เคยสงสัยไหมว่า? เสาเข็มเหล็ก เสาเข็มไมโครไพล์ คืออะไร? และใช้กับงานประเภทไหนบ้าง ตาม KACHA ไปทำความรู้จักกับเสาเข็มทั้ง 2 ชนิดนี้กัน ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร?

เสาเข็มไมโครไพล์ คืออะไร?

เสาเข็มไมโครไพล์ คือ เสาเข็มในจำพวกเสาเข็มตอก มีจุดเด่น คือ เป็นเสาเข็มขนาดเล็ก สามารถเข้าทำงานในที่แคบได้ มีแรงสั่นสะเทือนแต่น้อยมาก และเป็นเสาเข็มที่ตอกได้จนถึงชั้นดินดานตามที่วิศวกรต้องการ โดยวิธีการเชื่อมเหล็กหัวและท้ายเสาเข็มระหว่างท่อน เสาเข็มไมโครไพล์ มีหลายรูปแบบ เช่น เสาเข็มรูปตัวไอ เสาเข็มกลมตัน และเสาเข็มกลมกลวง (สปันไมโครไพล์) โดยมีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน ดังนี้

220308-Content-เสาเข็มไมโครไพล์กับเสาเข็มเหล็ก-เลือกแบบไหนดีกว่ากัน-02

(ภาพจาก SCGHOME)

ประเภทของเสาเข็มไมโครไฟล์

  • เสาเข็มไมโครไพล์แบบตัวไอ

หน้าตัดเป็นรูปตัวไอ มีความยาวประมาณ 1-2 เมตร และมีขนาดหน้าตัด 18, 22, 25 เซนติเมตร เป็นคอนกรีตและมีเหล็กอยู่ภายใน แล้วแต่ผู้ผลิตกำหนด

ข้อดี: ราคาถูกที่สุดในกลุ่มไมโครไพล์ และมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลาย ๆ หน่วยงาน

ข้อเสีย: การตอกเสาเข็มตัวไอ อาจจะทำให้หัวและท้ายเข็มเสียหายได้ เนื่องจากขนาดปีกเสาเข็มเล็ก จึงอาจจะทำให้การตอกในท่อนต่อไปไม่ตรงตามจุดศุนย์กลางที่วิศวกรต้องการ และทำให้เข็มทั้งต้นศูนย์เบี้ยวได้

  • เสาเข็มไมโครไพล์แบบตัวกลม

หน้าตัดเป็นรูปวงกลมตัน มีความยาวประมาณ 1-2 เมตร และ มีขนาดหน้าตัด 18, 22, 25 เซนติเมตร เป็นคอนกรีตและมีเหล็กอยู่ภายใน แล้วแต่ผู้ผลิตกำหนด

ข้อดี: ช่างผู้รับเหมา ทำงานได้ง่าย การเชื่อมตามแนววงกลมหัวท้ายของเสาเข็ม ง่ายกว่าเสาเข็มตัวไอ

ข้อเสีย: มีน้ำหนักมาก ถึงแม้จะเป็นทรงกลม แต่เมื่อทำการตอกด้วยปั้นจั่นหัวและท้ายเสาเข็ม ก็มีโอกาสแตกได้ และถ้าคอนกรีตบ่มไม่ได้อายุ ก็อาจจะทำให้เกิดรอยร้าวภายในเสาเข็มได้

  • เสาเข็มไมโครไพล์แบบกลมกลวง (สปันไมโครไพล์)

เสาเข็มสปันไมโครไพล์เป็นเสาเข็มที่มีวิธีการผลิตที่แตกต่างจากรูปแบบอื่น คือ ใช้วิธีการอัดแรงเหวี่ยง เพื่อให้คอนกรีตมีการอัดตัว จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เสาเข็มสปันไมโครไพล์ มีรูกลวงตรงกลาง หน้าตัดเป็นรูปวงกลมกลวง มีความยาวประมาณ 1-2 เมตร และมีขนาดหน้าตัด 17, 18, 20, 22, 25 เซนติเมตร เป็นคอนกรีตและมีเหล็กอยู่ภายใน แล้วแต่ผู้ผลิตกำหนด

ข้อดี: มีน้ำหนักที่เบาแต่แข็งแรง เมื่อทำการตอกด้วยปั้นจั่น มีโอกาสแตกร้าวน้อย เป็นคนกรีตที่มีแรงอัด การเชื่อมหัวและท้ายเสาเข็มง่าย ทำให้ศูนย์เสาเข็มตรงตามที่วิศวกรต้องการ

ข้อเสีย: มีราคาที่แพงกว่าชนิดอื่น และด้วยการผลิตที่ยุ่งยาก และต้นทุนสูงจึงมีผู้ผลิตน้อย

เสาเข็มเหล็ก (Screw  pile) คืออะไร?

“เข็มเหล็ก” คือ ระบบฐานรากสำเร็จรูป ที่ผลิตมาจากเหล็กกล้า หรือเหล็กแผ่นรีดร้อน โดยผ่านกระบวนการป้องกันสนิม (Hot dip Galvanized) ซึ่งผสานเข้ากับเนื้อเหล็กกล้าโดยตรง จึงช่วยเพิ่มอายุการใช้งานให้ยาวนานมากกว่า 30 ปีขึ้นไป

220308-Content-เสาเข็มไมโครไพล์กับเสาเข็มเหล็ก-เลือกแบบไหนดีกว่ากัน-03

(ภาพจาก wazzadu)

เข็มเหล็กมีลักษณะเป็นแท่ง และมีอัตลักษณ์พิเศษด้วยใบเกลียวรูปทรงกรวย หรือที่เรียกว่า FIN ซึ่งจะช่วยยึดเกาะพื้นดิน และสร้างความสมดุลในการรับน้ำหนัก รวมไปถึงเพิ่มแรงกด และแรงถอนให้กับ เสาเข็ม โดยตัวเข็มเหล็ก จะทำหน้าที่คอยยึดระหว่างโครงสร้างอาคารกับผิวดินเหนือชั้นดินดานเป็นหลัก 

ประเภทเสาเข็มเหล็ก

  • เสาเข็มเหล็ก ประเภท N (ขนาดเล็ก)

เสาเข็มเหล็กประเภท N คือ เสาเข็มเหล็กขนาดเล็ก เหมาะสำหรับงานโครงสร้างลักษณะเบา เช่น การประกอบติดตั้งระบบท่อวางบนพื้น, งานปรับความสูงพื้นที่, รั้ว, โซล่าฟาร์ม, เสาไฟขนาดเล็ก, ป้ายบอกทาง หรือเฉลียง ฯลฯ

จุดเด่น: เสาเข็มเหล็กประเภท N มีน้ำหนักเบา ขนาดกะทัดรัด สามารถเคลื่อนย้ายไปติดตั้งในพื้นที่แคบ ๆ ได้ด้วยคนเพียง 2-3 คน ในเวลาที่รวดเร็วเพียง 30 นาที 

ข้อมูลจำเพาะของเสาเข็มเหล็กประเภท N (Specific Data)

  • ความสูง : 0.6 – 2 m
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง : 42 – 76 mm
  • เเรงกด : Max 3,500 kg
  • เเรงถอน : Max 2,500 kg
  • เเรงผลัก : Max 1,300 kg
  • เสาเข็มเหล็ก ประเภท FS (ขนาดกลาง)

เสาเข็มเหล็กประเภท FS คือ เสาเข็มเหล็กขนาดกลาง โดยรวมจะมีลักษณะใกล้เคียงเสาเข็มเหล็กประเภท F แต่จะมีรูปแบบเพลทหัวเสาที่แตกต่าง อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในด้านการรับแรงผลัก และแรงถอนได้ดีกว่า เหมาะสำหรับงานโครงสร้างที่มีฟุตติ้งในตัว หรือเหมาะสำหรับงานที่ขึ้นโครงสร้างต่อจากเสาเข็มเหล็กได้ทันที เช่น บ้าน หรืออาคารน็อคดาวน์, โครงสร้างอาคารสูงไม่เกิน 2 ชั้น, งานเสาไฟ, เสา CCTV ฯลฯ

จุดเด่น: เสาเข็มเหล็กประเภท FS มีเพลทหัวเสาแบบสี่เหลี่ยมแบน ที่สามารถยกโครงสร้างมาตั้ง หรือขึ้นโครงสร้างต่อได้ทันที นอกจากนี้ ยังมีศักยภาพในการรับแรงผลัก และแรงถอนที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจำเพาะของเสาเข็มเหล็กประเภท FS  (Specific Data)

  • ความสูง : 1.2 – 3 m
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง : 68 – 220 mm
  • เเรงกด : Max 20,000 kg
  • เเรงถอน : Max 15,000 kg
  • เเรงผลัก : Max 10,000 kg
  • เสาเข็มเหล็ก ประเภท D (ขนาดใหญ่)

เสาเข็มเหล็กประเภท D คือ เสาเข็มเหล็กขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับงานโครงสร้างขนาดใหญ่ (ตั้งแต่ 4 ชั้นลงมา) เช่น บ้าน, อาคารประเภทต่าง ๆ, โรงงาน, เสาไฟขนาดใหญ่ หรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ฯลฯ

จุดเด่น: เสาเข็มเหล็กประเภท D มีเพลทหัวเสาแบบทรงกลมแบน พร้อมครีบที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงในการรับแรงกด ทำให้สามารถรองรับโครงสร้างที่ใหญ่กว่าเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถขึ้นโครงสร้างต่อจากเพลทหัวเสาเข็มได้ทันที และมีขีดความสามารถในการรับน้ำหนักได้มากถึง 100 ตันต่อต้น และมีความยาวสูงสุด 34 เมตร (ความยาวลงลึกไปถึงชั้นดินดาน)

ข้อมูลจำเพาะของเสาเข็มเหล็กประเภท D (Specific Data)

  • ความสูง : 6 – 34 m
  • เส้นผ่าศูนย์กลาง : 76 – 220 mm
  • เเรงกด : Max 100,000 kg
  • เเรงถอน : ขึ้นอยู่กับลักษณะชั้นดิน
  • เเรงผลัก : ขึ้นอยู่กับลักษณะชั้นดิน

คุณสมบัติเด่นของเสาเข็มเหล็ก

  • เข็มเหล็กเป็นระบบฐานรากที่ติดตั้งได้อย่างรวดเร็วทั้งในพื้นที่ปกติ และในพื้นที่แคบ โดยใช้เวลาเจาะ 30-60 นาทีต่อต้น จึงทำให้การดำเนินงานเสร็จเร็วกว่าการติดตั้งเสาเข็มแบบทั่วไปถึง 5 เท่า โดยสามารถดำเนินงานโครงสร้างต่อจากงานฐานรากได้ทันที
  • งานติดตั้งฐานรากเข็มเหล็กนั้น ใช้ทรัพยากรแรงงานในการติดตั้งเพียง 2-3 คน เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงคน หรือเครื่องจักรในการติดตั้ง 
  • เข็มเหล็กเป็นระบบฐานรากที่ติดตั้งด้วยวิธีการเจาะลงไปในชั้นดินได้เลย ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยากของระบบเสาเข็มแบบทั่วไป เช่น การเปิดหน้าดิน, การเข้าแบบหล่อปูน, การใช้เหล็กเส้น หรือการทำความสะอาดหน้างาน จึงทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่ม
  • ไร้แรงสั่นสะเทือนในระหว่างการติดตั้ง นอกจากนี้ มลภาวะทางเสียง และมลภาวะทางอากาศในขณะที่ติดตั้ง อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเสาเข็มแบบทั่วไป

เสาเข็มไมโครไพล์ กับ เสาเข็มเหล็ก เลือกแบบไหนต่อเติมบ้าน?

เมื่อเทียบระหว่าง เสาเข็มเหล็กทั่วไป ยาวไม่เกิน 2 เมตร กับเสาเข็มไมโครไพล์ จะเห็นว่ามีการใช้งานที่ต่างกัน แม้ในภาพรวมเสาเข็มเหล็ก จะติดตั้งสะดวก ง่าย และเร็วกว่าเสาเข็มไมโครไพล์ เข้าถึงพื้นที่แคบมากได้ มีหน้างานสะอาดเรียบร้อยไม่เกิดแรงสั่นสะเทือน และยังสามารถรื้อถอนออกมาใช้ใหม่ได้ก็ตาม แต่เสาเข็มเหล็กทั่วไป มักใช้ในงานต่อเติมบ้านแบบลงเข็มสั้น ในขณะที่เสาเข็มไมโครไพล์ จะใช้ต่อเติมบ้านแบบลงเข็มยาวลึกถึงชั้นดินแข็ง ดังนั้น ในการตัดสินใจเลือกใช้ ก็ต้องดูว่าพื้นที่ที่จะต่อเติมนั้น จะยอมให้ทรุดตัวเร็วกว่าตัวบ้านได้หรือไม่ โดยดูจากการใช้งานตามที่กล่าวไปข้างต้น ควบคู่กับค่าใช้จ่าย เพื่อเทียบความคุ้มค่า

เป็นอย่างไรกันบ้างกับเสาเข็มไมโครไพล์ กับเสาเข็มเหล็ก ที่เรานำมาฝากกัน คงทำให้ มีหลายคนเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างเสาเข็ม 2 ชนิดนี้ บทความหน้าจะมีอะไรมาฝากอีกนั้นอย่าลืมติดตามกันด้วยนะจ๊ะ ☺️

>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :

KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!

เลือกดูสินค้าจาก KACHA คลิกเลย ????????