การ รีโนเวทบ้าน กฎหมายต่อเติมบ้าน ที่ไม่ควรมองข้าม!
“บ้าน” ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานที่ยาวนานเป็นสิบ ๆ ปี แน่นอนว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป บ้านต้องมีการเสื่อมโทรมไปตามสภาพ เจ้าของบ้านหลายคน จึงเลือกการต่อเติมบ้าน การรีโนเวทบ้าน เพื่อปรับเปลี่ยนบ้านให้ดูดีกว่าเดิม รวมถึงความต้องการที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า การรีโนเวทบ้าน ของตัวเองนั้น บางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฏหมายเช่นกัน ????????
KACHA อยากพาทุกคนไปรู้จัก กฏหมายต่อเติมบ้าน รรีโนเวทบ้าน ที่เจ้าของบ้านไม่ควรมองข้าม จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยดีกว่า
กฏหมายต่อเติมบ้าน และการขออนุญาตดัดแปลง การรีโนเวทบ้าน อาคาร
การดัดแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายรูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก โครงสร้างของอาคารที่ก่อสร้างไว้แล้ว เช่น การต่อเติมหลังคาด้านหลังตึกแถว การต่อเติมหลังคาคลุมชั้นดาดฟ้า การติดตั้งโครงเหล็ก และอื่น ๆ ที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้าง ต้องเป็นไปตามที่กฏหมายควบคุมอาคารกำหนด และจะต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณา ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น จะตรวจพิจารณา และแจ้งผลการตรวจพิจารณาภายใน 30 วัน เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว จะต้องแจ้งชื่อผู้ควบคุมงาน และวันดำเนินการดัดแปลง ตั้งแต่วันที่เริ่มต้น ไปจนถึงวันที่สิ้นสุดต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น พร้อมทั้งแนบหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุม
ในกรณีที่ทำการรีโนเวท ต่อเติมไปเรียบร้อยแล้ว โดยยังไม่ได้ทำการขออนุญาต ก็สามารถยื่นขออนุญาตย้อนหลังได้ พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาที่มีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
- สถาปนิก และวิศวกรผู้ออกแบบ ต้องเป็นวุฒิสถาปนิก และวุฒิวิศวกร
- มีสถาปนิก และวิศกรผู้ได้รับอนุญาต เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเป็นผู้ควบคุมงาน
- สำเนาใบอนุญาต และรายการคำนวณที่สถาปนิก และวิศวกรผู้ออกแบบ ลงนามรับรองวันเริ่มต้น และวันสิ้นสุดการดำเนินการ
ตัวอย่างใบขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน อาคาร ข.1 : Download
ข้อดีของการขออนุญาต หลังจากทำการดัดแปลง รีโนเวทอาคารเรียบร้อยแล้ว คือ สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอตรวจพิจารณานาน ๆ แต่ก็มีข้อเสีย คือ หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นทำการตรวจสอบแบบแปลนแล้วพบว่าไม่ถูกต้อง ก็สามารถสั่งให้เจ้าของบ้านรื้อถอน แก้ไขอาคารให้ถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนั่นเอง
การ รีโนเวทบ้าน ที่ต้องขออนุญาต
การรีโนเวทบ้าน ที่ต้องขออนุญาต กฏหมายควบคุมอาคาร จะให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และน้ำหนัก หากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่สร้างไว้แล้วผิดไปจากเดิม ได้แก่ เพิ่ม-ลด เติม ขยายลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก ที่ไม่ใช่การซ่อมแซม หรือการดัดแปลงอาคารตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ขยายพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งของอาคารมากกว่า 5 ตารางเมตร เปลี่ยน หรือขยายหลังคาให้ปกคลุมเนื้อที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลกระทบแก่เพื่อนบ้าน หรือมีการเพิ่ม-ลด หรือเปลี่ยนเสา คาน บันได และผนัง ที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง จำเป็นที่จะต้องยื่นขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน
การรีโนเวทบ้าน ที่ไม่ต้องขออนุญาต
- ต่อเติมโครงสร้างโดยใช้วัสดุเดิม ที่มีขนาด จำนวน และชนิดเดียวกัน เช่น พื้น หรือผนังไม้มีการชำรุด แล้วต้องการเปลี่ยนไม้ทั้งหมด โดยใช้ไม้แบบเดิม จำนวนเท่าเดิม แต่ต้องไม่ใช่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
- การรีโนเวท เปลี่ยนแปลงส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ที่ไม่ใช่ส่วนของโครงสร้าง หรือเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างเกินร้อยละ 10 ด้วยวัสดุเดิม หรือวัสดุอื่น เช่น การปรับเปลี่ยน พื้น ผนัง จากไม้ แต่ต้องการเพิ่มกระเบื้องเข้าไป โดยต้องคำนวณดูว่า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมา มากกว่าเดิมเกินร้อยละ 10 หรือไม่ ซึ่งถ้าเกินก็ต้องยื่นขออนุญาตดัดแปลงอาคาร
- การรีโนเวท เปลี่ยนแปลง การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ที่ไม่ใช่ส่วนของโครงสร้าง หรือเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างเกินร้อยละ 10 เช่น ต้องการก่อผนังอิฐแดงเพิ่ม เช่น ผนังกั้นห้อง หรือก่อเค้าท์เตอร์ครัวขึ้นมาใหม่ การปรัปเปลี่ยนรูปทรงประตู ที่มีน้ำหนักไม่เกินร้อยละ 10 จากน้ำหนักเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องขออนุญาต
- การขยาย หรือลดพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือขยายพื้นที่หลังคา โดยไม่ลด หรือเพิ่มจำนวนเสา หรือคาน และต้องมีพื้นที่รวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร เช่น การต่อเติมระเบียง แต่ต้องระวังไม่ให้กระทบกับเพื่อนบ้านด้วย
โทษของการรีโนเวทที่ไม่ได้รับอนุญาต
แน่นอนว่าเมื่อทำผิดกฏหมาย ไม่ทำการขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือทำการรีโนเวท ดัดแปลงอาคารที่ไม่เป็นไปตามกฏหมายควบคุมอาคาร จะมีความผิด และต้องรับโทษทางอาญาตามที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
- มาตรา ๖๕ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังกำหนดโทษเป็นรายวันอีก วันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน จนกว่าจะปรับแก้ไข และปฏิบัติให้ถูกต้อง
- มาตราที่ ๖๖ ทวิ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังกำหนดโทษเป็นรายวันอีก วันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน จนกว่าจะปรับแก้ไข และปฏิบัติให้ถูกต้อง
- มาตรา ๖๗ ในกรณีที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งระงับการดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาต รับโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังกำหนดโทษเป็นรายวันอีก วันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน จนกว่าจะปรับแก้ไข และปฏิบัติให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ เช่น การเว้นระยะห่างของอาคาร และรั้วบ้าน การกำหนดพื้นที่ว่าง การเลือกใช้วัสดุ ซึ่งคุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือกฏหมายควบคุมอาคาร เพื่อป้องกันการรีโรเวทที่ผิดกฏหมาย และไม่ถูกใจเพื่อนบ้าน
ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการต่อเติมโดยพละการ และส่งผลกระทบต่อทั้งผู้อยู่อาศัยในบ้าน เพื่อนบ้าน และสังคม เจ้าของบ้านควรดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย โดยสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้องมีมาตรฐาน ลดภาระการดำเนินการแก่เจ้าของบ้าน และสามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย ????????????