“กาวติดไม้” มีกี่ประเภท การใช้งานเป็นอย่างไร
ประกอบชิ้นส่วนหรือซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์ไม้ได้ง่าย ๆ ด้วย กาวติดไม้ กาวอเนกประสงค์ที่ใช้งานได้อย่างหลากหลาย
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ากาวติดไม้มีหลายประเภท มีหลายคุณสมบัติให้เลือกใช้ ซึ่งแต่ละชนิดก็เหมาะกับงานที่แตกต่างกัน
วันนี้ KACHA จะพาไปคำตอบว่าแต่ละประเภทเหมาะกับการใช้งานแบบไหน มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร ตามไปดูเลย!
กาวติดไม้ คือ?
กาวติดไม้ คือ กาวทั่วไปที่มีคุณสมบัติในการติดไม้ ซึ่งกาวที่ดีจะต้องสร้างแรงยึดเหนี่ยวทางเคมีระหว่างสองพื้นผิว เช่น ไม้กับไม้ หรือไม้กับวัสดุอื่น ในปัจจุบันมีกาวติดไม้หลากหลายประเภท หลากหลายคุณสมบัติแตกต่างกันไป ผู้ใช้ต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะงานหรือชนิดของไม้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ชิ้นงานนั้น ๆ ให้มีความแข็งแรง ทนทาน ตลอดจนมีความสวยงาม แนบเนียน กลืนไปกับพื้นผิววัสดุมากที่สุด กาวติดไม้นิยมนำมาใช้ในงาน “ไม้” ตามชื่อเรียก ใช้สำหรับสร้าง ซ่อมแซม และประกอบชิ้นส่วนของไม้ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกบ้าน กาวติดไม้ ส่วนใหญ่มีอายุเก็บรักษาประมาณ 1 ปี เมื่อหมดอายุจะเริ่มสูญเสียความสามารถในการยึดเกาะ
ประเภทของ กาวติดไม้
1. กาวหนังสัตว์ (Hide Glue)
กาวหนังสัตว์ หรือ กาวซ่อน (Hide Glue) เป็นกาวที่นิยมใช้ซ่อมเฟอร์นิเจอร์ไม้มาตั้งแต่อดีต ผลิตจากการต้มคอลลาเจนผิวหนังหรือกีบเท้าของสัตว์ มีลักษณะคล้ายเจลาติน ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของเหลว เม็ด เกล็ด หรือแผ่นที่ต้องละลายในน้ำ วิธีใช้การใช้กาวชนิดนี้ คือ นำไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อนหรือโดนความร้อนให้กาวละลาย เมื่อแห้งตัวลง จะมีคุณสมบัติในการหล่อลื่นตามธรรมชาติ สร้างรอยต่อที่คงทนแต่ยืดหยุ่น นอกจากนี้ยังเป็นกาวที่ต้องใช้เวลาในการเซตตัวพอสมควร แห้งค่อนข้างช้า ทำให้มีเวลาประกอบชิ้นงานหรือไม้ได้อย่างประณีต ทั้งยังช่วยรักษาคุณภาพของของเก่าได้ดี เรียกได้ว่าเป็น กาวติดไม้ ที่ดีที่สุดสำหรับเฟอร์นิเจอร์ในยุคเก่า มักใช้ในการสร้าง ซ่อมแซม เครื่องดนตรีประเภทสาย รวมถึงงานไม้โบราณต่าง ๆ อีกด้วย
ข้อดี : รักษาคุณภาพของไม้ได้ดี
ข้อเสีย : ใช้งานยาก
2. กาวโพลีไวนิลอะซิเตท (PVA)
กาวโพลีไวนิลอะซิเตท Polyvinyl acetate (PVA) เป็นโพลิเมอร์สังเคราะห์ที่มีลักษณะเป็นยาง มีทั้งสีขาวและสีเหลือง จัดเป็นกาวติดไม้ที่พบบ่อยและนิยมใช้มากที่สุด เพราะไม่อันตราย ไร้สี ไร้กลิ่น มีค่า PH เป็นกลาง สามารถใช้งานได้ด้วยมือเปล่า ทั้งยังมีราคาถูก หาซื้อง่าย แถมยังมีสูตรพิเศษแบบกันน้ำอีกด้วย ส่งผลให้นิยมใช้งานอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่งานสร้างสรรค์ในโรงเรียน ไปจนถึงซ่อมแซมหรือประกอบไม้สำหรับช่างมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็น งาน D.I.Y, งานฝีมือ, งานไม้แกะสลัก หรืองานซ่อมแซมไม้อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม กาวประเภทนี้มักจะทิ้งคราบกาวไว้บนพื้นผิว เมื่อแห้งแล้วจะมีลักษณะคราบเป็นหย่อม ๆ โดยเฉพาะไม้โอ๊ค การใช้งานจึงต้องระมัดระวัง ควรเช็ดกาวส่วนเกินออกด้วยผ้าเปียกหรือฟองน้ำก่อนที่จะแห้ง วิธีใช้งานให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ให้ใช้กาวติดไม้ PVA พร้อมกดชิ้นไม้และแคลมป์จนกว่ากาวจะแห้ง จากนั้นปล่อยให้อากาศถ่ายเท จะได้งานที่ติดแน่นสนิทมากยิ่งขึ้น
ข้อดี : ใช้งานได้อเนกประสงค์ ปลอดภัย
ข้อเสีย : ทิ้งคราบบนผิวไม้
3. กาวยูรีเทน (PU)
กาวยูรีเทน Polyurethane (PU) เป็นเม็ดพลาสติกสังเคราะห์ที่ให้แรงยึดแน่นและคงทน กาวประเภทนี้อาศัยความชื้นในการใช้งาน หรืออาศัยความชื้นในการเซ็ตตัว เมื่อแห้งตัวจะมีลักษณะเป็นฟอง ซึ่งแตกต่างจาก กาวติดไม้ ประเภทอื่น ๆ ถือว่าเป็นกาวติดไม้ที่มีความยืดหยุ่นสูง รองรับการยืดหดตัวได้มาก และยังมีสารประกอบอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วยไนโตรเจน คาร์บอน และออกซิเจนเป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อเปิดใช้งานจะแห้งและแข็งตัวอย่างรวดเร็ว สามารถใช้กับงานไม้ได้หลายชนิดทั้งในอาคารและนอกอาคาร นอกจากนี้ยังไม่ทำให้เส้นใยไม้ที่บอบบางแห้ง หากต้องการจะย้อมสีไม้ กาวโพลียูรีเทนจะทาช่วยให้ทาสีได้ง่ายกว่ากาว PVA วิธีการใช้งาน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดไม้ก่อนทากาว จากนั้นติดไม้ทั้งสองชิ้นเข้าหากันให้เร็วที่สุด และปล่อยให้แห้งสนิทเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
ข้อดี : ยึดแน่น กันน้ำ ทาสีทับได้ ใช้ได้ทั้งงานภายในและภายนอกอาคาร
ข้อเสีย : ราคาค่อนข้างสูง
4. กาวไซยาโนอะคริเลต (CA)
กาวไซยาโนอะคริเลต Cyanoacrylate (CA) หลายคนรู้จักในชื่อของ กาวตราช้าง, กาวร้อน, หรือ ซูเปอร์กลู เป็นอะคริลิกเรซินที่แห้งตัวอย่างรวดเร็ว กาวติดไม้ประเภทนี้จะแข็งและเหนียวมาก แต่ด้วยความแข็งจึงสามารถหักชิ้นส่วนออกจากกันได้ง่าย ใช้ในงานติดชั่วคราวได้ดี เนื่องจากกาวแห้งไวมาก ผู้ใช้จึงต้องใช้งานอย่างระมัดระวังและติดให้แม่นยำที่สุด อาจทำให้ผิวไม้เสียหายได้หากใช้ไม่ระมัดระวัง ถ้ามีกาวส่วนเกินติดผิวหนังหรือหยดลงพื้นไม้ สามารถเช็ดออกด้วยน้ำยาล้างเล็บ แนะนำให้สวมหน้ากากและถุงมือก่อนใช้งาน
ข้อดี : แห้งไว ติดเร็ว หักวัสดุออกจากกันง่าย
ข้อเสีย : หลังเปิดใช้งาน อายุการเก็บรักษาจะสั้นกว่ากาวชนิดอื่น (ประมาณ 1 เดือนหลังการเปิดผลิตภัณฑ์)
5. กาวอีพ็อกซี่ (Epoxy)
กาวอีพ็อกซี่ (Epoxy) ประกอบด้วยเรซินและสารที่เพิ่มความแข็งในสัดส่วนที่เท่ากัน สารทั้งสองชนิดนี้จะถูกเก็บไว้แยกหลอด เมื่อผสมกันแล้วจะเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้แข็งตัว พร้อมสำหรับการใช้งาน เมื่อใช้กาวประเภทนี้ติดลงบนชิ้นงานแล้ว สามารถขยับปรับเปลี่ยนตำแหน่งของวัสดุได้ เพราะใช้เวลาแข็งตัวตั้งแต่หลักนาทีไปจนถึงหลักชั่วโมงขึ้นอยู่กับการผลิตหรือยี่ห้อที่ใช้ กาวอีพ็อกซี่ เป็นกาวติดไม้ที่ใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์และแข็งแรงมาก ถือเป็นกาวติดไม้ ที่ดีที่สุดสำหรับการอุดช่องว่างและรอยร้าวของไม้ นิยมใช้ติดไม้ที่ใช้ติดไม้ในเรือและเรือใบ นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาปั้น ซ่อมแซม อุดช่องว่าง และแปะวัสดุต่าง ๆ ได้ดี เมื่อใช้ทาลงบนพื้นผิวแล้ว สามารถขัด เจาะ และทาสีได้ ทำให้ช่างไม้หลายคนชื่นชอบกาวชนิดนี้เป็นพิเศษ
ข้อดี : กันน้ำได้ อุดช่องวางรอยต่อได้อย่างสมบูรณ์
ข้อเสีย : ต้องผสมก่อนใช้งาน
วิธีติดกาวประสานไม้
- ทำความสะอาดพื้นไม้ ด้วยการเช็ดฝุ่น คราบสกปรกออกให้สะอาด
- เทกาวบนไม้ทั้งสองชิ้นในปริมาณที่เหมาะสม ถ้ากาวเลอะ ต้องใช้ผ้าเช็ดหรือปาดกาวออกโดยทันที
- เกลี่ยกาวติดไม้ให้ทั่วทั้งผื้นผิว โดยใช้แปรงหรือไม้พลาสติกแทนการใช้มือ เพื่อป้องกันกาวติดผิวหนัง
- กดวัสดุที่ทากาวเรียบร้อยแล้วเข้าด้วยกัน สามารถขยับได้เล็กน้อย เพื่อให้มั่นใจว่ากาวติดไม้ได้อย่างทั่วถึง และได้ตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นไล่อากาศที่อาจก่อให้เกิดช่องว่างออกไป
- ใช้แคลมป์รูปตัวจีช่วยยึดวัสดุให้แน่น เพื่อให้วัสดุติดกันอย่างแนบชิดและแน่นหนา
- ทิ้งกาวติดไม้ไว้ให้แห้ง ไม่ไปสัมผัสหรือรบกวน เพื่อให้กาวสมานกันให้ดีที่สุด (ควรทิ้งระยะเวลาตามที่แนะนำบนผลิตภัณฑ์)
- ขัดกาวส่วนเกินออก เพื่อความเรียบร้อยและความสวยงามของพื้นผิว
จะเห็นได้ว่า กาวติดไม้ มีหลายประเภท ผู้ใช้จึงต้องศึกษาข้อมูลเพื่อให้เลือกใช้งานให้เหมาะสมมากที่สุด เพื่อประสิทธิภาพในการสร้าง ซ่อมแซม ติดแปะ และประกอบชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้ต่าง ๆ และที่สำคัญอย่าลืมสวมถุงมือทุกครั้งก่อนใช้กาวติดไม้ที่มีสารอันตรายหรือกาวที่มีการแข็งตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยตลอดการใช้งาน
บทความที่น่าสนใจ :