ปลั๊กไฟ
❝ เมื่อพูดถึง ???? อีกหนึ่งอุปกรณ์ประจำบ้าน คือ ปลั๊กไฟ มีความสำคัญไม่แพ้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ รวมถึงปลั๊กพ่วง ที่ต้องเลือกใช้งานให้เหมาะสม ปลั๊กไฟ ปลั๊กพ่วง เป็นอุปกรณ์สำหรับต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า ไปใช้งานทั้งภายใน และภายนอกบ้าน ที่ต้องมีติดบ้านมากกว่า 2 อันแน่นอน เพราะเต้ารับภายในบ้าน อาจไม่เพียงพอกับการใช้งานจริง หรือตำแหน่งเต้ารับไม่สอดคล้องกับจุดที่ต้องการใช้ เช่น ต่อกับทีวี ไมโครเวฟ โน้ตบุ๊ก รวมไปถึงเราเตอร์ (Router) กลายอุปกรณ์เชื่อมต่อที่ผู้คนในยุคนี้มักขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว ❞
…………………………………………………..
การเลือกซื้อปลั๊ก ปลั๊กพ่วง รางปลั๊กไฟที่ถูกวิธีนั้น จะต้องมองหลายปัจจัยด้วยกัน จุดสำคัญคือ เรื่องคุณภาพ แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นแต่เรื่องราคา เพราะวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เพียงแค่เสียบเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้ใช้งานได้แค่นั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความปลอดภัยในชีวิต ต้องเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเรื่องไฟฟ้ามีทั้งข้อดี และมีโทษเช่นเดียวกัน
ปลั๊กไฟ ปลั๊กพ่วงที่ดี จะต้องมีสายไฟที่ดี เต้าเสียบที่ดี วัสดุที่ไม่ติดไฟ และยังมีเรื่องแผงวงจรภายใน ซึ่งบางทีเราดูจากภายนอกอาจจะไม่เห็น แต่อาจใช้วิธีเขย่าเพื่อฟังเบื้องต้น ถ้ามีเสียงตอนเขย่า อาจเป็นสาเหตุจาก ตะกั่วบัดกรีนั้นไม่ดี ทำให้หลุดออกมา และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ด้วยตะกั่วบัดกรีที่หลุดชิ้นนั้น
วัสดุคุณภาพนั้นโดยทั่วไป วัตถุที่นำไฟฟ้าได้ดีที่สุด ไม่ใช่เงิน แต่คือทองแดงนั่นเอง ค่าตามวิทยาศาสตร์ของตัวนำไฟฟ้าคืออะไร?
เงิน 106/108, ทองแดง 100/100, ทอง 72/76, อะลูมิเนียม 62/56, แมกนีเซียม 39/41, สังกะสี 29/29, นิกเกิล 25/15, แคดเมียม 23/24, โคบอลต์ 18/17, เหล็ก 17/17, เหล็กเหนียว 13-17/13-17, แพลทินัม 16/18, ดีบุก 15/17, ตะกั่ว 8/9, พลวง 4.5/5
ทองแดงมีค่าการนำไฟฟ้าที่ 100% มาเปรียบเทียบระหว่างตัวอื่น ๆ ว่าอะไรที่นำไฟฟ้าดีกว่ากัน?
ตารางค่าการนำไฟฟ้า IACS (Electrical Conductivity)
เงิน (Silver) | 106% |
ทองแดง (Copper) | 100% |
ทองแดงผสม (Copper Alloys) | 90% |
อะลูมิเนียม (Aluminum) | 65% |
ทองเหลือง (Brass Alloys) | 27% |
เหล็ก (Steel) | 10% |
ดังนั้น วัตถุที่เหมาะกับการทำปลั๊กไฟ ปลั๊กพ่วงที่ดีที่สุดต้อง ทำจากทองแดง รองลงมาจากนั้นจะใช้เป็นทองเหลืองกัน ทองเหลืองคือส่วนผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี แต่ ปลั๊กไฟ ปลั๊กพ่วงที่ไม่มีคุณภาพ จะนำเหล็กชุบสีมาใช้แทน ถ้าวัตถุที่นำไฟฟ้าไม่ดี จะทำให้เกิดความร้อนสะสม และอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ถ้ามีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้งานมากเกินไป พอความร้อนสะสมเกิดขึ้นในแผงวงจร วัสดุที่ใช้ดันเป็นพลาสติกอาจจะทำติดไฟได้
⛔ คำเตือน หากเป็นปลั๊กพ่วงคุณภาพต่ำ มักจะใช้เหล็กชุบสี เพื่อหลอกให้เข้าใจว่าเป็นทองเหลือง มีค่าการนำไฟฟ้าเพียงแค่ 10% IACS เท่านั้น ทำให้เกิดความร้อนสะสม จนอาจก่อให้เกิดอัคคีภัยในที่สุด ⛔
เลือกปลั๊กไฟ ปลั๊กพ่วงให้ถูกและใช้ให้เป็น ต้องดูอะไรบ้าง?
1. สายไฟ
เลือกสายไฟที่มีเครื่องหมายมอก. หรือมาตรฐานของ IEC มีสายไฟภายใน 3 เส้น และมีฉนวนหุ้มทั้งสองชั้น เพื่อป้องกันการหักงอ หรือถูกของมีคมทำให้สายไฟชำรุด มีความยาวที่เหมาะสมกับการใช้งานอาทิ 3 เมตร หรือ 5 เมตร และควรมีขนาดสายไฟไม่ต่ำกว่า 0.824 ตารางมิลลิเมตร หรือสายเบอร์ 18 (AWG) เพื่อรองรับโหลดกระแสไฟได้สูงหน่อย หากต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (สายไฟที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถรองรับกระแสไฟได้ดีกว่า)
2. เต้าเสียบ, หัวปลั๊ก
ควรเลือกเต้าเสียบ หรือหัวปลั๊กขากลมแทนขาแบน เพราะเป็นมาตรฐานมอก. ของประเทศไทย และมีฉนวนหุ้มที่โคนขาปลั๊กทั้งสองขา เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วสัมผัสขาปลั๊กที่มีไฟ
3. เต้ารับ
ขาเต้ารับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผงวงจรภายใน ควรทำจากทองเหลือง หรือทองแดง เพราะนำไฟฟ้าได้ดีกว่าเหล็กชุบสี หรือโลหะอื่น ๆ ซึ่งใช้ไปไม่นาน ขาเสียบมักจะหลวม อาจเกิดการอาร์คขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ปลั๊กพ่วงไหม้ได้ ส่วนบ้านที่มีเด็กเล็ก ควรใช้เต้ารับแบบมีม่านนิรภัย (Safety Shutter) เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วมือแหย่รูปลั๊กพ่วงขณะใช้งาน
4. รางปลั๊กพ่วง
ควรทำจากวัสดุคุณภาพสูง มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ เช่น พลาสติก ABS, AVC หรือ PC ซึ่งทนความร้อน และแรงกระแทกได้ดีกว่าพลาสติก PVC ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้กรณีเกิดความร้อนสูง
5. ระบบไฟฟ้า
ปลั๊กพ่วงที่ดีต้องบอกพิกัดไฟสูงสุดที่สามารถรองรับได้ เช่น 220V 2500W 10A หมายความว่า แรงดันไฟฟ้าของประเทศไทยกำหนดให้ใช้งานระหว่าง 220 – 250โวล์ต ใช้กำลังไฟสูงสุดไม่เกิน 2500 วัตต์ และทนกระแสไฟได้สูงสุด 10 แอมแปร์ที่สำคัญต้องมีระบบฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ตัดกระแสไฟฟ้าเกิน
นอกจากนี้ปลั๊กพ่วงควรมีสวิตช์ เปิด-ปิด เพื่อป้องกันไฟกระชากจากการถอดปลั๊กเต้าเสียบ มีไฟแสดงสถานะการทำงานและปลั๊กพ่วงรุ่นใหม่ ๆ อาจมีช่องเสียบUSB เพิ่มมา สำหรับใช้ชาร์จพวกอุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ หรือถ้าใช้กับพวกชุดเครื่องเสียงที่มีราคาแพงก็จะมีปลั๊กพ่วงเฉพาะทาง อาทิ มีระบบกรองสัญญาณที่มีคุณภาพสูง ให้เลือกใช้งานอีกด้วย
???? ส่งท้ายกันหน่อย รู้ไว้ใช่ว่า . . .
✓ ปลั๊กพ่วงที่มีจำหน่ายในบ้านเรา แทบทุกแบรนด์จะบอกกว่ามีมอก. กันทั้งนั้น ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพราะมาตรฐาน มอก.11-2531 ที่เห็นบนปลั๊กพ่วงส่วนใหญ่นั้นเป็น มอก.ของสายไฟฟ้า (ไม่ใช่ มอก.ของปลั๊กพ่วง) ซึ่งเครื่องหมาย มอก.2432-2555 ต่างหากที่จะเป็นตัวบอกได้ว่าชุดสายพ่วงนั้นผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว เป็นมาตรฐานของชุดสายพ่วงทั้งชิ้น ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปปัจจุบันมีเพียง 1-2 ราย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานนี้ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานผู้ผลิตปลั๊กพ่วงคงต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่มาตรฐานใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั่นเอง
✓ หลายท่านที่ซื้อปลั๊กพ่วงมาใช้งานมักจะคลั่งไคล้เต้ารับนานาชาติ (Universal Receptacle) ถ้าเป็นผู้ที่เดินทางไปทำงาน หรือท่องเที่ยวต่างประเทศแล้วติดหัวแปลงปลั๊กไฟอเนกประสงค์ไปด้วยน่าจะตอบโจทย์ได้ดี แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านเราส่วนใหญ่ หัวปลั๊กจะเป็นแบบหัวกลมและแบน ดังนั้นเต้ารับนานาชาติจึงอาจไม่จำเป็นเท่าใดนัก แค่เลือกใช้เต้ารับที่ได้มาตรฐาน มอก. เสียบปลั๊กได้แน่น ไม่หลวมหรือโยกคลอนก็เพียงพอแล้ว แถมยังประหยัดเงินอีกด้วย
✘ ข้อควรระวัง
ถ้าปลั๊กพ่วงชำรุด เช่น สายไฟขาด มีรอยไหม้ เสียบเต้ารับแล้วสปาร์ค ไม่ควรซ่อม แต่ควรซื้อใหม่ และไม่ควรเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันมากเกินไป และไม่เสียบพ่วงกันหลายต่อ เพราะจะทำให้เกิดความร้อนสะสมและเกิดไฟไหม้ได้