รู้จัก นั่งร้าน คืออะไร? ประโยชน์และการใช้งานเป็นอย่างไร?

นั่งร้าน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ผู้ก่อสร้างสามารถปฏิบัติงานได้ในที่สูง ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

นั่งร้านคืออะไร มีการใช้งานแบบไหน หรือมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้าง ตาม KACHA ไปดูกันเลย!!

นั่งร้าน คืออะไร?

นั่งร้าน (Scaffolds) คือ โครงสร้างชั่วคราวที่ให้ผู้ปฏิบัติงานขึ้นไปก่อสร้าง ซ่อมแซม วางวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือในการทำงานได้บนที่สูง เช่น การก่อสร้างตึก อาคาร คอนโด วัด สะพาน หรืองานทาสีต่าง ๆ เมื่อปฏิบัติงานจนเสร็จสิ้น นั่งร้านก็จะถูกรื้อถอนตามกำหนดของแผนงานที่วางเอาไว้ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับงานก่อสร้างและต้องใช้ความเสี่ยงในการทำงาน นั่งร้าน จึงต้องมีมาตรฐานในการผลิต ส่วนมากออกแบบโดยวิศกรหรือผู้เชี่ยวชาญของบริษัท สำหรับวัสดุที่ใช้ทำนั่งร้านจะขึ้นอยู่กับงบประมาณและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเลือกใช้อุปกรณ์ที่เป็นเหล็ก เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทาน ฐานมีความมั่นคง

ประโยชน์ของนั่งร้าน

ประโยชน์ของการใช้นั่งร้าน คือ ช่วยให้คนงานก่อสร้างทำงานบนที่สูงได้สะดวกและปลอดภัย ทำให้ก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคารได้ง่าย นอกจากนี้ยังเป็นอุปกรณ์ที่สามารถติดตั้งและรื้นถอนสะดวก ปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้ ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และรับน้ำหนักได้ดี แถมยังสามารถนำโครงสร้างมาประกอบเพื่อใช้ซ้ำ หรือขายเป็นนั่งร้านมือสองได้อีกด้วย

โครงสร้างของนั่งร้าน

โครงสร้างพื้นฐานของ นั่งร้าน

ปัจจุบันโครงสร้างหรือส่วนประกอบของนั่งร้านมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันไปตามลักษณะของงาน แต่โดยพื้นฐานมีส่วนประกอบ ดังนี้

  • เสา (Standard/Post) ทำหน้าที่คอยรับน้ำหนักในแนวดิ่ง
  • แผ่นรองเสา (Base Plate) อุปกรณ์ช่วยป้องกันไม่ให้เสาจมดิน
  • คาน (Ledger/Runner) ส่วนของแนวราบของอุปกรณ์นั่งร้านที่ถูกยึดกับส่วนของด้านในเสา แต่ละท่อนไม่ควรห่างเกิน 2 เมตร
  • ตง (Main Transom) ส่วนของอุปกรณ์นั่งร้านที่รองรับกระดานพื้น ต้องอยู่ในระดับเหมาะสมและยึดกับคานแน่นหนา เพื่อความปลอดภัย
  • ตงเสริม (Intermediate Transoms) ส่วนของท่อที่วางพาดข้ามคานระหว่างตงหลัก ทำหน้าที่ช่วยรับแผ่นพื้น
  • แผ่นรองฐานนั่งร้าน (Sole Board) ช่วยรับน้ำหนักและกระจายน้ำหนักออกเป็นวงกว้าง
  • ท่อค้ำยัน (Cross Ledger Braces) อุปกรณ์สำหรับยึดทะแยงมุม พาดระหว่างเสาและคาน ลักษณะสลับกันไปมา เพื่อเสริมความแข็งแรง มั่นคง และกระจายน้ำหนัก
  • ค้ำยันด้านหน้า (Facade of Sway Braces) ท่อที่วางพาดอยู่หน้าของโครงสร้างนั่งร้าน โดยพาดในลักษณะทะแยงมุม ติดตั้งจากบริเวณล่างสุดของนั่งร้าน ทำหน้าที่ป้องกันส่วนประกอบไม่ให้เกิดการโยกเอน

ประเภทและการใช้งานนั่งร้าน

ประเภทและการใช้งาน นั่งร้าน

1) ประเภทของนั่งร้าน

1.นั่งร้านไม้ไผ่ (Bamboo Scaffolds)

นั่งร้านไม้ไผ่จะประกอบโครงสร้างโดยการขันชะเนาะด้วยเชือกหรือปอ ซึ่งหลายประเทศที่มีมาตรฐานบังคับในระดับสากล ได้ยกเลิกนั่งร้านประเภทนี้ในงานอุตสากรรม เนื่องจากมีหลายตัวแปรที่ยากต่อการควบคุมคุณภาพ ส่วนในประเทศไทยยังใช้ได้ปกติ เพียงแต่ไม่นิยมใช้ในงานก่อสร้างที่เป็นตึกสูง

2. นั่งร้านเสาเรียงเดี่ยว (Single Pole Scaffolds)

ลักษณะการติดตั้งด้วยเสาเพียงแถวเดียว บางครั้งเรียก “นั่งร้านเสาฝาก” นั่งร้านประเภทนี้จะถูกติดตั้งแนวขนานกับโครงสร้างของโรงเรือน โดยคานนั่งร้านด้านหนึ่ง จะติดตั้งไว้กับโครงสร้างของโรงเรือน ส่วนอีกด้านจะติดตั้งไว้กับเสาโดยใช้บีมแคลมป์ หรือยึดด้วยวิธีอื่น

3. นั่งร้านยกพื้นอิสระ (Independent Scaffolds)

นั่งร้านยกพื้นอิสระเป็นแบบของนั่งร้านท่อประกอบ (Tubular Scaffolds) ที่นิยมใช้งานกันมากที่สุดในภาคงานอุตสาหกรรม ลักษณะติดตั้งและการใช้งาน มีทั้งติดตั้งอยู่กับที่บนพื้นดินและมีล้อเคลื่อนที่ แบ่งได้ 2 แบบ คือ นั่งร้านแบบหอสูง และ นั่งร้านแบบเคลื่อนที่ได้

4. นั่งร้านยกพื้นกว้าง (Platform Scaffolds)

นิยมใช้สำหรับพื้นที่สัญจรหรือถนนในเขตชุมชน (ไม่มีพื้นที่ให้สร้างทางเบี่ยง) เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร ลดปัญหารถติด ซึ่งการติดตั้งจะเป็นลักษณะคล้ายอุโมงค์คร่อมถนน เพื่อให้รถลอดผ่านได้ มักสร้างเป็นลักษณะโครงถักหรือลักษณะ Pre-Building เพื่อป้องกันการโก่งตัว

5. นั่งร้านยกพื้นค้ำยัน (Cantilever Scaffolds)

เป็นนั่งร้านที่เหมาะสำหรับงาน Very light duty load พื้นที่ทำงานของนั่งร้าน จะอยู่ด้านนอกผนังอาคารหรือด้านนอกโครงสร้าง เสาจะองศาที่เอียงค้ำกับโครงสร้างการก่อสร้างไว้ ข้อดี คือ สามารถติดตั้งนั่งร้านติดไว้กับโครงสร้างได้ ไม่ต้องติดตั้งจากพื้นดินด้านล่าง

6. นั่งร้านแขวนห้อย (Overhung Scaffolds)

นั่งร้านแขวนห้อยจะยึดติดกับโครงสร้างอาคารด้วยการแขวนยึดไว้ ด้วยการติดตั้งแคลมป์กันรูดที่ด้านบนและด้านล่างของพื้นนั่งร้าน ข้อดี คือไม่ต้องติดตั้งจากพื้นล่าง แต่ต้องผ่านการออกแบบและติดตั้งตามที่วิศวกรกำหนด เหมาะสำหรับงานทางทะเลซึ่งไม่มีพื้นด้านล่าง เช่น แท่นขุดเจาะ เรือเดินทะเล

7. นั่งร้านเท้าแขน (Bracket Scaffolds)

นั่งร้านแบบเท้าแขน ปกติจะใช้งานลักษณะจำเพาะกับงานก่อสร้างที่เป็นทรงกลม หรือถังลูกโลก หรือถังอื่นใดที่มีผิวงานโป่งหรือกลม นั่งร้านจะติดตั้งโดยวิธีเชื่อมยึดกับพื้นผิวของถัง ซึ่งการติดตั้งต้องได้รับอนุญาตเป็นเอกสารจากวิศวกรผู้ออกแบบเสียก่อน

8. นั่งร้านโครงสำเร็จรูป (Refabricate Scaffolds)

นั่งร้านแบบโครงสำเร็จรูป ถูกออกแบบโดยวิศวกรชาวญี่ปุ่น ภาษาตลาดจึงเรียกว่า “นั่งร้านญี่ปุ่น” จุดเด่น คือ ติดตั้งได้ง่าย รวดเร็ว และรับน้ำหนักได้ตามค่าที่กำหนด แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างที่หน่วยงานบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไม่อนุญาตให้นำเข้ามาใช้ในสถานประกอบกิจการ ดังนั้น การนำนั่งร้านแบบโครงสำเร็จรูปในใช้งาน ต้องขออนุญาตจากผู้เชี่ยวชาญก่อน

9. นั่งร้านไฟฟ้า (Electrical Scaffold หรือ Suspended Scaffold) 

นั่งร้านไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์หรือโครงสร้างที่ใช้ในงานก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารที่มีความสูง เพื่อให้คนงานสามารถทำงานในที่สูงได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า การติดตั้งไฟฟ้าภายนอกอาคาร หรือการบำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้าง

การใช้งานนั่งร้าน

2) การใช้งานนั่งร้าน 

การใช้นั่งร้านแต่ละประเภท สามารถเลือกได้ความเหมาะสมของลักษณะงานและสถานที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน สิ่งที่ควรคำนึง ได้แก่

  • สภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงาน
  • ขนาดและความสูงของสิ่งก่อสร้าง
  • น้ำหนักที่ต้องแบกรับ
  • ความสะดวกในการติดตั้งหรือรื้อถอน
  • งบประมาณของนายจ้าง

กฎหมายเกี่ยวกับนั่งร้าน

กฎหมายนั่งร้าน

ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้านและค้ำยัน พ.ศ. 2564 มีสาระที่สำคัญที่กำหนดให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับลูกจ้างในการทำงานกับนั่งร้านและค้ำยัน สรุปโดยย่อได้ ดังนี้

  1. ลูกจ้างต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดระยะเวลาการทำงาน
  2. มีข้อบังคับและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัย ต้องอบรม ชี้แจง และควบคุมดูแลให้ลูกจ้างปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และต้องมีสำเนาเอกสารดังกล่าวไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้
  3. กำหนดเขตอันตรายบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยจัดทำรั้วหรือกั้นเขตด้วยวัสดุที่เหมาะสมกับอันตรายนั้นและมีป้าย “เขตอันตราย” แสดงให้เห็นได้ชัดเจน
  4. ติดตั้งป้ายสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายป้ายบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยฯ
  5. ในการสร้าง ประกอบ ติดตั้ง ทดสอบ ตรวจสอบ ใช้ เคลื่อนย้าย และรื้อถอน นั่งร้าน นายจ้างต้องปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือ
  6. มีการคำนวณออกแบบและควบคุมการใช้นั่งร้านโดยวิศวกรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
  7. ห้ามลูกจ้างทำงานบนนั่งร้าน ในกรณีดังต่อไปนี้
    • นั่งร้านที่มีพื้นลื่น
    • นั่งร้านที่มีส่วนหนึ่งส่วนใดชำรุดหรืออยู่ในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตราย
    • นั่งร้านที่อยู่ภายนอกอาคาร หรือส่วนอื่นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายในขณะที่มีพายุ ลมแรง ฝนตกหรือฟ้าคะนอง
  1. มีมาตรการป้องกันวัสดุร่วงหล่นที่เหมาะสมกับสภาพงาน เพื่อมิให้เกิดอันตรายต่อผู้ซึ่งทำงานอยู่ด้านล่าง
  2. ตรวจสอบนั่งร้านทุกครั้งก่อนการใช้งานและทำรายงานผลการตรวจสอบไว้ด้วย และต้องมีสำเนาเอกสารไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้
  3. ในการสร้าง ประกอบ หรือติดตั้งค้ำยัน นายจ้างต้องจัดให้มีการคำนวณ ออกแบบ และควบคุมโดยวิศวกร
  4. มีการตรวจสอบค้ำยันทุกครั้งก่อนและระหว่างการใช้งาน หากพบว่าไม่มั่นคงหรือไม่ปลอดภัย ให้นายจ้างดำเนินการซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยอยู่เสมอ

คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม :

ข้อมูลอ้างอิง : SafeSiri, Yellow Smart Purchase, Sangtakieng

KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!

????เลือกดูสินค้าจาก KACHA คลิกเลย ????