เรียกได้ว่าการ ต่อเติมห้องข้างบ้าน เป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านหลาย ๆ คน คิดอยากจะทำ เนื่องจากบ้านส่วนใหญ่ จะมีพื้นที่โล่งข้างบ้าน ที่ไม่ค่อยได้ใช้งานอยู่ ถ้าหากมีการ ต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นห้อง หรือพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ได้ ก็จะทำให้พื้นที่ใช้สอยของบ้านเพิ่มมากขึ้น บทความนี้ KACHA จะพาไปดูไอเดีย ต่อเติมข้างบ้าน ที่นอกจากจะมีแบบที่อยากทำในใจแล้ว ยังมีปัจจัยหลายข้อที่ต้องรู้ก่อน เพื่อไม่ให้การต่อเติมข้างบ้านสร้างปัญหาใหญ่ตามมาภายหลัง จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกัน

การต่อเติมข้างบ้าน คือ?

การต่อเติมข้างบ้าน เป็นการต่อเติม เพื่อเพิ่ม หรือขยายขอบเขต ในบริเวณด้านข้างตัวบ้าน เช่น สวนข้างบ้าน พื้นที่โล่ง พื้นระเบียง ให้เป็นเฉลียงข้างบ้าน หรือสร้างเป็นห้องปิดที่มีผนัง ที่ทำให้บ้านมีพื้นที่ในการใช้สอยเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

แนะนำไอเดีย ต่อเติมข้างบ้าน มีอะไรบ้าง?

เมื่ออยากต่อเติมบ้าน ต่อเติมห้องข้างบ้าน สามารถทำได้ ขอแนะนำ ไอเดียต่อเติมข้างบ้าน ที่ได้รับความนิยม ได้แก่

พื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน

แบบการต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นพื้นที่นั่งเล่น สามารถทำได้ทั้งแบบกลางแจ้ง หรือต่อเติมให้เป็นห้องแบบปิดก็ได้เช่นกัน

  • การต่อเติมพื้นที่นั่งเล่นข้างบ้าน แบบกลางแจ้ง เพื่อให้คนในบ้าน สามารถออกมานั่งเล่น ผ่อนคลาย หรือใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือใช้รองรับแขก โดยจะใช้การต่อเติมพื้นให้ยกขึ้นมาจากพื้นดิน สำหรับการวางเฟอร์นิเจอร์ เช่น โซฟา เก้าอี้ โต๊ะขนาดใหญ่ และต่อเติมหลังคา สำหรับกันแดดกันฝน ให้สามารถใช้พื้นที่นี้ได้ตลอดทั้งวัน
  • การต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นห้องนั่งเล่นแบบปิด จะเป็นการต่อเติมผนัง และหลังคาเพิ่มเข้า มาจากโครงสร้างบ้านเดิม เพื่อให้ตัวบ้าน มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้น โดยอาจเลือกใช้วัสดุกระจก ที่ปล่อยให้แสงธรรมชาติส่องได้ตลอดทั้งวัน และยังช่วยให้พื้นที่ ที่ต่อเติมขึ้นมา ดูปลอดโปร่ง สบายตามากขึ้น
220818-Content-ต่อเติมข้างบ้านเมื่อพื้นที่เหลือ-ก่อนต่อเติม-ต้องคำนึงอะไรบ้าง02

รูปภาพจาก : (ซ้าย) casadevalentina.com, (ขวา) parati.com

พื้นที่รับประทานอาหาร

สำหรับแบบต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นพื้นที่รับประทานอาหาร สามารถทำได้ ทั้งแบบกลางแจ้ง มีหลังคา และต่อเติมเป็นห้องปิด ที่เชื่อมกับตัวบ้านได้ โดยการต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นพื้นที่รับประทานอาหาร แบบกลางแจ้ง ด้วยการต่อเติมพื้น และหลังคาข้างบ้าน จะช่วยเพิ่มบรรยากาศ ของการทานอาหารได้ เช่น การกินเลี้ยงสังสรรค์ การทำอาหารกลางแจ้ง เป็นต้น

ข้อควรคำนึง ในส่วนการออกแบบพื้นที่ จะต้องดูความเหมาะสมให้ดี โดยหากมีเพื่อนบ้านที่ติดกัน การประกอบอาหารกลางแจ้ง อาจจะต้องเลี่ยงไป และถ้าอยากให้เป็นพื้นที่สังสรรค์ ก็อาจจะต้องก่อสร้างให้เป็นห้องปิด เพื่อไม่ให้มีเสียงรบกวนไปบริเวณใกล้เคียง

ห้องสำหรับทำงาน งานอดิเรกต่าง ๆ

อีกหนึ่งแบบต่อเติมข้างบ้าน ที่ช่วยให้มีพื้นที่ของการทำงาน หรือทำงานอดิเรก แยกออกจากพื้นที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมุมส่วนตัว ให้สามารถมีสมาธิกับงานที่ทำอยู่ ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ ให้มีความคล่องตัว ในการทำงาน และการจัดเก็บข้าวของต่าง ๆ ได้อย่างเป็นสัดส่วนอีกด้วย

  • การต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นห้องทำงาน จะเป็นการก่อผนังขึ้นมา ให้เป็นอีกห้องหนึ่ง ที่เชื่อมต่อกับตัวบ้านได้ และภายในห้อง จะใช้เฟอร์นิเจอร์ที่รองรับการทำงานได้อย่างคล่องตัว ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะทำงาน ตู้แบบลอยตัว ชั้นวางของ รวมไปถึงมุมพักผ่อนเล็ก ๆ สำหรับผ่อนคลายความเหนื่อยล้า ที่สามารถมองออกไป ยังสวนนอกบ้านได้
  • การต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นห้องทำงานอดิเรกต่าง ๆ เช่น ทำสวน วาดภาพ ทำงานฝีมือ สามารถก่อผนัง ให้เป็นห้องที่เชื่อมกับตัวบ้าน มีช่องแสงธรรมชาติ และทำเป็นมุมหันเข้าผนัง สำหรับนั่งทำงาน พร้อมกับออกแบบตู้เก็บของ ที่มีลิ้นชัก หรือช่องวางของ ที่มีจำนวนมาก สำหรับเก็บของให้เป็นระเบียบ

ห้องสำหรับเลี้ยงสัตว์ ระบบปิด

สำหรับบ้านที่เลี้ยงสัตว์ภายในบ้าน แบบระบบปิด สามารถต่อเติมข้างบ้าน ให้เป็นห้องสำหรับสัตว์เลี้ยงได้ ซึ่งจะช่วยให้สัตว์เลี้ยง ได้มีพื้นที่อยู่อาศัยแยกออกจากตัวบ้าน ที่สามารถควบคุมได้ ทั้งเรื่องกลิ่น และการหมุนเวียนอากาศ

  • การออกแบบต่อเติมข้างบ้าน สำหรับเลี้ยงสัตว์ ระบบปิด สามารถสร้างเป็นห้องกระจก ที่สัตว์เลี้ยง สามารถมองออกไปภายนอกได้ตลอดเวลา รวมไปถึงมีช่องแสง ที่ช่วยให้สัตว์เลี้ยงได้ผ่อนคลาย แต่ถ้าหากบริเวณข้างบ้านมีเพื่อนบ้านอยู่ ต้องออกแบบช่องหน้าต่าง และช่องระบายอากาศ ให้เหมาะสม ไม่รบกวนเพื่อนบ้านทั้งเรื่องกลิ่น และเสียงด้วย

ห้องเก็บของ

อีกหนึ่งห้องที่หลายบ้านอยากมีเพิ่ม สำหรับเก็บข้าวของ ที่ไม่ได้ใช้งานบ่อย หรือจัดทำพื้นที่ สำหรับสต๊อกสินค้าก่อนส่งขาย เพื่อให้ภายในบ้าน ยังคงเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีพื้นที่ใช้สอยได้อย่างปกติ

  • การออกแบบต่อเติมข้างบ้าน เพื่อทำเป็นห้องเก็บของ สามารถทำได้โดย การต่อเติมผนัง และหลังคา เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวของ ที่เก็บด้านในเสียหาย ซึ่งห้องนี้ ถ้าหากไม่ได้ใช้งานบ่อย ไม่จำเป็นต้องทำภายในให้เชื่อมกับตัวบ้านก็ได้ แต่ก็ควรทำประตูเข้า-ออกให้มิดชิดแน่นหนา และมีหน้าต่างเล็ก ๆ สำหรับระบายอากาศ

อ่านบทความ : ห้องเก็บของ สำคัญอย่างไร? พร้อมวิธีจัดเก็บของให้เป็นระเบียบ

อยากต่อเติมข้างบ้าน ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

การต่อเติมข้างบ้าน เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับตัวบ้าน สิ่งที่ต้องคำนึง ก่อนการวางแผน เริ่มงานก่อสร้าง เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร หรือเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาในภายหลังด้วย โดยสิ่งที่ต้องคำนึงในการวางแผนต่อเติมข้างบ้าน ได้แก่

ระยะห่างระหว่างตัวบ้าน และที่ดินบ้านใกล้เคียง

ก่อนที่จะเริ่ม ต่อเติมห้องข้างบ้าน สิ่งแรกที่จะต้องดู คือ เรื่องของระยะห่าง ระหว่างโครงสร้างที่จะต่อเติม กับที่แนวเขตดินบ้านติดกันว่า ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาภายหลังจากการก่อสร้างไปแล้ว โดยระยะห่างระหว่างตัวบ้าน และที่ดินของบ้านที่ติดกัน มีข้อกำหนด ดังนี้

  • การต่อเติมข้างบ้าน แบบเป็นผนังทึบไม่มีช่องแสง จะต้องห่างจากแนวเขตที่ดินบ้านที่อยู่ติดกันไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร 
  • การต่อเติมข้างบ้าน แบบมีประตู หน้าต่าง กระจกใส ช่องลมระบายอากาศ ช่องแสง จะต้องห่างจากแนวเขตที่ดินบ้านที่อยู่ติดกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร
  • การต่อเติมหลังคา หรือกันสาด จะต้องห่างจากแนวเขตที่ดินบ้านที่อยู่ติดกันไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

แต่ถ้าหากต้องการต่อเติมให้ชิดกับแนวเขตที่ดินบ้านที่อยู่ติดกัน สามารถเจรจากับเพื่อนบ้านฝั่งที่จะต่อเติม และหากเพื่อนบ้านยินยอม ก็จะต้องทำหนังสือยินยอมให้เป็นลายลักษณ์อักษรให้เรียบร้อย จึงจะสามารถต่อเติมให้ชิดกับแนวเขตที่ดินบ้านที่อยู่ติดกันได้

ผลกระทบต่อโครงสร้าง

ในการต่อเติมข้างบ้าน จะเป็นการก่อสร้างโครงสร้างใหม่ ให้เข้ากับโครงสร้างบ้านเดิม ซึ่งปัญหาเรื่องการทรุดตัว จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจาก โครงสร้างบ้านเดิม จะอยู่บนเสาเข็มที่ตอกไปแล้ว แต่เมื่อมีการต่อเติมผนัง ที่เป็นโครงสร้างเพิ่มขึ้นมา ปัญหาที่พบได้บ่อย จะเป็นเรื่อง การทรุดตัว แตกร้าว เกิดรอยแยกของผนังออกจากอาคารเดิม รอยต่อหลังคาเกิดการรั่วซึม ซึ่งถ้าหากจะป้องกัน ไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น สามารถทำได้ด้วยการตอกเสาเข็มเพิ่ม สำหรับโครงสร้างใหม่ และต้องวางแผนป้องกันล่วงหน้าเอาไว้ให้ดี ในบริเวณที่เชื่อมกันระหว่างส่วนที่ต่อเติม และโครงสร้างเดิม เพื่อป้องกันปัญหารั่วซึมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ขนาดของการต่อเติม

ในการต่อเติมบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ข้างบ้าน หน้าบ้าน หรือหลังบ้าน จะไม่สามารถต่อเติม แบบปิดทึบทั้งหมด จนเต็มที่ดินได้ เนื่องจาก มีกฎหมายเกี่ยวกับการร่นระยะอาคาร และที่เว้นว่างอยู่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2543 เพื่อความปลอดภัย เมื่อเกิดอัคคีภัย ง่ายต่อการก่อสร้าง หรือซ่อมแซม รวมไปถึงสร้างสุขอนามัยให้กับการอยู่อาศัยที่ดีด้วย

ระยะร่น จะวัดตำแหน่งจากถนนสาธารณะ ไปจนถึงแนวอาคาร ส่วนที่เว้นว่าง จะวัดจากเขตที่ดิน จนถึงแนวอาคาร ทั้งจากด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง ซึ่งถ้าหากเป็นที่อยู่อาศัยตามกฎหมายแล้ว จะต้องมีพื้นที่ว่างภายนอกอาคาร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ชั้นที่กว้างที่สุด

ความยิมยอมของเพื่อนบ้าน

ถึงแม้ว่าการวางแผนต่อเติมข้างบ้านของคุณ จะขออนุญาตอย่างถูกกฎหมาย และคำนวณพื้นที่มาอย่างดีแล้ว ว่าจะไม่กระทบกับเพื่อนบ้านรั้วติดกัน แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจทั้งสองฝ่าย ควรจะแจ้งกับเพื่อนบ้านไปก่อนว่า เราจะทำการต่อเติมบ้าน ในวันไหน ช่วงเวลาไหน และเสร็จสิ้นเมื่อไร เพราะถ้าหากไม่มีการแจ้งให้เพื่อนบ้าน ทราบก่อน และมีการต่อเติม ที่ส่งผลกระทบ ทั้งเรื่อง เสียง ฝุ่น หรือมลภาวะต่าง ๆ ก็อาจจะเสี่ยงที่เรา จะถูกฟ้องร้องได้

การขออนุญาตต่อเติมบ้าน

ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในการก่อสร้าง ดัดแปลง ต่อเติมบ้านจะต้องขออนุญาตต่อเติมให้ถูกกฎหมาย เช่น การต่อเติมพื้นที่ข้างบ้าน มากกว่า 5 ตารางเมตรขึ้นไป เจ้าของบ้าน จะต้องทำหนังสือขออนุญาต และยื่นให้กับเจ้าพนักงานของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาก่อน เพื่อป้องกันการถูกสั่งรื้อ เพราะต่อเติมบ้านอย่างผิดกฎหมาย ที่จะต้องเสียทั้งเวลา และเงินในการรื้อถอน โดยเอกสาร ในการขออนุญาตที่ต้องเตรียม มีดังนี้

  • แบบขออนุญาตก่อสร้าง (แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน)
  • รายการคำนวณจากวิศวกร
  • หนังสือยินยอมจากเพื่อนบ้าน ในกรณีที่ต่อเติมข้างบ้าน ชิดกับแนวเขตที่ดินบ้าน ที่อยู่ติดกัน
  • สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาโฉนดที่ดิน
  • เอกสารจากเขต 

แต่ก็มีข้อกำหนด สำหรับการต่อเติมบ้าน ที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต และยังถูกกฎหมาย ซึ่งได้แก่

  • การเพิ่มหรือลดพื้นที่ไม่เกิน 5 ตารางเมตร
  • การเพิ่ม หรือลดพื้นที่หลังคา ไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่เพิ่ม หรือลดจำนวนคาน หรือเสา
  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ด้วยวัสดุเดิมขนาด ชนิดเดิม จำนวนเท่าเดิม 
  • การเปลี่ยนแปลงส่วนใด ๆ ที่ไม่ใช่โครงสร้างเดิม และไม่เพิ่มน้ำหนัก ให้โครงสร้างเดิม เกิน 10%
  • การเปลี่ยนแปลง ต่อเติม เพิ่ม ลด เนื้อที่ส่วนต่าง ๆ ของบ้าน ที่ไม่เพิ่มน้ำหนัก ให้โครงสร้างเดิม เกิน 10%

แต่ถ้าหากคุณพบว่า ในการต่อเติมข้างบ้าน ไม่เข้าเกณฑ์ตามข้อกำหนด จะต้องทำเรื่องขออนุญาตต่อเติมให้ถูกกฎหมายด้วย

เห็นไหมว่า การต่อเติมข้างบ้านนั้น ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากจนเกินไป หากคุณได้มีการศึกษา วางแผน สำรวจไลฟ์สไตล์ของสมาชิกภายในครอบครัว  คุณก็จะได้ห้องข้างบ้านในฝัน ที่ตอบโจทย์ทุกการใช้งานได้อย่างแท้จริงแล้ว บทความหน้าจะมีอะไรดี ๆ มาฝากอีกนั้น ติดตามเหมือนเดินนะจ๊ะ ????

● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● 

KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!

เลือกดูสินค้าจาก KACHA คลิกเลย ????????

อ้างอิงข้อมูลจาก blog.ghbank.co.th