10 ข้อต้องรู้ พรบ โรงงาน 2562 แก้ไขเพิ่มเติมอะไร มีอะไรใหม่บ้าง ?

พรบ โรงงาน 2562 แก้ไขเพิ่มเติมอะไร มีอะไรใหม่บ้าง Kacha รวม 10 ข้อต้องรู้มาฝาก ใครเป็นผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงาน
แล้วอยากรู้ว่า จะตั้งโรงงาน ขยายโรงงาน ตรวจสอบหรือรับรองอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วละก็ ห้ามพลาดเด็ดขาด !

ทำไม พรบ โรงงาน ถึงมีการแก้ไขเพิ่มเติม ?

พรบ โรงงาน

เพราะ พรบ โรงงาน พ.ศ. 2535 ถูกประกาศใช้มาอย่างยาวนาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสม และ ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งหลักเกณฑ์การควบคุมการประกอบกิจการโรงงานเดิม ก็มีความเข้มงวดและล่าช้า ซึ่งอาจสร้างปัญหาและอุปสรรคต่อผู้ประกอบการในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2562 กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ทำการแก้ไข เพิ่มเติมบทบัญญัติ และ ยกเลิกกฎหมายเดิมบางประการ เพื่อให้โรงงานขนาดเล็กประกอบกิจการง่ายขึ้น ในขณะที่โรงงานขนาดใหญ่ก็ได้รับความสะดวกมากขึ้นด้วยเช่นกัน จนกลายเป็นที่มาของ พรบ โรงงาน 2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2562 จนถึงวันนี้

พรบ โรงงาน 2562 มีอะไรใหม่บ้าง

พรบ โรงงาน 2652

1. แก้ไขคำนิยาม โรงงาน ใหม่

แก้ไขคำนิยาม โรงงาน เดิม จากอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ ที่มี 5 แรงม้า 7 คนงาน เป็น 50 แรงม้า 50 คนงาน พร้อมทั้งแก้ไขนิยามการตั้งโรงงานใหม่ จากเดิมที่จะต้องก่อสร้างอาคารโรงงานเพื่อติดตั้งเครื่องจักร และ นำเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งในอาคารโรงงาน ก็เปลี่ยนเป็น ไม่ต้องก่อสร้างอาคาร แค่นำเครื่องจักรเข้ามาติดตั้งในอาคารโรงงาน หรือ นำคนงานเข้ามาประกอบกิจการ แม้ไม่มีเครื่องจักร ก็นับเป็นโรงงานได้แล้ว

2. โรงงานบางประเภทได้รับการยกเว้น

โรงงานบางประเภทจะได้รับการยกเว้น จากการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง พรบ โรงงาน 2562 บางส่วนก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่กำหนด โดยมีโรงงาน 5 ประเภท คือ

  1. โรงงานของทางราชการ
  2. โรงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาวิจัย
  3. โรงงานของสถาบันการศึกษา ในส่วนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการฝึกอบรม
  4. โรงงานที่ดำเนินงานอันมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว
  5. โรงงานที่ดำเนินงานอันมีลักษณะที่จำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ไม่ใช่โรงงาน

3. นิยาม ผู้ตรวจสอบเอกชน ชัดเจนมากขึ้น

ใน พรบ โรงงาน 2535 ไม่มีการกำหนดนิยามของผู้ตรวจสอบเอกชนที่แน่ชัด ใน พรบ โรงงาน 2562 จึงได้นิยามหน้าที่และความรับผิดชอบ ของผู้ตรวจสอบเอกชนให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยกำหนดให้จะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาต ซึ่งมีอายุใบอนุญาตไม่เกิน 3 ปี มีหน้าที่และความรับผิดชอบ คือ จะต้องตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักร และ จัดทำรายงานแทนเจ้าหน้าที่ กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสอบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ รวมถึง ให้คำรับรองรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ประกอบการ ซึ่งได้รายงานผลผ่านระบบ Self-Declaration ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดทำขึ้น

4. คุณสมบัติที่ต้องมีของผู้ตรวจสอบเอกชน

นอกจากจะนิยามผู้ตรวจสอบเอกชนให้มีความชัดเจนแล้ว ใน พรบ 2562 ยังได้ระบุด้วยว่า ผู้ตรวจสอบจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ พรบ โรงงาน กำหนด ซึ่งถ้าหากเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

บุคคลธรรมดา

  1. สัญชาติไทย
  2. มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมาย หรือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมตามกฎหมาย และ มีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี
  3. ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบความรู้ ด้านการตรวจสอบหรือรับรองโรงงาน เครื่องจักร

นิติบุคคล

  1. เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย เพื่อประกอบธุรกิจหรือให้บริการเกี่ยวกับการตรวจสอบหรือรับรองโรงงาน เครื่องจัก
  2. หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ หรือ สมาชิกในคณะผู้บริหาร ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม (เป็นบุคคลล้มละลาย/วิกลจริต/เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก/ต้องคำพิพากษาให้จำคุก/อยู่ระหว่างถูกสั่งพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต/เคยถูกไล่ออกจากราชการเพราะทำผิดวินัย)
  3. มีผู้ตรวจสอบเอกชน ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามที่กฎหมายกำหนด (ดูคุณสมบัติบุคคลธรรมดา)
  4. ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการเป็นหน่วยตรวจสอบหรือหน่วยรับรองในขอบข่ายทางสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัย ด้านสารเคมี ด้านไฟฟ้า ด้านพลังงาน ด้านเครื่องกล ด้านโยธา หรือ ด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรม

5. ผู้ตรวจสอบเอกชน ต้องต่อใบอนุญาต ทุก ๆ 3 ปี

ปรับลดจากเดิมที่ ใบอนุญาตตรวจสอบหรือรับรองของผู้ตรวจสอบเอกชน จะหมดลงทุก ๆ วันสิ้นปีปฎิทินปีที่ 5 เป็น หมดลงทุก ๆ วันสิ้นปีปฏิทินปีที่ 3 นับตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาต โดยการขอต่ออายุใบอนุญาต ผู้ตรวจสอบเอกชนจะต้องยื่นคำขอ ก่อนที่ใบอนุญาตจะหมดอายุอย่างน้อย 45 วัน และ ให้ผู้อนุญาตพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตให้แล้วเสร็จ ภายใน 15 วัน

6. ใบ รง 4 ไม่มีวันหมดอายุ ไม่ต้องต่ออายุ

เดิม พรบ โรงงาน 2535 กำหนดให้ ใบ รง 4 มีอายุ 5 ปี เมื่อครบกำหนด เจ้าของโรงงานจำพวกที่ 3 จะต้องไปต่ออายุทุก ๆ 5 ปี และ เสียค่าธรรมเนียม 1,500 – 60,000 บาทด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุน และ เสียเวลาในการจัดเตรียมเอกสารสำหรับขอใบอนุญาตแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้เกิดการเรียกรับสินบน จนเป็นปัญหาคอร์รัปชั่นอีกด้วย เมื่อมีการแก้ไขและเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2)  และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ออกมา จึงได้มีการยกเลิกอายุใบอนุญาต และ การต่ออายุใบอนุญาต รง 4 เป็นการถาวร ทำให้ ใบ รง 4 ที่ออกตามพรบ.ฉบับนี้ จะไม่มีวันหมดอายุ และ ไม่ต้องต่ออายุใบอนุญาตอีกต่อไป

7. การขยายโรงงานบางกรณีไม่ต้องขออนุญาต

ตาม พรบ โรงงาน 2535 ฉบับเดิม การขยายโรงงานทุกกรณีจะต้องขออนุญาตก่อน แต่ใน พรบ 2562 ได้มีการอนุโลม ให้การขยายโรงงานเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน

  1. ให้มีการบำบัดมลพิษ หรือ เพื่อให้การบำบัดมลพิษเดิมมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
  2. ให้มีมาตรการป้องกัน หรือ ลดเหตุเดือดร้อนรำคาญ
  3. การเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรเดิม ที่เป็นเครื่องต้นกำลังให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น หรือ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง
  4. การเปลี่ยนแปลงพลังงานของเครื่องจักเดิมให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

8. แก้ไขหลักเกณฑ์การแจ้งกรณีเปลี่ยนแปลงอาคารโรงงาน

จากเดิมที่ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อขยายพื้นที่อาคารโรงงานเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ 50% กรณีพื้นที่เดิมไม่เกิน 200 ตารางเมตร หรือ เพิ่มขึ้นเกิน 100 ตารางเมตร กรณีพื้นที่เดิมเกินกว่า 200 ตารางเมตร ภายใน 7 วัน

เปลี่ยนเป็นต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อขยายพื้นที่อาคารโรงงานเพิ่มขึ้น เกิน 1,000 ตารางเมตร กรณีพื้นที่เดิมไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร หรือ เพิ่มขึ้นเกิน 1,000 ตารางเมตร กรณีพื้นที่เดิมเกินกว่า 2,000 ตารางเมตร ภายใน 30 วัน

9. แจ้งเพิ่มประเภทหรือชนิดของการประกอบกิจการโรงงาน

พรบ. โรงงาน 2535 จะไม่สามารถเพิ่มประเภทหรือชนิดของการประกอบกิจการโรงงาน ที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโรงงานเดิมได้ แต่ฉบับใหม่ สามารถเพิ่มประเภทหรือชนิดของการประกอบกิจการโรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการเดิมได้ ทั้งในส่วนของที่ดินเดิม และ ที่ดินที่ได้รับการอนุญาตให้ขยายโรงงาน เช่น โรงงานไสไม้ สามารถแจ้งเพิ่มการนำเศษไม้จากการไส มาทำประติมากรรมจากไม้ได้ แต่ถ้าเป็นโรงงานผลิตน้ำดื่ม จะไม่สามารถแจ้งเพิ่มการผลิตขวดน้ำได้ เนื่องจากเป็นคนละกิจการกัน ทั้งนี้ จะต้องแจ้งหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนดำเนินการ

10. แก้ไขเพิ่มเติมบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมใหม่

แก้ไข ค่าธรรมเนียม จากเดิมที่มี คำขอ ใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงงาน ก็เพิ่มเติมในส่วนของ ค่าอนุญาตขยายโรงงาน ค่าโอนใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต การแจ้งได้รับยกเว้นการขยายโรงงาน และ ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงงาน โดยมีอัตราค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้

1. คำขอ ฉบับละ  100 บาท
2. ใบอนุญาต ฉบับละ 300,000 บาท
3. อนุญาตขยายโรงงาน ฉบับละ 300,000 บาท
4. โอนใบอนุญาต ฉบับละ 5,000 บาท
5. ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 5,000 บาท
6. การแจ้งได้รับการยกเว้นขยายโรงงาน ฉบับละ 15,000 บาท
7. ค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงงาน ฉบับละ 100,000 บาท

พรบ โรงงาน 2562 แก้ไขเพิ่มเติม และ ยกเลิก บทบัญญัติกฎหมายบางข้อ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน และ ทำให้ผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงาน ทั้งโรงงานขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ประกอบกิจการได้ง่าย รวดเร็ว และ ได้รับความสะดวกมากขึ้น ดังนั้น หากใครเป็นผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงาน แล้วอยากรู้ว่า จะตั้งโรงงาน ขยายโรงงาน ตรวจสอบหรือรับรองอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วละก็ ลองอ่านแล้วศึกษาเอาไว้เป็นความรู้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามแนวทางได้อย่างถูกต้อง และ สามารถทำกิจการโรงงานได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต


บทความที่น่าสนใจ