รู้จักกับ สายยาง มีกี่แบบ เลือกแบบไหนให้เหมาะกับการใช้งาน
สายยาง หนึ่งในอุปกรณ์ที่ทุกบ้านต้องมีไว้ใช้งาน ตัวช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้น้ำ
จะใช้ในบ้าน นอกบ้าน การเกษตร หรือแม้แต่วงการอุตสาหกรรมก็ตอบโจทย์ เพราะมีหลายประเภทให้เลือก
แต่จะเลือกใช้ยังไงให้เหมาะสมกับการใช้งาน ตาม KACHA มาดูกันเลย
สายยาง คืออะไร?
สายยาง คือ อุปกรณ์ที่ใช้ลำเลียงของเหลวให้ไหลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ผลิตจากวัสดุหลายชนิด เช่น พีวีซี พียู เทปล่อน ซิลิโคน ฯลฯ ซึ่งแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันตามการใช้งาน มีรูปร่าง ขนาด ความกว้างยาว แตกต่างกัน มีทั้งที่ทนความร้อน ไม่ทนความร้อน แบบหนา แบบบาง แต่คุณสมบัติที่ดีโดยรวมของสายยาง คือ ควรมีน้ำหนักที่เบา หรือน้ำหนักไม่หนักมากจนเกินไป ยืดหยุ่น หรือคืนรูปได้ เมื่อมีการกดทับหรือบีบ ส่วนประโยชน์ของสายยางนั้นมีหลากหลายด้าน ทั้งการเกษตร และ อุตสาหกรรม
ประเภทและการใช้งาน
1) สายยางทั่วไป
เราจะคุ้นชินกับสายยางประเภทนี้ค่อนข้างมาก เพราะอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ตัวสายยางผลิตจากวัสดุต่างชนิดกัน มีโครงสร้างสองชั้น ประกอบด้วย ชั้นนอกและชั้นใน รับแรงดันน้ำได้ไม่มาก มีสีให้เลือกเยอะ เหมาะกับการใช้ทั่วไปตามลักษณะอากาศ เช่น ถ้าใช้งานภายในบ้านหรือในที่ร่ม แนะนำให้ใช้พีวีซีใส เพราะมีน้ำหนักเบา สามารถมองเห็นน้ำได้ชัดเจน ใช้งานได้สะดวก เคลื่อนย้ายง่าย และถ้าเป็นงานกลางแจ้ง หรือต้องการติดตั้งไว้นอกบ้านที่โดนแสงแดดเป็นประจำ ควรเลือกแบบสีฟ้าหรือสีเขียวทึบ เพราะจะช่วยป้องกันแสงแดด ช่วยให้น้ำมีอุณหภูมิปกติ ตัวสายไม่สึกหรอง่าย ส่วนการใช้งานของสายยางประเภทนี้ เหมาะสำหรับงานที่ใช้แรงดันน้ำน้อยและแรงดันน้ำปกติ เช่น รดน้ำต้นไม้ ซักผ้า ล้างจาน ล้างพื้นบ้าน ฯลฯ
2) สายยางแรงดัน
สายยางประเภทนี้จะคล้ายกับสายยางประเภทแรก แต่จะประกอบด้วยโครงสร้างสามชั้น คือ มีวัสดุเสริมความแข็งแรงที่ชั้นกลางด้วยการเสริมเส้นใยถักด้านใน เพื่อให้ทนต่อแรงดันมากยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับงานลำเลียงน้ำด้วยความเร็วสูง ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นสายสีดำ ทนความร้อนได้ไม่มาก แต่จะเน้นทนต่อสารเคมี หรือกรดอ่อนมากกว่า สายยางประเภทนี้จะใช้งานกับ น้ำดี และน้ำเสีย เป็นส่วนใหญ่ เพื่อลำเลียงน้ำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
3) สายยางกลุ่มพิเศษ
สายยางกลุ่มพิเศษ หรือ สายยางทนแรงดันสำหรับน้ำร้อนและเย็น จะมีโครงสร้างเสริมความแข็งแรงด้วยขดลวดหรือพลาสติก มีความทนทานต่อแรงกดและรักษาอัตราการไหลได้ดี ไม่ยุบตัวในขณะใช้งาน สามารถใช้งานได้ทั้งงานดูดและงานส่งลำเลียงน้ำหรือของเหลว โดยทั่วไปจะถูกใช้งานในอุตสาหกรรมอาหารและยา หรืออุตสาหกรรมที่ต้องมีการแยกประเภทของน้ำในการใช้งาน เช่น การทำความสะอาด อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ การทำความสะอาดห้องครัวที่ต้องใช้น้ำอุณหภูมิสูง เพราะตัวสายยางประเภทนี้มีความยืดหยุ่นและทนความร้อนได้ได้มากกว่า ซึ่งในส่วนของสายน้ำร้อนจะถูกหุ้มด้วยฉนวนกันความร้อนเพิ่มเข้าไป เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้งาน และการสัมผัสสายยางโดยไม่ตั้งใจ
โดยส่วนใหญ่สายยางประเภทนี้ จะถูกผลิตแยกสีให้เราสังเกตได้อย่างชัดเจน เช่น สีฟ้าสำหรับน้ำเย็นหรืออุณหภูมิปกติ สีแดงสำหรับน้ำร้อน อุณหภูมิสูงกว่า 70 °C และ สีดำ สำหรับน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 100 °C ส่วนมากมาพร้อมกับโรลม้วนสายในตัว เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน สายยางประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะถูกติดตั้งเฉพาะจุดที่มีการเปลี่ยนการใช้น้ำร้อนหรือเย็นบ่อยครั้ง
เทคนิคการเลือกสายยาง : ควรเลือกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายในและภายนอก แรงดัน ความยาวของสายยางให้สอดคล้องกับท่อ ก๊อกน้ำ หรือลักษณะการใช้งาน รวมถึงเลือกสายยางที่มีโครงสร้างยางชั้นใน วัสดุเสริม และยางชั้นนอกที่มีคุณภาพ เพื่อการใช้งานอย่างราบรื่น ลดอุบัติเหตุ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
การดูแลและทำความสะอาด
การกำจัดตะไคร่น้ำ
ตะไคร่น้ำ มักขึ้นอยู่ตามพื้นที่ที่มีความชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสายยางก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่พบปัญหานี้ สร้างความรำคาญในการใช้งานน้ำเป็นอย่างมาก เรามาดูกันว่า จะทำอย่างไรให้ตะไคร่น้ำหลุดออกจากสายยางได้ง่าย ๆ อย่ารอช้า ไปดูกันเลย
อุปกรณ์
- แผ่นใยขัด ฝอยสเตนเลส หรือเศษฟองน้ำ
- คลิปรัดสายยาง
ขั้นตอนการทำ
- ตัดแผ่นใยขัด หรือสก็อตไบร์ทให้มีขนาดเล็กแล้วม้วนให้แน่นเป็นแท่งกลม พอที่จะใส่เข้าไปด้านในสายยางได้
- ต่อสายยางที่ต้องการกำจัดตะไคร่น้ำเข้ากับหัวก๊อก จากนั้นรัดให้แน่นด้วยคลิปรัดสายยาง
- เปิดก๊อกน้ำเพื่อให้แรงดันของน้ำไปดันแผ่นใยขัด แผ่นใยขัดให้กวาดตะไคร่และคราบสกปรกที่อยู่ภายในท่อออกมา
- ทำซ้ำอีก 2 – 3 รอบ หรือตามต้องการ ให้ด้านในของสายยางสะอาดหมดจด
- ไล่น้ำออกจากสายยางให้หมด แล้วม้วนสายยางเก็บให้เรียบร้อย
การเก็บรักษาสายยาง
เมื่อล้างทำความสะอาดและไล่น้ำออกจากสายหมดแล้ว ให้เริ่มม้วนเก็บสายยางจากโคนสาย ให้ส่วนปลายกองที่พื้น แล้วม้วนเป็นเลข 8 จัดเก็บไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก (ไม่แนะนำให้เก็บในพื้นที่แฉะหรือมีน้ำขัง เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดตะไคร่จับข้างนอกแล้วลุกลามไปข้างในสายยาง) และควรตรวจสอบสภาพสายยางว่า บิด งอ หรือไม่ก่อนการเปิดน้ำ เพราะอาจส่งผลกระทบต่ออัตรการไหลของน้ำ และลดอายุการใช้งานของสายยาง
จบไปแล้ว สำหรับบทความ เรื่อง สายยาง หวังว่าทุกคนจะได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้กันนะคะ เราจะได้ใช้น้ำอย่างสะดวกและเต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และอย่าลืมว่าคุณภาพการผลิตสายยางก็สำคัญไม่แพ้กัน ควรเลือกยี่ห้อที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ เพื่อที่จะได้สายยางที่คงทน ใช้งานได้ยาวนาน และมีความปลอดภัยตลอดการใช้งาน
บทความดี ๆ น่าอ่าน :
ขอบคุณข้อมูลจาก : HiaChet