รวม “คำศัพท์ช่าง” ศัพท์ช่าง พื้นฐานที่ควรรู้ไว้ จะได้หายสงสัย?

ศัพท์ช่าง ที่ช่างมักจะพูดกัน บางครั้งอาจฟังแล้วไม่เข้าใจ และสงสัยอยู่บ่อย ๆ เช่น ตีเต๊า ต๊าปเกลียว คอนดูด คืออะไร? แต่คำศัพท์ช่างเหล่านี้ ล้วนเป็นคำพูดที่ใช้กันมาจนเคยชิน เพื่อให้สามารถสื่อสารกับบรรดาช่าง ให้ได้เข้าใจมากขึ้นนั่นเอง

บทความนี้นี้ KACHA ได้รวบรวม 20 คำศัพท์ช่าง ศัพท์ช่าง พื้นฐาน ที่ได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ มา ฝากกัน จะมีอะไรบ้างไปดูเลย

รวม 20 คำศัพท์ช่าง รู้ไว้ให้หายสงสัย

ศัพท์ช่าง อาจจะมีหลากหลายคำ ขอยกตัวอย่างคำศัพท์ช่าง ที่ใช้เรียกกันบ่อย ๆ เพื่อให้หายสงสัย เวลาคุยกับช่าง หรือผู้รับเหมา จะได้ไม่งงกัน มีดังนี้

1. ตีเต๊า

คือ การสร้างแนวเส้นบนอาคารระหว่างก่อสร้าง เพื่อใช้สำหรับการกำหนดระยะ วางตำแหน่งในการติดตั้งส่วนต่าง ๆ บนอาคาร โดยใช้เครื่องมือตีเต๊า ซึ่งจะทำให้เกิดสี เป็นแนวเส้นตามรอยของเชือก ทำให้ช่างเห็นรอยในการวางตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ ใช้กับงานประเภท วางท่อ ผนัง ติดตั้งประตู หน้าต่าง มุงกระเบื้อง การทำเคาน์เตอร์ ทำราง หรือการโรยกรวด เป็นต้น

รวม-คำศัพท์ช่าง-ศัพท์ช่าง-02

2. ต๊าปเกลียว

คือ การทำให้เกิดเกลียวบนผิววัสดุ ส่วนใหญ่ช่างจะใช้ทำบนพื้นผิวท่อเหล็ก หรืออะลูมิเนียมให้ท่อเกิดเป็นเกลียว สำหรับไปต่อประกอบกับอีกท่อหนึ่งได้ ต๊าปเกลียวมีทั้งการทำเกลียวใน และเกลียวนอก โดยมีเครื่องจักรในการทำ จนไปถึงเครื่องมือแบบพกพาในการทำต๊าปเกลียว แนะนำให้ใช้เครื่องจักรดีกว่า เพราะเกลียวจะคงที่กว่าการทำมือนั่นเอง

3. บังใบ

คือ วิธีการทำให้ชิ้นวัสดุชิดสนิทกัน โดยการบากปลายของวัสดุให้ลึกลงไปทั้ง 2 ชิ้น หรือชิ้นเดียวให้เกิดระยะบากที่สอดคล้องกัน วัสดุที่บังใบส่วนใหญ่ จะเป็นไม้ ตรงส่วนวงกบประตู และหน้าต่าง ในเวลาเราเปิดปิด แนวชนของบานประตู และหน้าต่าง พื้น และผนัง ซึ่งการบังใบ ช่วยกันน้ำ กันฝนสาด เข้าระหว่างรอยต่อได้อีกด้วย

รวม-คำศัพท์ช่าง-ศัพท์ช่าง-03

4. สลัดดอก

คือ การเตรียมพื้นคอนกรีต ก่อนฉาบด้วยการเอาปูนซีเมนต์ธรรมดา ผสมกับน้ำ ทราย และน้ำยาเพิ่มแรงยึดเกาะ แล้วใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวมาจุ่มลงในน้ำปูน สลัดลงไปให้ทั่วบริเวณที่จะฉาบ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน แล้วจึงค่อยมาฉาบทับไปอีกที ซึ่งเทคนิคสลัดดอกนี้ จะช่วยให้ปูนฉาบเกาะกับผิวคอนกรีตได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันการหลุดร่อน แตกร้าวของปูนฉาบในอนาคตได้

5. ปูพื้นแบบซาลาเปา

เป็นอีกวิธีที่ช่างชอบ เพราะปูง่าย รวดเร็ว และประหยัด แต่เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ไม่ควรให้ช่างทำ เพราะการปูพื้นแบบซาลาเปา คือ การนำปูนกาวซีเมนต์มาโปะหลังแผ่นกระเบื้องคล้ายก้อนซาลาเปาตรงกลาง จากนั้นวางกดลงไปบนพื้นผิวปูนหยาบ ซึ่งตรงขอบกระเบื้องจะไม่มีเนื้อปูนเลย มีเพียงโพรงอากาศ ทำให้ปลายกระเบื้องเกิดการบิ่น แตกร้าวได้ง่าย เกิดความชื้นในกระเบื้อง และยังทำให้กระเบื้องหลุดออกมาทั้งแผ่นอีกด้วย

รวม-คำศัพท์ช่าง-ศัพท์ช่าง-04

6. เจียปลี

คือ การเก็บรายละเอียดขอบกระจก หลังจากตัดกระจก ให้มีลักษณะลาดลงคล้ายกับเพชรเจียระไน เพื่อโชว์ขอบกระจก เน้นการตกแต่งขอบกระจก เพื่อความสวยงาม การเจียปลี จะเจียร ให้มีความลาดเอียงจากผิวหน้าลาดลงสู่ขอบในแต่ละด้าน โดยจะเจียรให้ลาดเอียงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความหนาของกระจก

7. จับเซี้ยม

คือ การทำให้ขอบ หรือมุมในส่วนอาคารต่าง ๆ ก่อนที่จะฉาบปูนเป็นระยะตั้งฉาก เช่น ขอบประตูหน้าต่าง มุมเสา มุมห้อง มุมพื้น เป็นต้น โดยช่างจะใช้วิธีปาดปูนลงไปบนส่วนที่ชนเข้ามุมกันทั้ง 2 ด้านตลอดแนวความสูง หรือความยาวให้ได้ระดับที่วัดไว้พอดี หรือใช้เซี้ยมสำเร็จรูปที่ทำจากเหล็ก หรือพลาสติกวางลงไปบนปูนที่ปาดไว้ จากนั้น ปาดปูนทับทั้ง 2 ด้านของผนังอีกที ให้ความหนาปูนเสมอกับแนวสันของเซี้ยมสำเร็จรูป เป็นวิธีที่ง่าย และรวดเร็วกว่า

รวม-คำศัพท์ช่าง-ศัพท์ช่าง-05

8. กรีตผนัง

คือ การกรีตเนื้อวัสดุอิฐ หรือปูน เพื่อเตรียมการฝังอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ท่อร้อยสายไฟ ท่อประปา แผงวงจรไฟฟ้า งานตกแต่งจำพวก คิ้ว หรือบัวตกแต่งผนัง จากนั้น ทำการฉาบปูนปิดรอยให้เรียบร้อย โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการกรีดผนังจะใช้ ลูกหมู หรือเครื่องมืออื่น ๆ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของงาน

9. ชักร่อง

เป็นการทำให้เกิดแนวร่องบนพื้นวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้ ปูน โดยวัสดุไม้จะทำการเซาะร่องตรงขอบระหว่างไม้ 2 แผ่นที่นำมาติดกัน ช่วยลดอันตรายในการเดินบนพื้นไม้ และยังเป็นการเล่นลวดลายให้สวยงาม ส่วนวัสดุปูนจะทำการตีเส้นตามระยะในแบบลงบนผนัง หรือพื้นตามที่ต้องการ โดยใช้วัสดุที่เป็นแท่ง หรือเส้นยาว ๆ เช่น พลาสติก พีวีซี (Polyvinylchloride) ไม้  หรือโฟมเส้น ยึดติดไว้ชั่วคราว ตกแต่งพื้นผิวตามต้องการ เมื่อพื้นผิวเริ่มแห้ง ก็ทำการชักวัสดุนี้ออกได้ ก็จะเกิดเป็นแนวร่องตามที่เราต้องการ

รวม-คำศัพท์ช่าง-ศัพท์ช่าง-06

10. เข้าลิ้น

คือ การเชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ โดยใช้เครื่องไสไม้ ไสด้านสันไม้ให้เป็นร่องเว้าลึกลงไปตามแนวยาว ส่วนอีกฝั่งไสไม้ให้มีลักษณะนูนออกมาคล้ายเดือย นำมาต่อกันคล้ายกับจิ๊กซอว์โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ตะปู หรือสลักมาช่วย เทคนิคนี้ นิยมในการปูพื้นไม้หลาย ๆ แผ่นเข้าด้วยกัน เมื่อประกอบไม้เข้ากันแล้ว จะเหมือนเป็นชิ้นเดียวกัน แยกออกจากกันได้ยาก ทั้งยังแข็งแรง ทนทานในการใช้งานอีกด้วย

13. ลูกฟัก

เป็นคำที่ใช้เรียกช่องสี่เหลี่ยม ที่อยู่ในกรอบของประตู หรือหน้าต่าง จะเห็นเป็นลายช่อง ๆ หรือนูน ๆ นั่นเอง

รวม-คำศัพท์ช่าง-ศัพท์ช่าง-07

14. ตกท้องช้าง

คือ การที่วัสดุพื้น หรือฝ้า ตกในตำแหน่งผิดปกติ เช่น แอ่น หย่อน โค้งงอ ผิดรูป หรือน้ำหนักมากเกินไป ช่างก็มักจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ตกท้องช้างนั่นเอง

13. ลวดกรงไก่

คือ ลวดตาข่ายสี่เหลี่ยม ที่นิยมสร้างไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ หรือจำกัดพื้นเพาะปลูก แต่ในงานก่อสร้างจะใช้เพื่อป้องกันการแตกร้าวของปูนในบริเวณที่เป็นจุดรอยต่อ หรือจุดที่ต้องรับแรงกระแทกบ่อย ๆ การใช้งาน คือ ติดแผงลวดไปที่ผนังอิฐ แล้วฉาบปูนทับอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงนั่นเอง

รวม-คำศัพท์ช่าง-ศัพท์ช่าง-08

14. RB และ DB

คือ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ (Round Bar, RB) และ เหล็กข้ออ้อย (Deformed Bar, DB) สำหรับใช้เสริมแรงให้คอนกรีต สามารถรับแรงดึงได้ เพราะปูนที่ใช้ทำคอนกรีตนั้น สามารถรับได้แต่แรงกดนั่นเอง จึงต้องมีเหล็ก 2 ชนิดนี้ช่วยเสริมเข้าไป

15. เหล็กหนวดกุ้ง

เป็นเหล็กที่เห็นในงานก่อสร้าง แล้วมีเหล็กเส้น ๆ ยื่นออกมา หรือเรียกอีกชื่อว่า เหล็กเดือย เป็นเหล็กที่เสริมแรงยึดให้กับชิ้นส่วนต่าง ๆ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เหล็กข้ออ้อย และ เหล็กกลม โดยการเลือกใช้ขึ้นอยู่กับหน้าที่ และความต้องการในการรับแรงของงานที่จะทำ

รวม-คำศัพท์ช่าง-ศัพท์ช่าง-09

16. เสาเอ็นและทับหลัง

เป็นโครงสร้างรอง มีลักษณะเป็นเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดเล็ก มีขนาดกว้างเท่ากับความหนาของผนัง ฝังไว้โดยรอบช่องเปิด เช่น ประตู หน้าต่าง หรือช่องว่างบนผนัง  ช่วยเสริมให้ช่องเปิดแข็งแรง ทำให้ไม่เกิดรอยแตกร้าวที่มุมขอบช่องเปิด

อ่านบทความ: ทำความรู้จัก คานทับหลัง-เสาเอ็น คืออะไร?

17. เดินลอย

คือ การเดินระบบไฟฟ้า แบบไม่ฝังเข้าไปในผนัง หรือที่เรียกว่า สไตล์ลอฟท์ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา และซ่อมแซมนั่นเอง

รวมคำศัพท์ช่าง-ศัพท์ช่าง10

18. ชั้นลอย

คือ ชั้นในอาคาร ที่อยู่ระหว่างชั้นแรก กับชั้น 2 มีลักษณะเปิดให้เข้าถึงได้จากชั้นล่าง ถูกออกแบบมาให้สูงเป็น 2 เท่าของชั้นปกติ แต่จะไม่นับว่าเป็นชั้น เพราะแยกออกมาต่างหากนั่นเอง

อ่านบทความ: รวม 20 ไอเดีย ชั้นลอย เพิ่มพื้นที่ใช้สอยในบ้าน สวยงาม ลงตัวสุดๆ

19. บันไดพับผ้า

คือ บันได จะมีการทำด้านล่างให้หยักไปตามขั้นบันได เหมาะสำหรับบ้านที่ต้องการโชว์โครงสร้างของตัวบ้าน

อ่านบทความ: “บันได” อะลูมิเนียมที่เราใช้งาน มีกี่ประเภทกันนะ?

รวมคำศัพท์ช่าง-ศัพท์ช่าง11

20. คอนดูด

เป็น ศัพท์ช่าง ที่ใช้เรียก ท่อร้อยสายไฟ แบ่งออก 2 ประเภท คือ ท่อโลหะ และท่อพลาสติก โดยท่อเหล็ก เป็นท่อร้อยสายไฟ ประเภทท่อโลหะ ทำจากเหล็กชุบสังกะสี หากได้ยินช่างคุยกันว่า เดินลอยคอนดูด นั่นก็คือ การเดินท่อโลหะแบบติดตั้งบนผนังโชว์ความลอฟท์นั่นเอง

อ่านบทความ: ท่อร้อยสายไฟ ดีอย่างไร? เดินแบบไหนดีกว่ากัน…

ยังมีอีกหลายคำที่เป็น คำศัพท์ช่าง เฉพาะของงานก่อสร้าง สุดท้ายการจะสร้าง บ้านด้วยตัวเองสักหลัง ไม่ใช่แค่รู้ถึงศัพท์ช่าง หรือผู้รับเหมาใช้คุยกัน แต่ต้องเข้าใจถึงขั้นตอนการทำงานด้วย และควรเลือกช่าง หรือผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ และเชื่อถือได้ เพื่องานที่ออกมาอย่าง มีประสิทธิภาพนั่นเอง

บทความดี ๆ น่าอ่าน:

KACHA ผู้จัดจำหน่าย รอกโซ่ รอกโซ่มือสาว เครนยกของ และอุปกรณ์เสริมสำหรับงานช่าง ต่าง ๆ ราคาจับต้องได้ สินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจ นอกจากนี้ บริษัทของเรา ยังมีบริการรับ สร้างโกดัง สร้างโรงงาน สร้างคลังสินค้าต่าง ๆ จากช่างมืออาชีพที่มีประสบการณ์ การันตีผ่านมาตรฐานก่อสร้าง และความปลอดภัยต่าง ๆ เข้าชมเว็บไซต์ www.kacha.co.th

อ้างอิงข้อมูลจาก : SCG Building Materials