คงเคยได้ยินกันใช่ไหม ยกบ้าน ดีดบ้าน เป็นการทำให้บ้านยกสูงขึ้นจากเดิม แต่ไม่ใช่ว่าคิดจะยกบ้านแล้วทำได้เลย เพราะยังมีเรื่องของข้อกฎหมาย และวิธีการยกบ้าน ซึ่งต้องทำโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจาก มีผลต่อโครงสร้างบ้านทั้งหลัง
ตาม KACHA ไปดูรู้จัก และเข้าใจเรื่อง ยกบ้าน คืออะไร? สามารถทำได้กรณีไหนบ้าง? มีประโยชน์ ข้อควรระวังอย่างไร? เพื่อการยกบ้านที่ถูกกฎหมายและปลอดภัย
ยกบ้าน คืออะไร?
การยกบ้าน สามารถทำได้ทั้งบ้านไม้ และบ้านปูน เป็นวิธีการที่ทำกันมาตั้งแต่อดีต เพราะคนนิยมปลูกสร้างบ้านริมน้ำ ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วม และบ้านทรุดได้ จึงต้องมีการยกบ้าน หรือดีดบ้านขึ้น เพื่อแก้ปัญหาบ้านพัง ที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อระยะเวลาผ่านไป
โดยปัจจุบัน การยกบ้าน มีความสะดวก และมีมาตรฐานมากขึ้น แต่ก็มาพร้อมค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับการที่ต้องทุบบ้านทิ้งแล้วสร้างใหม่ หลายคนมองว่า ต้องใช้งบประมาณที่มากกว่า จึงเลือกที่จะใช้วิธียกบ้านแทนนั่นเอง
ขั้นตอนการยกบ้าน ทำได้อย่างไร?
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้อธิบายถึงขั้นตอน การยกบ้าน ที่ถูกต้องตามหลักการทางวิศวกรรม ซึ่งใช้กับอาคารได้ทุกชนิด ได้แก่ บ้านไม้ อาคารอิฐก่อ อาคารเหล็ก หรืออาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ดังนี้
- ทำเสาเข็ม หรือฐานรองรับ
- ทำค้ำยัน เพื่อถ่ายน้ำหนักจากตัวอาคาร ลงสู่เสาเข็ม หรือฐานที่รองรับ
- ติดตั้งแม่แรงไฮดรอลิก
- ตัดเสาตอม่อ หรือเสาเข็ม ให้ขาดจากฐานรากเดิม
- ยกอาคารทั้งหลังขึ้นพร้อมกัน ในขณะยก จะทำค้ำยันตามไปด้วย
- เมื่อยกได้ความสูง ที่ต้องการแล้ว ทำการต่อเสาอาคาร หรือบ้าน ลงสู่ฐานราก
ยกบ้านหรือดีดบ้าน ควรทำตอนไหน?
การยกบ้าน มีข้อควรระวัง ดังนั้น จึงต้องมีการคิดไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี ก่อนตัดสินใจ ซึ่งหลัก ๆ แล้ว การยกบ้านจะนิยมทำใน 3 กรณี คือ
1. บ้านอยู่ระดับต่ำกว่าถนน
หากซื้อบ้าน หรือสร้างบ้าน เลือกทำเลดี ไม่มีปัญหาน้ำท่วม โครงการอยู่สูงกว่าระดับถนน โอกาสน้ำท่วมถึง เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าหากอนาคต มีการก่อสร้างขยายถนน ทำให้บ้านอยู่ระดับต่ำกว่าถนน ไปโดยปริยาย เวลาที่ฝนตกหนัก น้ำระบายไม่ทัน จึงพบปัญหาน้ำเอ่อไหล เข้าท่วมพื้นบ้านชั้นล่าง แม้จะหล่อแนวขอบคันคอนกรีตกั้นน้ำ เพื่อป้องกัน แต่ก็อาจมีน้ำซึมจากพื้นบ้าน ขอบมุม พื้นชนผนัง และยาแนวกระเบื้องได้ การยกบ้าน หรือดีดบ้านขึ้น เพื่อให้พื้นบ้านอยู่ในระดับสูงกว่าถนน แม้จะต้องทำหลายขั้นตอน แต่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว
2. บ้านอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมบ่อย
หลายบ้านเคยมีประสบการณ์จากเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้ก่อนซื้อบ้าน หรือซื้อที่ดินปลูกสร้างบ้าน พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในกรุงเทพ ต้องรู้ก่อนซื้อบ้าน เป็นข้อมูลสำคัญ ที่ต้องนำมาประกอบการตัดสินใจ เพราะการที่ ที่อยู่อาศัยต้องจมน้ำ หรือถูกน้ำท่วมขัง เป็นระยะเวลานาน อาจกระทบโครงสร้างบ้าน ให้ได้รับความเสียหาย รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ และของใช้ต่าง ๆ ในบ้าน ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน การยกบ้านให้สูงขึ้นอย่างน้อย 1.5 เมตร หรือมากกว่านั้น สามารถลดความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมได้
3. บ้านทรุดตัวจากฐานราก
ฐานราก เป็นส่วนสำคัญ ในการสร้างบ้าน เพราะเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนัก ของตัวบ้านทั้งหมด เสาเข็ม ต้องมีความมั่นคง แข็งแรง โดยเสาเข็ม เป็นส่วนของโครงสร้างที่อยู่ใต้ดิน หากเสาเข็ม เกิดการทรุดตัวลง จะทำให้ระดับพื้นของตัวบ้านไม่เท่ากัน สัญญาณที่พบ คือ กำแพงมีรอยร้าว เป็นแนวเฉียง ตัวบ้านเริ่มทรุดเอียง ดังนั้น เจ้าของบ้าน จึงต้องหมั่นสังเกตรอยร้าวรอบ ๆ ตัวบ้าน เพื่อหาทางป้องกัน ก่อนบ้านพัง วิธีแก้ปัญหาด้วยการยกบ้าน สามารถเพิ่มความแข็งแรงของพื้นบ้าน และตัวบ้านได้ในระยาว
ข้อควรระวัง ก่อนการยกบ้าน
- การยกบ้าน หรือดีดบ้าน เป็นการตัดยกโครงสร้างบ้านทั้งหลัง ให้สูงขึ้น แล้วเสริมเสากับตัวบ้านใหม่ลงบนฐานรากเดิม หรือฐานรากใหม่ ที่มีการเสริมความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องดำเนินการ โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
- อาคารที่เหมาะในการยก คือ อาคารเป็นหลังเดี่ยว เช่น บ้านเดี่ยว ไม่เหมาะสำหรับตึกแถว หรือทาวน์เฮ้าส์ เพราะการดีด จะต้องทำทั้งหลัง ไม่สามารถทำเฉพาะส่วนได้ ส่วนตึกแถว หรือทาวน์เฮ้าส์ หากต้องการทำ ต้องทำพร้อมกันทั้งแถว
- ตามกฎหมาย การยกบ้าน หรือดีดบ้าน เป็นการดัดแปลงอาคาร ต้องมีการยื่นขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งตามกฎหมาย ต้องมีวิศวกรออกแบบและควบคุมงาน เพื่อรับผิดชอบการทำงานดังกล่าว
- แม้จะยกบ้านหนีน้ำจนพ้น แต่ก็ไม่อาจมั่นใจได้ 100% ว่า หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำรอย น้ำจะไม่ท่วมถึง
- การยกบ้านขึ้น อาจทำให้บ้าน ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เช่น มีการเพิ่มบันได หรือทางลาด เพื่อขึ้นบ้าน ซึ่งอาจไม่เหมาะสม สำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจาก ต้องเดินขึ้นบันไดตามความสูงที่มากขึ้น
- ค่าใช้จ่ายในการยกบ้านค่อนข้างสูง ประเมินคร่าว ๆ ประมาณครึ่งหนึ่ง ของราคาค่าก่อสร้างบ้านใหม่ ดังนั้น เจ้าของบ้าน ควรพิจารณาว่า การยกบ้านให้สูงขึ้น แล้วได้บ้านเดิม สภาพเดิม เปรียบเทียบกับการก่อสร้างบ้านใหม่ ที่สภาพบ้านสมบูรณ์กว่า แบบไหนจะคุ้มกว่ากัน
อ่านบทความ : BOQ คืออะไร จำเป็นไหมในการก่อสร้างบ้าน?
ประโยชน์ของการยกบ้าน
เป็นอย่างไรกันบ้างกับยกบ้าน ดีดบ้าน ที่นำมาฝากกัน สำหรับคนที่กำลังคิดจะยกบ้าน ซึ่งมีข้อดี สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว แต่ไม่ใช่คิดจะยกบ้าน ก็สามารถทำได้เลย เพราะมีสิ่งที่ต้องระวัง นำมาพิจารณาประกอบกัน รวมถึงงบประมาณ และโครงสร้างบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวบ้านได้รับความเสียหาย หรือเกิดอันตรายขึ้นในระหว่างที่ยกบ้านด้วย บทความหน้าจะมีอะไรมาฝากกันอีกนั้น อย่าลืมติดตามกันด้วยนะจ๊ะ ????
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- รวมวิธีสำรวจ โครงสร้างบ้าน รู้ก่อน ป้องกันก่อนบ้านทรุดตัว
- บ้านทรุด สัญญาณเตือนภัย แก้ไข ซ่อมแซมได้อย่างไรบ้าง?
- โครงสร้างเหล็ก vs โครงสร้างปูน เลือกสร้างแบบไหนดีและต่างกันอย่างไร?
- สาระน่ารู้เกี่ยวกับ “การสร้างบ้าน” ที่ควรรู้!
● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ●
KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!
เลือกดูสินค้า สินค้าจาก KACHA คลิกเลย ????????
อ้างอิงข้อมูลจาก : ddproperty.com