สายฉีดชำระ เลือกแบบไหนให้ใช้งานได้ยาวนาน?

สายฉีดชำระ หนึ่งในอุปกรณ์ที่มีความสำคัญในห้องน้ำ โดยเฉพาะประเทศไทยที่นิยมติดตั้งโถสุขภัณฑ์ร่วมกับสายฉีดชำระ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาด

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าอุปกรณ์ชนิดนี้มีหลายประเภท หรืออาจจะกำลังลังเลว่าจะเลือกแบบไหนดี?

วันนี้ KACHA จะพาไปส่องว่าแต่ละแบบดียังไง? ทนทานมากน้อยแค่ไหน ตามไปดูกัน!

ปัญหาที่พบบ่อยของสายฉีดชำระ

  1. น้ำรั่วซึม

ปัญหานี้พบบ่อยและมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ สร้างความรำคาญให้คนในบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเสียงน้ำหยดที่รบกวนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคนในครอบครัว ทั้งยังทำให้ห้องน้ำดูสกปรกและเปียกตลอดเวลา แถมยังทำให้เปลืองน้ำ เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก โดยสาเหตุหลักของปัญหานี้ คือ สายฉีดชำระไม่สามารถรับแรงดันของน้ำได้, อาจไม่ได้ติดตั้งวาล์วเปิด-ปิดน้ำ (สต๊อปวาล์ว) หรือ ส่วนประกอบภายในหัวสายฉีดชำรุด

  1. วัสดุไม่แข็งแรงทนทาน

เกิดจากวัสดุที่ใช้ผลิตมีความคงทนต่ำ และ การผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร เมื่อใช้งานสายฉีดชำระไปได้สักระยะ ก็พบว่าส่วนประกอบต่าง ๆ เริ่มผุพัง เช่น หัวสายฉีดชำระแตก สายยางส่งน้ำรั่ว หรือ ก้านกดหักใช้งานไม่ได้ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ต้องสังเกตพฤติกรรมของผู้ใช้งานร่วมด้วย ว่าส่งผลต่อปัญหานี้มากน้อยเพียงใด เช่น วาง ที่ฉีดก้น แรง ๆ กระแทกกับพื้น หรือจัดเก็บสายยางผิดวิธีจนทำให้งอบ่อยจนแตก

  1. ระดับแรงดันน้ำไม่พอดี

ปัญหานี้เกิดจากการที่เราไม่ได้ติดตั้ง สต๊อปวาล์ว (Stop Valve) เพื่อควบคุมแรงดันของน้ำ สายน้ำที่ได้จึงเบาหรือแรงจนเกินไป ซึ่งหากติดตั้งแล้ว จะสามารถปรับความแรงน้ำได้ตามต้องการ

วิธีเลือก สายฉีดชำระ ให้ใช้งานได้นาน

สายฉีดชำระ ความสำคัญ

1) วัสดุที่ใช้ในการผลิต

  • พลาสติก

สายฉีดชำระประเภทนี้จะเห็นได้บ่อยในห้องน้ำสาธารณะ ร้านอาหาร หรือห้างสรรพสินค้า เพราะสามารถใช้งานได้ดี น้ำหนักเบา ราคาถูก และไม่เกิดสนิม แต่มีความคงทนต่ำกว่าแบบอื่น เนื่องจากเป็นพลาสติก แตกหักได้ง่าย โดยเฉพาะ ที่ฉีดก้น ที่มีตัวกดเป็นพลาสติก โอกาสในการหักคามือสูงมาก จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง

  • สแตนเลส

หัวฉีดประเภทนี้มีความเงา แข็งแรง และทนกว่าแบบพลาสติก โอกาสผุกร่อนน้อย แต่จะมีน้ำหนักเยอะกว่า เมื่อใช้งานนานไปก็มีโอกาสเกิดสนิมได้ หากพื้นผิวมีการขูดขีดจากการกดฉีดน้ำ

  • โครเมียม

มีความทนทานสูง เรียบหรู เงางาม ขึ้นสนิมได้ยาก แต่มีราคาค่อนข้างสูง

  • ชุบโครเมียม แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

-พลาสติกชุบโครเมียม ให้ความเงาสวยงาม น้ำหนักเบา แต่ก็ยังแตกหักง่ายกว่าวัสดุอื่น

-ทองเหลืองชุบโครเมียม ถือเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์การใช้งานทั้งทนทานและไม่เป็นสนิม แต่ราคาจะสูงกว่าแบบอื่น

2) ลักษณะหัวกด

  • แบบก้านกด พบได้ทั่วไปในสายฉีดชำระ ข้อดี คือ ใช้งานง่าย ควบคุมปริมาณน้ำได้ แต่ต้องเลือกวัสดุที่มีความแข็งแรง
  • แบบปุ่มกด ทำงานโดยปล่อยน้ำให้ไหลออกมาทีเดียว ข้อดี คือ กดครั้งเดียวจบ ดูสวยงามทันสมัย ไม่ต้องกังวลเรื่องก้านกดหัก ข้อเสีย คือ ไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ออกมาได้

3) ลักษณะสาย

  • สายพลาสติก หรือสายยาง PVC ลักษณะคล้ายสายยางขนาดเล็ก

ข้อดี : ราคาถูก ทนแรงดันน้ำได้ดี และไม่เป็นสนิม

ข้อเสีย : ความยืดหยุ่นน้อย อาจแตกหักง่าย หากไม่ระมัดระวังในการใช้งาน

  • สายโลหะถัก ลักษณะเป็นสายสีเงินทำจากโลหะ

ข้อดี : ความยืดหยุ่นสูง แข็งแรงกว่าสายพลาสติก ให้ความรู้สึกหรูหราสวยงาม

ข้อเสีย : ราคาแพง หากไม่เลือกโลหะที่เป็นโครเมียม มีโอกาสเกิดสนิมได้

4) ขนาดและความยาว

ข้อนี้ต้องพิจารณาจากพื้นที่ของห้องน้ำ และ ระยะของชักโครก ว่ามีความใกล้หรือไกลเท่าใด เพื่อให้เลือกซื้อ ที่ฉีดก้น ได้พอดี โดยปกติการติดตั้งสายฉีดชำระจะอยู่เหนือพื้น ประมาณ 0.45 เมตร และห่างจากชักโครกในระยะที่แขนเอื้อมถึง ส่วนด้านที่จะติดตั้งให้เลือกจากความถนัดของผู้ใช้งาน และระยะของตัวสต็อปวาล์วที่ติดตั้งไว้

5) การรับแรงดันน้ำ

วัสดุของหัวฉีดและตัวสายต้องรับแรงดันน้ำได้ดี เพราะหากโดนแรงดันน้ำที่เกินจะรับได้ ส่วนสายยางที่อยู่ด้านในอาจบวม หัวฉีดอาจแตกหักจนทำให้น้ำไหลหรือหยดไม่หยุดได้ ส่วนมากบนสลากที่บรรจุสายฉีดชำระ มักมีข้อมูลบอกค่าแรงดันดันน้ำที่รับได้ มีหน่วยวัดเป็น “บาร์” ซึ่ง 1 บาร์ คือ แรงดันน้ำที่สูงประมาณ 10 เมตร หากน้ำไหลออกจากท่อในแนวตั้งฉาก แรงดันน้ำประปาทั่วไป แบบไม่ใช้ปั๊มน้ำ จะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 บาร์ แต่คอนโดทั่วไปที่มีการใช้ปั๊มน้ำ ปกติจะไม่เกิน 3 บาร์

วิธีเปลี่ยน สายฉีดชำระ ด้วยตัวเอง

อุปกรณ์ติดตั้ง สายฉีดชำระ

อุปกรณ์

  1. สายฉีดชำระครบชุด (หาซื้อได้ตามร้านขายสุขภัณฑ์ทั่วไป)
  2. ข้อต่อโลหะ
  3. สต๊อปวาล์ว
  4. ประแจคอม้า
  5. เทปประปาหรือเทปพันเกลียว

ขั้นตอนการติดตั้ง

  1. ปิดวาล์วน้ำหรือมิเตอร์น้ำเพื่อตัดการจ่ายน้ำเข้าสู่ตัวห้อง จากนั้นถอดสต๊อปวาล์วและชุดสายฉีดชำระเดิมออก
  2. ติดตั้งสต๊อปวาล์วอันใหม่ด้วยการพันเทปประปาที่เกลียวหน้าและหลัง จากนั้นหมุนเกลียวเข้ากับข้อต่อท่อน้ำที่อยู่ตรงผนังห้องน้ำให้แน่น (แนะนำให้ติดตั้งหัวบิดอยู่ด้านบน รูจ่ายน้ำที่ใช้สำหรับต่อสายยางควรอยู่ด้านล่าง จะช่วยป้องกันการหักงอของสายยาง)
  3. ติดตั้งชุดสายฉีดชำระเข้ากับสต๊อปวาล์ว หมุนข้อต่อให้แน่น โดยใช้ประแจคอม้าหมุนซ้ำอีกรอบ แล้วใช้ผ้าเช็ดตามข้อต่อให้แห้งสนิท
  4. เปิดน้ำทดสอบว่ามีน้ำรั่วออกมาจากข้อต่อหรือไม่ และหากมีการรั่วซึม ให้ถอดออกใหม่ แล้วใช้เทปประปาพันรอบเกลียวข้อต่อประมาณ 3-5 รอบ เพื่อลดช่องว่างของหัวเกลียวกับข้อต่อให้แนบสนิทขึ้น

ข้อแนะนำ : ทุกครั้งที่เปลี่ยนสายฉีดชำระ ควรเช็ก “แหวนยาง” ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือไม่? เพราะแหวนยางเป็นตัวช่วยปิดรอยต่อระหว่างท่อน้ำดีและอุปกรณ์

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ วิธีเลือก สายฉีดชำระ หวังว่าทุกคนจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปกรณ์ชิ้นนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของ วัสดุในการผลิต ที่มีผลต่อความทนทานเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการผลิต และพฤติกรรมการใช้งานของเราก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้น อย่าลืมเลือกยี่ห้อที่ได้มาตรฐาน ระมัดระวังในการใช้งาน และเก็บรักษาให้ถูกวิธี เพื่อยืดอายุของสายฉีดชำระให้ใช้งานได้ยาว ๆ ไปเลยยย

KACHA ผู้จัดจำหน่าย เครื่องมือช่างราคาถูก และอุปกรณ์เสริม สำหรับช่างมืออาชีพ ราคาที่คุณจับต้องได้ รับรองสินค้าคุณภาพ บริการหลังการขายที่ประทับใจอย่างแน่นอน!!