การบ่มคอนกรีต คือ วิธีการควบคุม และป้องกันไม่ให้น้ำส่วนที่เหลือจากการทำปฏิกิริยาระเหยออก เพื่อให้ปฏิกิริยาไฮเดรชั่น ของซีเมนต์ เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการพัฒนากำลังอัดของคอนกรีต เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดการหดตัวของคอนกรีต ทำให้คอนกรีต มีความทนทาน และป้องกันการแตกร้าวของคอนกรีตได้
การบ่มคอนกรีต มีกี่แบบ?
การบ่มคอนกรีต คือ วิธีการที่ช่วย เพิ่มความแข็งแรง ของคอนกรีต ด้วยการป้องกัน ไม่ให้น้ำระเหยออกจากคอนกรีตเร็วเกินไป ซึ่งการบ่มที่ดี จะส่งผลต่อความแข็งแรง ของคอนกรีตเมื่อเซตตัว เพิ่มประสิทธิภาพในการรับแรง ทั้งยังช่วยให้เหล็ก ไม่เป็นสนิมได้ง่าย ซึ่งวิธีการบ่มคอนกรีต ที่เหมาะสม จะแตกต่างกันไป ตามสภาพของงานคอนกรีต และข้อจำกัดของพื้นที่ ในบริเวณนั้น ดังนี้
1) การบ่มคอนกรีต โดยการเพิ่มความชื้นให้คอนกรีต
การบ่มลักษณะนี้ จะเพิ่มความชื้นให้กับผิวคอนกรีตโดยตรงเพื่อทดแทนการระเหยของน้ำ ออกจากคอนกรีต การบ่มลักษณะนี้ สามารถทำได้หลายวิธี คือ
- การขังน้ำ หรือหล่อน้ำ เป็นการทำ นบกั้นน้ำ ไม่ให้น้ำไหลออก ใช้กับงานทางระดับ เช่น งานพื้น งานถนน เป็นต้น วัสดุที่ใช้ทำ นบกั้นน้ำ บางครั้งอาจจะเป็นดินเหนียว หรืออิฐก็ได้
ข้อควรระวัง สำหรับวิธีนี้ ต้องระวังอย่าให้ นบกันน้ำพัง หลังจากการบ่มคอนกรีตเสร็จแล้ว จะต้องทำความสะอาด ผิวหน้าคอนกรีตด้วย
- การฉีดน้ำ หรือการรดน้ำ เป็นการฉีดน้ำ ให้ผิวคอนกรีตเปียกอยู่เสมอ วิธีนี้ใช้ได้กับ งานคอนกรีต ทั้งในแนวดิ่ง แนวราบ หรือแนวเอียง
ข้อควรระวัง ต้องฉีดน้ำให้ทั่วถึง ทุกส่วนของคอนกรีต และแรงดันน้ำต้องไม่แรงเกินไป จนชะเอาผิวหน้าคอนกรีตที่ยังไม่แข็งแรง ออก
- การคลุมด้วยวัสดุเปียกชื้น เป็นวิธีที่ที่ใช้กันมาก เพราะสะดวก ประหยัด และสามารถใช้ได้ดี กับงาน ทั้งแนวระดับ แนวดิ่ง และแนวเอียง วัสดุที่ใช้คลุม อาจจะใช้ ผ้าใบ กระสอบป่าน หรือวัสดุอื่น ๆ ที่อุ้มน้ำได้
ข้อควระวัง วัสดุที่คลุม ต้องเปียกชุ่มเสมอ วัสดุที่ใช้คลุม ต้องปราศจากสารที่เป็นอันตรายต่อคอนกรีต สำหรับการคลุมงานคอนกรีต ในแนวดิ่ง ต้องยึดวัสดุคลุมให้แน่นหนา ไม่เลื่อนหล่นลงได้ โดยเฉพาะเวลาที่ราดน้ำ ซึ่งจะต้องทำเป็นประจำ
2) การบ่มโดยป้องกันการเสียน้ำจากเนื้อคอนกรีต
วิธีการนี้ ใช้การผนึกผิวคอนกรีต เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นจากคอนกรีต ระเหยออกจากเนื้อคอนกรีต การบ่มลักษณะนี้ ทำได้หลายวิธี คือ
- การบ่มในแบบหล่อ แบบหล่อไม้เปียก และแบบหล่อเหล็ก สามารถป้องกัน การสูญเสียความชื้นได้ดี วิธีนี้จัดได้ว่า ง่ายที่สุด เพียงแค่ทิ้งแบบหล่อ ให้อยู่กับคอนกรีตที่หล่อไว้ ให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้ และคอยดูแลให้ผิวคอนกรีตด้านบนมีน้ำอยู่ โดยน้ำนั้น สามารถไหลซึมลงมา ระหว่างแบบหล่อ กับคอนกรีตได้
- การใช้กระดาษกั้นน้ำซึม เป็นการใช้กระดาษกั้นน้ำซึม ปิดทับผิวคอนกรีตให้สนิท เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน วิธีนี้นิยมใช้กับงานคอนกรีต แนวระดับ กระดาษกั้นน้ำซึมนี้ เป็นกระดาษเหนียว 2 ชั้น ยึดติดกันด้วยยางมะตอย และเสริมความเหนียวด้วยใยแก้ว มีคุณสมบัติในการยืด หดตัวไม่มากนัก เวลาที่เปียก และแห้ง
ข้อควรระวัง การใช้กระดาษกั้นน้ำซึม บริเวณรอยต่อ ระหว่างแผ่น จะต้องผนึกแผ่นให้แน่นด้วยกาว หรือเทป และกระดาษ ต้องไม่มีรอยฉีกขาด หรือชำรุด - การใช้แผ่นผ้าพลาสติก คลุม วิธีนี้เหมือนกับการใช้กระดาษกั้นน้ำ แต่แผ่นพลาสติก จะเบากว่ามาก จึงสะดวกในการใช้มากกว่า สามารถใช้กับงานโครงสร้างทุกชนิด
ข้อควรระวัง บริเวณรอยต่อระหว่างแผ่น จะต้องผนึกแน่น พลาสติกจะต้องไม่มีรอยฉีกขาด เนื่องจากพลาสติก มีน้ำหนักเบา จึงต้องระวังเรื่องผูกยึด ป้องกันลมพัด - การใช้สารเคมี เคลือบผิวคอนกรีต เป็นการพ่นสารเคมีลงบนผิวคอนกรีต ซึ่งสารเคมีที่พ่นนี้ จะกลายเป็นเยื่อบาง ๆ คุมผิวคอนกรีต ป้องกันการระเหยของน้ำ ในคอนกรีตได้ การบ่มลักษณะนี้ สะดวก รวดเร็ว แต่ค่าใช้จ่ายสูง จึงมักใช้กับงานที่บ่มด้วยวิธีอื่นได้ลำบาก การพ่นสารเคมี ต้องกระทำ ในขณะที่ผิวคอนกรีตยังชื้นอยู่ และต้องพ่นให้ทั่วถึง
ข้อควรระวัง สารเคมีประเภทนี้ จะทำให้การยึดเหนี่ยว ระหว่างคอนกรีตเดิม กับคอนกรีตที่จะเทใหม่เสียไป จึงไม่ควร ใช้กับงานคอนกรีต ที่ต้องต่อเติม หรือฉาบปูนภายหลัง หากใช้สารเคมีฉีดพ่นแล้ว ไม่ควรฉีดน้ำซ้ำ เพราะ น้ำ จะไปชะล้างสารเคมีออกนั่นเอง
3) การบ่มคอนกรีตด้วยการเร่งกำลัง
เป็นการบ่มคอนกรีตด้วยไอน้ำ โดยให้ความชื้น และความร้อน กับคอนกรีตที่หล่อเสร็จใหม่ ๆ วิธีนี้จะทำให้คอนกรีต มีกำลังสูงขึ้นโดยรวดเร็ว ช่วยลดการหดตัว และเพิ่มความต้านทาน ต่อสารเคมี ที่เป็นอันตรายต่อคอนกรีต สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การบ่มด้วยไอน้ำ ที่มีความดันต่ำ และการบ่มด้วยไอน้ำที่มีความดันสูง การบ่มด้วยการเร่งกำลัง นิยมใช้กันในงานอุตสาหกรรม คอนกรีตสำเร็จรูป
4) การบ่มด้วยกระแสไฟฟ้า
เป็นการบ่มที่ใช้กระแสไฟฟ้า ใช้เฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะทำให้คอนกรีต เป็นสื่อนำไฟฟ้า ใช้เหล็กเสริมเป็นตัวนำความร้อน เพื่อให้กระแสไฟฟ้าห่อหุ้มคอนกรีต
ระยะเวลาของการบ่มคอนกรีต ที่ใช้ปูนซีเมนต์ที่ผลิตในประเทศไทย
ประเภทการใช้งาน | ปูนซีเมนต์ผสม | ปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์
ประเภท 1 |
ปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์
ประเภท 3 |
---|---|---|---|
งานธรรมดา เช่น เสา คาน และกำแพง | 7 วัน | 7 วัน | 4 วัน |
พื้นบ้าน พื้นถนนในบ้าน ฯลฯ | 8 วัน | 8 วัน | 4 วัน |
ถนนชั้นหนึ่ง ลานจอด หรือทางวิ่งของเครื่องบิน | – | 14 วัน | 7 วัน |
เสาเข็มสำหรับที่นำไปตอกเป็นฐานราก | 21 วัน | 14 วัน | 7 วัน |
งานพิเศษ เช่น แผ่นพื้นบาง ๆ | 14 วัน | 14 วัน | 7 วัน |
รูปหล่อที่เล็กบางซึ่งใช้ปูนซีเมนต์ผสมมาก | – | 21 วัน | 7 วัน |
- ปูนซีเมนต์ผสม คือ ปูนซีเมนต์ ที่นำมาใช้ในงานก่อ โบก ฉาบ หรืองานก่อสร้างทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ต้องการรับน้ำหนักมาก
- ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 1 คือ ปูนซีเมนต์ ที่ใช้ในงานก่อสร้างคอนกรีตทั่ว ๆ ไป เช่น อาคาร ที่พักอาศัยทั่วไป ถนน ทางเท้า กำแพง ฯลฯ ใช้ในงานที่อยู่ในสภาพอากาศปกติ
- ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 3 คือ ปูนซีเมนต์ ที่ให้กำลังอัดสูงเร็ว รับแรงได้เร็วกว่า ปูนซีเมนต์ประเภท 1 จึงเป็นที่นิยม ในการนำไปใช้งาน ที่ต้องการความรวดเร็ว เร่งด่วน และคล่องตัว
ข้อควรระวังสำหรับการบ่มคอนกรีต
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้คอนกรีตได้รับความเสียหาย ในขณะที่บ่มอยู่ คือ การสั่นสะเทือน การกระแทก การรับน้ำหนักมากเกินไป การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างมากในเวลาสั้น ๆ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุต้น ๆ ของคอนกรีต
เรียกได้ว่า การบ่มคอนกรีต นั้น ถือว่ามีความสำคัญในงานก่อสร้างอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว หวังว่าบทความที่เรานำมาฝากกันวันนี้ จะทำให้หลาย ๆ คน เข้าใจกับเรื่อง บ่มคอนกรีต กันมากขึ้น ไม่มากก็น้อยนะจ๊ะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
- คอนกรีต ที่ใช้ในงานก่อสร้างมีกี่ประเภท?
- คอนกรีตผสมเสร็จ คืออะไร? นำไปใช้งานแบบไหน?
- ปูนสำเร็จรูป คืออะไร? เลือกใช้อย่างไรให้เหมาะกับงาน
● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ● ●
KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!
อ้างอิงข้อมูลจาก kodanghappy.com, mix-easy.com