ถังดับเพลิง อุปกรณ์ฉุกเฉิน เลือกแบบไหนดี?
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ป้องกันภัยต่าง ๆ ให้เลือกมากมาย เช่น เครื่องตัดกระแสไฟรั่วอัตโนมัติ เครื่องตรวจจับควัน เป็นต้น และมีอีกอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น คือ ถังดับเพลิง ที่ควรมีติดบ้านไว้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเกิดพลิงไหม้เล็ก ๆ เราสามารถใช้งานได้ทันที โดยมีหลายประเภทให้เลือกตามเชื้อเพลิงที่ต้องการดับ เช่น กระดาษ ไม้ ผ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้น เราจึงควรเลือกมาใช้ให้เหมาะสมกับงาน เพื่อความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ต้องจ่ายไป
ตาม KACHA ไปรู้จักกับ “ถังดับเพลิง” กันให้มากขึ้นกันดีกว่า
ถังดับเพลิง คืออะไร?
ถังดับเพลิง เป็นอุปกรณ์ดับเพลิงแบบเคลื่อนที่ ประกอบด้วยถังแรงดัน ซึ่งบรรจุน้ำหรือสารเคมีดับไฟอื่นๆ พร้อมมือจับ ไกเปิด/ปิด สลักนิรภัย และสายฉีด ออกแบบไว้สำหรับการดับเพลิงไหม้เล็กน้อย เพื่อไม่ให้บานปลาย ทั้งนี้ประสิทธิภาพการดับไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับชนิดของสารดับเพลิงซึ่งบรรจุอยู่ในถัง อาทิ ผงเคมีแห้ง, คาร์บอนไดออกไซค์,โฟม หรือเคมีสูตรน้ำ ดังนั้นก่อนเลือกถังดับเพลิงมาใช้งาน ให้เราดูที่ฉลากข้างตัวถัง ซึ่งจะระบุประเภท A, B, C, D หรือ K ซึ่งหมายถึงถังชนิดนั้น มีความสามารถในการดับไฟอะไรได้บ้าง เช่น
- ประเภท A เพลิงไหม้ที่เกิดจากเชื้อเพลิงของแข็ง เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ ยาง พลาสติก เป็นต้น
- ประเภท B เพลิงไหม้ในของเหลวติดไฟและก๊าซติดไฟ เช่น น้ำมัน ทินเนอร์ ก๊าซหุงต้ม จาระบี
- ประเภท C เพลิงไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า และมีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่ เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร
- ประเภท D เพลิงไหม้ที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของโลหะ
- ประเภท K เพลิงไหม้ที่เกิดจากน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร และไขมันสัตว์
ประเภทของไฟถังดับเพลิง
-
ถังชนิดผงเคมีแห้ง
ส่วนใหญ่เป็นสีแดง สามารถดับไฟได้เกือบทุกประเภท A, B, C ยกเว้น K มีราคาไม่แพง หาซื้อง่าย แต่ก็มีข้อด้อย คือ เมื่อฉีดออกมาจะฟุ้งกระจาย ทิ้งคราบเปื้อนเหมือนผงแป้งสีขาว และเมื่อฉีดแล้วจะหมดหรือไม่หมด แรงดันจะตก ไม่สามารถใช้งานได้อีก ต้องส่งบรรจุใหม่ อายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี
-
ถังชนิดผงเคมีสูตรน้ำ (Halotron)
สีเขียว ๆ เมื่อฉีดแล้วจะระเหยไปเอง ไม่ทิ้งคราบสกปรก สามารถดับไฟได้ทุกประเภท A, B, C มีราคาสูง เหมาะกับการใช้งานในห้องที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ
-
ถังชนิดที่บรรจุสารฮาโลตรอน
หรือน้ำยาที่มีชื่อว่า “ABFFC” ที่ใช้สำหรับการดับไฟได้ดี ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า สามารถดับไฟได้ทุกประเภท A, B, C หรือ K ราคาจะสูงกว่าถังชนิดผงเคมีแห้ง เหมาะกับใช้งานในบ้าน เพราะสามารถดับไฟที่เกิดจากน้ำมันทอดในครัวเรือนได้ และหากมีการใช้งานแล้ว แต่ยังไม่หมด สามารถใช้งานต่อจนหมดได้ ตัวถังมีหลายสี ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เช่น สีฟ้า สแตนเลส หรือสีเขียว
-
ถังชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์
มีสีแดง ปลายกระบอกฉีดจะใหญ่เป็นพิเศษ เมื่อฉีดออกมาจะมีไอเย็นจัด คล้ายน้ำแข็งแห้ง ช่วยลดความร้อนของไฟไหม้ได้ ไม่ทิ้งคราบสปรก สามารถดับไฟประเภท B, C ได้ เหมาะกับห้องที่มีเครื่องจักรกลต่าง ๆ
-
ถังชนิดบรรจุโฟม
เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฟองโฟมคลุมผิวเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ จึงสามารถดับไฟประเภท A, B แต่ไม่สามารถดับไฟประเภท C ได้ เพราะเป็นสื่อนำไฟฟ้า เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรม ใช้ดับเชื้อเพลิงพวกทินเนอร์ และสารละเหยติดไฟ
วิธีการใช้ถังดับเพลิง
- เข้าไปทางเหนือลม โดยห่างจากฐานของไฟประมาณ 2-3 เมตร
- ดึงสลัก หรือลวดที่รั้งวาล์วออก
- ยกหัวฉีดปากกลวยชี้ไปที่ฐานของไฟ (ทำมุมประมาณ 45 องศา)
- บีบไก เพื่อเปิดวาล์วให้ก๊าซพุ่งออกมา
- ให้ฉีดไปตามทางยาว และกราดหัวฉีดไปช้า ๆ
- ดับให้สนิทจนแน่ใจแล้ว จึงฉีดต่อไปข้างหน้า
การติดตั้งและดูแลรักษาถังดับเพลิง
- ให้พิจารณาดูว่าพื้นที่ส่วนใดของบ้าน มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้จากเชื้อเพลิงชนิดใด ให้จัดวางถังดับเพลิงให้ถูกต้องตามประเภทของไฟที่เกิดขึ้น เช่น ไม้ กระดาษ น้ำมัน หรือไฟฟ้า ถ้าไม่มีพื้นที่วางถังดับเพลิงให้ยึดติดกับผนัง โดยให้สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 1 เมตร แต่ไม่ควรเกิน 1.50 เมตร เพราะจะหยิบมาใช้งานได้ไม่สะดวก
- มีป้าย หรือสัญลักษณ์บอกประเภทของถังดับเพลิงที่ชัดเจน รวมถึงวิธีการใช้งาน ณ จุดติดตั้ง
- การตรวจสอบสภาพของถังดับเพลิง อาจทำเป็นป้ายกำกับแขวนไว้ที่ตัวถัง เพื่อให้รู้ว่ามีการตรวจสอบครั้งล่าสุดเมื่อใด วิธีการตรวจสอบว่าถังดับเพลิงยังอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ให้ดูที่เข็มในมาตรวัด (Pressure Gauge) ของถังดับเพลิง ถ้าถังดับเพลิงอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เข็มจะชี้ที่ช่องสีเขียว แต่ถ้าเข็มเอียงมาทางซ้ายแสดงว่าแรงดันไม่มี ต้องรีบนำไปเติมแรงดันใหม่ ทั้งนี้เราควรหมั่นตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน
- สำหรับอายุการใช้งาน ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (ถังสีแดง) มีอายุประมาณ 5 ปี ส่วนชนิดฮาโลตรอนวัน (ถังสีเขียว) และชนิดก๊าซ CO2 มีอายุประมาณ 10 ปี และถึงแม้จะไม่มีการใช้งาน เราก็ต้องส่งไปตรวจสอบและบรรจุใหม่
สำหรับบ้าน หรือที่พักอาศัยทั่วไป ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม แม้กฎหมายจะไม่บังคับ แต่ขอแนะนำให้มี ถังดับเพลิง ติดบ้านไว้อย่างน้อยชั้นละ 1 ถัง เพื่อความอุ่นใจ หากเกิดอัคคีภัย จะได้แก้ไขได้ทันทีนั่นเอง หวังว่าบทความนี้ คงทำให้หลาย ๆ คนได้รู้จักถังดับเพลิงแต่ละชนิดกันไม่มากก็น้อย อย่าลืมเลือกใช้งานให้เหมาะสมกันด้วย ????