“แผ่นเหล็กกันลื่น” มีกี่แบบ คุณสมบัติและการใช้งานเป็นอย่างไร?
ใครที่กำลังมองหา แผ่นเหล็กกันลื่น สำหรับนำเอาไปใช้งาน แต่ยังคงสับสน ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วแผ่นเหล็กชนิดนี้มีกี่แบบ? กี่ประเภทกันแน่? เมื่อซื้อไปจะตอบโจทย์กับความต้องการหรือเปล่า?บทความนี้ KACHA จะพาไปรู้จักกับแผ่นเหล็กมากประโยชน์ชนิดนี้กัน!
แผ่นเหล็กกันลื่น คืออะไร?
แผ่นเหล็กกันลื่น (Checkered Plate) เป็นเหล็กชนิดหนึ่ง ที่นำเหล็กกล้ามาเข้าสู่กระบวนการรีดร้อนและปั๊มลาย โดยลักษณะของแผ่นเหล็กกันลื่น จะมีพื้นผิวเป็นลายนูน มีคุณสมบัติในการช่วยยึดเกาะได้ดี ซึ่งมักถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการกันลื่น กันน้ำขัง ใช้ทำพับเหล็กขั้นบันได ทำพื้นรถ พื้นทางเดินภายนอกอาคาร
ในท้องตลาดทั่วไป แผ่นเหล็กกันลื่นจะมีทั้งสีขาวและสีดำ นั่นเป็นเพราะถูกผลิตจากเหล็กคนละชนิด แผ่นเหล็กกันลื่นสีดำ จะถูกทำขึ้นมาจากเหล็กดำ มีราคาถูก นิยมใช้ผลิตแผ่นเหล็กกันลื่นที่ต้องใช้ความหนามาก ๆ ส่วนแผ่นเหล็กกันลื่นสีขาว ก็ถูกทำขึ้นจากเหล็กขาว นิยมใช้ผลิตแผ่นเหล็กกันลื่นแผ่นบาง ๆ นอกจากนี้แล้วยังมีแผ่นกันลื่นที่ผลิตจาก อลูมิเนียม สเตนเลส ซึ่งราคาก็จะสูงขึ้นไปตามวัสดุที่ใช้
ปัจจุบันการขึ้นลายแผ่นเหล็กมี 4 วิธี
- การปั๊ม (Stamping)
- การหล่อ (Casting)
- การทุบ (Forging)
- การกัดแต่ง (Machining)
ซึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การปั๊มลายลงบนแผ่นเหล็ก สาเหตุเพราะ แผ่นเหล็กกันลื่นที่ทำโดยการปั๊มจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าวิธีอื่น ๆ อีกทั้งลายที่เกิดจากการปั๊มจะมีขนาดที่เท่ากัน และการปั๊มลายจะช่วยเพิ่มความฝืดบนแผ่นเหล็ก สะดวกต่อการขนย้าย สามารถนำไปใช้งานได้ทันที แต่ในทางกลับกันการปั๊มลายเองก็มีข้อเสีย เพราะไม่สามารถปั๊มลายลงไปบนเหล็กที่มีความหนามาก ๆ ได้ จึงต้องใช้การหล่อขึ้นรูปแทนการปั๊มนั่นเอง
แผ่นเหล็กกันลื่นมีทั้งหมดกี่ลาย? กี่ประเภท?
แผ่นเหล็กกันลื่น นอกจากจะใช้ประโยชน์ได้มากแล้ว เพื่อน ๆ รู้ไหมคะว่าบนลายของแผ่นเหล็กเนี่ย ยังแฝงความสวยงามเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างลวดลายที่ปรากฏไว้อีกด้วย แต่ว่าในแต่ละลายก็จะมีชื่อเรียกอันเป็นเอกลักษณ์ของมัน ส่วนลายไหนจะมีชื่อเรียกว่าอะไรบ้าง ตาม KACHA ไปพิสูจน์พร้อมกันเลย!
นอกจากลวดลายแล้ว แผ่นเหล็กกันลื่นยังแบ่งออกตามลักษณะได้อีก 2 ประเภท ดังนี้
- เหล็กลายกันลื่น แบบหลังเรียบ คือประเภทของเหล็กแผ่นที่มีความหนาสูง ผลิตด้วยกรรมวิธีการหล่อเข้ากับแม่พิมพ์หรือแท่งแบนที่เรียกว่า Slab จนได้ลายออกมาตามที่ต้องการ เหล็กลายกันลื่นประเภทนี้จึงออกมามีลักษณะด้านหน้ามีลายนูนตามแม่พิมพ์ ด้านหลังไม่มีรอยเว้า เรียบเสมอกันทั้งแผ่น
- เหล็กลายกันลื่น แบบหลังเว้า คือประเภทของเหล็กแผ่นที่มีความหนาไม่มาก ผลิตด้วยการนำเหล็กแท่งมารีดร้อนบนแม่พิมพ์ลายนูนตามแบบที่ต้องการ แล้วนำไปหล่อเย็น เหล็กลายกันลื่นประเภทนี้จะมีลักษณะด้านหน้าเป็นรอยนูนตามแม่พิมพ์ ด้านหลังเป็นรอยเว้าทั้งแผ่น
โดยในแผ่นเหล็กกันลื่นทั้ง 2 ประเภทนี้ ประเภทที่ได้รับความนิยมที่สุดก็คือ เหล็กลายกันลื่น แบบหลังเรียบ และลายที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ ลายตีนไก่ และ ลายตีนเป็ด นั่นเอง
แผ่นเหล็กกันลื่นเลือกซื้ออย่างไร? สามารถเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง?
การเลือกซื้อวัสดุเพื่อเอาไปใช้งาน นอกจากเรื่องของลายแบบ และประเภทที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ส่วนที่ลืมไม่ได้เลยนั่นก็คือการระบุความหนาของ แผ่นเหล็กกันลื่น ซึ่งการระบุความหนาของเหล็กแผ่นชนิดนี้อาจทำให้หลายคนสับสน เพราะมีวิธีการวัดและระบุความหนาของมันโดยเฉพาะ ดังนี้
การวัดความหนาของเหล็กลาย 2 ประเภท
- ความหนาเฉพาะเนื้อของแผ่นเหล็ก โดยวัดเฉพาะความหนาของแผ่นเหล็กจริง ๆ และไม่วัดรวมกับลายที่นูนขึ้นมา
- ความหนาของแผ่นเหล็กรวมลาย ประเภทนี้จะวัดลายที่นูนขึ้นมาด้วย โดยวัดความหนาตั้งแต่ฐานขอบไปจนถึงยอดนูนของลายกันลื่น
สามารถเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง
- นำไปใช้ทำพื้นรถยนต์ พื้นรถบรรทุก พื้นรถโดยสาร
- นำไปใช้ทำพับเหล็กขั้นบันได ตามอาคาร สำนักงานและโรงงาน
- นำไปใช้ทำพื้นทางลาด ที่ใช้ขนสินค้าขึ้นลง หรือพื้นสำหรับรถเข็นผู้พิการ
- นำไปใช้ทำพื้นทางเดินภายนอกอาคาร เพราะกันลื่น กันน้ำขังได้ดี เวลาโดนน้ำฝน
- นำไปใช้ทำพื้นทางเดินเท้าตามไซต์งานก่อสร้าง
- นำไปใช้ได้อย่างหลากหลายในงานอุตสาหกรรม เช่น บุผนังห้องเย็น พับเหล็กขั้นบันได พื้นที่ต้องสัมผัสสารเคมี
- นำไปใช้ตกแต่งบ้าน หรืออาคารสไตล์ลอฟท์
- นำไปทำของใช้ เช่น โต๊ะ, ชั้นวางของ, ชั้นวางอ่างล้างหน้า, เก้าอี้นั่ง เป็นต้น
เป็นอย่างไรบ้างคะกับบทความที่ KACHA นำมาฝากกัน เรียกได้ว่าเจ้าเหล็กแผ่นชนิดนี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์มากมายจนเราแทบไม่เคยเอะใจเลย ส่วนใครที่กำลังวางแผนจะซื้อเหล็กแผ่นกันลื่น อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้ตรงตามความชอบและความต้องการที่สุดนะคะ
บทความที่น่าสนใจ
ช้อมูลอ้างอิง : เอี่ยมเส็งสตีล, thaimetallic, yc-mw