากปริมาณการใช้งานต่อวัน, จุดที่ใช้น้ำในบ้านทั้งหมดมีกี่จุด ทั้งในบ้านและนอกบ้าน, โอกาสและช่วงเวลาที่ใช้พร้อมกัน ประกอบกับความสูงของอาคาร
ตารางการเลือกปั๊มน้ำ กับขนาดของบ้าน
บ้านไม่เกิน 4 ชั้น | ใช้น้ำพร้อมกัน 3 จุด + เครื่องทำน้ำอุ่น 2 เครื่อง = 300 วัตต์ |
บ้านไม่เกิน 4 ชั้น | ใช้น้ำพร้อมกัน 3 จุด + เครื่องทำน้ำอุ่น 1 เครื่อง = 250 วัตต์ |
บ้านไม่เกิน 3 ชั้น | ใช้น้ำพร้อมกัน 2 จุด + เครื่องทำน้ำอุ่น 1 เครื่อง = 200 วัตต์ |
บ้านไม่เกิน 2 ชั้น | ใช้น้ำพร้อมกัน 2 จุด + เครื่องทำน้ำอุ่น 1 เครื่อง = 150 วัตต์ |
บ้านไม่เกิน 2 ชั้น | ใช้น้ำพร้อมกัน 2 จุด = 100 วัตต์ |
- มีฟังก์ชันปรับแรงดันน้ำอัตโนมัติ
ปั๊มน้ำอัตโนมัติมีหลัก ๆ 2 ประเภท คือ ปั๊มชนิดถังแรงดัน และปั๊มชนิดแรงดันคงที่ ทั้ง 2 แบบ มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้
???????? ปั๊มแบบถังแรงดัน (ทรงกระบอก) ทำงานโดยใช้หลักการให้น้ำไปแทนที่อากาศ เพื่อใช้แรงดันของอากาศในปั๊มดันน้ำออกไปยังส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ข้อดีคือ ทนทาน ราคาถูก อะไหล่หาง่าย แต่มีข้อเสียในการให้แรงดันน้ำไม่สม่ำเสมอ เมื่อเปิดใช้งานพร้อมกันความแรงของน้ำแต่ละจุดอาจไม่เท่ากัน ปั๊มน้ำตัดการทำงานบ่อย ๆ ทำให้ต้องไล่เช็คลมและปล่อยน้ำอยู่เสมอ
???????? ปั๊มแบบแรงดันคงที่ หรือ Inverter (ทรงเหลี่ยม) หากงบซื้อปั๊มน้ำมีมากพอ แนะนำปั๊มน้ำแบบแรงดันคงที่ ซึ่งจะมีรูปลักษณ์ภายนอกสวยงามทันสมัย ให้แรงดันน้ำสม่ำเสมอ เหมาะกับบ้านที่มีการใช้น้ำหลายจุดและอุปกรณ์ที่ต้องการแรงดันน้ำคงที่ เช่น เครื่องซักผ้า, เครื่องทำน้ำอุ่น และ Rain shower ข้อดีของปั๊มชนิดนี้ คือ เสียงเบาและมีขนาดที่กะทัดรัด ประหยัดไฟฟ้า แต่ก็ตามมาด้วยราคาที่สูงกว่า
- เลือกดูวัสดุของตัวถังของปั๊มน้ำ
ปั๊มน้ำเป็นอุปกรณ์ที่มักติดตั้งไว้ระดับพื้น มักได้รับผลกระทบจากแสงแดด ลมและฝน หากตัวถังผลิตจากวัสดุไม่มีคุณภาพจะทำให้ผุกร่อนง่าย เกิดปัญหาถังรั่วตามรอยตะเข็บ อย่าลืมมองหารุ่นที่ตัวถังผลิตจากวัสดุที่มีความทนทาน ไม่เป็นสนิม หรือออกแบบไร้รอยเชื่อมต่อ เพื่อป้องกันการรั่วซึมตามตะเข็บ ทั้งนี้ควรเลือกปั๊มน้ำที่มีคุณสมบัติระบายความร้อนได้ดี เพื่อยืดอายุการใช้งานของตัวมอเตอร์ ซึ่งในบางรุ่นจะมีพัดลมระบายความร้อนในเครื่อง แต่ปั๊มน้ำอัตโนมัติบางรุ่นได้ออกแบบการระบายความร้อนด้วยน้ำหรือใช้มอเตอร์แบบแม่เหล็กถาวร จึงไม่จำเป็นต้องมีพัดลมระบายความร้อน
- เลือกปั๊มที่มีระบบตรวจสอบความผิดปกติของน้ำ
เครื่องปั๊มน้ำที่ดีควรมีเครื่องหมาย มอก. รับรอง พร้อมเทคโนโลยีระบบตรวจสอบความผิดปกติและตัดการทำงานอัตโนมัติ เช่น การป้องกันแรงดันเกินจากท่อประปาที่ส่งน้ำมาแรงเกิน มีเซนเซอร์แจ้งเตือนกรณีน้ำแห้ง หรือน้ำขาด (Dry-running protection) และกรณีท่อรั่ว ปิดวาล์วน้ำไม่สนิท ปั๊มน้ำจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนหน้าตัวเครื่อง พร้อมกับปิดการทำงานให้อัตโนมัติ เพื่อป้องกันด้านความปลอดภัย และแจ้งให้ผู้ใช้ทราบได้ว่ามีจุดรั่วไหล
- เลือกปั๊มน้ำเสียงเงียบ
ปั๊มน้ำทั่วไปจะมีเสียงดังทุกครั้งที่มีการเปิดใช้น้ำ ระดับเสียงจะอยู่ที่ 50-60 เดซิเบล ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย แต่อาจรบกวนสุขภาพจิตของคนในบ้านและเพื่อนบ้านได้ แนะนำให้มองหาปั๊มน้ำอัตโนมัติระบบ Inverter ที่นอกจากช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว การทำงานยังเงียบ บางรุ่นมีระดับเสียงเท่า ๆ กับที่เราคุยกันปกติ หรือประมาณ 45 เดซิเบล ช่วยลดมลพิษทางเสียงไปได้ค่อนข้างมากเลย
สำหรับใครที่กำลังมองหาปั๊มน้ำไว้ใช้ ลองเลือกซื้อตามคุณสมบัติที่ได้นำมาเสนอในบทความนี้ การเลือกปั้มน้ำ ที่มีมาตรฐาน ลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง และไม่ว่าคนในบ้านจะอาบน้ำ ล้างจาน ล้างรถพร้อม ๆ กัน น้ำก็ยังไหลแรงดีไม่มีตก รับประกันได้เลยว่า ความสุขในการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว