“สีทาบ้าน” เป็นสิ่งที่จะช่วยแต่งเติมสีสัน และสร้างบรรยากาศให้บ้านของเรา ซึ่งในปัจจุบันนี้สีที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดมีนับร้อย ๆ ชนิดให้ได้เลือก แต่น้อยคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สีทาบ้านที่เราใช้กันอยู่นั้นมีกี่แบบ กี่ชนิด และมีองค์ประกอบอะไรบ้าง วันนี้ KACHA จะพาไปรู้จัก องค์ประกอบ การใช้งานสีทาบ้าน เพื่อนำไปเลือกใช้ให้เหมาะสม สีติดทนนาน และปลอดภัยต่อสุขภาพคนในบ้าน จะมีอะไรบ้าง ตามดูมากันเลย
ส่วนผสมของสีทาบ้าน มีอะไรบ้าง?
1.) ผงสี
เป็นส่วนผสมทำให้เกิดสีมาปิดบังสีพื้นผิวเดิม ทำให้เรารู้ว่าสีนั้นเป็นสีอะไร มักใช้ผงสีที่เป็นสารอินทรีย์ เช่น โมโนอะโซ พิกเม้นท์ (Monoazo Pigment) และส่วนผสมที่เป็นอนินทรีย์ เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์ แคลเซียมคาร์บอเนต เป็นต้น
2.) สารยึดเกาะ หรืออะคริลิก
สารนี้ จะทำหน้าที่ยึดประสานผงสีให้เข้ากับสารยึด เพื่อยึดเกาะให้ติดกับพื้นผิว พร้อมทำหน้าที่เคลือบพื้นผิวที่มีลักษณะเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ ให้สีมีความเงางาม มีลักษณะเป็นสีขาวขุ่นคล้ายกาวหากยังไม่ผสมกับผงสี แต่เมื่อนำมาผสมกับผงสีจะได้เนื้อสีตามผงสี สามารถแห้งตัวได้เร็ว มีความยืดหยุ่น เหนียว ไม่เปราะง่ายเมื่อแห้งตัว ทนต่อสภาพอากาศ แสงแดด สิ่งแวดล้อม หรือกรดต่าง ๆ
3.) ตัวทำลาย
ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก ทำหน้าที่ไม่ให้สีจับตัวกันเป็นก้อน และช่วยให้สารยึดเกาะกับผงสีเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้มีความหนืด ที่เหมาะสมกับการใช้งาน
4.) สารเติมแต่ง
เป็นสารปรุงแต่งต่าง ๆ ที่ใช้ในสีทาบ้าน อาจจะเติมลงไปเพียงเล็กน้อย เพื่อให้สีทาบ้านมีคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ป้องกันการเกิดฟองของสี, ป้องกันการบูดเน่าของสี, เพิ่มการกระจายตัวของสี, เพิ่มแรงยึดเกาะให้สีทนทาน, เพิ่มความเรียบเนียน, เพิ่มความมันเงา, ป้องกันแสงแดด, ป้องกันความชื้น-เชื้อรา เป็นต้น
สารที่ใช้เติมบางชนิด มักมีโลหะเป็นส่วนผสม เช่น ปรอท ตะกั่ว โดย มอก. ประกาศกำหนดให้มีปริมาณปรอทเป็นส่วนประกอบไม่เกินร้อยละ 0.05 และตะกั่ว ไม่เกินร้อยละ 0.06 ควรเลือกซื้อสีที่มีสารปรอท และตะกั่ว ให้น้อย หรือไม่มีเลยจะดีที่สุด
ชนิดของสีทาบ้าน
สีทาบ้านที่เราใช้กันทั่วไป จะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนี้
1.) สีทาบ้านภายนอก
เป็นสีจริงที่ใช้ทาทับส่วนผนังที่อยู่ภายนอกบ้านหลังทาสีรองพื้นแล้ว เพื่อให้เกิดสีตามโทนสีที่ต้องการ เมื่อต้องใช้ทาภายนอก สีจึงถูกออกแบบมาให้ทนทานกว่าดีทาภายใน เพราะต้องเจอกับแดดและฝน จึงมีการเพิ่มสารพิเศษต่าง ๆ เข้าไปเพิ่มคุณสมบัติให้ใช้งานได้ดีและยาวนาน ปัจจุบันสีทาบ้านภายนอกก็สามารถใช้ทาภายในได้ด้วย
สีทาภายนอก ควรเลือกสีประเภท อะคริลิก (Pure Acrylic Paint ) โดยทำการทา 3 รอบ ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือการเตรียมพื้นผิวสำหรับการทาสี เพราะกว่า 80% ของการวิบัติของสี เกิดมาจากการเตรียมพื้นผิวไม่ดี ดังนั้น ก่อนการทาสีนั้นต้องให้แน่ใจว่า พื้นที่จะทานั้น แห้งสนิท ไม่มีสภาพ เป็นกรดด่าง หรือมีฝุ่นเกาะ ควรเป็นผนังที่ฉาบเรียบ ไม่มีรอยแตก หากมีต้องทำ การปิดรอยต่อก่อนให้เรียบร้อย ก่อนการทาสี โดยปกติการทาสีทุกประเภทจะทาประมาณ 2-3 รอบและไม่ควรทาสีเกิน 5 รอบ เพราะจะทำให้ชั้นของสีมีความหนาเกินไป และหลุดร่อนได้ง่าย
2.) สีทาบ้านภายใน
เป็นสีที่ทาทับส่วนผนังภายใน เป็นสีที่ไม่ต้องเจอแสงแดด ฝน เท่าไหร่ แต่การทาสีภายในนั้นก็มีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นควรเลือกสีที่มีคุณสมบัติเช็ดล้างง่าย ป้องกันเชื้อราได้ดี และไม่มีกลิ่นฉุน
สีที่จะทาส่วนภายในอาคาร เช่น ผนังฉาบปูนพื้นผิว ยิปซั่มบอร์ด กระแผ่นเรียบ หรือส่วนอื่น ๆ ควรทา 2-3 รอบ ไม่ควรนำสีภายในใช้ทาผนังภายนอก เนื่องจากสีภายใน ไม่ทนแดดทนฝน ทำให้สีหลุดร่อนได้ง่าย ดังนั้น ผนังที่จะทาสีต้องสะอาด แห้ง ไม่มีความชื้น เพราะความชื้นจะทำให้ระบายอากาศไม่ได้และจะทำให้เนื้อสีพอง บวมได้
3.) สีทารองพื้น
เป็นสีที่ทารองพื้นหลังจากฉาบปูนเสร็จ ก่อนที่จะทาสีทับจริงภายในและภายนอก เพื่อให้เกิดโทนสีที่ต้องการ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะของสีทับหน้าหรือวัสดุที่ฉาบให้ดียิ่งขึ้น สีทารองพื้นนั้นเหมือนกับสีทาภายนอกและสีทาภายใน แตกต่างกันที่ชนิดของกาว และส่วนผสมที่มากกว่า ซึ่งจะมีลักษณะที่ทนต่อสภาพความเป็นด่างที่ดี เนื่องจากเป็นส่วนที่สัมผัสกับปูนนั่นเอง
สีทารองพื้น จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ สีทารองพื้นปูนใหม่ และ สีทารองพื้นปูนเก่า จะนำไปใช้ต่างกัน
- สีทารองพื้นปูนใหม่ มีเนื้อสีขาว สูตรน้ำ ไม่มีกลิ่นฉุน ทาง่ายและราคาถูก ใช้สำหรับทาผนังฉาบปูนใหม่เท่านั้น เพื่อปกป้องราอยด่างที่จะเกิดขึ้นหลังจากทาสี เนื่องจากในช่วงแรกหลังจากการฉาบผนังใหม่ ปูนฉาบอาจจะมีการระบายความชื้นออกมา ส่วนผสมของสีรองพื้นปูนใหม่จะช่วยปกป้องการเกิดรอยด่างและช่วยเรื่องการยึดเกาะที่ดีกับผนังฉาบปูนและสีทาทับหน้า
- สีทารองพื้นปูนเก่า แบ่งเป็น 2 สูตร คือ สูตรน้ำ มีลักษณะเป็นสีขาว และสูตรน้ำมัน มีลักษณะเป็นสีใส และกลิ่นฉุนกว่าสูตรน้ำ แต่มีประสิทธิภาพในการยึดเกาะได้ดีกว่าสูตรน้ำ สีรองพื้นปูนเก่าเหมาะสำหรับการใช้ทางรองพื้นผนังฉาบปูนที่ผ่านการทาสีหรือใช้งานมานานแล้ว ซึ่งอาจมีการกัดกร่อนของสีทับหน้าเดิม มีเชื้อรา หรือตะไคร่น้ำ โดยทำการขูดสีทับหน้าเดิม ล้างทำความสะอาดสิ่งสกปรกออกก่อน รอให้แห้งสนิท แล้วจึงทาสีรองพื้นปูนเก่าก่อนที่จะทาสีทับหน้าตาม
ข้อแนะนำในการซื้อสีทาบ้านต่าง ๆ
การเลือกซื้อสีทาภายนอก
- ทนต่อสภาพอากาศ ทั้งแดด ฝน แรงรม ความร้อนและความชื้นได้ดี
- สามารถปิดรอยร้าว รอยแตกของผนังได้
- ปกป้องผิวซีเมนต์ ป้องกันน้ำซึมผ่านได้ดี เนื้อสีเป็นเงา ลื่น ไม่จับฝุ่น
- สามารถเช็ดทำความสะอาดสิ่งสกปรกได้ง่าย ทนต่อแรงขัดถู เนื้อสีไม่หลุดลอก
- ป้องกันเชื้อรา ตะไคร่น้ำได้ดี
- ทนต่อความร้อน เนื้อสีต้องไม่ซีดง่าย ไม่หลุดล่อน และสามารถสะท้อนความร้อนได้ ไม่ทำให้บ้านร้อน
การเลือกซื้อสีทาภายใน
- เนื้อสีต้องมีความละเอียดและเงา
- สามารถเช็ดทำความสะอาดสิ่งสกปรกได้ง่าย ทนต่อแรงขัดถู เนื้อสีไม่หลุดลอก
- สามารถป้องกันเชื้อรา แบคทีเรียต่าง ๆ ได้
- ไม่มีกลิ่นฉุน หรือสารระเหยที่เป็นอันตรายต่อผู้อาศัย
การเลือกซื้อสีทารองพื้น
- เนื้อสีต้องมีความยืดหยุ่นสูง ช่วยประสานรอยแตกร้าวได้ดี
- ป้องกันน้ำซึมเข้าผนังได้ดี ป้องกันคราบด่าง และลดปัญหาสีลอกล่อน
- ฟิล์มสีต้องทนต่อสภาพอากาศ ไม่ซีดจาง สีไม่พอง ไม่ลอกล่อนกลิ่น
- ต้องไม่ฉุน ปราศจากสารปรอท ตะกั่ว โลหะหนัก ที่เป็นอันตรายต่าง ๆ
❝ เมื่อรู้ถึงองค์ประกอบ คุณสมบัติและการใช้งานของสีทาบ้านแล้ว อาจจะทำให้หลายคนเลือกสีทาบ้านได้ง่ายขึ้น และเลือกสีที่มีคุณภาพ ทำให้บ้านสีสวยงาม สีติดทนนานอย่างแน่นอน ❞ ????
อ้างอิงข้อมูลจาก deltapaint.co.th