เรื่องต้องรู้ การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน ทำได้อย่างไร?

การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร และมีผู้ร่วมปฏิบัติงานเป็นจำนวนมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหลากหลายรูปแบบ

ผู้ประกอบการจึงต้องคำนึงถึงวิธี การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน เพื่อเตรียมรับมือป้องกัน และ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

อุบัติภัยในโรงงานอุตสาหกรรมที่พบบ่อย

สถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงาน การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน

จากข้อมูลการสำรวจของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พบว่า อุบัติเหตุในโรงงานที่พบบ่อยมากที่สุด คือ อัคคีภัย รองลงมาเป็น สารเคมีรั่วไหล การระเบิด และอุบัติเหตุเกี่ยวกับเครื่องจักร โดยพบว่าสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้มากที่สุดมักป็นกลุ่มโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับ พลาสติก โฟม กระดาษ ยาง รองลงมาเป็น กากอุตสาหกรรม ของเสีย การรีไซเคิล งานซ่อม งานหล่อหลอม งานโลหะ และโกดังสินค้า

แบ่งประเภทกลุ่มโรงงานออกเป็น 8 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับ สิ่งทอ เส้นใยจากพืช ฟอกย้อมผ้า
  • กลุ่มโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปไม้
  • กลุ่มโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับ พลาสติก โฟม กระดาษ ยาง
  • กลุ่มโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี สารอันตราย
  • กลุ่มโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสารไวไฟ เช่น สี ทินเนอร์ ก๊าซ วัตถุระเบิด ต้ม กลั่นสุรา สกัดน้ำมันจากพืชหรือสัตว์
  • กลุ่มโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับ กากหรือขยะอุตสาหกรรม รีไซเคิลของเสีย
  • กลุ่มโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับ อาหาร แป้ง มันสําปะหลัง อาหารสัตว์
  • อื่นๆ ทั่วไป เช่น งานซ่อม งานโลหะ หล่อหลอม โกดังเก็บสินค้า

ข้อมูลอ้างอิง : กรมโรงงานอุตสาหกรรม (2564)

สาเหตุของการเกิดอุบัติภัยในโรงงาน

สาเหตุของการเกิดอุบัติภัยในโรงงาน

ก่อนจะไปรู้จักวิธี การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน เราต้องทราบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุก่อนว่าเกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้เตรียมตัวสำหรับการป้องกันได้อย่างถูกต้อง

เกิดจากตัวผู้ปฏิบัติงาน

1) ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ การขาดความรู้ และ ประสบการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานนั้น ๆ เพราะอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเครื่องจักรแต่ละประเภท มีวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน หากผู้ปฏิบัติงานไม่ศึกษาให้ละเอียด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงานได้

2) ความประมาทเลินเล่อ

ความประมาท เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง มักเกิดจากความไม่เอาใจใส่ ไม่รอบคอบ โดยเฉพาะการมีความเชื่อมันมากเกินไปเนื่องจากทำงานมานาน เช่น การหยอกล้อเล่นกัน การเคลื่อนไหวที่รู้ว่าอันตราย ไม่ว่าจะเป็น การเดิน การวิ่ง การกระโดด การปีนป่าย ตลอดจนการใช้เครื่องมือไม่ถูกวิธีทั้งที่รู้ว่าไม่เหมาะสม   การไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ คำเตือน ของโรงงาน ไม่สวมอุปกรณ์เซฟตี้ เป็นต้น

3) สภาพร่างกายและจิตใจ

สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน เป็นสาเหตุที่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เช่น สายตาไม่ดี มีโรคประจำตัว อ่อนเพลียจากการอดนอน ไม่มีสติในการทำงาน ขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ เป็นต้น

เกิดจากสภาพแวดล้อมในโรงงาน

1) อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร มีความบกพร่อง

อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ในโรงงาน มีความบกพร่อง หมายถึง เครื่องมือไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เช่น ชำรุด แตกหัก ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย ละเลยต่อการบำรุงรักษา เช่น น้ำมันหล่อลื่นไม่พอ ด้ามจับหัก ขนาดไม่เหมาะสม ไม่แข็งแรง เป็นต้น

2) บริเวณที่ปฏิบัติงานไม่มีความปลอดภัย

เช่น การวางผังของโรงงานไม่ถูกต้อง การวางของไม่เป็นระเบียบ ไม่จัดหมวดหมู่ของสิ่งของ ห้องระบายอากาศไม่ดี พื้นลื่น ขรุขระ ส่วนที่มีความเสี่ยงสูงไม่มีเซฟตี้ ฯลฯ

การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน ทำได้อย่างไร?

การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน : ผู้ประกอบการ

การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน : ผู้ประกอบการ 

หลักการ 3 E

สำหรับการป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน ประกอบด้วย Engineering Education และ Enforcement สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ใช้หลักการนี้ในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานได้

1) Engineering คือ การใช้ความรู้ด้านวิศวกรรม มาออกแบบหรือการคํานวณค่าต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การออกแบบเครื่องมือ เครื่องจักร ผังโรงงาน การติดตั้งอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ตลอดจนกระบวนการผลิตที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

2) Education คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตราย โรคภัย และอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิด โดยการให้ความรู้ การฝึกอบรม การฝึกปฏิบัติจริง เพื่อความสร้างความเข้าใจให้แก่พนักงาน

3) Enforcement คือ การออกกฎ มาตรการควบคุม ให้พนักงานปฏิบัติตามข้อกําหนดหรือระเบียบที่ได้กําหนดไว้ ถ้าฝ่าฝืนต้องมีการลงโทษ เช่น กฎระเบียบบริษัท ข้อบังคับในการ ปฏิบัติงาน รวมถึงการออกกฎหมายบังคับต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักให้พนักงานตื่นรู้ในทุกเวลาตลอดการทำงาน 

การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน : ผู้ปฏิบัติงาน

การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน : ผู้ปฏิบัติงาน 

หลักการ 5 ส. 

  • สะสาง : แยกแยะงานดี – งานเสีย
  • สะดวก : การจัดการให้เป็นระเบียบเป็นหมวดหมู่
  • สะอาด : การทำความสะอาดเครื่องมือ สถานที่
  • สุขลักษณะ : การรักษาสุขอนามัยของตัวเอง การบำรุงรักษาเครื่องมือ และสถานที่
  • สร้างนิสัย : สร้างทัศนคติและนิสัยที่ดี เพื่อสร้างความปลอดภัยในสถานที่

หลักการ 3 ป.

ป. ปลุกสำนึกอันตราย คือ การพิจารณาก่อนการปฏิบัติงานว่าอะไรเป็นสิ่งที่อันตรายได้บ้าง ต้องฝึกให้เป็นนิสัย

ป. ประเมินความเสี่ยง คือ การประเมินว่าหากเกิดอันตราย จะเกิดผลอะไรบ้าง

ป. ปรับเปลี่ยนให้ปลอดภัย คือ การคิดวิธีปรับปรุง แก้ไขจุดบกพร่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

กฎ 5 รู้

  • รู้ ขั้นตอนการทำงาน วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง
  • รู้ วิธีเลือกใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์
  • รู้ เรื่องเกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์
  • รู้ ถึงข้อจำกัดการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์
  • รู้ วิธีการบำรุงรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์

จะเห็นว่า การป้องกันอุบัติภัยในโรงงาน เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งในฐานะผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงาน เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราจึงจำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง เพื่อนรวมงาน ไปจนถึงทรัพย์สินของบริษัท