รวมเทคนิค ฉาบปูน ที่ช่างปูนควรรู้ ผนังแข็งแรง ไม่แตกร้าว
เราต่างรู้ว่าการ ฉาบปูน หรือการตกแต่งซ่อมแซมผนัง ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก เพราะต้องฉาบให้ผิวผนังราบเรียบ หากเป็นงานซ่อมก็ต้องมั่นใจว่า เมื่อฉาบปูนไปแล้วมีความเรียบเนียนเสมอกัน และสามารถปกปิดรอยได้อย่างแนบเนียน จริง ๆ แล้ว วิธีการฉาบปูน ไม่ได้ยากอย่างที่คิด หากเข้าใจเทคนิคการฉาบ และการผสมปูนให้ลงตัว
บทความนี้ KACHA จึงได้รวบรวมเคล็ดลับการ ฉาบปูน ที่ใครก็ตามสามารถทำได้ด้วยตนเอง ต้องเริ่มจากขั้นตอน และวิธีการต่าง ๆ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
เทคนิค ฉาบปูน ให้แข็งแรง ไม่แตกร้าว ทำได้อย่างไร?
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง สำหรับการฉาบ ปูนซีเมนต์ คือ รอยแตกร้าว ผนังอิฐไม่เรียบสวยงาม ส่วนใหญ่แล้ว มักเกิดจากการวางแผน เตรียมการที่ไม่ถูกต้อง หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น คุณภาพของวัตถุดิบ ส่วนผสมที่ใช้ สาเหตุของรอยร้าวที่เห็นบนผนังนั้น อาจจะเกิดได้มาจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้น จะเป็นเรื่องของเทคนิค วิธีการฉาบปูน ซึ่งปูนที่ฉาบนั้น อาจจะมีแรงยึดเหนี่ยวที่น้อยไป ซึ่งทำให้มีรอยแตกร้าวบนผนังได้ ดังนั้น เราจะสามารถควบคุมการฉาบปูนให้ถูกวิธีก็จะช่วยให้รอยร้าวบนผนังเกิดขึ้นได้น้อย หรือยืดอายุการเกิดรอยร้าวได้ มีวิธีดังนี้
1. ต้องนำอิฐแช่น้ำก่อน 1 ชั่วโมง
เราจะเห็นได้ค่อนข้างบ่อยว่าช่าง มักจะมีการนำอิฐไปแช่น้ำในถัง หรือใช้สายยางฉีดน้ำอเพื่อให้อิฐเปียก วิธีการนี้ จะช่วยให้อิฐอิ่มน้ำ อิฐจะได้ไม่มีการแย่งน้ำจากเนื้อปูนก่อ ทำได้ทั้งการรดน้ำให้ชุ่ม หรือแช่น้ำเลยก็ได้ แต่ก่อนจะนำมาใช้งานก่อ ต้องผึ่งลมให้ผิวด้านนอกหมาดตัวดีเสียก่อน แล้วจึงนำมาใช้งานต่อไป..เป็นงานที่ต้องพิถีพิถันมากทีเดียว
2. ต้องก่ออิฐแบบสลับแนว
แม้ว่าผนังทั่วไปจะเน้นการก่อแบบครึ่งแผ่นอิฐ หรือก่ออิฐแถวเดียวซึ่งดูไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อนมากนัก แต่ก็ควรก่อสลับแนว เพื่อการยึดประสานกันระหว่างชั้นอิฐ ให้ผนังออกมามีความแข็งแรง ทนทาน
3. ชั้นปูนระหว่างอิฐต้องไม่หนาเกิน 1.5 เซนติเมตร
ในกรณีที่ใช้อิฐมอญ และอิฐบล็อค ชั้นปูนก่อไม่ควรหนาเกิน 1.5 เซนติเมตร เนื่องจากจะทำให้สิ้นเปลืองเนื้อปูน และยังทำให้เกิดการทรุดตัวมากเกินความจำเป็น เมื่อชั้นปูนก่อเริ่มแห้ง เป็นการทรุดตามปกติ ไม่เป็นอันตราย และยังจะทำให้ผนังปัญหาโน้มเอียงไม่ได้ดิ่งได้อีกด้วย ยกเว้นอิฐมวลเบา ที่ตัวเนื้อปูนเป็นปูนกาวพิเศษที่เสริมแรงยึดเกาะ ที่การก่อจะบางเพียง 2-3 มิลลิเมตรเท่านั้น
อ่านบทความ: อิฐ มีกี่ประเภท เลือกแบบไหนใช้สร้างบ้านดี
4. ต้องมีเสาเอ็นแล้วคานทับหลัง
เสาเอ็น คานทับหลัง ควรมีทุก ๆ ระยะความกว้าง 2.5 เมตร และความสูง 1.5 เมตร เพราะจะทำหน้าที่กระจายน้ำหนักของอิฐก่อผนัง และช่วยไม่ให้ผนังพังพับลงมาได้ ความกว้างของเสาเอ็น คานทับหลัง ควรกว้างไม่น้อยไปกว่า 15 เซนติเมตร และหนาเท่ากับความหนาของอิฐ โดยควรมีการเสริมเหล็กโครงสร้างภายในก่อนการหล่อ เพื่อความแข็งแรงด้วย
5. ต้องมีเสาเอ็นที่มุมกำแพง
เช่นเดียวกับเสาเอ็นที่แทรกตัวระหว่างกำแพง เสาเอ็น จะทำหน้าที่เป็นโครงให้ผนังยึด เราไม่ควรก่ออิฐเป็นมุมโดยไม่มีเสา เนื่องจากแนวอิฐ จะไม่มีโครงอะไรให้ยึด และส่งผลต่อความแข็งแรงในระยะยาวได้
6. ต้องมีเสาเอ็นที่วงกบประตู และหน้าต่าง
ทุกช่องเจาะ ควรมีเสาเอ็น คานทับหลังล้อมเป็นกรอบไว้ เพื่อช่วยเป็นโครงให้กับวงกบประตู หรือหน้าต่าง ซึ่งจะมีการขยับเขยื่อนจากการเปิด-ปิดตลอดเวลา ช่วยกระจายแรงกระทำต่อผนังอิฐ และไม่ควรลืมติดลวดตะแกรงกรงไก่ที่มุมวงกบด้วย เพื่อช่วยกระจายแรงให้กับชั้นปูนฉาบด้วย
7. ต้องเสียบเหล็กหนวดกุ้งทุกระยะ
ผนังอิฐที่แข็งแรง จะต้องมีตัวช่วยยึดชั้นก่ออิฐกับเสา ซึ่งเราใช้วิธีการเสียบเหล็กเส้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร เสียบไปในเสาคอนกรีต ให้มีความยาวส่วนที่ยื่นออกมาไม่ต่ำกว่า 40 เซนติเมตร เพื่อยึดให้ผนังอิฐมีความแข็งแรง ไม่หลุดออกจากแนวเสา หรือล้มลงมา
8. ต้องรดน้ำอิฐก่อนฉาบ
หลังจากก่อเสร็จแล้ว เราควรทิ้งช่วงให้ชั้นปูนก่อเซ็ทตัว ก่อนทำการฉาบต่อไป ซึ่งก่อนฉาบ 1 วัน ควรมีการรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ก่อน และรดน้ำซ้ำอีกครั้งในเช้าวันฉาบ เพื่อป้องกันอิฐแย่งน้ำจากเนื้อปูนฉาบ ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกร้าวได้
9. ใช้เครื่องผสมปูนเข้ามาช่วย
แม้ว่าการใช้จอบแบบดั้งเดิม จะผสมปูนได้เช่นเดียวกัน แต่เนื้อปูนจะเข้ากันได้ดีกว่า หากเราใช้เครื่องมือผสม อย่างสว่านไฟฟ้าติดใบกวน หรือเครื่องผสม เพราะการตีเนื้อปูนด้วยเครื่องมือเหล่านี้ จะทำให้เนื้อปูนเข้ากันได้ดีกว่าการผสมด้วยมือ ช่วยให้เนื้อปูนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
10. ต้องรดน้ำต่อเนื่องเพื่อเป็นการบ่มผนัง
น้ำ เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความแข็งแกร่งของปูน ดังนั้น เพื่อให้เนื้อปูนมีน้ำเพียงพอต่อการทำปฏิกิริยานั้น ควรมีการรดน้ำผนังที่ฉาบเสร็จแล้วต่อไปอีกวันละอย่างน้อย 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 3-7 วันหลังฉาบเสร็จ น้ำที่นองในไซท์งานจากการรดน้ำ อาจจะทำให้การทำงานในส่วนอื่นลำบากไปบ้าง แต่ไม่ควรละเลย เพราะการทำงานในขั้นตอนนี้ จะส่งผลต่อการป้องกันการแตกร้าว และความแข็งแกร่งของผนัง
รวมข้อห้าม ในการก่ออิฐและฉาบพื้น
- ไม่ควรก่ออิฐภายในวันเดียว
งานก่ออิฐ เป็นงานที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของผนัง แม้ว่าอาจดูเป็นงานที่น่าจะทำให้เสร็จได้ภายในวันเดียว แต่ปูนที่นำมาก่อนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาในการเซ็ทตัว และพัฒนาความแข็งแรง รวมถึงน้ำที่ระเหยออกจากเนื้อปูน จะทำให้ปูนยุบตัวลงเล็กน้อย แม้จะเพียงไม่กี่มิลลิเมตร แต่ก็ส่งผลให้เกิดการแตกร้าวของผนังหลังฉาบได้เช่นกัน ดังนั้น ควรวางแผนให้มีการก่อผนัง และมีระยะเวลาสำหรับหล่อเสาเอ็น และคานทับหลัง เมื่อก่อได้ระยะความสูง หรือกระทั้งควรเว้นระยะชนท้องคาน เพื่อให้ปูนยุบตัว ก่อนมีการก่ออิฐชั้นสุดท้าย
- อย่าก่ออิฐชนท้องพื้นสำเร็จของชั้นบน
เพราะพื้นสำเร็จ มักจะให้ตัวได้ การก่อผนังจนชนท้องพื้นสำเร็จ จึงอาจทำให้เมื่อพื้นสำเร็จให้ตัว ทำให้เกิดแรงกดลงบนสันของผนัง แรงกดนี้ จะทำให้เกิดการแตกร้าวของผนังได้
- อย่าก่ออิฐบนพื้นสำเร็จรูป หรือพื้นที่ไม่มีคานรับ
เพราะพื้นสำเร็จ จะมีความสามารถในการให้ตัว และอาจไม่ได้แข็งแรงพอรับน้ำหนักของผนัง การก่ออิฐ เสมือนการเอาน้ำหนักไปวางไว้บนแผ่นไม้ น้ำหนักยิ่งมากพื้น อาจจะมีการแอ่นตัว หรือที่ร้ายแรงกว่า คือ แผ่นพื้นสำเร็จจะแตกหัก วิศวกร ควรออกแบบให้ผนังอิฐ ตั้งอยู่บนคานโครงสร้างที่มีการเสริมเหล็ก และออกแบบส่วนผสมคอนกรีตให้รับน้ำหนักได้ เว้นแต่จะออกแบบไว้
- อย่าฉาบเร็วเกินไป
งานฉาบ เป็นงานที่ต้องอาศัยความพิถีพิถัน ช่างปูนกว่าจะสามารถทำงานฉาบได้ อาจต้องมีประสบการณ์ด้านงานอื่น ๆ มาเป็นเวลานาน ก่อนจะได้รับความไว้วางใจให้ทำงานฉาบคงจะผิดพลาดได้ ถ้าเราเร่งรัดขั้นตอนการฉาบ กับงานที่คาดหวังความสวยงาม และความคงทนยาวนาน ควรใส่ใจขั้นตอนฉาบให้มาก เพราะเป็นเหมือนการปั้นแต่งผิวหน้าให้เรียบเนียน พร้อมสำหรับการตกแต่งในขั้นตอนสุดท้าย เราคงไม่อยากได้ผนังที่มีคลื่น นูนต่ำไม่เท่ากัน หรือมีเม็ดทรายโผล่ออกมาที่ผิวมากเกินไปซึ่งบางครั้ง การปิดผิวด้วยสี หรือกระเบื้องอีกชั้น ก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้อีกแล้ว
- อย่าฉาบหนาจนเกินไป
แม้ว่าชั้นปูนฉาบ จะเป็นชั้นที่ปิดผิวผนังให้ดูเรียบร้อย แต่ก็ไม่ควรฉาบให้หนาเกินไป เพราะชั้นปูนฉาบจะแห้งช้าลง ทำให้เป็นอุปสรรค์ต่อการทำงานได้ อีกทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำหนักหากจำเป็นจริง ๆ เช่น ผนังก่ออิฐมีการโน้ม หรือโน้มไปด้านหลังบางส่วน ทำให้ต้องเพิ่มความหนาของปูนฉาบ แนะนำให้เติมปูนในส่วนที่อิฐโน้มไม่ได้ดิ่งนั้นก่อน จากนั้นทิ้งไว้ให้ปูนเซ็ทตัว ก่อนจะฉาบปิดผิวหน้าให้ได้ระนาบ
โดยปกติ ช่างจะมีการจับปุ่ม หรือปั้นปูนตามเสา เพื่อหมายความหนาของชั้นปูนฉาบให้ได้ระนาบ และแนวดิ่ง ซึ่งความหนาจะถูกกำหนดจากความหนาของวงกบประตูหรือหน้าต่าง แต่อาจปรับเปลี่ยนได้หากผนังที่ก่อไว้ มีความโน้มเอียง แต่ทั้งนี้ ชั้นปูนฉาบไม่ควรหนาเกินไปกว่า 1.5 เซนติเมตร
- อย่าเห็นแก่ราคาวัสดุที่มีคุณภาพถูก
วัสดุก่อสร้าง เป็นสิ่งที่ใช้ประกอบขึ้นมาเป็นบ้าน หรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งต้องการความแข็งแรงทนทานใช้งานยาวนาน แต่ความจำกัดของงบประมาณ อาจทำให้หลายคนเลือกวัสดุที่ราคาถูก และเน้นที่ความสวยงามเป็นหลัก การทำให้ราคาถูกลงในหลาย ๆ ครั้งหมายถึงการลดคุณภาพให้เหลือแค่ระดับมาตรฐาน วัสดุราคาถูก อาจสามารถสร้างขึ้นเป็นบ้านหนึ่งหลังได้ แต่อายุการใช้งานอาจต่ำกว่าที่คาดหวัง ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป อาจต้องมีการซ่อมแซมได้
สำหรับใครที่มองว่า วิธีการฉาบปูน เป็นเรื่องยาก ต้องเรียกช่างอย่างเดียวคงต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะการ ฉาบปูน นั้น ไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อน เพราะหากฉาบปูนหนาไปก็จะเป็นปัญหา บางไปก็แตกร้าวได้ง่าย ดังนั้นควรฉาบในปริมาณที่กำลังพอเหมาะเพื่อความสวยงามของผนังบ้านในระยะยาวนั่นเอง
▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾ ▾
เราขอแนะนำ เครื่องลอกสี ลอกสีผนัง สินค้าคุณภาพจาก KACHA รับรองความปลอดภัย พร้อมให้บริการหลังการขายสุดประทับใจอย่างแน่นอน