รู้จักกับ สถาปนิก คืออะไร? แตกต่างกับวิศวกรอย่างไร?
สถาปนิก คืออะไร?
สถาปนิก (Architect) คือ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการออกแบบ และวางแผนก่อสร้าง ซึ่งหลายคนมักจะคุ้นเคยว่าเป็นงานสถาปัตยกรรม โดยเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานการออกแบบ การก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ เป็นผู้ที่บริหารจัดการการออกแบบ วางแผนให้การสร้างอาคารสถานที่แต่ละแห่ง มีความเหมาะสมประโยชน์ในการใช้สอย ตลอดไปจนถึงการคัดเลือกวัสดุ ที่จะนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาคารสถานที่ที่ก่อสร้างขึ้นมาด้วย
สถาปนิก จะต้องเรียนเกี่ยวกับ เรื่องของการออกแบบ การบริหารโครงการ การบริหารการใช้พลังงานในอาคาร การบริหารจัดการอาคาร และการเรียนเกี่ยวกับ วิธีการตรวจสอบมาตรฐาน และความปลอดภัยของอาคาร เป็นต้น โดยเป้าหมายการทำงานของอาชีพนี้ คือ การออกแบบสิ่งก่อสร้าง และอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้สวยงาม มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประยุกต์ใช้ความรู้ ความสามารถทั้งในด้านศิลปะ และเทคนิคประกอบกัน เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน ให้สอดคล้องกับประโยชน์ของผู้ที่ต้องการใช้สอย และมีความประหยัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาการก่อสร้าง หรือค่าวัสดุต่าง ๆ ที่สำคัญ คือต้องทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย
ในแง่ของทักษะ และความรู้ความสามารถ นอกจากจะต้องเป็นอาชีพที่มีทักษะ ความรู้ความสามารถเฉพาะทางของตนเองเป็นอย่างมากแล้ว ยังจะต้องมีความรับผิดชอบสูงต่อหน้าที่ของตนเองด้วย เนื่องจากอาชีพนี้ ไม่ใช่แค่การทำงานออกแบบ และวางแผนก่อสร้างตามที่ลูกค้าหรือผู้ใช้งานต้องการเท่านั้น หากแต่ผลงานที่ทำขึ้นมานั้น ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด ถ้ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป หากไม่รับผิดชอบ หรือไม่มีความระมัดระวัง อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะเป็นจึงต้องมีทั้งความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบ
สำหรับในประเทศไทย อาชีพสถาปนิก ที่รับราชการ จะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ส่วนภาคเอกชน ส่วนใหญ่มักจะได้รับเงินเดือนตามประสบการณ์ และความสามารถ หรือขึ้นอยู่กับผลประกอบการ ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในหลายอาชีพที่น่าสนใจที่เด็ก ๆ อาจเก็บไปคิด และวางแผนการเรียนและการทำงานในอนาคตได้
ไขข้อข้องใจ! สถาปนิก กับ วิศวกร ต่างกันอย่างไร?
นอกจากชื่อที่ต่างกันแล้ว บอกเลยว่าในส่วนของหน้าที่การทำงานระหว่างวิศวกรกับสถาปนิกก็แตกต่างกันเช่นกัน ซึ่งในส่วนของงานวิศวกรรรมที่สถาปนิกต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องมีหลายส่วน เช่น วิศวกรโครงสร้าง วิศวกรงานระบบต่าง ๆ ดังนั้น การก่อสร้างอาคารหลังหนึ่งจำเป็นต้องมีทั้งวิศวกร และสถาปนิก เพราะขอบเขตของงานที่รับผิดชอบนั้น มีหลายประเด็นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน และที่สำคัญ คือ ทำแทนกันไม่ได้!
1. วิศวกรไม่ได้ออกแบบอาคารทั้งหมด
หน้าที่ออกแบบภาพรวม และหน้าตาของอาคาร จะเป็นของสถาปนิก ตั้งแต่ดูข้อกฎหมายในการวางผังโครงการ การสำรวจไซต์งานว่าควรสร้างอาคารตำแหน่งใดและควรหันหน้าอาคารไปทิศใด ไปจนถึงขั้นตอนการออกแบบอาคารให้ได้ฟังก์ชั่น และความสวยงามครบถ้วน ส่วนวิศวกร โดยเฉพาะวิศวกรโครงสร้างที่มักจะถูกเข้าใจผิดว่าทำงานในลักษณะเดียวกับสถาปนิกนั้น มีหน้าที่ในการคำนวณขนาดของโครงสร้างอาคาร เช่น ขนาดเสา และขนาดคาน เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักบรรทุก และมีความเป็นได้ในการก่อสร้าง ที่สำคัญที่สุด คือ โครงสร้างต้องปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้เข้าใช้อาคาร
2. สถาปนิกคำนวณและเซ็นต์แบบโครงสร้างไม่ได้
ถ้าเอ่ยถึงโครงสร้าง ขอให้นึกถึงวิศวกรโครงสร้างเอาไว้ก่อนเลย สถาปนิก อาจจะสามารถคำนวณได้แค่คร่าว ๆ ถึงระยะห่างช่วงเสา หรือขนาดความลึกของคานได้ในระดับเบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังไงการก่อสร้างอาคาร ก็จำเป็นและถือเป็นกฎหมายที่ต้องให้วิศวกรโครงสร้างช่วยคำนวณความเป็นได้ในการการก่อสร้าง รวมถึงต้องเซ็นต์แบบกำกับ เพื่อเป็นการรับประกันว่าอาคารแห่งนี้ ได้คำนวณการออกแบบโครงสร้าง และสามารถก่อสร้างโครงสร้างได้อย่างปลอดภัย
3. วิศวกรไม่ได้มีวิศวกรโครงสร้างอย่างเดียว
อาคารที่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถแล้วเสร็จได้ด้วยฝีมือของสถาปนิกเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังต้องอาศัยการร่วมมือจากวิศกรอีกหลายฝ่าย ไม่เฉพาะวิศวกรโครงสร้างเท่านั้น แต่ยังต้องมีวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรงานระบบสุขาภิบาล และยิ่งถ้าอาคารที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่ หรือเป็นที่อาคารที่ประหยัดพลังงานเป็นพิเศษ ก็ยิ่งต้องให้วิศวกรเฉพาะด้านนั้น ๆ มาช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ เช่น ต้องการสร้างอาคารประหยัดพลังงาน ก็ต้องให้วิศวกรสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยดูแลนั่นเอง
4. ในการขออนุญาตสร้างอาคารต้องมีลายเซ็นต์
ก่อนจะสร้างอาคาร จะมีการทำแบบก่อสร้าง ซึ่งในแบบก่อสร้างนี้ จะต้องมีการเซ็นต์ชื่อ เพื่อรับรองงานในส่วนที่ตนเองออกแบบ เช่น สถาปนิกจะต้องเซ็นต์ชื่อรับรองการออกแบบอาคาร ภูมิสถาปนิกต้องเซ็นต์ชื่อรับรองในการออกแบบภูมิสถาปัตย์ วิศวกรแต่ละฝ่าย ต้องเซ็นต์ชื่อให้ส่วนของงานที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งนอกจากจะได้ทราบว่าใครรับผิดชอบงานส่วนไหนแล้ว ในกรณีที่อาคารเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ก็จะสามารถตรวจสอบ และตามหาผู้รับผิดชอบมาชี้แจงได้ในอนาคต
5. สถาปนิกและวิศวกรต้องทำงานร่วมกัน
อาคารที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ จะไม่มีทางสร้างเสร็จได้เลย ถ้าไม่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะในส่วนของงานออกแบบของสถาปนิก ที่บางที หรือหลาย ๆ ที มักจะออกแบบล้ำไปสักนิด ซึ่งก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากบรรดาวิศวกร ที่จะต้องมาช่วยทำให้โครงสร้างเป็นไปได้ เพื่อให้อาคารตรงกับที่สถาปนิกออกแบบมากที่สุด ดังนั้น เวลาที่คุณเห็นอาคารอะไรที่แปลก ๆ โครงสร้างดูแปลกตา อย่างเพิ่งยกความดีความชอบให้สถาปนิกเพียงฝ่ายเดียว เพราะอาคารจะไม่สามารถสร้างได้เลยจริง ๆ ถ้าทุกฝ่าย ทั้งสถาปนิก และวิศวกรไม่ร่วมมือร่วมใจกัน
ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่า วิศวกร จะออกแบบบ้านที่ดีไม่ได้ เพราะด้วยความใส่ใจ และสนใจส่วนบุคคล อาจจะทำได้ดีได้เช่นกัน เพียงแต่ว่า วิชาชีพสถาปนิก เป็นวิชาชีพที่ร่ำเรียนมาโดยตรง จึงมีความรู้ ความสามารถ และภาระหน้าที่รับผิดชอบในการออกแบบบ้านได้ครบเครื่องกว่า และเป็นภาระหน้าที่ทางกฎหมายของวิชาชีพเฉพาะด้วย ซึ่งผู้อื่นที่ไม่ได้ผ่านการร่ำเรียนตามระบบมา จะมาเซ็นออกแบบ หรือควบคุมงานแทนไม่ได้ ที่สำคัญ สถาปนิกนี่แหละ ที่อจะคอยคุย ประสานงาน และช่วยใช้ความสามารถของวิศวกร ผู้รับเหมา มาทำให้แบบบ้านที่ออกแบบไว้เป็นจริงได้ลุล่วง โดยแต่ละฝ่ายก็จะได้ใช้ความสามารถตามวิชาชีพกันไปนั่นเอง
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- รู้จักกับ สถาปนิก คืออะไร? แตกต่างกับวิศวกรอย่างไร?
- วางแผน (ก่อน) ซ่อมแซมบ้าน เรื่องง่าย ๆ ต้องรู้อะไรบ้าง?
- การรีโนเวทบ้าน กฎหมายต่อเติมบ้าน ที่ไม่ควรมองข้าม!
- สาระน่ารู้เกี่ยวกับ “การสร้างบ้าน” ที่ควรรู้!
- ประเภทของ “งานก่อสร้าง” มีกี่แบบ?
KACHA ผู้จัดจำหน่าย รอกโซ่ รอกโซ่มือสาว เครนยกของ และอุปกรณ์เสริมสำหรับงานช่าง ต่าง ๆ ราคาจับต้องได้ สินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจ นอกจากนี้ บริษัทของเรา ยังมีบริการรับ สร้างโกดัง สร้างโรงงาน สร้างคลังสินค้าต่าง ๆ จากช่างมืออาชีพที่มีประสบการณ์ การันตีผ่านมาตรฐานก่อสร้าง และความปลอดภัยต่าง ๆ เข้าชมเว็บไซต์ www.kacha.co.th