การวางผังโรงงาน คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
อีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ประกอบการทั้งหลายไม่ควรมองข้าม การวางผังโรงงาน (Plant Layout) ผังโกดัง คลังสินค้าต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์หลัก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและการลดต้นทุน แผนผังโรงงานที่ดี มีคุณภาพ จะต้องช่วยลดการเคลื่อนที่ทั้งของคน เครื่องจักร และเอื้อให้กระบวนการผลิตดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น ลดปริมาณงานระหว่างกระบวนการต่าง ๆ ให้น้อยลงด้วย วันนี้ KACHA จะพาไปทำความเข้าใจของการวางผังโรงงาน โกดังสินค้า ให้มากขึ้นกัน
การวางผังโรงงาน คืออะไร?
Plant Layout คือ การจัดวางเครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการผลิต เพื่อช่วยสนับสนุนกระบวนการผลิต ภายใต้ข้อจำกัดของอาคารที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับตำแหน่ง โดยทำให้การดำเนินการผลิตนั้นเกิดประโยชน์ มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ประเภทของการวางผังโรงงาน
การวางผังตามกระบวนการผลิต
คือ การจัดวางเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ เหมาะสำหรับการผลิตที่มีจำนวนไม่มาก อาจผลิตตามใบสั่งซื้อ ขนาดของผลิตภัณฑ์ไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ก็สามารถผลิตได้หลายชนิด
- ข้อดี คือ ใช้เงินในการลงทุนต่ำ มีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงกรรมวิธีการผลิต และการขยายกำลังการผลิตไม่ต้องซื้อเครื่องจักรทั้งหมด
- ข้อเสีย คือ มีการใช้พื้นที่ภายในของโรงงานมาก การวางผนควบคุมการผลิตทำได้ยาก และมีความซับซ้อน มีปริมาณสินค้าคงเหลือมาก และการใช้เครื่องมือเครื่องจักรไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และต้องใช้เวลาในการฝึกอบรมนาน
การวางผังตามลักษณะผลิตภัณฑ์
คือ การจัดลำดับขั้นตอนการผลิต โดยจัดเรียงแถวเครื่องจักร ไปตามขั้นตอนการผลิต ซึ่งจะมีการผลิตสินค้าแบบชนิดเดียว เหมาะสำหรับการผลิตแบบต่อเนื่อง เช่น การผลิตเครื่องสำอาง การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ การผลิตโฟม เป็นต้น
- ข้อดี คือ ควบคุมการผลิตได้ง่าย สามารถใช้พื้นที่ภายในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เครื่องจักรอย่างเต็มที่ เพราะสามารถผลิตได้จำนวนมาก และใช้เวลาในการผลิตน้อย เวลาขนย้ายได้
- ข้อเสีย คือ การลงทุนในการซื้อเครื่องจักรต้นทุนสูง ถ้าเครื่องจักรชนิดใดเสีย ทำให้เกิดการหยุดลงทั้งหมด หากมีการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและไม่คล่องตัว ต้องซื้อเครื่องจักรใหม่ทั้งหมดถ้ามีการขยายกำลังการผลิต
การวางผังแบบอยู่กับที่
คือ การวางผังโดยนำอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ ไปใช้ในการผลิตชิ้นงานชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะมีน้ำหนักมาก มีขนาดใหญ่ เช่น การสร้างรถถัง เครื่องบิน เรือ เป็นต้น
- ข้อดี คือ ค่าใช้จ่ายการลงทุนในการจัดวางผังต่ำ สามารถตรวจสอบ ควบคุมการผลิตได้ง่าย และการจัดลำดับการผลิตไม่ซับซ้อน
- ข้อเสีย คือ ไม่สามารถทำการผลิตจำนวนมากได้ ใช้ระยะเวลาในการผลิตนาน ต้องรอเครื่องจักร ทำให้อัตราการผลิตที่ต่ำ และช้ามาก ต้องเคลื่อนย้ายเครื่องจักรต่าง ๆ เข้าหาชิ้นงาน
การวางผังแบบผสม
คือ การวางผังที่ผสมผสานรูปแบบการวางผังจากทั้ง 3 แบบที่ผ่านมา โดยอาจจัดพนักงานให้ทํางานเป็นกลุ่ม ซึ่งให้จัดงานกันเอง อาจจัดการทํางานออกเป็นกลุ่มผลิต เพื่อผลิตเพียงบางส่วนของผลิตภัณฑ์ และยังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ การวางผังแบบเซลล์ การวางผังแบบปรับเปลี่ยน และการวางผังแบบผลิตภัณฑ์ผสม
การวางผังโรงงานที่ดี เป็นอย่างไร?
- จะต้องใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่อย่างสูญเปล่า การจัดวางเครื่องมือ จุดบริการ และแรงงาน จะต้องวางผังให้พื้นที่มีการใช้สอยอย่างเหมาะสม คุ้มค่า ลดการสูญเสียพื้นที่ไปโดยไม่จำเป็น
- จะต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อพร้อมที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลง หรือการขยับขยายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- จะต้องเข้าถึงได้ง่าย เช่น การผลิต การบำรุงรักษา การบริการ จะต้องสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่มีสิ่งใดกีดขวาง สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระโดยไม่ติดขัด เพื่อความสะดวกในการทำงาน ไปจนถึงด้านความปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น
- จะต้องประหยัดในด้านการเคลื่อนย้าย เช่น การเคลื่อนที่ของวัตถุดิบ เครื่องจักร หรือแรงงานคน แผนผังโรงงานที่ดี ควรทำให้เกิดความประหยัดทุนงบประมาณ กำลังคน และเวลาสำหรับการเคลื่อนย้ายมากที่สุด ไม่ว่าจะใช้เครื่องทุ่นแรงอย่าง รอก ราง รถยก หรือสายพานลำเลียง เป็นต้น
- จะต้องทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายน้อยที่สุด หากต้องการให้งานออกมามีประสิทธิภาพ และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น การเคลื่อนย้าย จะต้องเป็นเส้นตรง เพื่อความประหยัดเวลา ไม่วกไปวนมา วางจุดการทำงานต่าง ๆ ให้เป็นระบบและเกิดการเคลื่อนย้ายน้อยที่สุด เพื่อลดการเสียเวลา และกำลังคน หรือเครื่องจักรโดยใช่เหตุ
- จะต้องเอื้อต่อการประสานงานระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ให้เป็นไปได้อย่างสะดวกที่สุด เพื่อความสะดวกในการทำงาน การประสานงานกับบุคลากรแต่ละแผนกได้อย่างรวดเร็ว และราบรื่น
- จะต้องทำให้เกิดทัศนวิสัยที่ชัดเจน เช่น การวางแผนผังโรงงาน โดยกำหนดจุดจัดเก็บวัตถุดิบ ตำแหน่งสำหรับงานที่อยู่ในระหว่างกระบวนการผลิต ไปจนถึงตำแหน่งของสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์ ควรจัดวางและออกแบบเลย์เอาท์ให้เราสามารถมองเห็นได้ตลอดเวลา จะช่วยให้สามารถควบคุมดูแลกระบวนการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับการลักขโมย หรือโจรกรรมได้อีกด้วย
- จะต้องมีความสะดวกสบายให้กับผู้ที่ทำงานอยู่ในอาคารแห่งนั้นมากที่สุด เช่น การเพิ่มแสงสว่างอย่างเพียงพอ การระบายอากาศที่เหมาะสม และลดผลกระทบจากความร้อน เสียง การสั่นสะเทือน ฝุ่น ไอสารเคมี กลิ่น และปัจจัยรบกวนจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อศักยภาพ และสุขภาพในการทำงานของบุคลากร
- จะต้องการคุ้มครองวัตถุดิบ และเครื่องจักร ควรมีระบบป้องกันเพลิงไหม้ ป้องกันความชื้น การเสื่อมสภาพของเครื่องจักร และวัตถุดิบ ไปจนถึงป้องกันการโจรกรรม ควรจัดให้มีสถานที่จัดเก็บที่ปลอดภัยและเหมาะสม มีระเบียบเกี่ยวกับการจัดเก็บวัสดุที่ติดไฟแยกต่างหากในลักษณะที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสำหรับโรงงาน โกดังคลังสินค้า
- จะต้องสอดคล้องตรงตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ พรบ.โรงงาน โดยคำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิการของพนักงานเป็นหลัก จะช่วยลดอุบัติเหตุ รวมถึงช่วยลดปัญหาการขาดงานเนื่องจากการเจ็บป่วยด้วย
ขั้นตอนการวางผังโรงงาน ทำได้อย่างไรบ้าง?
1. เก็บรวมรวมข้อมูล
การเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประกอบการวางแผน ดังนี้
- จำนวนลักษณะของแรงงาน เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต
- ขนาดของกำลังการผลิตที่ทางโรงงานต้องการ
- ความต้องการลักษณะของพื้นที่ใช้สอย ที่ใช้ในการจัดเก็บวัตถุดิบสินค้าคงเหลือ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ
- ขนาด และลักษณะของทางเดินในระหว่างทำการผลิต เช่น เส้นทางไหล หรือเส้นทางเคลื่อนย้ายวัสดุไปตามจุดบริเวณต่าง ๆ
- ทราบถึงลักษณะขนาดของความกว้าง ความยาว ของโรงงานมีพื้นที่ใช้สอยที่ใช้ในการตั้งโรงงานดังกล่าว
- ลักษณะอุปกรณ์พิเศษที่จำเป็น ที่จะต้องวางในโรงงาน
2. วางแผนผังกระบวนการผลิต
เป็นการวางผังโรงงานอย่างละเอียด ผู้วางแผนจะต้องกำหนดบริเวณสำหรับติดตั้งเครื่องจักร บริเวณสำนักงาน บริเวณผลิต บริเวณห้องเครื่องมือ บริเวณเก็บพัสดุ และบริเวณอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ ดังนี้
- การวาดรูป คือ ผู้วางผังจะต้องเตรียมผังวาดตามมาตราส่วน กำหนดว่าจะวางเครื่องจักรตรงไหน บริเวณใด เมื่อได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้ว จะนำไปปรึกษากับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ซึ่งอาจร่างผังโรงงานใหม่อีกครั้ง โดยช่วยให้การวางผังโรงงานออกมาในรูปแบบที่สมบูรณ์ และเหมาะสมที่สุด เหมาะสำหรับโรงงานที่จะนำไปใช้ในการวางผังกระบวนการผลิตที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรที่มีจำนวนมาก บริเวณผลิตจะมีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอ เป็นต้น
- การสร้างแผ่นภาพจำลอง คือ จะใช้กระดาษแข็งคละสี ตัดให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ เช่น เครื่องจักรแบบต่าง ๆ แล้วนำไปวางบนแผ่นกระดาษแข็งที่จัดไว้เป็นพื้นโรงงาน โดยมีการย่อมาตราส่วนกำหนดไว้ให้เล็กลง เพื่อความสะดวกในการวัดระยะต่าง ๆ นั่นเอง
- การสร้างหุ่นจำลอง เป็นการวางผังโรงงานอุตสาหกรรมที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เพราะสะดวกในการเคลื่อนย้ายหุ่นจำลองเครื่องจักร เมื่อต้องการทำแผนผังใหม่ด้วย โดยแบบจำลอง ขนาดจะลดลงไปตามขนาดมาตราส่วน แล้วนำไปวางลงบนแผ่นพื้นรูปโรงงาน ตามขนาดสัดส่วนที่ได้วางตำแหน่งเอาไว้นั่นเอง
3. จัดทำแผนภูมิการไหลกระบวนการผลิต
เป็นการบันทึกข้อมูลการผลิต โดยมีการกำหนดสัญลักษณ์แทนกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ เพื่อทำให้เข้าใจกระบวนการผลิตได้ง่ายขึ้น ซึ่งสมาคมวิศวกรรมเครื่องกลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Society of Mechanical Engineer: ASME) เป็นผู้กำหนดสัญลักษณ์ขึ้น มี 6 ชนิด คือ
- การดำเนินงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงแปรสภาพวัตถุดิบ การถอดประกอบวัสดุ การเตรียมวัสดุ และอื่น ๆ
- การตรวจสอบ เป็นการตรวจสอบนับจำนวน พิจารณาถึงคุณสมบัติว่า เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และจำนวนปริมาณว่าเป็นไปตามกำหนดหรือไม่
- การขนส่ง เป็นการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพื่อทำให้การผลิตดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
- การรอคอย เป็นขั้นตอนที่วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ต้องหยุดรอการเสียเวลาในการผลิต หรือเป็นการหยุดชั่วขณะ เพื่อให้หน่วยผลิตที่อยู่ถัดไปว่าง จึงจะส่งเข้าหน่วยผลิตได้ หรือรอการขนย้าย
- การเก็บรักษา เป็นการรักษาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ไว้ใช้สำหรับกระบวนการผลิต และเก็บไว้สำหรับนำออกไปใช้งาน
- กิจกรรมผสม หรือการรวมกิจกรรม คือ จะมีกิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรมรวมกัน ซึ่งจะใช้สัญลักษณ์วงกลมอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยม โดย วงกลม คือ การดำเนินงาน และ สี่เหลี่ยม คือ การตรวจสอบไปพร้อม ๆ กัน ณ บริเวณหน่วยผลิตนั้น ๆ
แผนภูมิการไหล คือ แสดงผังบริเวณที่ทำงาน ตำแหน่งของเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการผลิต โดยจะกำหนดสเกลหรือไม่กำหนดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ
- ผังการไหลของวัสดุ เป็นการแสดงถึง การเคลื่อนที่ของวัตถุดิบในกระบวนการผลิต
- ผังการไหลของคน เป็นการแสดงถึงการเคลื่อนที่ของคนในการทำงาน
ขั้นตอนการวางผังโรงงานนี้ เป็นการเตรียมการเบื้องต้นก่อนที่จะทำการวางผังโรงงาน เมื่อได้ประชุมปรึกษา หารือเรียบร้อยแล้ว จะใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเข้ามาช่วย หลังจากนั้นก็จัดทำแผนภูมิการไหลของกระบวนการผลิต เพื่อจะได้ปรับปรุงกระบวน การผลิตให้มีประสิทธิภาพต่อไปนั่นเอง
เรียกได้ว่า การวางผังโรงงาน ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เพื่อลดระยะทาง และเวลาในการเคลื่อนย้ายวัสดุ วัตถุดิบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนได้นั่นเอง หวังว่าบทความนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้สาระความรู้ไม่มากก็น้อย อย่าลืมติดตามสาระดี ๆ จากเราได้อีกในบทความถัดไปนะจ๊ะ
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- ปัจจัยเลือก ทำเลที่ตั้ง สำหรับโรงงาน โกดังสินค้าต้องดูอะไรบ้าง?
- การออกแบบ As Built Drawing คือ อะไร? จำเป็นไหมก่อนสร้างโรงงาน
- Automation คือ ? ทำไมถึงควรนำมาใช้ในโรงงาน โกดังสินค้า
- “กฎหมายผังเมือง” ที่ควรรู้สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยต่างๆ มีอะไรบ้าง?
- ข้อดี-ข้อเสียของการ เช่าโกดัง เช่าคลังสินค้า มีอะไรบ้าง?
- “โรงงาน” มีกี่ประเภท ก่อนสร้างต้องรู้อะไรบ้าง?
KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก เช่น รอกโซ่ รอกโซ่มือสาว เครนยกของ และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจ หากคุณกำลังมองหา ผู้รับเหมา ออกแบบก่อสร้างโรงงาน โกดังสินค้าต่าง ๆ บริษัทของเรา มีบริการรับ สร้างโกดัง สร้างโรงงาน สร้างคลังสินค้าต่าง ๆ จากช่างมืออาชีพที่มีประสบการณ์ การันตีผ่านมาตรฐานก่อสร้าง และความปลอดภัยต่าง ๆ อย่างแน่นอน เข้าชมเว็บไซต์ KACHA คลิกเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก: proindsolutions.com, ieprosoft.com