รู้จักกับ “รอก” คืออะไร? แยกได้กี่ประเภท?
อีกหนึ่งตัวช่วย เครื่องทุ่นแรง คงหนีไม่พ้น รอก อย่างแน่นอน หลาย ๆ คนคงคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี บทความนี้ KACHA จะพาไปรู้จักกับ ประเภทของรอก รอกแต่ละชนิดกันว่ามีอะไรบ้าง ตามไปดูกันเลย
รอก(Hoist) คืออะไร?
เป็นอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ มีลักษณะเป็นวงล้อที่หมุนได้ มีเส้นเชือกคล้องผ่านวงล้อให้สามารถหมุนได้เป็นระบบ โดยอาศัยหลักการของแรงตึงในเส้นเชือกที่มีขนาดเท่ากันทั้งเส้น มาช่วยในการทำงาน รอกมักใช้กับงานยก หรือ เคลื่อนย้ายของหนัก ซึ่งมีหลากหลายประเภทให้เลือกตามการใช้งาน
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ในการทำงานต่าง ๆ เปลี่ยนไปตามคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม จึงเกิดการพัฒนากระบวนการผลิต และมีการใช้เครื่องจักรมาแทนที่แรงงานมนุษย์นั่นเอง
ประเภทของรอก
เราสามารถจัด ประเภทของรอก โดยพื้นฐานจะอาศัยการแยกพิจารณาตามการใช้งาน ดังนี้
⛓ รอกเดี่ยวตายตัว (Fixed Pulley)
เป็นรอกที่ตรึงติดอยู่กับที่ ใช้เชือกหนึ่งเส้นพาดรอบล้อโดยจะมีปลายข้างหนึ่งผูกติดกับวัตถุ ปลายอีกข้างหนึ่งใช้สำหรับดึง เมื่อดึงวัตถุขึ้นในแนวดิ่ง แรงที่ใช้ดึงจะมีค่าเท่ากับน้ำหนักของวัตถุ รอกเดี่ยวตายตัวไม่ช่วยผ่อนแรง แต่สามารถอำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น การชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา การลำเลียงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างขึ้นที่สูง
⛓ รอกเดี่ยวเคลื่อนที่ (Movable Pulley)
เป็นรอกที่เคลื่อนที่ได้ขณะที่ใช้งาน วัตถุผูกติดกับตัวรอกใช้เชือกหนึ่งเส้นพาดรอบล้อโดยปลายข้างหนึ่งผูกติดกับเพดาน ปลายอีกข้างหนึ่งใช้สำหรับดึง เมื่อดึงวัตถุขึ้นในแนวดิ่งแรงที่ใช้ดึงมีค่าเท่ากับครึ่งหนึ่งของน้ำหนักของวัตถุ รอกเดี่ยวเคลื่อนที่เป็นเครื่องกลที่ช่วยผ่อนแรง
⛓ รอกพวง (Block Pulley)
สามารถแบ่งเป็น 3 ระบบ คือ
- รอกพวงระบบที่ 1 ประกอบด้วยรอกเดี่ยวเคลื่อนที่หลายตัว รอกแต่ละตัวมีเชือกคล้องหนึ่งเส้น โดยปลายข้างหนึ่งผูกติดกับเพดาน ปลายอีกข้างหนึ่งผูกกับรอกตัวถัดไป วัตถุผูกติดกับรอกตัวล่างสุด เชือกที่คล้องรอบรอกตัวบนสุดใช้สำหรับดึง
- รอกพวงระบบที่ 2 ประกอบด้วยรอก 2 ตับ ตับบนแขวนติดเพดาน วัตถุผูกติดกับรอกตัวล่างสุด ของตับล่าง ใช้เชือกเส้นเดียวคล้องรอบรอกทุกตัว โดยปลายข้างหนึ่งผูกติดกับรอกตัวล่างสุดของตัวบน หรือตัวบนสุดของตับล่างปลายอีกข้างหนึ่งใช้สำหรับดึง
- รอกพวงระบบที่ 3 ประกอบด้วยรอกเดียวตายตัว 1 ตัว ที่เหลือเป็นรอกเดี่ยวเคลื่อนที่ ปลายข้างหนึ่งของเชือกที่คล้องรอบรอกทุกตัวผูกติดกับคานตรงอันหนึ่งวัตถุผูกติดกับคานนี้ ปลายอีกข้างหนึ่งของเชือกผูกกับรอกตัวถัดไป เหลือปลายสุดท้ายใช้สำหรับดึง
ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้รอกตามการใช้งาน ดังนี้
✅ รอกโซ่มือสาว (Chain Block) คือ รอกโซ่ที่มีการใช้มือในการชัก ติดตั้งง่าย น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวก ใช้สำหรับงานชั่วคราว ดูแลรักษาได้ง่าย เหมาะกับงานลิฟต์บรรทุก ลิฟต์ขนของ
✅ รอกโซ่ หรือ รอกกำมะลอ (Level Block or Level Hoist) คือ ใช้งานเช่นเดียวกับรอกมือสาว แต่มีด้ามโยกเพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยในการชักรอกได้ดียิ่งขึ้น น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวก รับน้ำหนักได้มาก เคลื่อนย้ายสะดวก มีอายุการใช้งานยาวนาน เหมาะสำหรับการก่อสร้าง และยกย้ายเครื่องจักรทั่วไป
✅ รอกไฟฟ้า (Electric Chain Hoist) คือ รอกที่ใช้ไฟฟ้าในการชักรอก โดยสามารถควบคุมการทำงานได้อย่างง่ายดาย มีน้ำหนักเบา สะดวกในการเคลื่อนย้าย เหมาะสำหรับการใช้งานระหว่างก่อสร้าง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รอกโซ่ไฟฟ้า และรอกสลิงไฟฟ้า ซึ่งมีลักษณะการใช้งานที่เหมือนกัน เช่น
- 2 ทิศทาง (ยกขึ้น – ยกลง)
- 4 ทิศทาง (ยกขึ้น – ยกลง ซ้าย – ขวา)
- 6 ทิศทาง (ยกขึ้น – ยกลง ซ้าย – ขวา – เดินหน้า – ถอยหลัง)
ดังนั้น เมื่อนำรอกไปใช้งานควรคำนึงถึงความเหมาะสม ควรเลือกรอกที่มีมาตรฐาน ตรวจสอบการรองรับน้ำหนักสูงสุดของรอก เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ
เครื่องทุ่นแรงประเภทอื่น ๆ
⏩ คาน (Lever) คานเป็นเครื่องทุ่นแรง ซึ่งอาศัยหลักการของโมเมนต์ คือ เมื่อมีวัตถุที่เป็นของแข็งและจุดหมุนอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งบนคาน การออกแรง ณ จุดที่ห่างจากจุดหมุน จะเป็นการเพิ่มปริมาณของโมเมนต์ โดยมีมุมระหว่างแรงกระทำกับระยะห่างจากจุดหมุนเป็นอีกปัจจัยด้วย นั่นคือ โมเมนต์จะมากที่สุดเมื่อแรงกระทำตั้งฉากกับระยะห่าง เช่น ที่เปิดขวด การใช้คานงัด เครื่องชั่งน้ำหนักแบบสองแขน การใช้ตะเกียบ เป็นต้น
⏩ ล้อและเพลา (Wheel and Axle) เป็นเครื่องกลที่ช่วยผ่อนแรงการทำงานได้ ประกอบไปด้วยวัตถุทรงกระบอก 2 ชิ้นติดกัน ชิ้นใหญ่เรียกว่า “ล้อ” ชิ้นเล็กเรียกว่า “เพลา” ใช้สายพานหรือเชือก 2 เส้น พันรอบล้อเส้นหนึ่ง ส่วนอีกเส้นหนึ่งพันรอบเพลา โดยพันไปคนละทาง ปลายข้างหนึ่งของเชือกที่พันรอบเพลาผูกติดกับวัตถุ ส่วนปลายข้างหนึ่งของเชือกที่พันรอบล้อซึ่งจะใช้สำหรับออกแรงดึง ตัวอย่างของเครื่องมือทุ่นแรงที่ใช้หลักการของล้อและเพลา เช่น พวงมาลัยรถยนต์ กว้านตักน้ำจากบ่อ กว้านสมอเรือ เป็นต้น
⏩ พื้นเอียง (Inclined Plane) เป็นเครื่องกลสำหรับทุ่นแรงอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นแท่งตรงยาว ผิวเรียบ ใช้สำหรับพาดระหว่างพื้นที่ต่างระดับกันเพื่อขนย้ายมวลต่าง ๆ ขึ้นหรือลงสู่บริเวณที่ต้องการโดยการลากหรือการผลัก แทนการยกขึ้นตรง ๆ ซึ่งต้องใช้กำลังมากกว่าการผลักบนพื้นเอียง แต่งานที่ได้มีขนาดเท่ากัน แต่ในบางกรณี พื้นเอียงก็ไม่ได้ช่วยให้งานที่ได้มากกว่างานที่ทำเสมอไป เพียงแค่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานให้ปฏิบัติงานได้สะดวกสบายขึ้นเท่านั้น เช่น การลากวัตถุจากที่สูงลงสู่พื้นที่มีระดับต่ำกว่า ดังนั้น ประโยชน์ของพื้นเอียง คือ ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน และผ่อนแรงในการขนย้ายสิ่งของขึ้นหรือลงจากพื้นที่ที่มีระดับความสูงแตกต่างกัน เช่น การลากของขึ้นไปตามพื้นเอียง หรือการผลักของลงมาตามพื้นเอียง เป็นต้น
⏩ ลิ่ม (Wedge) เป็นเครื่องกลสำหรับทุ่นแรง โดยมีปลายด้านหนึ่งแบนหรือแหลม อีกด้านหนึ่งจะเรียบใช้ในการแยกวัตถุออกจากกัน โดยให้แรงแนวตั้งฉากกับส่วนหัวด้านเรียบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแรงตั้งฉากไปเป็นแรงในแนวตั้งฉากกับพื้นเอียง
KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่าง เช่น รอกไฟฟ้า รอกโซ่ รอกยกของ และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!! เลือกดูสินค้าจาก KACHA ปลอดภัย อุ่นใจทุกการใช้งาน
จบไปแล้วกับ ประเภทของรอก แต่ละแบบ ที่เรานำมาฝากกัน เรียกได้ว่ามีหลากหลายแบบ อย่าลืมเลือกใช้งานให้เหมาะสมด้วย เพื่อประสิทธิภาพการใช้งาน และทำงานที่เต็มประสิทธิภาพ หวังว่าบทความนี้ คงให้ประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย
บทความดี ๆ น่าอ่าน: