ช่างไฟฟ้า ความรู้เบื้องต้นที่ต้องรู้ มีอะไรบ้าง?
ช่างไฟฟ้า อีกหนึ่งอาชีพที่มีความน่าสนใจ เพราะอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ล้วนเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้มีความชำนาญ เฉพาะทาง ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อันเกิดขึ้นกับไฟฟ้าภายในบ้าน จึงทำให้สาขาวิชานี้ แทบไม่มีโอกาสตกงาน ถ้าไม่เลือกงาน และมีความสามารถมากพอ อีกทั้งยังสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปอย่างสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จนกลายเป็นวิศวกรได้อีกด้วย
บทความนี้ KACHA จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ช่างไฟฟ้า คืออะไร? และจะต้องรู้อะไรบ้าง? เครื่องมือสำหรับช่างไฟฟ้า และแนวทางการศึกษาสำหรับคนที่ต้องการเดินสายอาชีพนี้เป็นอย่างไร?
สิ่งที่ช่างไฟฟ้าควรรู้ มีอะไรบ้าง?
-
ชนิดของไฟฟ้า
ไฟฟ้า สามารถเกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดหลาย ๆ แบบ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ดังนี้ ไฟฟ้ากระแสตรง (Direct current หรือ D.C .) เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีทิศทางการไหลไปทางเดียวกัน โดยตลอดระยะทางที่วงจรกระแสไฟฟ้าปิด เช่น ถ่านไฟฉาย ไดนาโม เป็นต้น ไฟฟ้ากระแสสสลับ (Alternating current หรือ A.C.) เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีการไหลวนเวียนกลับไปกลับมา ทั้งขนาดของกระแสไฟฟ้า และแรงดันไม่คงที่ จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คือ กระแสไฟฟ้าจะไหลไปทางหนึ่งก่อนต่อมาจะไหลสวนกลับการไหลไปมา 1 รอบ เรียกว่า 1 ไซเกิล (Cycle) และความถี่หมายถึงจำนวนไซเกิล ในประเทศไทยนิยมใช้กระแสไฟฟ้าที่มีความถี่ 50 เฮิรตซ์ หรือ 50 รอบ ต่อ 1 วินาที
-
คุณสมบัติของกระแสไฟฟ้า
นอกจากรู้ว่า ไฟฟ้า มีแบบกระแสตรง และกระแสสลับ ช่างไฟฟ้าก็ควรรู้คุณสมบัติของไฟฟ้าแต่ละชนิดด้วย เช่น ไฟฟ้ากระแสตรง มีค่าแรงดัน หรือแรงเคลื่อนไฟฟ้าเป็นบวกเสมอ สามารถเก็บประจุไว้ในเซลล์ หรือแบตเตอรี่ได้ ส่วนกระแสไฟฟ้าสลับ มีคุณสมบัติ คือ สามารถส่งไปที่ไกล ๆ ได้ดี กำลังไม่ตก และสามารถแปลงแรงดันให้สูงขึ้น หรือต่ำลงตามความต้องการด้วยการใช้หม้อแปลง
-
วงจรไฟฟ้า (Circuit)
วงจรไฟฟ้า หมายถึง ทางเดินของกระแสไฟฟ้า ซึ่งไหลมาจากแหล่งกำเนิดผ่านไปยังตัวนำ และเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ โหลด (Load) แล้วไหลกลับไปยังแหล่งกำเนิด โดยมีวิธีการต่อวงจรไฟฟ้าหลายวิธี เช่น การต่อแบบแบบอนุกรม (Series Circuit) โดยเอาปลายด้านหนึ่งต่อกับปลายอีกด้านหนึ่งต่อเรียงไปเรื่อย ๆ การต่อไฟฟ้าแบบอนุกรมส่วนใหญ่ จะไม่นิยมใช้ในการต่อวงจรทั่วไป การต่อวงจรไฟฟ้าแบบขนาน (Parallel Circuit) เป็นการต่อวงจรที่ใช้ทั่วไปกับไฟฟ้าแสงสว่าง และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเรือน เช่น พัดลม หม้อหุงข้าว เตารีด เป็นต้น
การต่อวงจรแบบผสม (Compound Circuit) เป็นการต่อโดยการนำแบบอนุกรม และขนานต่อ ร่วมเข้าไปในวงจรเดียวกัน การต่อแบบนี้ นิยมใช้อุปกรณ์อีเล็คโทรนิกส์ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
อุปกรณ์ช่างไฟฟ้าที่ควรรู้จัก มีอะไรบ้าง?
อาชีพช่างไฟฟ้าทำงานบนความเสี่ยง เพราะอันตรายจากกระแสไฟฟ้า หากไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น คนทำงานเป็นช่างซ่อมไฟฟ้า จึงต้องรู้จักการใช้เครื่องมือให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง โดยมีเครื่องมือที่ควรรู้จัก ดังนี้
- ไขควง มีทั้งไขควง ปากแบบ ปากแฉก ขึ้นอยู่กับการใช้งานในแต่ละสถานที่
- ไขควงวัดไฟ แตกต่างจากไขควงสกรู เพราะไขควงวัดไฟ จะมีหลอดไฟอยู่ที่ด้าม ใช้ในการทดสอบวงจรไฟฟ้า
- มีดคัตเตอร์ สำหรับใช้ในการปอกฉนวน ตัด หรือควั่นสายไฟฟ้า
- คีม มีทั้งคีมตัด คีมปากแบน คีมปากจิ้งจก คีมปอกสาย คุณประโยชน์ในการใช้งาน จะแตกต่างกันออกไป
- สว่าน ใช้ในการเจาะยึดอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยมีหลายประเภทเช่น สว่าน ข้อเสือ สว่านเฟือง สว่านไฟฟ้า เป็นต้น
- ค้อน ใช้ในการตอกตะปู เพื่อยึดเข็มขัดรัดสาย สายไฟ มีทั้งสายไฟแรงสูง และสายไฟทั่วไป (สายไฟในบ้าน) ซึ่งการเดินสายไฟ ก็จะมีทั้งแบบเดินสายคู่ และเดินสายเดี่ยว แล้วแต่ประเภทของงาน
- ฟิวส์ ทำด้วยโลหะผสมระหว่างตะกั่ว และดีบุก ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้ามามากเกินไป
- สวิตซ์ เป็นอุปกรณ์ที่ตัดต่อวงจรไฟฟ้า ในส่วนที่ต้องการทำหน้าที่คล้ายสะพานไฟ
- สะพานไฟ เป็นอุปกรณ์สำหรับตัดต่อวงจรไฟฟ้า
- สตาร์ตเตอร์ ทำหน้าที่ต่อวงจร หรือตัดวงจรอุ่นไส้ของหลอดไฟฟ้า
- บัลลาสต์ ทำหน้าที่เพิ่มความต่างศักย์ไฟฟ้า
- มิเตอร์ไฟฟ้า ใช้สำหรับการทดสอบวงจรไฟฟ้า มีหลายแบบ เช่น แกลแวนนอมิเตอร์, แอมมิเตอร์, โวลต์มิเตอร์, มัลติมิเตอร์ เป็นต้น
ช่างไฟฟ้าและช่างอิเล็กทรอนิกส์ ต่างกันอย่างไร?
1) หลักสูตรการเรียน
- ช่างไฟฟ้า: เรียนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เช่น การเดินสายไฟฟ้าในบ้าน ติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ การตรวจเช็กระบบไฟฟ้า การวางระบบวงจรไฟฟ้า การแก้ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับไฟฟ้า การตรวจซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น
- ช่างอิเล็กทรอนิกส์: เรียนเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รูปแบบวงจร และอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ การบำรุงรักษา การแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์
2) ลักษณะอาชีพ
- ช่างไฟฟ้า: ใช้ทฤษฎีความรู้หลักการทางไฟฟ้า วิธีทดสอบไฟฟ้า และวิชาการที่เกี่ยวข้องมาผลิต ก่อสร้าง ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ ใช้งาน ดูแล แก้ไข เปลี่ยนแปลง บำรุงรักษา ซ่อมแซม และปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ และส่วนประกอบอื่น ๆ ตรวจหาสาเหตุ และแก้ไขระบบไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าขัดข้องหรือไม่ทำงาน ปฏิบัติงานด้านอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากวิศวกรไฟฟ้า
- ช่างอิเล็กทรอนิกส์: ใช้ทฤษฎีความรู้หลักการ และกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์มาออกแบบ สร้าง วิเคราะห์ วางแผน บำรุงรักษาเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิบัติงานอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป อิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม เทคนิคคอมพิวเตอร์ เทคนิคระบบสื่อสาร และเครื่องกลอิเล็กทรอนิกส์ ตรวจซ่อมเครื่องจักรกลอัตโนมัติที่ใช้ร่วมกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิบัติงานด้านอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์
3) คุณสมบัติ
- ช่างไฟฟ้า: นอกจากต้องสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ควรต้องมีความคล่องแคล่วในการใช้มือ กระฉับกระเฉง ช่างสังเกต ไม่เป็นตาบอดสี เพราะต้องบอกประเภทการใช้งานสายไฟที่มีสีต่าง ๆ ของฉนวนเป็นตัวกำหนด และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
- ช่างอิเล็กทรอนิกส์: นอกจากสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร และมีร่างกายแข็งแรงแล้ว ควรต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ คล่องแคล่ว ช่างสังเกต ไม่เป็นตาบอดสี มือและสมองทำงานพร้อมกันได้ตลอดเวลา ชอบคิดคำนวณ มีความคิดสร้างสรรค์ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
4) แหล่งงาน
- ช่างไฟฟ้า: ส่วนใหญ่ทำงานให้ผู้รับเหมางานด้านไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ องค์กรของรัฐบาลและเอกชน ให้บริการด้านไฟฟ้ากับหน่วยงานของตนเอง ส่วนช่างไฟฟ้าที่ทำงานอิสระ มักจะรับเหมางานเอง แหล่งงานส่วนใหญ่ จึงอยู่ในเขตอุตสาหกรรม และพื้นที่กำลังพัฒนา
- ช่างอิเล็กทรอนิกส์: เลือกได้ทั้งการรับงานอิสระ รับซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรือจะรับราชการ งานรัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐบาล และเอกชน โรงงานอุตสาหกรรม ดูแลระบบเครือข่ายสัญญาณ ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ และระบบการสื่อสารต่าง ๆ
5) โอกาสในการทำงาน
- ช่างไฟฟ้า: มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าในองค์กร และที่บ้านยังเป็นสิ่งจำเป็นและมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โอกาสของช่างไฟฟ้า จึงสูงตามประสบการณ์ และความชำนาญ สามารถเป็นที่ปรึกษา ผู้ควบคุม ผู้ให้คำแนะนำทางเทคนิคได้ ที่สำคัญช่างไฟฟ้าเปลี่ยนไปทำงานไฟฟ้าด้านอื่นได้ เช่น ช่างซ่อมบำรุงไฟฟ้า ในหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น
- ช่างอิเล็กทรอนิกส์: มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และยังมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ยิ่งมีประสบการณ์ และความชำนาญมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการ และในอนาคตความต้องการในการควบคุมระบบที่อัตโนมัติ และมีความแน่นอน จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยควบคุม อย่างระบบการสื่อสารคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
6) รายได้
- ช่างไฟฟ้า: ช่วงแรกอาจไม่มากนัก แต่เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น รายได้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อดี คือ ชั่วโมงการทำงาน และรายได้มีความสม่ำเสมอ และสูงกว่าช่างอื่น ๆ ในสายงานก่อสร้าง
- ช่างอิเล็กทรอนิกส์: รายได้เพิ่มขึ้นเมื่อความชำนาญมากขึ้นเช่นเดียวกับช่างไฟฟ้า ข้อดี คือ อาจมีการทำงานล่วงเวลา เพราะความจำเป็นที่เร่งด่วน ทำให้โอกาสได้เงินพิเศษมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นช่างไฟฟ้า หรือช่างอิเล็กทรอนิกส์ ตัดสินใจเลือกทั้งทีให้ดูที่ความชอบ และความถนัดไปพร้อม ๆ กัน เพราะเมื่อเราได้ทำงานที่เรารัก และรู้สึกรักในงานที่ทำ ก็จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะพัฒนาความชำนาญของตนเองให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเรามีความชำนาญ มีประสบการณ์ที่มากขึ้น โอกาส และรายได้ที่ดี ย่อมตามมาเอง
อย่างไรก็ตามการเป็นช่างไฟฟ้า สิ่งที่ต้องมีคือความละเอียด รอบคอบ เพราะไฟฟ้ามีความอันตรายอยู่ในตัวเอง การประมาทแม้เพียงนิดเดียว โดยไม่ป้องกันหรือคิดว่าไม่อันตราย อาจนำมาสู่ความเสียหายต่อชีวิตได้ การเป็นช่างไฟฟ้าที่ดีจึงต้องค่อย ๆ สะสมประสบการณ์ และทำงานอย่างใจเย็น เพื่อให้ประสบความสำเร็จได้อย่างที่ใจต้องการ
สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย
สำหรับใครที่สนใจตัวช่วยในการเก็บอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ เราขอแนะนำ ที่แขวนเครื่องมือช่าง สินค้าคุณภาพจาก KACHA รับรองความปลอดภัย พร้อมให้บริการหลังการขายสุดประทับใจอย่างแน่นอน