ประเภทกระจก มีกี่แบบ? คุณสมบัติเป็นยังไง? ติดตั้งที่ไหนดี?
ในปัจจุบัน กระจกมีให้เลือกหลายแบบ แต่ละแบบมีข้อดี – ข้อเสีย แตกต่างกันไป ดังนั้น การเลือก ประเภทกระจก ให้ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้
วันนี้ KACHA จะพาทุกคนไปรู้จักวัสดุชนิดนี้กันว่าแต่ละประเภทเหมาะกับสถานที่ไหน? การใช้งานเป็นอย่างไร? และมีอะไรที่ต้องพิจารณาบ้าง? ตามไปดูกันโลดด!!
1) กระจกทั่วไป / กระจกโฟลต (Float Glass)
กระจกทั่วไป หรือ กระจกโฟลต (Float Glass) ใช้การหลอมและอบด้วยวิธีทั่วไป คุณสมบัติมีความโปร่งแสง ผิวเรียบ แข็งแรง สะท้อนแสงได้ดี ในท้องตลาดนิยมใช้งานกระจกโฟลต ความหนาตั้งแต่ 2 – 20 มม. ขึ้นไป
- กระจกโฟลตใส (Clear Float Glass) เกิดจากหลอมของซิลิก้า ทำให้มีรอยต่อระหว่างกระจกน้อย เนื้อราบเรียบ ให้มิติภาพสะท้อนสมบูรณ์ ภาพมองผ่านชัดเจน ติดตั้งใช้งานได้ทั้งผนังภายนอกและภายใน เหมาะกับการใช้แสดงสินค้า หรือ ห้องที่ต้องการมองเห็นทัศนียภาพภายนอกอย่างชัดเจน ไม่เหมาะกับพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว
- กระจกโฟลตสี (Tinted Float Glass) หรือ กระจกสีตัดแสง มีการผสมออกไซด์ในเนื้อกระจก เพื่อให้เกิดสีสันสวยงาม ช่วยดูดกลืนความร้อน ลดความเข้มของแสงได้ นอกจากนี้ยังช่วยตัดแสงที่ส่องเข้ามาในตัวอาคาร ทำให้ประหยัดพลังงานภายในอาคารกว่าแบบใส กระจกประเภทนี้สามารถดูดกลืนพลังงานความร้อนที่ส่องมากระทบชั้นผิวกระจกได้ประมาณ 40-50 % กระจกที่มีสีเข้มจะมีค่าการดูดกลืนพลังงานความร้อนมากขึ้น *ปริมาณของแสงที่ทะลุผ่าน จะขึ้นอยู่กับความหนาของสี และความเข้มข้นของสีในเนื้อกระจก* สีที่เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดจะเป็นสีเขียว
ข้อดี
- กระจกมีความโปร่งใส แสงลอดผ่านได้สูง
- พื้นผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์
- นำไปเคลือบโลหะให้เป็นกระจกสะท้อนแสงได้
- นำไปแปรรูปเป็นกระจกนิรภัยลามิเนต, กระจกฉนวนความร้อน, กระจกเคลือบสี, กระจกเงา, กระจกดัดโค้ง, กระจกพ่นทราย, กระจกแกะสลัก, กระจกพิมพ์ลาย และกระจกอื่น ๆ ได้
ข้อเสีย
- ปริแตกง่าย ลักษณะการแตกเป็นปากฉลาม มีความแหลมคม เสี่ยงอันตรายต่อผู้ใกล้เคียง
- มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก ไม่ทนต่ออุณหภูมิ และแรงดันลมในที่สูง
การนำไปใช้งาน
ใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ใช้เป็นกระจก ประตู หน้าต่าง บ้านพักอาศัย สำนักงาน ร้านค้า ตู้แสดงสินค้า ห้องแสดงสินค้าทั่วไป ฯลฯ
ข้อควรระวัง
ผู้ใช้งานไม่ควรทาสีหรือติดแผ่นกระดาษใด ๆ ลงบนผิวกระจก ไม่ควรติดตั้งในจุดที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทก และไม่ควรติดตั้งในจุดที่มีอุณหภูมิสูง เช่น หน้าเตาไฟในห้องครัว
2) กระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass)
กระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass) เป็นการนำกระจกโฟลตใส หรือ กระจกธรรมดา มาผ่านกระบวนการอบความร้อน (ประมาณ 700 °C) และทำให้เย็นอย่างช้า ๆ ทำให้กระจกประเภทนี้มีความแข็งแกร่ง รับแรงดันลมได้ดีกว่ากระจกทั่วไปถึง 2 เท่า เมื่อกระจกแตกจะมีลักษณะเป็นแผ่น ๆ ติดอยู่กับกรอบไม่หลุด กระจกกึ่งนิรภัย เหมาะกับการติดตั้งในโครงสร้างอาคารสูง เพราะสามารถป้องกันการแตกจากความร้อนได้กว่ากระจกทั่วไป
ข้อดี
- แข็งแรงกว่ากระจกทั่วไป 2 เท่า รับแรงกระแทก แรงกด แรงบีบได้ดี
- ทนต่อแรงดันของกระแสลมในที่สูงได้ โดยเฉพาะผนังอาคารสูง พื้นกระจก หรือ หลังคากระจก
- ทนความร้อนแบบปกติได้สูงถึง 290ºC โดยที่เนื้อกระจกไม่ปริแตก
- ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ตั้งแต่ 70 – 100ºC
- เมื่อปริแตก รอยแตกจะวิ่งเข้าไปหาเฟรม ไม่หลุด ปลอดภัยกว่ากระจกทั่วไป
ข้อเสีย
- ไม่สามารถ ตัด เจีย เจาะ หรือบาก ได้ ดังนั้น การวัดพื้นที่จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้หน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำ ซึ่งการเผื่อหลวมจะช่วยให้การติดตั้งง่ายขึ้น แต่ต้องไม่หลวมจนกระจกหลุดจากคิ้ว
- เป็นกระจกที่ผ่านกระบวนการความร้อนสูงจนเนื้อกระจกนิ่ม กระจกอาจเป็นคลื่น และมีโอกาสโก่งตัวอยู่เล็กน้อย
- ไม่สามารถใช้ทดแทนกระจกกันไฟได้ เพราะกระจกฮีทสเตรงค์เท่นไม่สามารถกันไฟเพื่อความปลอดภัยต่อผู้อาศัยตามข้อกำหนดของการกันไฟได้
การนำไปใช้งาน
ใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร ทั้งอาคารขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และสูง (Glass Curtain Wall), ใช้ทำพื้นกระจก (Glass Floor) และใช้ทำหลังคากระจกสกายไลท์ (Skylight Glass)
ข้อควรระวัง
หากใช้งานภายนอกอาคารไปนานๆ อาจเกิดปัญหาการแยกตัวของกระจก หรือที่เรียกว่า Delamination (เกิดขึ้นได้น้อย)
3) กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass)
กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass หรือ T/P) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กระจกอบ ผลิตจากกระจกโฟลตใสแล้วนำมาอบด้วยความร้อน จากนั้นทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็วด้วยการเป่าลมเย็นทั้ง 2 ด้าน เพื่อสร้างแรงอัดที่ผิวกระจกให้แข็งแกร่งขึ้น สามารถรับแรงได้มากกว่ากระจกทั่วไป 5 – 10 เท่า และยังสามารถดัดได้มากกว่า 3 เท่า รับแรงอัดของลมได้ดี แต่ไม่สามารถทำการตัดหรือเจาะได้ เนื่องจากทนต่อแรง Point Load ได้ต่ำ ความหนาของกระจกนิรภัยเทมเปอร์ที่นิยมผลิตในท้องตลาด คือ 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15 และ 19 มิลลิเมตร เป็น ประเภทกระจก ที่ได้รับความนิยมติดตั้งเป็นกระจกนิรภัยในอาคารมาก
ข้อดี
- มีความแข็งแกร่ง ทนกว่ากระจกธรรมดา 5 -10 เท่า ใช้ในสภาพที่เสี่ยงต่อการแตกร้าวได้ดี
- ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้ถึง 150ºC มีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึงและแรงที่ทำให้หักงอสูง (Bending Strength)
- ตอนแตกจะเป็นเม็ดเล็ก คล้ายเมล็ดข้าวโพด หล่นออกจากกรอบ ไม่มีความคม เกิดอันตรายและบาดเจ็บได้น้อย
- เหมาะกับงานที่มีความเสี่ยงต่อการแตกร้าว และต้องการความปลอดภัยที่เกิดจากกระจกแตกร้าว (safety)
ข้อเสีย
กระจกนิรภัยเทมเปอร์มีราคาสูงกว่ากระจกทั่วไป เนื้อกระจกมองทะลุผ่านจะบิดเบี้ยวเล็กน้อย ไม่สามารถ ตัด เจีย บาก เจาะ ได้ หากนำมาใช้งานต้องสั่งขนาดและสเป็กจากโรงงาน และมีอัตราการแตกด้วยตัวเองเฉลี่ย 8 แผ่นใน 1,000 แผ่น
การนำไปใช้งาน
ใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร เช่น ใช้เป็นประตูบานเปลือย ฉากกั้นอาบน้ำ ผนังกั้นภายใน ผนังกระจกทั้งสองหน้า ใช้ทำเป็นตู้โทรศัพท์ ห้องโชว์ ตู้สินค้าอัญมณีที่โปร่งแสง กระจกงานเฟอร์นิเจอร์ หน้าต่างกระจก ผนังกระจกทั่วไป บริเวณที่มีความร้อนสูงกว่าปกติ บริเวณที่ต้องรับแรงปะทะของกระแสลมความเร็วสูง พื้นที่ที่ต้องการความโปร่งแสง แต่ก็ต้องการความคงทนต่อแรงกระแทก
ข้อควรระวังในการใช้งาน
การวัดพื้นที่จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้เป็นหน่วย มม. ในการวัดเพื่อความแม่นยำ และไม่ควรใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์เดี่ยว ๆ เป็นหลังคา พื้น หรือขั้นบันได ห้ามใช้ทดแทนกระจกกันไฟ เพราะกระจกนิรภัยเทมเปอร์ไม่สามารถกันไฟตามข้อกำหนดได้
คลิกเพื่ออ่าน: กระจกเทมเปอร์ หรือ กระจกนิรภัย มีคุณสมบัติอย่างไร?
4) กระจกลามิเนต (Laminated Glass)
กระจกลามิเนต (Laminated Glass) หรือ กระจกนิรภัยหลายชั้น เกิดจากการนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass) และกระจกธรรมดา (Floated Glass) ตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบติดกันด้วย PVB หรือ EVA ทำให้มีความแข็งแรงและความปลอดภัยสูง เมื่อกระจกแตกหักเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น สามารถรับแรงเลื่อน แรงปะทะบ่อย ๆ ได้ นอกจากนี้ ยังป้องกันเสียงรบกวนภายนอกและเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา แถมยังป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตมากกว่า 90 % ทนต่อแรงอัดกระแทก ป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้ เหมาะที่จะนำมาใช้งานเป็นกระจกนิรภัยอาคารอย่างมาก
ข้อดี
- ป้องกันเสียงรบกวนภายนอกและเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา
- ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี และ กันรังสียูวีได้มากกว่า 90 %
- เมื่อกระจกแตก เศษกระจกจะไม่ร่วงหล่นลงมา ลดอันตรายได้มากขึ้น
- ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก ป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้
- สามารถเคลือบสีได้ตามความต้องการ
ข้อเสีย
- ในความหนาเท่ากันกระจกลามิเนตจะรับแรงได้น้อยกว่ากระจกธรรมดา,
- ฟิล์ม PVB มีคุณสมบัติดูดความชื้น ถ้าใช้กระจกนี้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง จะทำให้การยึดเกาะระหว่างกระจกและฟิล์มไม่ดี อาจเกิดการแยกตัวออกจากกันได้
การนำไปใช้งาน
ผนังภายนอกอาคารสูง, ราวกันตก, หลังคา Skylight, กั้นห้องที่ไม่ต้องการให้เกิดเสียงทะลุทั้งเข้า-ออก กระจกนิรภัยอาคาร ตู้กระจกแสดงสินค้า สถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการโจรกรรม กระจกกันกระสุน ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ และสถานที่อื่น ๆ ที่ต้องการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ
ข้อควรระวังในการใช้งาน
เมื่อใช้กระจกประเภทนี้ไปนาน ๆ จะพบว่ากระจกจะปรากฏรอยลูกคลื่นตามแนวรอยบากระหว่างแผ่นกระจก หรือ การแยกตัวของกระจกลามิเนต(Delamination) มักจะเกิดบริเวณขอบกระจก ,บริเวณรอยบาก หรือขอบที่เจาะรูยึดกับฟิตติ้ง
5) กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units)
กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units) ผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เกิดจากการนำกระจก 2 แผ่นมาประกบกัน แล้วนำเฟรมอะลูมิเนียม (Aluminum Spacer) มาคั่นกลาง บรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวนไว้ภายใน เช่น อากาศแห้ง (Dried Air) หรือ ก๊าซเฉื่อย ทำให้เก็บรักษาอุณหภูมิได้ดีมาก แม้ว่าอุณหภูมิภายในกับภายนอกแตกต่างกันก็ไม่ทำให้เกิดฝ้าหรือหยดน้ำ สามารถสะท้อนความร้อนได้ประมาณ 95%-98% กระจกประเภทนี้มีจุดประสงค์ เพื่อป้องกันความร้อนและประหยัดพลังงานเป็นหลัก
ข้อดี
- ลดความร้อนจากภายนอกที่จะเข้าสู่อาคาร ช่วยประหยัดพลังงานได้ดี
- แสงลอดผ่านกระจกได้ ความร้อนน้อย ประหยัดไฟ
- เครื่องปรับอากาศด้านในไม่ต้องทำงานหนัก
- ป้องกันเสียงรบกวนจากด้านนอกได้
- ไม่ทำให้เกิดฝ้า หรือ หยดน้ำ สามารถรับแรงดันลมได้
ข้อเสีย
- น้ำหนักค่อนข้างมาก เพราะหนากว่ากระจกทั่วไป
- ขนาดของกรอบเฟรม มีขนาดที่กว้างขึ้นกว่ากระจกทั่วไป
- ต้องเผื่อระยะในการติดตั้งมากกว่ากระจกทั่วไป
การนำไปใช้งาน
ใช้กับอาคารขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ หรือ อาคารสูงระฟ้า ที่ต้องการควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ทั้งด้านเสียง,อุณหภูมิ และการประหยัดพลังงาน
ข้อควรระวังในการใช้งาน
ไม่ควรติดตั้ง ประเภทกระจก ฉนวนกันความร้อน ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้อายุการใช้งานสั้นลง และไม่ควรให้ลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศกระทบกระจกโดยตรง
6) กระจกเคลือบผิว / กระจกสะท้อนแสง (Surface coated glass)
กระจกเคลือบผิว หรือ กระจกสะท้อนแสง (Surface coated glass) เกิดจากการนำกระจกใสไปเคลือบออกไซด์ให้มีความมันวาว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ และ กระจกแผ่รังสีต่ำ
1. กระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ (Solar Reflective Glass) เคลือบผิวด้วยออกไซด์ ความโปร่งแสงต่ำ สามารถสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ที่จะผ่านเข้าสู่อาคารได้ประมาณ 30% กระจกแบบนี้คนจากนอกอาคารจะมองเข้ามาในอาคารลำบาก แต่คนที่อยู่ในอาคารจะมองออกข้างนอกได้ชัด
- ช่วยลดแสง แสงที่ผ่านเข้ามาในอาคารไม่จ้าเกินไป
- สร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่คนภายในอาคาร
2. กระจกแผ่รังสีต่ำ หรือ กระจกโลว์อี (Low-E Glass) เคลือบผิวด้วยด้วยโลหะเงินบริสุทธิ์ (Silver) ออกแบบเพื่อสะท้อนพลังงานความร้อน แต่ยังคงให้แสงสว่างผ่านเข้ามาได้มาก ถือเป็น ประเภทกระจก ที่มีประสิทธิภาพสูงอีกชนิดหนึ่ง ช่วยประหยัดพลังงานได้ดี มีปัญหาแตกร้าวน้อยกว่าแบบ Solar มีให้เลือกหลายแบบ ตั้งแต่ระดับทั่วไป คือ ฮาร์ดโค้ท โลว์อี (Hard Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อน (Emissivity) 15-36% และกระจกซอฟท์โค้ท โลว์อี (Soft Coat Low-E) ค่าการถ่ายเทความร้อนต่ำแค่ 2-10%
- ป้องกันการถ่ายเทความร้อนผ่านกระจกได้ดี
- แสงลอดผ่านได้มากกว่ากระจกสะท้อนแสง
- ช่วยสะท้อนรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (UV) ได้บางส่วน (ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต)
การนำไปใช้งาน
เหมาะกับติดตั้งนอกอาคาร อาคารสูง อาคารสำนักงาน สถานที่ที่ต้องการประหยัดพลังงาน
ข้อควรระวังในการใช้งาน
- ระมัดซีเมนต์หล่นติดกระจก หรือใช้พลาสเตอร์ติดบนกระจก เพราะอาจทำวัสดุเคลือบกระจกเสื่อม
- ควรติดตั้งด้านที่เคลือบวัสดุให้อยู่ด้านในอาคารเสมอ
- ไม่ควรเป่าความเย็นลงบนกระจกโดยตรง เพราะจะทำให้กระจกแตกได้
เป็นอย่างไรบ้างกับ ประเภทกระจก ที่เราได้รวบรวมมาในวันนี้ มีเยอะมากเลยใช่ไหมคะ ดังนั้น ก่อนจะซื้อกระจกมาติดตั้งใช้งาน อย่าลืมดูสภาพแวดล้อมของสถานที่และจุดประสงค์ของการใช้งาน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับคุณสมบัติกระจกแต่ละแบบ เพื่อประสิทธิภาพที่ดี คงทน คุ้มค่า จะไม่เปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์น้าาา
บทความที่น่าสนใจ
ขอบคุณข้อมูลจาก : TERRABKK , ExpertWindow&Door