รู้จัก ประเภทเสาเข็ม มีอะไรบ้าง? เหมาะกับงานแบบไหน?

เสาเข็ม องค์ประกอบที่มีความสำคัญต่ออาคาร ตึก และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ตัวช่วยในการถ่ายน้ำหนักของอาคารลงสู่พื้นดิน

ประเภทเสาเข็ม มีอะไรบ้าง? รวมถึงมีวิธีเลือกอย่างไรให้เหมาะกับลักษณะงาน ตาม KACHA ไปดูกัน!

เสาเข็ม คืออะไร ทำไมต้องมี?

เสาเข็ม คืออะไร ทำไมต้องมี?

ก่อนจะไปรู้จัก ประเภทของเสาเข็ม เรามาปูพื้นฐานกันก่อนว่า เสาเข็มคืออะไร? จำเป็นต้องใช้หรือเปล่า? หากใครที่มีความรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว สามารถข้ามหัวข้อนี้ไปได้เลย แต่ถ้าใครยังไม่รู้จักหรือกำลังสงสัยอยู่ล่ะก็ ตามมาเลย!

อย่างแรกเราต้องรู้ก่อนว่า การก่อสร้างบ้าน อาคาร ตึก หรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ต้องมีการวางฐานรากก่อนเสมอ เพื่อให้โครงสร้างมีความแข็งแรงไม่ทรุดตัวลงตามดิน โดยฐานรากที่ว่านั้นเป็นโครงสร้างที่อยู่ใต้ผิวดิน มีทั้งแบบมีเสาเข็มและไม่มีเสาเข็ม

  1. ฐานรากแผ่ (Shallow Foundation) เป็นฐานรากแบบไม่มีเสาเข็ม นิยมสร้างบนพื้นดินที่มีความแข็งและแน่น เช่น พื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย เหมาะสำหรับอาคารที่ไม่มีน้ำหนักมากขนเกินไป หรือ บ้านความสูงไม่เกิน 2 ชั้น
  2. ฐานรากวางบนเสาเข็ม (Piled Foundation) มีเสาเข็มช่วยรับน้ำหนักอาคาร นิยมใช้สร้างบนพื้นที่ที่ชั้นบนเป็นดินอ่อนไม่แน่น เช่น กรุงเทพ ปริมณฑล สุพรรณบุรี อยุธยา ฯลฯ เพื่อป้องกันการทรุดตัวของตัวบ้าน

ลักษณะทั่วไปของเสาเข็ม

เสาเข็ม (Pile Foundation) คือ ส่วนประกอบหนึ่งของการวางรากฐาน มีลักษณะเป็นแท่งยาว ฝังอยู่ใต้ดิน มีหน้าที่รับน้ำหนักบ้าน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างที่อยู่บนผิวดิน โดยแบกรับน้ำหนักจากเสาแล้วถ่ายน้ำหนักกระจายลงสู่พื้นดิน ช่วยให้โครงสร้างบ้านมีความแข็งแรง ไม่ทรุดลงตามดิน

หากไม่มีเสาเข็มจะเป็นอย่างไร?

ถ้าเป็นพื้นที่ที่ดินแข็งอยู่แล้ว การสร้างบ้านที่ไม่มีเสาเข็มอาจจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าพื้นที่ใดที่เป็นดินอ่อน ดินเหลว การสร้างบ้านหรืออาคารจะทำให้บ้านทรุดลงตามดิน เพราะน้ำหนักของตัวบ้านจะกดลงไปบนผิวดิน ทำให้พื้นทรุดตัวลงไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

sponsored (โฆษณา)

ประเภทเสาเข็ม มีกี่ชนิด อะไรบ้าง?

1) เสาเข็มตอก / เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง

ประเภทเสาเข็ม เสาเข็มตอก เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง

เสาเข็มตอก หรือ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง (Prestressed Concretel Pile) คือ เสาคอนกรีตอัดแรงสำเร็จรูปจากโรงงาน เป็นเสาเข็มที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะมีราคาประหยัด ผลิตได้ในจำนวนเยอะ ควบคุมคุณภาพได้ง่าย เหมาะสำหรับบ้านเรือน ที่พักอาศัย และอาคารพาณิชย์ทั่วไป มีหน้าตัดให้เลือกหลายแบบ เช่น เสาเข็มรูปตัวไอ เสาเข็มรูปตัวที เสาเข็มสี่เหลี่ยมตัน เสาเข็มหกเหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยมชนิดกลวง

  • รูปตัวไอ : น้ำหนักเบา ทนทาน รับน้ำหนักได้มาก เหมาะกับการสร้างโรงจอดรถ สระว่ายน้ำ บ่อน้ำ ต่อเติมอาคาร หรือนำไปปรับใช้กับอาคารทั้งเล็กและใหญ่ได้
  • รูปตัวที : รับน้ำหนักได้น้อยกว่าตัวไอ เหมาะกับสิ่งก่อสร้างที่มีโครงสร้างเล็ก เช่น งานฐานรากของบ้าน ทางเชื่อมอาคาร งานเสริมความแข็งแรงของถนน งานต่อเติมอาคาร เป็นต้น
  • เสาเข็มหกเหลี่ยม / เสาแปดเหลี่ยมชนิดกลวง : เสาเข็มประเภทนี้ลักษณะด้านนอกเป็นหกเหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยม ด้านในเป็นกลวง การใช้งานคล้ายเสาเข็มรูปตัวที คือ ใช้กับสิ่งก่อสร้างโครงสร้างเล็ก งานพื้นที่แคบ เช่น ลานจอดรถ พื้นโกดัง หรือรองรับน้ำหนักในส่วนที่ต่อเติมเพื่อป้องกันการทรุดตัว
  • เสาเข็มสี่เหลี่ยมตัน : ผลิตจากคอนกรีตอัดแรงเสริมด้วยลวด ให้ความทนทาน รับน้ำหนักได้เยอะ นิยมใช้กันมากในวงการก่อสร้าง มีหลายขนาดให้เลือก

ลักษณะ: ผลิตจากปูนซีเมนต์ชนิดแข็งตัวเร็ว ภายในเป็นโครงเหล็กจากลวดเหล็กอัดกำลังสูง รับน้ำหนักได้ตั้งแต่ 10 – 80 ตัน/ต้น

การลงเสาเข็ม: เสาเข็มประเภทนี้ติดตั้งด้วยการกระแทกหรือตอกลงไปในดิน โดยใช้ตุ้มเหล็กบนปั้นจั่นตอกลง จนได้ระยะที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม

ข้อดี: ควบคุมคุณภาพการผลิตได้ ติดตั้งง่าย ไม่ซับซ้อน เหมาะสำหรับบ้านหรืออาคารที่อยู่ในพื้นที่โล่ง ห่างไกลจากชุมชน

ข้อเสีย: ขณะติดตั้งมีเสียงและแรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็ม

ประเภทเสาเข็ม เสาเข็มตอก ตัวไอ

(เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง: รูปตัวไอ I)

ประเภทเสาเข็ม เสาเข็มหกเหลี่ยม เสาแปดเหลี่ยมชนิดกลวง

(เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง: เสาเข็มหกเหลี่ยม)

ประเภทเสาเข็ม เสาเข็มหกเหลี่ยม เสาแปดเหลี่ยมชนิดกลวง

(เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง: เสาเข็มสี่เหลี่ยมตัน )

2) เสาเข็มเจาะ

ประเภทเสาเข็ม เสาเข็มเจาะ

เสาเข็มเจาะ (Bored Pile) เป็นเสาเข็มที่ต้องใช้เครื่องมือในการขุด เพื่อขุดหลุมแล้วเทคอนกรีตเพื่อหล่อเป็นเสาเข็ม ไม่เหมือนแบบแรกที่หล่อสำเร็จมาจากโรงงาน เสาเข็มประเภทนี้จะมีอุปกรณ์และขั้นตอนการติดตั้งที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่า

  • เสาเข็มเจาะขนาดเล็ก ใช้กับความลึกประมาณ 18 – 23 เมตร ใช้วิธีการเจาะแบบแห้ง (Dry Process) หรือใช้การเจาะแบบธรรมดา
  • เสาเข็มเจาะขนาดใหญ่ ความลึกประมาณ 25 – 65 เมตร มักใช้การเจาะแบบเปียก (Wet Process) หรือเพิ่มขั้นตอนการฉีดสารเคมีเหลวที่เรียกว่า เบนโทไนท์ (Bentonite slurry) ช่วยป้องกันไม่ให้ดินในหลุมเจาะเกิดการพังทลาย โดยเฉพาะหลุมที่ลึกมาก ๆ

ลักษณะ: เป็นเสาเข็มที่หล่อขึ้นในหน้างานจริง ทำได้โดยการขุดดินให้ลึก (ตามค่าที่กำหนด) ตามด้วยเหล็กเสริม ปิดท้ายด้วยการเทคอนกรีตลงไป นิยมใช้ก่อสร้างบ้านที่อยู่ติดกับชุมชน พื้นที่แคบ รถใหญ่ไม่สามารถเข้าไปถึงหน้างานได้ เช่น พื้นที่แคบ ๆ หรือพื้นที่ต่อเติม

การลงเสาเข็ม : เจาะดินให้ได้ความกว้างและความกว้างตามกำหนด ตักดินออก แล้วใส่เหล็กเสริม เทคอนกรีตลงเพื่อหล่อ

ข้อดี: ไม่ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือน เพราะไม่ต้องตอกปั้นจั่น เจาะได้ลึกกว่าความยาวของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง

3) เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรง

เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรง

เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรง (Prestressed Concrete Spun Pile) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เสาเข็มสปัน เป็นประเภทเสาเข็มที่มีความแข็งแรง เพราะเป็นการปั่นคอนกรีตแบบหล่อ หมุนด้วยความเร็วสูง มีลักษณะเป็นเสากลม ตรงกลางกลวง มีโครงลวดเหล็กอัดแรงฝังอยู่ในเนื้อคอนกรีต

ลักษณะ: ปั่นคอนกรีตในแบบหล่อ หมุนด้วยความเร็วสูง มีลักษณะเป็นทรงกลม ตรงกลางกลวง มีโครงเหล็กอัดแรงสูงอยู่ในเนื้อคอนกรีต ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 – 100 ซม. เหมาะสำหรับใช้เป็นรากฐานของอาคารสูงที่ต้องการความมั่นคง เพื่อป้องกันปัญหาลม พายุ หรือแผ่นดินไหว

การลงเสาเข็ม : การตอกเสาชนิดนี้ทำได้หลายแบบ ทั้งตอกด้วยปั่นจั่นแบบธรรมดาและระบบเจาะกด

ข้อดี: เสาเข็มประเภทนี้มีความหนาแน่น รับน้ำหนักได้มาก มีกำลังรับแรงอัดสูง มีวิธีติดตั้งหลายรูปแบบ ช่วยลดแรงสั่นสะเทือนต่ออาคารโดยรอบได้

ข้อเสีย: ค่าติดตั้งและลงเสาค่อนข้างสูง

เลือก ประเภทเสาเข็ม อย่างไรดี?

ตารางสรูป ประเภทเสาเข็ม Piled Foundation

ตารางด้านบนเป็นการเลือก ประเภทเสาเข็ม ให้เหมาะกับสิ่งก่อสร้างในเบื้องต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เราควรปรึกษาวิศวกรหรือผู้ออกแบบให้ดีก่อนตัดสินใจเลือก เนื่องจากเสาเข็มเป็นสิ่งสำคัญในการวางรากฐาน ดังนั้น เราต้องเลือกวิศวกรหรือนักออกแบบที่น่าเชื่อถือด้วย เพื่อที่จะได้เลือก ประเภทเสาเข็ม, ขนาดเสาเข็ม ,ขั้นตอนการลงเสา รวมถึงขั้นตอนการวางรากฐานอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้รับน้ำหนักโครงสร้างได้จริงตามมาตรฐาน เพราะในปัจจุบันผู้รับเหมาบางรายมักง่าย สร้างให้เสร็จ ๆ ไป โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของงาน

เป็นอย่างไรบ้างกับ ประเภทเสาเข็ม มีให้เลือกหลายประเภทหลายรูปแบบเลยใช่ไหมคะ หากใครกำลังมองหาเสาเข็มไว้สร้างบ้านหรือต่อเติมอาคาร ควรศึกษาข้อมูลของเสาเข็มให้ละเอียด รวมถึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความมั่นใจตลอดการใช้งาน เพราะหากเรามองข้ามส่วนนี้ไป บ้านทั้งหลังของเราอาจได้รื้อสร้างใหม่เลยก็ได้น้าา