เรื่องต้องรู้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร?
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยิน เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กันมาอยู่แล้ว เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราจะต้องรู้ไว้ เป็นภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบนั่นเอง บทความนี้ KACHA จะพาไปรู้จักกับ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ให้มากขึ้นกัน
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร?
โดยกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ มีจุดประสงค์ในการช่วยลดความเลื่อมล้ำ และเพิ่มการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดเก็บภาษี โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล ซึ่งการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับ อปท. นำไปใช้เป็นเงินสำรองสำหรับพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางสำหรับชุมชน ให้มีบริการที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้งานได้ในระยะยาว มีคุณภาพการใช้งานที่ดีขึ้น นอกจากนี้ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังสามารถลดจำนวนการถือครองที่ดิน เพื่อการเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับล่าสุด มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ที่ดินแต่ละประเภท ต้องเสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของที่ดิน คอนโด หรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ที่ใช้ประโยชน์และไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ต้องเสียภาษี เพื่อนำเงินไปใช้พัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
การเก็บภาษีจะต้องมีสิ่งที่รัฐจะนำมาเป็นฐานในการจัดเก็บ เรียกว่า ฐานภาษี ซึ่งฐานภาษีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ บรรดาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย โดยคิดจากราคาประเมินของทางราชการที่ประกาศโดยกรมธนารักษ์นั่นเอง
ประเภทของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ขึ้นอยู่กับการเข้าทำประโยชน์บนที่ดิน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
- ที่อยู่อาศัย ถือเป็นที่ดินใช้ประโยชน์ ผู้เสียภาษีคือเจ้าของบ้านหลังหลักคือผู้ที่มีชื่อบนโฉนดและทะเบียนบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าบ้าน ส่วนบ้านหลังอื่นๆ ใช้ชื่อเจ้าของบ้านที่มีชื่อในโฉนด แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านก็ได้
- ที่อยู่อาศัยสำหรับใช้ประโยชน์อื่น ๆ อาคารที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น โรงงาน, คลังสินค้า, โกดัง, อาคารสำนักงาน, โรงแรม, ร้านอาหาร
- ที่ดินรกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ กรณีเป็นที่ดินที่ทิ้งรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ในปีก่อนหน้า ยกเว้นว่า จะมีกฎหมายห้าม ให้ทิ้งไว้เพื่อการเกษตร หรือปล่อยไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับโรงงาน และโกดังคลังสินค้า สำหรับโรงงานและโกดังคลังสินค้านั้นถูกจัดอยู่ในประเภทที่อยู่อาศัยสำหรับใช้ประโยชน์อื่น ๆ
การเสียภาษีของที่ดินแต่ละประเภท
ที่ดินเกษตรกรรม
หากเป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรกรรม จะต้องเสียภาษีในอัตราตั้งแต่ 0.01-0.1% โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา ที่เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม และนิติบุคคล ที่เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม
สำหรับบุคคลธรรมดา ที่เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
- มูลค่าที่ดิน: 0-50 ล้านบาท | อัตราภาษี: ได้รับการยกเว้นภาษี | ภาษีที่ต้องจ่าย: ไม่เสียค่าใช้จ่าย
- มูลค่าที่ดิน: 50-125 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.01% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 100 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 125-150 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.03% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 300 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 150-550 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.05% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 500 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 550-1,050 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.07% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 700 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 1,050 ล้านบาทขึ้นไป | อัตราภาษี: 0.1% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 1,000 บาท
สำหรับนิติบุคคล ที่เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
- มูลค่าที่ดิน: 0-75 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.01% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 100 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 75-100 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.03% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 300 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 100-500 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.05% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 500 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 500-1,000 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.07% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 700 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 1,000 ล้านบาทขึ้นไป | อัตราภาษี: 0.1% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 1,000 บาท
ที่ดินที่อยู่อาศัย
ที่ดินที่ถูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย เจ้าของกรรมสิทธิ์ จะต้องเสียภาษีในอัตราตั้งแต่ 0.02-0.1% โดยแบ่งตามประเภทการเป็นเจ้าของได้ 3 ประเภท คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว, ผู้ที่เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว และผู้ที่เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป
สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
- มูลค่าที่ดิน: 0-50 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.01% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 100 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 50-75 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.03% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 300 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 75-100 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.05% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 500 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 100 ล้านบาทขึ้นไป | อัตราภาษี: 0.1% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 1,000 บาท
สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้างหลังเดียว เช่น ถือครองบ้าน คอนโด ทาวเฮ้าส์ หรืออาคารพักอาศัยรูปแบบอื่น ๆ จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
- มูลค่าที่ดิน: 0-10 ล้านบาท | อัตราภาษี: ได้รับการยกเว้นภาษี | ภาษีที่ต้องจ่าย: ไม่เสียค่าใช้จ่าย
- มูลค่าที่ดิน: 10-50 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.02% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 200 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 50-75 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.03% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 300 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 75-100 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.05% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 500 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 100 ล้านบาทขึ้นไป | อัตราภาษี: 0.1% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 1,000 บาท
สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
- มูลค่าที่ดิน: 0-50 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.02% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 200 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 50-75 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.03% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 300 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 75-100 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.05% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 500 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 100 ล้านบาทขึ้นไป | อัตราภาษี: 0.1% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 1,000 บาท
ที่ดินพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม
เป็นที่ดินที่ใช้เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในลักษณะ ประเภทร้านอาหาร ออฟฟิศ โรงแรม สำนักงาน มีอัตราภาษีทีต้องเสียตั้งแต่ 0.3-0.7%
โดยจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
- มูลค่าที่ดิน: 0-50 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.3% | ภาษีที่ต้องจ่าย:ล้านละ 3,000 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 50-200 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.4% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 4,000 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 200-1,000 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.5% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 5,000 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 1,000-5,000 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.6% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 6,000 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 5,000 ล้านบาทขึ้นไป | อัตราภาษี: 0.7% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 7,000 บาท
ที่ดินรกร้าง ที่ดินว่างเปล่า
ในกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ไม่ได้นำมาทำประโยชน์ ปล่อยให้เป็นที่ดิกรกร้าง จะต้องเสียภาษีในอัตราภาษีตั้งแต่ 0.3-0.7%
โดยจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
- มูลค่าที่ดิน: 0-50 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.3% | ภาษีที่ต้องจ่าย:ล้านละ 3,000 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 50-200 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.4% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 4,000 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 200-1,000 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.5% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 5,000 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 1,000-5,000 ล้านบาท | อัตราภาษี: 0.6% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 6,000 บาท
- มูลค่าที่ดิน: 5,000 ล้านบาทขึ้นไป | อัตราภาษี: 0.7% | ภาษีที่ต้องจ่าย: ล้านละ 7,000 บาท
วิธีคำนวณภาษี ทำได้อย่างไร?
สำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะคำนวณภาษีด้วยตัวเอง สามารถดูตัวอย่างคร่าว ๆ ได้ดังนี้
- วิธีการคำนวณ คือ ราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง x อัตราภาษี (แต่ละประเภท) เช่น อาคารโรงงานและที่ดิน ราคาประเมิน 20 ล้านบาท คือ 20,000,000 x 0.3% = 60,000 บาท
- กรณีที่ได้รับยกเว้น วิธีการคำนวณคือ (ราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง-มูลค่าได้รับยกเว้น) x อัตราภาษี (แต่ละประเภท) เช่น บ้านพร้อมที่ดิน ราคาประเมิน 60 ล้านบาท ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้รับยกเว้นประเมิณ 50 ล้านบาท คือ (60,000,000 – 50,000,000 ) x 0.03% = 3,000 บาท
สำหรับช่องทางการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สามารถชำระได้ถึง 4 ช่องทาง รวมการจ่ายออนไลน์ผ่านแอปธนาคาร ดังนี้
- กรุงเทพมหานคร ชำระที่สำนักงานเขต และต่างจังหวัด ชำระที่หน่วยงานที่ระบุตามจดหมายแจ้งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับ
- เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา
- Internet Banking ทุกธนาคาร
- Mobile Banking ทุกธนาคาร
จบไปแล้วกับ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เรานำมาแชร์กัน คงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต่าง ๆ จะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ใครคิดอยากจะสร้างโรงงาน หรือโกดังคลังสินค้า ทำอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ควรศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจ เพื่อที่จะปฏิบัติได้อย่างถูกต้องด้วย เพราะภาษีที่ดินนั้น เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติ หากลืมจ่าย หรือพยายามหนีการจ่าย อาจถูกปรับ เป็นการเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม รวมไปถึงการถูกยึด อายัดทรัพย์ต่าง ๆ ไปขายทอดตลาดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้
บทความดี ๆ น่าอ่าน:
- เรื่องต้องรู้ก่อน ซื้อที่ดิน สร้างบ้าน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?
- “โรงงาน” มีกี่ประเภท ก่อนสร้างต้องรู้อะไรบ้าง?
- โกดังสินค้า มีกี่ประเภท เลือกซื้อ/เช่าอย่างไรให้เหมาะกับธุรกิจ
- รวมเทคนิคจัดระเบียบ “คลังสินค้า” ให้มีประสิทธิภาพทำได้ไม่ยาก
- หลักหมุดที่ดิน คืออะไร ทำอย่างไรเมื่อสูญหาย หรือเคลื่อนจากจุดเดิม
- เรื่องน่ารู้ โฉนดที่ดิน มีกี่แบบ? มีความสำคัญอย่างไร?
- เรื่องควรรู้ “รังวัดที่ดิน” ขั้นตอนรายละเอียด และปัญหาที่พบบ่อย
● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ●
KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!
อ้างอิงข้อมูลจาก reic.or.th, propertyscout.co.th, tf-cons.com