อะคริลิค (Acrylic) คืออะไร?
วัสดุโปร่งใสที่ให้ความสวยงามเหมือนกับกระจกใสแต่มีความแข็งแรง และยืดหยุ่น ด้วยคุณสมบัติของพลาสติก สามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย และขึ้นรูปชิ้นงานได้อย่างไม่จำกัด คือ คำจำกัดความแบบง่าย ๆ ของพลาสติกอะคริลิค
แผ่นอะคริลิค พลาสติกอะคริลิคที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้นเป็น พลาสติกใสแบบเรียบชนิดหนึ่ง ซึ่งผลิตจากน้ำยา MMA (Methyl Methacrylate) แล้วนำไปเข้าระบบหล่อด้วยความร้อนสูง เมื่อได้รับความร้อนแผ่นพลาสติกจะอ่อนตัวลง สามารถนำมาขึ้นรูป ดัดแปลง แปรรูปเป็นแบบต่าง ๆได้ และเมื่อพลาสติกเย็นตัวลงก็จะแข็งตัว และคงสภาพไว้ สามารถผลิตให้มีความหนาได้ตามต้องการ ตั้งแต่หนา 1 มม. ไปจนถึงแผ่นหนา 100 มม. อะคริลิคมีน้ำหนักที่เบา สามารถนำมาแกะสลัก ระบายสี พ่นสี ขึ้นรูป หรือลวดลดลายต่าง ๆได้ตามต้องการ
คุณสมบัติที่สำคัญของอะคริลิค คือ ทนทานต่อแรงกระแทกได้มากกว่ากระจก และมีความยืดหยุ่นนำมาผลิตชิ้นงานได้อย่างหลากหลาย เช่น ชั้นวางสินค้า, ป้ายโฆษณา, เฟอร์นิเจอร์, สแตนโชว์สินค้า, ฝาครอบเครื่องจักร, การ์ดบังหน้าเครื่องจักร เป็นต้น
กระบวนการผลิตแผ่นอะคริลิค
สำหรับกระบวนการผลิตแผ่นอะคริลิค จะมี 2 วิธี คือ
- การผลิตด้วยกระบวนการหล่อแบบต่อเนื่อง
- การผลิตด้วยกระบวนการหล่อแบบไม่ต่อเนื่อง
กระบวนการผลิตอะคริลิคพลาสติกทั้ง 2 วิธีนี้ จะมีความแตกต่างกัน คือ การหล่อแบบต่อเนื่องจะทำขึ้นโดยการลำเลียงของสายพานสองเส้นที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และการหล่อแบบไม่ต่อเนื่อง ก็จะทำขึ้นในเบ้าหล่อหรือแม่พิมพ์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็จะมีความแตกต่างกัน
คุณสมบัติเด่นของแผ่นอะคริลิค
- มีความแข็งและเหนียว ทนต่อแรงกระแทกได้ดีมาก แต่ยังต่ำกว่าพลาสติกวิศวกรรมชนิดอื่นที่ถูกออกแบบมาสำหรับงานเฉพาะด้านที่ต้องรองรับแรงกระทำสูง ๆ
- นำมาดัด หรือเชื่อมต่อชิ้นงานต่าง ๆ ได้ง่ายด้วยความร้อน สามารถใช้กับอุปกรณ์งานช่าง เช่น เลื่อย ตัด เจาะ ฯลฯ ได้สะดวก นอกจากนี้ยังสามารถพิมพ์ ทำสี สกรีน หรือสลักบนแผ่น ก็ติดแน่นทนนานพอสมควร
- น้ำหนักเบา โดยมีน้ำหนักประมาณครึ่งหนึ่งของแผ่นกระจกที่ขนาดเท่ากัน
- เป็นฉนวนไฟฟ้า และยังเป็นทั้งฉนวนกันความร้อน และตัวมันเองก็ไม่นำพาความร้อน
- สำหรับแผ่นอะคริลิคใส มีการสะท้อนกลับที่ 2-5% และแสงสว่างสามารถส่องผ่านได้มากกว่า 90% โดยเปอร์เซนต์สะท้อนและแสงลอดผ่านจะมากขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับสี และความหนาของแผ่นอะคริลิค
ข้อด้อยของแผ่นอะคริลิค
- แม้จะมีความแข็งและเหนียว แต่ตัวพลาสติกจะมีเนื้ออ่อน ทำให้เกิดรอยขูดขีดได้ง่ายพอสมควร การใช้ผลิตชิ้นงานจึงมักลอกสติ๊กเกอร์บางส่วนก่อน และเมื่อเสร็จสิ้นการทำงาน จึงลอกออกทั้งหมดในภายหลัง เพื่อป้องกันรอยขูดขีดดังกล่าว
- ไม่ค่อยทนทานต่อตัวทำละลายบางชนิด จึงต้องตรวจสอบชนิดของสารทำละลายนั้น ๆ เสียก่อน เมื่อจะนำมาใช้งาน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
- แม้ปกติแผ่นอะคริลิคจะทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี แต่ก็มีบ้างที่เมื่อใช้ไปในระยะนาน ๆ สีอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้บ้างเล็กน้อย ดังนั้นเมื่อมีการปะ เชื่อม ซ่อมแซม ซ้อนแผ่น หรืออื่น ๆ ควรตรวจสอบสีของแผ่นอีกครั้ง เพื่อป้องกันชิ้นงานออกมาคนละสี
???? อะคริลิคดีกว่าแก้วอย่างไร? แก้วและอะคริลิค มีคุณสมบัติโปร่งใส โปร่งแสงใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเทียบกันแล้ว จะพบว่าอะคริลิคมีคุณสมบัติที่เหมาะกับการนำมาแปรรูป และใช้งานได้หลากหลายมากกว่าแก้ว เพราะอะคริลิคมีน้ำหนักที่เบากว่าแก้วและยืดหยุ่นกว่าแก้ว จึงทำให้อะคริลิค สามารถเคลื่อนย้าย และติดตั้งได้ง่ายกว่าแก้ว สามารถนำมาใช้งานเป็นเครื่องใช้ในบ้านในสำนักงานได้ทนทาน และหลากหลายกว่าแก้ว ให้ความหรูหรา สวยงามแบบแก้วแต่ยังคงความทนทาน ปลอดภัยมากกว่าแก้ว เช่น แปรรูปเป็นชั้นวางของๅ, ชั้นวางสินค้า, กล่องอะคริลิคใส่ของ, กรอบรูปอะคริลิค เป็นต้น สำหรับการนำอะคริลิคมาแปรรูปก็สามารถแปรรูปได้ง่ายกว่าแก้วนั่นเอง |
การทำความสะอาดอะคริลิค และการซ่อมแซมชิ้นงานแปรรูปอะคริลิค
ด้วยความนิยมนำพลาสติกอะคริลิคมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ด้วยคุณสมบัติของเนื้อพลาสติกอะคริลิคที่มีน้ำหนักเบา ทนต่อแรงกระแทก ทนต่อแสงแดด และสารละลายเกลือ หรือน้ำเค็ม ทนต่ออุณหภูมิได้ตั้งแต่ -30 ถึง 160 องศาฟาเรนไฮด์ ทำให้เราสามารถพบเห็นชิ้นงานแปรรูปจากอะคริลิคได้ในชีวิตประจำวันของเรา และเพื่อให้ชิ้นงานอะคริลิคที่ใช้งานอยู่กลับมาสะอาด ใส เงางาม สวยเหมือนใหม่อยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องทำความสะอาดชิ้นงานอะคริลิคอยู่เสมอด้วย
วิธีการทำความสะอาดอะคริลิค สามารถทำได้เอง มีดังนี้
- เช็ดทำความสะอาดฝุ่นด้วยผ้าสะอาด ปัดฝุ่นอยู่เสมอ
- ล้างด้วยน้ำสบู่อ่อน ๆ ในน้ำอุ่น แล้วเช็ดให้แห้งด้วย ผ้านุ่ม ๆ หรือผ้าชามัวร์
- ใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล ชุบผ้าแห้งเล็กน้อย แล้วเช็ดลงบนอะคริลิคเบา ๆ
- หากเป็นคราบไขมัน ควรเช็ดออกด้วย Hexane หรือ Kerosene
- หากมีสารโชเวนท์ติดอยู่ ควรรีบล้างออกทันที
แม้ว่าพลาสติกอะคริลิคจะทนทานต่อสารละลาย หรือทนต่อสารเคมี แต่ก็ยังมีสารเคมีหลายชนิดที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรนำมาใช้เช็ดอะคริลิค ได้แก่ น้ำยาเช็ดกระจก, อะซิโทน, แก๊สโซลีน, เบนซีน หรือแลคเกอร์ |
ข้อควรระวัง: อะคริลิค ไม่สามารถใช้กับกาวร้อน หรือกาวตราช้างได้ หากมีชิ้นงานอะคริลิค ที่เป็นประเภทกล่อง หรือชั้นวางของ ที่มีการแตกหักบริเวณรอยต่อ ควรจะใช้กาวอะคริลิค ในการซ่อมแซมบริเวณรอยต่อ กาวเชื่อมอะคริลิคที่ได้มาตราฐานจะช่วยให้ชิ้นงานของคุณกลับมาใช้งานได้อย่างเดิม