แชร์วิธี ตัดหญ้า ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ตัดอย่างไรให้สนามสวยงาม
จัดการหญ้าที่รกรุงรังภายในบ้าน ด้วยการ ตัดหญ้า ด้วยตัวเองง่าย ๆ แบบไม่ต้องพึ่งช่าง
จะตัดหญ้าอย่างไรให้สวยงาม และปลอดภัยตลอดการทำงาน ตาม KACHA ไปดูกันเลย!
เตรียมตัวถูกวิธี ตัดหญ้า อย่างปลอดภัย
ก่อนจะไปรู้จักกับเทคนิคการตัดหญ้า ผู้ตัดต้องศึกษาข้อมูลของเครื่องตัดหญ้าและขั้นตอนการตัดให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนลงมือ เนื่องจากเครื่องตัดหญ้าเป็นอุปกรณ์ที่มีความคม เสี่ยงต่ออันตรายสูงมากหากผู้ตัดไม่มีความชำนาญหรือไม่ระมัดระวังในการใช้งาน ซึ่งอันตรายสามารถเกิดได้ทั้งกับตัวผู้ตัดเอง และบุคคลที่อยู่ใกล้ ๆ บริเวณนั้น ส่วนมากมักเกิดเหตุการณ์ ตัดไปโดนก้อนหิน ก้อนกรวด หรือชิ้นส่วนโลหะ แล้วชิ้นส่วนนั้นกระเด็นโดนตัวเองหรือคนอื่น ทำให้หัวแตกหรือตาบอดได้ หรืออาจกระเด็นไปโดนกระจกรถ ทำสิ่งของเสียหาย มีคนได้รับบาดเจ็บ หรืออุปกรณ์ชำรุดจนเกิดอุบัติเหตุ เช่น ใบมีดหลุด เป็นต้น
วิธีเตรียมตัวก่อนการตัดหญ้า
- สวมอุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน แว่นตา ผ้าคลุมหน้า รองเท้าบูท ถุงมือ หมวก ฯลฯ
- ควรมีอุปกรณ์ป้องกันบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ผ้าใบ แผ่นพลาสติก เพื่อกันก้อนหิน หรือ สิ่งแปลกปลอมกระเด็น
- ตรวจสอบความปกติของอุปกรณ์ก่อนการตัด เช่น ความแน่นของใบมีด สายไฟ และแบตเตอรี่
- ตรวจสอบสิ่งกีดขวาง หรือ วัตถุแปลกปลอมที่อยู่ในสนามหญ้า เช่น ก้อนหิน ท่อนไม้ ของเล่น หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
วิธี ตัดหญ้า ให้สนามสวย ด้วยตัวเอง
1) รู้จักชนิดของหญ้า
เราต้องรู้จักธรรมชาติของหญ้าแต่ละชนิดก่อน เพราะระดับการเจริญเติบโตของหญ้าแต่ละชนิด มีผลต่อความสวยงามของสนาม เราจึงต้องใช้วิธีการตัดแต่งที่แตกต่างกัน ส่วนมากมักตัดให้มี ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 1 นิ้ว ขึ้นอยู่กับชนิดของหญ้า ดังนี้
- หญ้าญี่ปุ่น มักขึ้นเป็นกระจุกหนา มี 2 ชนิด คือ ใบกว้าง และ ใบกลม มีสีเขียวเข้ม ปลายใบแข็ง ขอบใบเรียบ หลายคนนิยมนำมาปลูกเป็นสวนหย่อมในบ้าน แต่ด้วยใบหญ้าที่แข็งแรง จึงทำให้การตัดแต่งค่อนข้างลำบาก ควรใช้เครื่องตัดหญ้าที่มีกำลังสูง ใบมีดคม ตัดให้มีความสูงประมาณ 0.5 – 1 นิ้ว และควรตัดทุก 7 – 10 วัน
- หญ้านวลน้อย ลักษณะใบกว้างและนุ่มกว่าหญ้าญี่ปุ่น มีช่อดอกยาว ควรตัดหญ้าให้มีความสูงอยู่ที่ 75 – 1.5 นิ้ว แนะนำให้ตัดทุก 7 – 14 วัน
- หญ้ามาเลเซีย ลักษณะใบใหญ่อวบน้ำและเปราะ แนะนำว่าไม่ต้องตัดบ่อย ประมาณ 10 – 15 วัน/ครั้ง ส่วนความสูงที่สวยงามของหญ้าชนิดนี้ อยู่ที่ประมาณ 1 – 2 นิ้ว
2) เลือกเวลาตัดหญ้าให้เหมาะสม
สภาพของหญ้าก่อนตัดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้น ก่อนลงมือตัดหญ้าเราจำเป็นต้องดูสภาพอากาศและเวลาที่เหมาะสม ไม่ควรตัดหญ้าในวันที่อากาศร้อนจัด เพราะต้นหญ้าจะอ่อนแอกว่าปกติ อาจทำให้หญ้าตายหรือหยุดการเติบโตได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรตัดหญ้าในขณะที่ดินและต้นหญ้าเปียกชื้น เนื่องจากดินอาจจะกระเด็นเข้าไปติดภายในเครื่องตัดหญ้า รวมถึงหยดน้ำในต้นหญ้าที่อาจจะเข้าไปในเครื่องยนต์ของเครื่องตัดหญ้าด้วยเช่นกัน ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมที่สุดของการตัดหญ้า อาจเป็นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ไร้เมฆฝน และเป็นช่วงเช้าก่อนที่แดดจะแรง หรือจะเป็นช่วงเย็นที่แดดร่มก็ได้
3) เคลียร์พื้นที่และปรับระดับพื้น
การเคลียร์พื้นที่และปรับระดับพื้นก่อนการตัด จะช่วยให้เราตัดหญ้าได้ลื่นไหลขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งกีดขวาง เช่น ก้อนหิน หรือวัตถุที่มีความแข็ง ที่อาจกระเด็นไปทุกทิศทางจนเกิดอันตรายได้ แต่ถ้าเคลียร์พื้นที่ เก็บก้อนหิน ก้อนกวาดแล้ว ไม่สามารถปรับพื้นให้เสมอกันได้จริง ๆ แนะนำให้เดินเครื่องตัดหญ้าในแนวทแยง เพราะปลอดภัยกว่าการเดินเครื่องตัดหญ้าแบบตรง
4) ลับใบมีดให้คมอยู่เสมอ
อีกหนึ่งเทคนิคการตัดหญ้าให้สนามสวย คือ “ใบมีด” ของเครื่องตัดหญ้า เพื่อให้การตัดเป็นไปอย่างง่ายดาย เรียบเสมอกัน ต้นหญ้าไม่แหว่งเป็นหย่อม ๆ ไม่สวยงาม ดังนั้น หลังจากที่ตัดหญ้าทุกครั้งก็ควรต้องทำความสะอาดใบมีดให้เรียบร้อย และหมั่นลับใบมีดทุก 4-6 สัปดาห์ เพื่อรักษาความคมให้ใบมีดอยู่เสมอ
5) ทิศทางการตัด
ในการตัดหญ้าให้ให้ค่อย ๆ ตัดหญ้าไปในแนวตั้ง โดยใช้เครื่องตัดหญ้าไปข้างหน้าเป็นเส้นตรงจากปลายข้างหนึ่งของสนาม แล้ววนกลับมายังปลายอีกข้างหนึ่ง ในแต่ละเที่ยวควรกะให้ใบมีดของเครื่องล้ำเข้าไปในแนวเดิมประมาณ 5-10 ซม. เพื่อให้หญ้าทั้งสองแนวมีความยาวกลมกลืนกัน หากพบว่ามีหย่อมหญ้าที่ตัดไม่หมด ให้กลับไปตัดก่อนย้ายไปตัดที่ใหม่ แนะนำให้เริ่มตัดหญ้าจากบริเวณขอบสนามบริเวณทางเดินก่อน และตัดไล่ไปเป็นแถบ จะทำให้เก็บเศษหญ้าได้ง่าย และควรสลับทิศทางในการตัดแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันดินอัดแน่น และเป็นร่องลึกตามแนวการตัด นอกจากนี้การสลับทิศทางการตัดยังไม่ทำให้หญ้าเอนลู่ไปทางเดียวกัน ช่วยเพิ่มความสวยงามของหญ้าในสนามให้มีสวยเป็นธรรมชาติมากขึ้น
6) จัดเก็บและจัดการเศษหญ้า
หลังจากตัดหญ้าเรียบร้อยแล้ว ควรจัดเก็บเศษหญ้าทุกครั้ง เพราะหากทิ้งเศษหญ้าไว้นาน ๆ จะกลายเป็นแหล่งหมักหมมกลายเป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูพืช และบดบังความสวยงามของสนาม ทั้งยังปิดกั้นแสงแดดไม่ให้ส่องถึงต้นหญ้าบริเวณนั้น ทำให้หญ้าเหลืองเป็นหย่อม ๆ ดูไม่สวยงาม ส่วนวิธีการเก็บเศษหญ้า หากเป็นพื้นที่ที่กว้างมาก อาจใช้เครื่องดูดหญ้าที่ทำงานคล้ายเครื่องดูดฝุ่น แต่ให้แรงดูดที่มากกว่า แต่ถ้าเป็นสวนในบ้านธรรมดา เพียงใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวกับบุ๋งกี๋ก็เพียงพอแล้ว
เลือกเครื่องตัดหญ้า แบบไหนดี?
- เครื่องตัดหญ้าสะพายบ่า: มีสายสะพายบ่า ช่วยลดความเมื่อยล้า ไม่ต้องยกเครื่องตัดหญ้านาน เหมาะสำหรับตัดหญ้าในที่สูง พื้นที่เข้าถึงยาก หรือตัดในบริเวณที่ไม่กว้างมาก เนื่องจากมีขนาดเล็ก ควบคุมง่าย
- เครื่องตัดหญ้าไฟฟ้าใบมีด: นิยมใช้โดยทั่วไป เนื่องจากมีขนาดเล็ก ควบคุมง่าย ตัดหญ้าได้หลากหลายชนิด เพราะมีใบมีดให้เลือกหลายแบบ เหมาะสำหรับตัดหญ้าทั้งภายในและภายนอกบ้าน เข้าถึงทุกพื้นที่ ตัดหญ้าได้สะดวกแม้พื้นต่างระดับ ควรพักเครื่องตัดหญ้าไฟฟ้าทุก 15-20 นาที เพื่อป้องกันมอเตอร์ร้อนจนเกินไป ช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องให้ยาวนานขึ้น
- เครื่องตัดหญ้าไฟฟ้าชนิดเอ็น: ใช้สายเอ็นในการตัดหญ้าแทนการใช้ใบมีด ส่วนมากจะเป็นสายไนลอน เหมาะสำหรับการใช้งานเบา ๆ เช่น ตัดหญ้าหรือวัชพืชที่ขึ้นไม่รก รวมถึงการเล็มเพื่อตกแต่งสนามหญ้าให้เรียบเสมอกันยิ่งขึ้น
- เครื่องตัดหญ้าแบบสี่ล้อเข็น / ตัดหญ้าแบบรถเข็น : ขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนมากมาพร้อมกับกล่องเก็บหญ้าในตัว ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและทุ่นแรง ไม่ต้องตามเก็บเศษหญ้าอีกรอบ เหมาะสำหรับพื้นที่เรียบ กว้าง เช่น สวนหย่อมหรือสนามหญ้าที่บ้าน
- เครื่องตัดหญ้าแบบนั่งขับ :บังคับทิศทางการเคลื่อนที่ได้เหมือนรถยนต์ สามารถปรับระดับความลึกของใบมีดได้ ช่วยให้หญ้ามีความเรียบอย่างสม่ำเสมอกัน เหมาะกับสนามหญ้าที่มีพื้นที่กว้างมาก ๆ เช่น สวนสาธารณะ สนามขนาดใหญ่ เป็นต้น ไม่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่แคบ เนื่องจากมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น ทั้งยังมีราคาแพงและสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงกว่าเครื่องตัดหญ้าทั่วไป
สิ่งที่สำคัญก่อนการตัดหญ้า คือ ต้องศึกษาวิธีใช้เครื่องตัดหญ้าให้ถูกต้อง สวมอุปกรณ์ป้องกันอันตราย เช็กความพร้อมของเครื่องตัดหญ้า รวมถึงเคลียร์พื้นที่ก่อนการตัด เพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุก่อน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็ลงมือตัดตามเทคนิคที่เราบอกได้เลย รับรองว่าตัดหญ้าง่าย ได้สนามสวยแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก : Wittaya-Nine, Thaiwatsadu
บทความที่น่าสนใจ: