รู้จักกับ เหล็กเส้น คืออะไร? นำไปใช้งานอย่างไร?
เหล็กเส้น (Rebar) คืออะไร? เหล็กเส้น มีความสำคัญต่องานก่อสร้างเป็นอย่างมาก หรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปคือ เหล็กเส้นก่อสร้าง บางท่านอาจเรียกเหล็กเสริม ใช้สำหรับรับแรงงานคอนกรีตเสริมเหล็ก และงานก่ออิฐทั่วไป
ประเภทของเหล็กเส้น
เหล็กเส้นนั้น แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
เหล็กเส้นกลม (Round Bars)
คือ เหล็กเส้นสำหรับงานก่อสร้าง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า RB ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก.28/2529, 32/2532 ชั้นคุณภาพของเหล็กประเภทนี้ คือ SR24 ที่เป็นที่รู้จัก และนิยมใช้ คือ เหล็ก บลส. บกส. TSC และ NS
- RB6 (เหล็กเส้นกลม 2 หุน) ใช้สำหรับงานก่อสร้างที่รับแรงไม่มาก นิยมใช้ทำปอกเสา และปอกคาน
- RB9 (เหล็กเส้นกลม 3 หุน) ใช้สำหรับงานก่อสร้างที่รับแรงไม่มาก คล้ายกับเหล็กเส้นกลม 2 หุน
- RB12 (เหล็กเส้นกลม 4 หุน) ใช้สำหรับงานก่อสร้างทั่วไป แต่ไม่เน้นงานยึดเกาะ เพราะเหล็กมีลักษณะเรียบมน ทำให้ยึดเกาะปูนไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนมากนิยมใช้กับงานกลึง เช่น งานกลึงหัวน๊อตต่าง ๆ
- RB19 ใช้สำหรับงานทำถนน
- RB25 ใช้ทำเป็นเหล็กสตัท เกรียวเร่ง สำหรับงานยึดโครงป้ายขนาดใหญ่ สามารถรับแรง และน้ำหนักได้ดี
ข้อพิจารณาเมื่อเลือกซื้อเหล็กเส้นกลม
- ผิวของเหล็กต้องเรียบ เกลี้ยง ไม่มีลูกคลื่น ไม่มีปีก ไม่มีรอยแตก หน้าตัดต้องกลม ไม่เบี้ยว
- เส้นผ่าศูนย์กลาง และน้ำหนักต้องถูกต้อง เช่น SR24 ขนาด 9 มม. เมื่อวัดเส้นผ่าศูนย์กลางต้องได้ 9 มม. น้ำหนักต้องได้ 0.499 กก./ 1 เมตร ความยาวทั้งเส้นตามมาตรฐานต้องยาว 10 เมตร เป็นต้น
- เมื่อดัดโค้งงอ ต้องไม่ปริแตก และหักง่าย
- เหล็กต้องไม่เป็นสนิมกินเข้าไปในเนื้อเหล็ก แต่หากเป็นสนิมบ้างบนผิวเหล็ก อาจเป็นเรื่องของสภาพอากาศของเมืองไทย ไม่ต้องกังวล
ขนาดและน้ำหนักเหล็กเส้นกลม
ชื่อขนาด | เส้นผ่านศูนย์กลาง (มม.) |
พื้นที่ตัดขวาง (ตร.มม.) |
มวล (กก./ม.) |
---|---|---|---|
RB 6 | 6 | 28.30 | 0.222 |
RB 8 | 8 | 50.30 | 0.395 |
RB 9 | 9 | 63.60 | 0.499 |
RB 10 | 10 | 78.50 | 0.616 |
RB 12 | 12 | 113.10 | 0.888 |
RB 15 | 15 | 176.70 | 1.387 |
RB 19 | 19 | 283.50 | 2.226 |
RB 22 | 22 | 380.10 | 2.984 |
RB 25 | 25 | 490.90 | 3.853 |
RB 28 | 28 | 615.80 | 4.834 |
RB 34 | 34 | 907.90 | 7.127 |
เหล็กเส้นข้ออ้อย (Deformed Bar)
คือ เหล็กเส้นกลมที่มีบั้ง เพื่อเสริมกำลังยึด ระหว่างเนื้อคอนกรีตกับเหล็ก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-40 มิลลิเมตร ขนาดความยาวที่ 10 และ 12 เมตร ใช้สำหรับงานก่อสร้างเสริมคอนกรีต ที่ต้องการความแข็งแรง เช่น อาคารสูง, คอนโดมิเนียม, ถนนคอนกรีต, สะพาน, เขื่อน เป็นต้น เหล็กข้ออ้อยแบ่งตามชั้นคุณภาพได้ 3 ประเภท คือ SD30, SD40, SD50
ข้อพิจารณาเมื่อเลือกซื้อเหล็กเส้นข้ออ้อย
- เหล็กข้ออ้อย ต้องมีผิวเรียบเกลี้ยง ยกเว้นบริเวณที่เป็นบั้ง และต้องไม่ปริ ไม่แตกร้าว ไม่เป็นสนิมขุม
- เหล็กข้ออ้อย ต้องมีบั้งเป็นระยะ ๆ เท่า ๆ กัน โดยสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น บั้งที่อยู่ตรงข้ามกัน ต้องมีขนาด และรูปร่างเหมือนกัน
ปัจจุบัน งานก่อสร้างส่วนใหญ่นิยมใช้เหล็กข้ออ้อยมากกว่าเหล็กเส้นกลม เหตุผลคือ มีคุณภาพสูงกว่าทั้งแรงดึง และแรงยึดเกาะ ซึ่งสัดส่วนในการใช้ SD50, SD40 ยังมากกว่า SD30 อีกด้วย
ขนาดและน้ำหนักเหล็กข้ออ้อย
ชื่อขนาด | เส้นผ่านศูนย์กลาง (มม.) |
พื้นที่ตัดขวาง (ตร.มม.) |
มวล (กก./ม.) |
---|---|---|---|
DB 10 | 10 | 78.54 | 0.616 |
DB 12 | 12 | 113.10 | 0.888 |
DB 16 | 16 | 201.06 | 1.578 |
DB 20 | 20 | 314.16 | 2.466 |
DB 22 | 22 | 380.13 | 2.984 |
DB 25 | 25 | 490.87 | 3.853 |
DB 28 | 28 | 615.75 | 4.834 |
DB 32 | 32 | 804.25 | 6.313 |
DB 36 | 26 | 1,017.88 | 7.990 |
DB 40 | 40 | 1,256.64 | 9.865 |
มาตรฐานของเหล็กเส้น เป็นอย่างไร?
เราสามารถแบ่งมาตรฐานของเหล็กเส้นออกเป็น 2 ประเภท คือ
- เหล็กเต็ม หรือเหล็กโรงใหญ่ คือ เหล็กที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และน้ำหนักของเหล็กได้มาตรฐาน มอก. เลขที่ 24-2559
- เหล็กเบา หรือเหล็กโรงเล็ก คือ เหล็กที่ผลิตให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง และน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน มอก. มักเป็นเหล็กรีดซ้ำ คือ นำเศษเหล็กที่ใช้งานแล้ว หรือเศษเหล็กเสียสภาพมารีดใหม่อีกครั้ง เหล็กเบา นั้น จะมีราคาต่ำกว่าเหล็กเต็มประมาณ 40 สตางค์ถึง 1 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่อาจก่อให้เกิดอันตราย เพราะอาจจะไม่สามารถรับน้ำหนักตามที่ กำหนดได้
วิธีการเลือกเหล็กเส้น
วิธีการสังเกตว่าเหล็กเส้น ที่จะเลือกใช้มีคุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่ ดังนี้
- ต้องมียี่ห้อ ขนาดระบุบนเหล็กเส้น
- เส้นผ่าศูนย์กลาง และน้ำหนักต้องถูกต้องตามมาตรฐาน
- ผิวเหล็กกลมต้องเรียบเกลี้ยงไม่เบี้ยว ไม่มีรอยปริแตก
- เหล็กข้ออ้อย ต้องมีบั้งระยะเท่ากัน สม่ำเสมอตลอดเส้น
- เมื่อดัดโค้ง งอ ต้องไม่ปริแตก หัก ง่าย
- เหล็กต้องไม่เป็นสนิมกินเข้าไปในเนื้อเหล็ก เป็นสนิมที่ผิวได้โดยขัดออก หรือใช้น้ำยาล้างสนิมเหล็ก ก่อนนำไปใช้ หรือหล่อคอนกรีตทับ
จบไปแล้วกับความรู้เรื่อง เหล็กเส้น ว่ามีกี่แบบ คงให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย และเลือกไปใช้งานได้อย่างถูกประเภทกันด้วยนะจ๊ะ บทความหน้าจะมีอะไรดี ๆ มาฝากกันอีกนั้น อย่าลืมติดตามกันเหมือนเดิมด้วยนะ
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- “เหล็กแผ่น” มีกี่ประเภท คุณสมบัติและการใช้งานเป็นแบบไหน
- ประเภทของ เหล็ก มีอะไรบ้าง?
- ทำความรู้จัก เหล็กเพลท คืออะไร? สำคัญในงานก่อสร้างอย่างไร
- เหล็กรูปพรรณ คืออะไร? คุณสมบัติที่ควรรู้ ก่อนนำไปใช้งาน
● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ●
KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!
อ้างอิงข้อมูลจาก : steellead.com