วิธีจัดเก็บ สินค้าอันตราย ทำอย่างไรให้มีความปลอดภัยต่อคลังสินค้า

ขึ้นชื่อว่า สินค้าอันตราย ฟังดูแล้ว ก็อดเป็นกังวลเกี่ยวกับการเก็บรักษาอยู่ไม่น้อย บทความนี้เลยพามาเช็กลิสท์วิธีจัดเก็บ สินค้าอันตราย อย่างไรให้ปลอดภัยต่อสินค้า แค่แยกให้ถูกประเภท ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้แล้ว!

สินค้าอันตราย คืออะไร? มีกี่ประเภท?

สินค้าอันตราย (Dangerous Goods) หมายถึง สิ่งของ หรือวัตถุ ที่สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือทรัพย์สินเมื่อนำมาขนส่ง อาจด้วยตัวของมันเอง หรือเมื่อสัมผัสกับสารอื่น (อากาศ ประกายไฟ หรือ น้ำ ฯลฯ) ก็ตาม

โดยสหประชาชาติด้านการขนส่งสินค้าอันตราย ภายใต้สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ได้จัดทำคู่มือเล่มสีส้ม (Orange Book) ว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตราย ให้นำไปใช้เป็นแนวทางในการออกกฎหมายในประเทศ ซึ่งคู่มือเล่มสีส้มนี้ มีการปรับปรุงใหม่เป็นระยะทุกๆ สองปี เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม

สินค้าอันตราย คืออะไร? มีกี่ประเภท?

สินค้าอันตราย จำแนกได้ทั้งหมด 9 ประเภท

  1. ประเภทที่ 1 วัตถุระเบิด ที่สามารถระเบิดออกมาได้ เมื่อได้รับความร้อน ประกายไฟ เปลวไฟ การเสียดสี หรือการกระทบกระเทือน เช่น ระเบิด ดินปืน หัวกระสุน
  2. ประเภท 2 ก๊าซ
    • ประเภท 2A ก๊าซอัด ก๊าซเหลว หรือก๊าซที่สามารถละลายได้ภายใต้ความดัน เช่น ก๊าซอัดในถัง – LPG
    • ประเภท 2B ก๊าซภายใต้ความดันในกระป๋องสเปรย์ เช่น อุปกรณ์ฉีดละอองลอย (Aerosol Dispensers) และภาชนะปิดขนาดเล็กที่บรรจุก๊าซ (Gas Cartridges) ที่ทำด้วยโลหะ แก้ว หรือพลาสติกที่ออกแบบให้ใช้งานครั้งเดียว
  1. ประเภท 3 ของเหลวไวไฟ
    • ประเภท 3A ของเหลวที่มีจุดวาบไฟ ไม่เกิน 60°C เช่น MEK, Toluene
    • ประเภท 3B ของเหลวที่มีจุดวาบไฟมากกว่า 60 – 93°C และมีคุณสมบัติเข้ากับน้ำไม่ได้
  1. ประเภท 4 ของแข็งไวไฟ
    • ประเภท 4.1A ของแข็งไวไฟที่มีคุณสมบัติระเบิด ตาม UN Recommendations ได้แก่ วัตถุระเบิดที่ถูกทำให้เฉื่อยด้วยน้ำ หรือแอลกอฮอล์ หรือเจือจางโดยสารอื่นเพื่อข่มคุณสมบัติการระเบิด
    • ประเภท 4.1B ของแข็งไวไฟที่ไม่มีคุณสมบัติระเบิด ตาม UN Recommendationsสามารถลุกไหม้ง่าย เนื่องจากการเสียดสีกัน หรือเมื่อลุกไหม้สามารถลุกลามออกไปได้อย่างรวดเร็ว
    • ประเภท 4.2 สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง เช่น สาร Pyrophoric : ตัวสารทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศภายใน 5 นาที อุณหภูมิสูงจนลุกติดไฟได้ด้วยตัวเอง และสาร Self-heating : ตัวสารทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ เกิดความร้อนรอบตัวไม่สามารถระบายออกได้ และสะสมต่อเนื่องอยู่ภายในจนทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนถึงอุณหภูมิที่สามารถลุกติดไฟได้เอง
    • ประเภท 4.3 สารให้ก๊าซไวไฟเมื่อสัมผัสกับน้ำ หรือ ความชื้นในอากาศ สามารถให้ก๊าซไวไฟเป็นส่วนผสมของอากาศในระดับความเข้มข้นที่สามารถจุดระเบิดได้
  1. ประเภท 5 สารที่เมื่อรวมกับสารอื่นแล้วจะเกิดปฏิกิริยาทำให้เกิดติดไฟได้
    • ประเภท 5.1 สารออกซิไดซ์ เป็นสารที่ไม่จำเป็นต้องติดไฟ โดยทั่วไปจะปล่อยออกซิเจน ซึ่งเป็นสาเหตุหรือร่วมในการลุกไหม้ของวัสดุอื่น
    • ประเภท 5.2 สารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์ เป็นสารไม่เสถียร ไวต่อความร้อน เมื่อได้รับความร้อนจะสลายตัวซึ่งจะให้ความร้อนและไอของสารไวไฟหรือติดไฟและอาจเกิดการระเบิดตามมา
  2. ประเภท 6 สารพิษ
    • ประเภท 6.1A สารติดไฟได้ ที่มีคุณสมบัติเป็นพิษ
    • ประเภท 6.1B สารไม่ติดไฟได้ ที่มีคุณสมบัติเป็นพิษ
    • ประเภท 6.2 สารติดเชื้อ ที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคในมนุษย์และสัตว์ ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส ริคเก็ตเซีย (Rickettsia) เชื้อรา รวมทั้งจุลินทรีย์ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม
  3. ประเภท 7 สารกัมมันตรังสี
  4. ประเภท 8 สารที่มีสภาพเป็นกรด
    • สารติดไฟ ที่มีคุณสมบัติกัดกร่อน
    • สารไม่ติดไฟ ที่มีคุณสมบัติกัดกร่อน
  5. ประเภท 9 สิ่งของหรือสารอันตรายเบ็ดเตล็ด

วัตถุและสิ่งของอันตราย ซึ่งไม่จัดอยู่ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 8 และให้รวมถึงสารที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียสในสภาพของเหลว หรือมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 240 องศาเซลเซียสในสภาพของแข็ง เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทชนิด B (UN.2071), Asbestos, Zinc hydrosulfite, PBC เป็นต้น

วิธีจัดเก็บ สินค้าอันตราย ให้ปลอดภัยต่อคลังสินค้า

วิธีจัดเก็บ สินค้าอันตราย ให้ปลอดภัยต่อคลังสินค้า

การจัดเก็บวัตถุอันตราย แบ่งเป็น 3 แบบดังนี้

  1. การจัดเก็บแบบแยกบริเวณ (Separate Storage) หมายถึง การจัดเก็บวัตถุอันตายแยกบริเวณออกจากกัน
    • กรณีอยู่ในอาคาร (ภายในคลังสินค้าเดียวกัน) จะถูกแยกออกจากสารอื่น ๆ โดยมีผนังทนไฟ ซึ่งสามารถทนไฟได้อย่างน้อย 90 นาที
    • กรณีอยู่กลางแจ้ง (ภายนอกคลังสินค้า) จะถูกแยกออกจากบริเวณอื่นด้วยระยะทางที่เหมาะสม เช่น 5 เมตรระหว่างสารไวไฟ กับสารไม่ไวไฟ หรือ 10 เมตรระหว่างวัตถุอันตรายอื่รน ๆ หรือ กั้นด้วยกำแพงทนไฟ ซึ่งสามารถทนไฟอย่างน้อย 90 นาที
  2. การจัดเก็บแบบแยกห่าง (Segregate Storage) หมายถึง การจัดเก็บวัตถุอันตรายตั้งแต่ 2 ประเภทขึ้นไปภายในบริเวณเดียวกัน ทั้งนี้ต้องมีมาตรการป้องกันที่เพียงพอสำหรับการจัดเก็บวัตถุอันตรายนั้น โดยต้องนำข้อกำหนดพิเศษเพิ่มเติมสำหรับการจัดเก็บวัตถุอันตรายที่มีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น วัตถุระเบิด สารออกซิไดส์ หรือสารไวไฟ มาพิจารณาประกอบ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ฝนตารางจัดเก็บวัตถุอันตราย
วิธีจัดเก็บ สินค้าอันตราย ให้ปลอดภัยต่อคลังสินค้า
วิธีจัดเก็บ สินค้าอันตราย ให้ปลอดภัยต่อคลังสินค้า

3. การจัดเก็บวัตถุอันตรายที่มีปริมาณน้อยในคลังสินค้า ซึ่งโดยปกติจะไม่อนุญาตให้ทำได้แต่หากจำเป็นต้องจัดเก็บในปริมาณน้อยเพียงชั่วคราว ก็อนุโลมให้จัดเก้บได้ แต่ต้องมั่นใจว่า

    • มาตรการด้านความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับวัตถุอันตรายประเภทอื่น ๆ ที่เก็บในคลังสินค้านั้น มีเพียงพอ
    • วัตถุอันตรายปริมาณน้อยที่จะนำมาจัดรวม ต้องไม่ทำปฏิกิริยากับ วัตถถุอันตรายประเภทอื่น ๆ ที่จัดเก็บอยู่ก่อนแล้ว
    • เพิ่มมาตรการในการป้องกัน เช่น เว้นระยะห่างปลอดภัย อย่างน้อย 3 เมตร, เก็บในตู้พิเศษสำหรับวัตถุอันตราย หรือ ห้องที่สร้างเพื่อการจัดเก็บแยกบริเวณ เป็นต้น
    • หากจัดเก็บกระป๋องสเปรย์ (aerosol) ต้องมีวัสดุกั้น เช่น กำแพงกั้น หรือ ตาข่ายเหล็ก เป็นต้น

สถานที่เก็บรักษา สินค้าอันตราย ควรมีอะไรบ้าง?

สถานที่เก็บรักษา สินค้าอันตราย ควรมีอะไรบ้าง?

1.พื้นอาคาร

    • แข็งแรงรับน้ำหนักได้ดี
    • ทนทานต่อการกัดกร่อนของสารในวัตถุอันตราย
    • หากเป็นพื้นอาคารสำหรับเก็บของ – ก๊าซไวไฟ พื้นต้องนำไฟฟ้าและป้องกันไฟฟ้าสถิตได้
    • พื้นต้องไม่ดูดซับของเหลว เรียบ ไม่ลื่น ไม่แตกร้าว ทัความสะอาดง่าย

2. หลังคา

    • กันแดด กันฝนได้ดี ไม่มีรอยรั่ว
    • สามารถระบายความร้อนและควัน ในกรณีเกิดเพลิงไหม้ได้ดี
    • วัสดุมุงหลังคาทนไฟได้ 30 นาที
    • โครงสร้างหลัก เช่น เสา คาน ต้องทำด้วยวัสดุไม่ติดไฟ
    • หลังคาภายในอาคารไม่ควรมีฝ้า หากจำเป็นควรใช้ฝ้าที่ทำจากวัสดุไม่ติดไฟ

3.ผนังอาคาร

    • ผนังกันไฟตัดตอนมี 2 กรณี
        • อาคารมีความยาวและความกว้างตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป ต้องมีผนังกันไฟกั้นตัดตอนทุก 30 เมตร
        • อาคารมีความกว้างน้อยกว่า 30 เมตร และมีพื้นที่ตั้งแต่ 1,200 ตารางเมตร ต้องมีผนังกันไฟตัดตอนที่ระยะห่างไม่เกิน 40 เมตร
สถานที่เก็บรักษา สินค้าอันตราย ควรมีอะไรบ้าง?

4. ประตูและทางออกฉุกเฉิน

    • ประตูฉุกเฉินควรมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 1.1 เมตร
    • ประตูฉุกเฉินต้องไม่มีการล็อคประตุด้วยกุญแจ และไม่มีสิ่งกีดขวาง
    • ประตูฉุกเฉินต้องเป็นประตูบานผลักออกด้านนอกเท่านั้น เมื่อเปิดประตูไปต้องไม่เจอทางตัน
    • ประตูฉุกเฉินในอาคารขนาดใหญ่ ควรมีทุกระยะ 35 เมตร
    • มีแสงสว่างฉุกเฉินส่องบริเวณประตูฉุกเฉินเสมอ
    • ประตูสำหรับเข้า – ออก ต้องมีอย่างน้อย 2 ประตู
    • ประตูกันไฟแบบเลื่อนปิดอัตโนมัติเมื่อเกิดเปลวไฟ ต้องไม่หลุดหรือล้มออกจากรางและเชื่อมต่อกับสัญญาณเตือนภัย
    • ประตูกันไฟต้องทนไฟได้ไม่น้อยกว่ากำแพงกันไฟ

5. กำแพงทนไฟ

    • กำแพงทนไฟสูงเหนือหลังคา 0.3 – 1 เมตร
    • กำแพงทนไฟด้านผนังยื่นออก 0.3 – 0.5 เมตร
    • กำแพงทนไฟ : F30 F60 F90 F120 F180 ขึ้นอยู่กับวัสดุและความหนา
    • กำแพงทนไฟต้องทำด้วย ฉนวนกันความร้อน หรือ ไม่ลามไฟ และควรบุด้วยแผ่นเหล็กทั้งสองด้าน

6. ระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า

    • อุปกรณ์ไฟฟ้ามีการต่อสายดิน
    • มีระบบป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
    • หลอดไฟแสงสว่างควรอยู่เหนือวัตถุอันตรายอย่างน้อย 50 ซม. และต้องไม่ก่อให้เกิดความร้อนต่อวัตถุอันตรายที่เก็บ
    • กรณีใช้โคมไฟชนิด Metal halide และ Mercury ต้องมีฝากันครอบ
    • กรณีเก็บของเหลวไวไฟหรือสารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์ (3A และ 5.2) อุปกรณ์ไฟฟ้าต้องเป็นชนิดป้องกันระเบิด (Explosion proof) ที่เหมาะสมกับชนิดสารเคมี
    • กรณีมีการถ่ายบรรจุของเหลวไวไฟ
    • ต้องมีมาตรการป้องกันประจุไฟฟ้าสถิต
    • มีการต่อสายดินถัง/ภาชนะโลหะเพื่อป้องกันไฟฟ้าสถิต
    • สาย/ท่อที่ใช้ขนถ่ายควรเป็นชนิดป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิต
สถานที่เก็บรักษา สินค้าอันตราย ควรมีอะไรบ้าง?

7. ระบบป้องกันฟ้าผ่า

    • ติดตั้งระบบสายล่อฟ้า ครอบคลุมอาคารที่เก็บของเหลวไวไฟหรือก๊าซไวไฟ
    • มีค่าความต้านทานดินไม่เกิน 5 โอห์ม ต้องมีการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
    • สิ่งปลูกสร้างใด ๆ ที่อยู่ในระยะ 30 เมตรของสิ่งปลูกสร้างที่เก็บวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ ต้องติดตั้งระบบสายล่อฟ้า

8. ระบบระบายอากาศ

    • การระบายอากาศแบบธรรมชาติ เช่น หลังคาซ้อน 2 ชั้นกลางห้อง (แบบกรงนก)
    • การระบายอากาศแบบทางกล เช่น พัดลมระบายอากาศ (ต้องได้รับการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญ

9. เส้นทางจราจร

    • มีการจัดแบ่งเส้นทางเดินจากเส้นทางรถยกอย่างชัดเจนโดยมีการกำหนดพื้นที่จัดวางสารเคมี/วัตถุอันตราย อย่างชัดเจน พร้อมกำหนดแนวเส้นทางเดินรถยก แยกกับแนวเส้นทางคนเดิน
สถานที่เก็บรักษา สินค้าอันตราย ควรมีอะไรบ้าง?

10. ระบบป้องกันอัคคีภัย

    • สัญญาณเตือนภัย
      • มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุไฟไหม้ แบบกดด้วยมือ ต้องอยู่ในบริเวณที่เห็นเด่นชัด ไม่มีสิ่งของวางกีดขวาง
      • มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุไฟไหม้ แบบอัตโนมัติ
      • มีระบบสัญญาณแจ้งเหตุสารเคมี/ก๊าซรั่วไหล และมีเสียงเตือนที่ต่างจากระบบสัญญาณแจ้งไฟไหม้
    • การติดตั้งสัญญาณเตือนภัย
      • 1) สวิตซ์แบบกดอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมทุกระยะ 30 ม. และมีการทดสอบเดือนละ 1 ครั้ง
      • 2) อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ ต้องติดตั้งตำแหน่งสูงสุดของหลังคา
      • 3) อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน/ตรวจจับก๊าซ ติดตั้งระดับความสูงเหมาะสม
      • 4) อุปกรณ์ตรวจจับก๊าซ ติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสมกับชนิดของก๊าซ
      • 5) อุปกรณ์ตรวจจับทุกชนิดต้องกันระเบิดได้ หากติดตั้งในพื้นที่ที่มีไอระเหยสารไวไฟ
    • อุปกรณ์สำหรับใช้ดับเพลิงติดตั้งกระจายทั่วทั้งคลังสินค้า

11. ระบบน้ำดับเพลิง

  • หัวกระจายน้ำดับเพลิง (Water sprinkling) ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการเก็บวัตถุอันตราย กรณีพื้นที่เก็บรักษาวัตถุไวไฟขนาดตั้งแต่ 14 ตร.ม. ขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
  • หากมีการติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงในชั้นวางสินค้า (In rack sprinkling) อย่างน้อยต้องติดตั้งหัวกระจายน้ำทุก 2 ชั้น และต้องไม่มีการปิดวาล์วท่อจ่ายน้ำ
  • ระบบหัวรับน้ำดับเพลิง (Water hydrant) ทุกระยะ 50 ม. ข้อต่อสายส่งน้ำต้องเป็นขนาดเดียวกัน หรือเข้ากันได้กับอุปกรณ์ของหน่วยดับเพลิงท้องถิ่น
  • ตู้ดับเพลิงแบบสาย (Fire hose reel) มีความยาวครอบคลุมพื้นที่ หน้าตัดท่อไม่ต่ำกว่า 1 – ½ นิ้ว
  • มีระบบน้ำสำรองสำหรับดับเพลิง มีไม่น้อยกว่า 100 ลบ.ม./ชม.ในพื้นที่มีขนาดไม่เกิน 2,500 ตร.ม.
  • มีระบบน้ำสำรองสำหรับดับเพลิง มีไม่น้อยกว่า 200 ลบ.ม./ชม. ในพื้นที่มีขนาดไม่เกิน 4,000 ตร.ม.
  • เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิด Jockey pump ต้องมีการตรวจสอบ เกจวัดแรงดันในท่อว่าอยู่ในสภาวะพร้อมใช้งาน
  • เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิด Emergency Electric pump ต้องมีการตรวจสอบและบำรุงรักษาให้พร้อมใช้งาน
  • เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิด Diesel Engine Pump ต้องมีการตรวจสอบความเพียงพอของน้ำมันดีเซลและบำรุงรักษาให้พร้อมใช้งาน
  • มีการทดสอบเดินเครื่องสูบน้ำดับเพลิงสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที

12. ห้องอาบน้ำฉุกเฉิน อุปกรณ์ล้างตาฉุกเฉิน และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล

    • ห้องอาบน้ำฉุกเฉินควรตั้งอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติงาน ไม่ไกลและไร้สิ่งกีดขวาง
    • ควรมีพื้นที่สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น อุปกรณ์ทำแผล อุปกรณ์สำหรับล้างตาฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยระบบทางเดินหายใจ (กรณีผู้ป่วยสูดดมสารพิษ/ไอระเหยเข้าไป)
    • มีแผนรับมือกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือ เจ็บป่วยจากสารเคมี หรือ วัตถุอันตราย

สินค้าอันตราย แท้ที่จริงแล้วเปรียบเหมือนกับสินค้าเปราะบางที่ต้องการการเอาใจใส่ และเก็บรักษาให้ถูกวิธี โดยข้อกำหนดและข้อห้ามของการเก็บรักษาสินค้าอันตรายนั้นยังมีแยกย่อยไปอีกมาก ควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินนะคะ

ข้อมูลอ้างอิง : nrie.org, dgt-academy, ecs-support, si.mahidol