รู้จัก “ลูกล้อ” ที่ใช้ในอุตสาหกรรม คืออะไร มีกี่ประเภท?
ลูกล้อ อุปกรณ์อุตสาหกรรมที่ใช้ติดตั้งเข้ากับฐานวัตถุให้สามารถเคลื่อนที่ได้ ตัวช่วยเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสิ่งของในโรงงาน โกดัง คลังสินค้า
ลูกล้อที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม คืออะไร? แต่ละชนิดเหมาะกับงานแบบไหน? ตาม KACHA ไปหาคำตอบกัน!
ลูกล้อ อุตสาหกรรม คือ?

ลูกล้ออุตสาหกรรม (Industrial Caster) คือ ชิ้นส่วนที่ใช้สำหรับติดตั้งบริเวณฐานช่วงล่างของอุปกรณ์ เช่น รถเข็น ตู้เหล็ก ล้อลากพาเลท หรืออุปกรณ์ที่จะใช้เป็นยานพาหนะในการขนส่ง หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนที่ โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นทรงกลมและทรงกระบอก สามารถกลิ้งไปมาบนพื้น เพื่อให้อุปกรณ์หรือยานพาหนะนั้นเคลื่อนที่ได้ เมื่อติดตั้งลูกล้อเข้าไปก็จะช่วยทุ่นแรงให้สามารถเคลื่อนย้ายวัสดุหรือสินค้าได้ง่ายขึ้น ลูกล้อ มีหลายขนาด หลายวัสดุให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมของลักษณะงาน สามารถใช้ได้ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม ความแตกต่างจะอยู่ที่ความแข็งแรง ลูกล้อในอุตสาหกรรมจึงต้องเป็นวัสดุที่มีความคงทน รับน้ำหนักได้มาก ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ในระดับดี ทั้งอากาศร้อนจัด เย็นจัด สารเคมี หรือแม้แต่แรงกระแทกต่าง ๆ เพราะต้องใช้งานหนักและต่อเนื่องกว่าทั่วไป นอกจากนี้ยังต้องมีความคล่องตัว ความนุ่มนวลในการเก็บเสียง และคุณสมบัติอื่นที่เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน ในปัจจุบันลูกล้อมีหลายประเภท หลายยี่ห้อให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลูกล้อสำหรับงานเบาในเฟอร์นิเจอร์ ลูกล้อสำหรับงานระดับปานกลาง ไปจนถึงลูกล้อสำหรับงานอุตสาหกรรมพิเศษ เช่น ติดตั้งในเครื่องจักร รถเข็นขนของ ตะแกรงเหล็ก เป็นต้น ดังนั้น เราต้องเลือกลูกล้อให้เหมาะกับงานของเราที่สุด เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ประเภทของ ลูกล้อ ในอุตสาหกรรม
ลูกล้อที่ใช้งานอุตสาหกรรม สามารถจำแนกประเภทออกได้หลายแบบ โดยทั่วไปจะแบ่งได้ 2 แบบหลัก ๆ ดังนี้
1) แบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิต

- ลูกล้อยางธรรมชาติ (Rubber Caster)
ลูกล้อที่ผลิตจากยางที่ได้จากธรรมชาติ เนื้อค่อนข้างนิ่มและยืดหยุ่นดีกว่าลูกล้อแบบอื่น ทำให้การเข็นราบรื่น เสียงรบกวนน้อย ไม่ทิ้งรอยบนพื้น เหมาะกับการใช้งานที่จะต้องย้ายไปมาบ่อย ๆ ใช้ได้ทั้งกับพื้นกระเบื้อง พื้นเซรามิก พื้นหินอ่อน พื้นไม้ หรือพื้นคอนกรีต นิยมใช้ในพื้นที่ที่เน้นเรื่องความสะอาด เช่น โรงพยาบาล ห้องคลีนรูม โรงแรม เป็นต้น
- ลูกล้อโพลีโพรพิลีน (PP Caster)
ผลิตจากพลาสติกโพลีโพรพิลีน คุณสมบัติของลูกล้อชนิดนี้จึงมีความเหนียว ไม่หัก ทนแรงกระแทก ทนต่อสารเคมี โดยปกติสามารถใช้งานในสภาพแวดล้อมตั้งแต่อุณหภูมิ -20 ถึง 60 องศาเซลเซียส รับน้ำหนักได้ในระดับปานกลาง เหมาะกับใช้งานบนพื้นเรียบทั้งในอาคารและนอกอาคาร เช่น สถานพยาบาล โรงแรม หรือโรงงานที่มีพื้นเรียบ เป็นต้น
- ลูกล้อยูรีเทน ลูกล้อพีวีซี (PU Caster/ PVC Caster)
คุณสมบัติของลูกล้อชนิดนี้มีความเหนียว แข็งแรง ไม่แตกหัก ไม่ฉีกขาดง่าย ทนต่อสารเคมีและการขีดข่วนเวลาใช้งาน เหมาะกับพื้นที่ขรุขระ พื้นหยาบ หรือพื้นที่ที่มีวัสดุแหลมคม ใช้ได้ทั้งบนพื้นไม้ พื้นกระเบื้อง พื้นหินอ่อน ฯลฯ ทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร เข็นเคลื่อนย้ายไปมาในโรงงานอุตสาหกรรมได้ดี แต่มีข้อจำกัด คือ หากสัมผัสน้ำนานอาจจะทำให้ลูกล้อเสื่อมสภาพไวกว่าปกติ
- ลูกล้อไนล่อน (Nylon Caster)
ลักษณะเป็นพลาสติกสีขาว แข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี ไม่ทิ้งรอยคราบบนพื้น เหมาะกับพื้นที่ที่ผิวไม่เรียบนัก เช่น พื้นกระเบื้องและพื้นผิวคอนกรีต สามารถใช้ได้ทั้งกลางแจ้ง ในอาคาร หรือพื้นที่เปียก มีน้ำขัง นิยมใช้งานในโรงอาหาร สถานพยาบาล ห้องเก็บของต่าง ๆ
- ลูกล้อเหล็กหล่อ (Cast Iron Caster)
ลูกล้อที่มีความแข็งแรงมากกว่าลูกล้อชนิดอื่น ทนแรงกระแทก รับน้ำหนักได้ดี ใช้งานได้ทั้งพื้นเรียบ พื้นผิวหยาบ ขรุขระ เช่น พื้นคอนกรีต พื้นปูน ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เหมาะกับงานอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งการบรรทุกสิ่งของน้ำหนักมาก อาจทำให้พื้นผิวเป็นรอยและมีเสียงรบกวน จึงไม่เหมาะกับพื้นหินอ่อน พื้นกระเบื้อง พื้นไม้ ฯลฯ
2) แบ่งตามลักษณะโครงล้อ
ล้อตาย หรือ ลูกล้อแบบตายตัว (Rigid or Fixed Caster)

ล้อตาย หรือ ลูกล้อแบบตายตัว เป็นลูกล้อโครงสร้างแบบยึดคงที่ มีความแข็งแรงทนทาน รับน้ำหนักได้เยอะกว่าลูกล้อแบบหมุน ลักษณะการทำงานจะเคลื่อนที่ได้เพียงข้างหน้าและถอยหลังเป็นเส้นตรงเท่านั้น ไม่สามารถหมุนรอบทิศทาง 360 องศาได้ เหมาะกับงานที่มีพื้นผิวเรียบและพื้นผิวขรุขระ มักติดตั้งใช้งานร่วมกับลูกล้อแบบหมุนได้ สำหรับเคลื่อนที่เครื่องจักรอุตสาหกรรม อุปกรณ์ หรือวัตถุที่มีทิศทางการเคลื่อนที่เสถียร มีทิศทางการเคลื่อนที่ไปกลับซ้ำ ๆ เป็นประจำ ใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร
ล้อเป็น หรือ ลูกล้อแบบหมุน (Swivel Caster)

ล้อเป็น ลูกล้อแบบหมุน หรือลูกล้อขาหมุน เป็นลูกล้อที่ถูกออกแบบให้สามารถ เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ 360 องศา ใช้งานได้อย่างคล่องตัว สะดวกในการควบคุมหรือบังคับทิศทาง นิยมติดตั้งกับรถเข็นขนย้ายในโรงงาน โกดัง รถเข็นในห้างสรรพสินค้า รถเข็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ในสถานพยาบาล รถเข็นลากอเนกประสงค์ และอุปกรณ์ที่มีการเคลื่อนย้ายแบบไร้ทิศทาง ไม่คงที่ ต้องการความรวดเร็ว คล่องตัวในการเคลื่อนย้าย
ลูกล้อมีเบรก (Brake Caster)

ลูกล้อชนิดนี้เพิ่มตัวเบรกหรือชิ้นส่วนสำหรับหยุดการเคลื่อนที่ของล้อให้สามารถหยุดได้ทันที ช่วยในการควบคุมทิศทางของอุปกรณ์ขนส่งให้สะดวกและแม่นยำขึ้น ป้องกันการลื่นไถล สามารถเบรกได้ทันที เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน ซึ่งตัวเบรกของลูกล้อมีหลายแบบให้เลือก ทั้งเบรกข้าง เบรกหน้าสัมผัส เบรกล็อก 2 จังหวะ และแบบอื่น ๆ อีกมากมายตามการออกแบบของแต่ละแบรนด์ โดยแต่ละแบบมีกลไกการเบรกที่ดีแตกต่างกันไป สามารถพบเห็น ลูกล้อมีเบรก ได้ตามเตียงในสถานพยาบาล หรือ รถเข็นที่บรรทุกของที่มีน้ำหนักมาก
รูปแบบของการติดตั้งลูกล้อ
ลูกล้อแบบขาแป้น (Plate Caster) ชิ้นส่วนที่ใช้สำหรับติดตั้งจะเป็นแผ่นโลหะสี่เหลี่ยมจัตุรัส เจาะรู 4 มุม เหมาะสำหรับใช้งานกับอุปกรณ์เคลื่อนย้ายขนาดใหญ่ หรออุปกรณ์ที่ต้องรับน้ำหนักมาก
ลูกล้อแบบเกลียว (Thread Caster) ใช้ขายึดร่วมกับตัวน็อตและส่วนของอุปกรณ์ ส่วนมากนำมาใช้ยึดร่วมกับเหล็กฉากเพื่อให้เกิดความแน่นและแข็งแรงมากขึ้น เหมาะกับการใช้งานในเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น เก้าอี้ โซฟา รถเข็นของขนาดเล็ก–ขนาดกลาง ชั้นวางของ ฯลฯ
ลูกล้อแบบปลั๊กอิน (Plug In Caster) ติดตั้งแบบสวมหรือแบบเสียบเข้าไป ลักษณะคล้ายกับลูกล้อแบบขาเกลียว แต่ชิ้นส่วนที่ใช้ยึดจะเป็นเดื่อยหรือแกนแหวนล็อก ติดตั้งได้สะดวกและรวดเร็วกว่า เหมาะสำหรับใช้งานกับเฟอร์นิเจอร์ หรือ รถเข็นที่รับน้ำหนักได้ไม่มากนัก
**หากต้องการเพิ่มความสามารถในการรับน้ำหนัก สามารถเลือกชิ้นส่วนให้มีขนาดและความหนาที่มากขึ้นได้**
ปัญหาที่พบบ่อย เมื่อใช้งานลูกล้อ

- ตัวยึดของลูกล้อชำรุดหรือหัก
สาเหตุ: รับน้ำหนักมากเกินไป, การกระแทกรุนแรง, การเคลื่อนที่แบบผิดรูป, ตัวยึดคนละเปค หรือ คนละขนาด
- ลูกล้อฝืด/ ลูกล้อติด เข็นไม่ไป
สาเหตุ: สนิมที่ตัวล้อ, ล้อติดเศษวัสดุ เช่น ด้าย เชือก เศษเหล็ก หรือเส้นผม
- ลูกล้อส่งเสียงผิดปกติ
สาเหตุ: ลูกล้อเสื่อมสภาพ
- ลูกล้อแตก
สาเหตุ: ลูกล้อเสื่อมสภาพ, การกระแทกรุนแรง, รับน้ำหนักมากเกินไป
- แบริ่งของลูกล้อหลวม ล้อฟรี ไม่มีแรงเหวี่ยง
สาเหตุ: ขันแบริ่งไม่แน่น, ลูกล้อเสื่อมสภาพ
- ลูกล้อทำให้พื้นเป็นรอย
สาเหตุ: วัสดุหรือพื้นผิวหน้าลูกล้อสึกกร่อน, ลูกล้อไนล่อนสีขาวเปื้อนคราบสกปรก แล้วนำมาใช้งาน
- เบรกเริ่มใช้งานไม่ได้
สาเหตุ: ตัวเบรกลูกล้อเสื่อมสภาพ ชำรุด หรือมีชิ้นส่วนแตกหัก
จะเห็นว่า ลูกล้อ สำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมมีหลายประเภท เราจึงต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์นี้ให้ดีก่อนซื้อมาใช้งาน ทั้งวัสดุที่ใช้ในการผลิต ชนิดของลูกล้อ หรือแม้แต่รูปแบบการติดตั้งต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะงานและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ถึงแม้ว่าลูกล้อจะเป็นเพียงชิ้นส่วนเล็ก ๆ แต่ก็ช่วยทุ่นแรงในการเคลื่อนย้ายสิ่งของได้มาก ถือเป็นชิ้นส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้อุปกรณ์อุตสาหกรรมชนิดอื่นเลยยย
บทความที่น่าสนใจ :
ขอบคุณข้อมูลจาก : RhinoCasterWheel, Creform, นารา เอนเตอร์ไพรส์
KACHA ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือช่าง อุปกรณ์ก่อสร้าง รับสร้างโกดังสำเร็จรูป ออกแบบโดยวิศวกร ช่างผู้เชี่ยวชาญ ดูแลให้คำปรึกษา พร้อมบริการที่ประทับใจ