เฟอร์นิเจอร์ บิ้วอิน ต่างจาก ลอยตัว อย่างไร?
สำหรับใครกำลังตัดสินใจจะตกแต่งคอนโดมิเนียม หรือแต่งบ้าน แต่ยังลังเลอยู่ว่า จะเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบไหน จึงจะตอบโจทย์การอยู่อาศัยของตัวเองมากที่สุด ระหว่างเฟอร์นิเจอร์ บิวท์อิน (built-in) เฟอร์นิเจอร์แบบยึดติดอยู่กับที่ กับเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว
วันนี้ KACHA ได้รวบรวมเกร็ดความรู้ และเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่น่าจะทำให้เห็นภาพชัด ระหว่าง เฟอร์นิเจอร์ บิ้วอิน และ ลอยตัว กันว่าแต่ละแบบ มีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร และแต่ละแบบเหมาะกับการอยู่อาศัยแบบไหนกันบ้าง
เฟอร์นิเจอร์ที่กำลังจะพูดถึง แน่นอนว่าหมายถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลัก ๆ เช่น ตู้เสื้อผ้า ตู้เก็บของ ชั้นวางของ ครัว หรือเตียง เป็นต้น เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็ก ๆ จำพวก เก้าอี้ทำงาน โต้ะหน้าโซฟา น่าจะเป็นประเภท Loose Furniture อยู่แล้ว
เฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน (Built-in) คืออะไร?
คือ เฟอร์นิเจอร์ในคอนโดแบบตายตัว ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนได้ มักนิยมสั่งทำตามความประสงค์ ส่วนใหญ่นิยมทำตู้เสื้อผ้า เคาน์เตอร์ห้องครัว ตู้ในห้องน้ำ หรือส่วนอื่น ๆ ตามความต้องการของผู้อาศัยคอนโดส่วนใหญ่ มักแถมเฟอร์นิเจอร์สไตล์นี้มาพร้อมกับห้องชุด ทั้งนี้ เพื่อต่องการเน้นให้ทุกพื้นที่ใช้งานได้อย่างเต็มที่
ข้อดีของเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน (Built-In)
- การแต่งห้องด้วยเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน จะถูกออกแบบและติดตั้งเข้าพอดีกับพื้นที่ห้องช่วยจัดวางตำแหน่งได้สัดส่วนกับขนาดห้อง และยังช่วยทำให้ภาพรวมของห้องดูเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงการตัดชิ้นส่วนประกอบจะมาทำที่หน้างาน เพื่อให้พอดีกับพื้นที่จริงที่สุด
- เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน สามารถดัดแปลงการออกแบบได้ทั้งในเรื่องของสไตล์ ขนาด ชนิดวัสดุ และรูปแบบการใช้งานได้ตามใจเจ้าของห้องเลย
- เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน มีความแข็งแรงทนทาน และยึดติดตายกับโครงสร้างผนัง หรือพื้นที่ของห้อง จึงลดการเกิดช่องว่างที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือจุดที่สะสมของฝุ่น และสิ่งสกปรก นั่นเอง
ข้อเสียของเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน (Built-In)
- เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน มีต้นทุนค่อนข้างสูง โดยคิดรวมกับค่าออกแบบ วัดพื้นที่ ขนาดของชิ้นเฟอร์นิเจอร์ จำนวนจุดติดตั้ง รวมถึงค่าจ้างช่าง ซึ่งมีในเรื่องของคุณภาพวัสดุที่ใช้เป็นปัจจัยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้งานเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน ยังนิยมรับเหมาทั้งห้องมากกว่ารับทำเป็นชิ้น หรือบางจุด ซึ่งอาจมีราคาขั้นต่ำสูงถึง 100,000 – 200,000 บาทขึ้นไป
- เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน เคลื่อนย้ายไม่ได้เมื่อติดตั้งไปแล้ว การรื้อถอนเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน จะเป็นงานที่ยุ่งยาก และต้องว่าจ้างช่างในการรื้อ หากต้องการเปลี่ยนการตกแต่งห้องในภายหลังก็อาจต้องคำนึงถึงส่วนนี้ด้วยนั่นเอง ว่าเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินเดิม จะเข้ากับการตกแต่งสไตล์ใหม่ด้วยหรือไม่ ซึ่งจะไม่เหมาะกับผู้ที่ชอบเปลี่ยนสไตล์การตกแต่งบ่อย ๆ เลยนั่นเอง
เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว คืออะไร?
คือ เฟอร์นิเจอร์ทั่วไปที่ขายเป็นชิ้น ๆ แล้วสามารถจัดวางตรงไหนก็ได้ในห้องได้ตามใจชอบ โดยเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกออกแบบสำเร็จตามผลิตจากโรงงาน ไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขรูปแบบตามความชอบได้ ซึ่งปัจจุบันจะเป็นในส่วนของเฟอร์นิเจอร์แบบน็อคดาวน์ ที่จัดส่งแยกเป็นชิ้นส่วนให้สะดวกต่อการจัดส่งและนำมาประกอบที่หน้างานนั่นเอง
ข้อดีของเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
- เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวสามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งการจัดวางได้ตามสะดวกต่อการใช้งาน และตามใจชอบ โดยเมื่อเสื่อมสภาพการใช้งานก็สามารถขนย้ายออกเป็นชิ้น ๆ ได้ ไม่ทำผนังห้องเสียหายอีกด้วย
- ได้เห็นหน้าตา และขนาดสัดส่วนของเฟอร์นิเจอร์จริงก่อนซื้อ ไม่เหมือนเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินที่จะได้เห็นก็ต่อเมื่อติดตั้งภายในห้องแล้ว
ข้อเสียของเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
- ความทนทานของเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแปรผันกับราคาและคุณภาพวัสดุ หากเป็นวัสดุต้นทุนต่ำ ระยะเวลาอายุการใช้งานก็จะสั้นลงไปด้วย
- เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวบางชิ้น อาจมีสัดส่วนไม่พอดีกับห้อง ทำให้เสียพื้นที่ใช้สอย และเกิดพื้นที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ (Wasted Space) ก่อนจะเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแต่ละชิ้น จึงต้องทำการวัดระยะสัดส่วนของห้องให้ละเอียด เพื่อให้ได้เฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดเหมาะสมนั่นเอง
คุณภาพ และความแข็งแรง ของเฟอร์นิเจอร์แต่ละประเภท
ในเรื่องของความคงทนต่อการใช้งาน อาจจะไม่ได้เกี่ยวว่าเป็นกลุ่มของเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน หรือเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เสียทีเดียวแต่ล้วนขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุ การออกแบบ และความทะนุถนอมในการใช้งานเป็นสำคัญ เช่น หากใช้ไม้อัด (Particle Board) เป็นวัสดุหลักของการทำเฟอร์นิเจอร์ จะทำให้ความแข็งแรงคงทนน้อย และเสียหายง่าย หากโดนความชื้น เพราะเฟอร์นิเจอร์จะบวมพอง และขึ้นราได้ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงวัสดุที่นำมาใช้เคลือบผิวภายนอกเพื่อความสวยงามอีกด้วย เช่น เมลามีน, ไม้วีเนียร์ (Wood Veneer), ผิวพีวีซีม, ลามิเนต หรือผิวเคลือบเงา Hi-Gloss ทั้งนี้ยังรวมไปถึงวัสดุปิดผิวบริเวณสันบานพับ หรือช่วงจุดเชื่อม รอยต่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดอ่อนต่อความชื้นได้เช่นกัน
การดูแลรักษาเฟอร์นิเจอร์
ในการดูแลรักษาเฟอร์นิเจอร์ให้ทั้งสวยงาม และคงทน ก็จะขึ้นอยู่กับวัสดุชนิดนั้น ๆ ที่ใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ด้วย ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากวัสดุต่าง ๆ จะต้องใช้วิธีการดูแลรักษาที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มการดูแลตามชนิดวัสดุได้ ดังนี้
1. เฟอร์นิเจอร์ประเภทหนัง
ห้องที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุประเภทหนังหรือมีการบุด้วยหนัง นอกจากจะทำให้ห้องดูมีความหรูหรา แต่หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม วัสดุอย่างหนังก็อาจจะทำให้มันเสื่อมเร็วได้ โดยเฉพาะหากเป็นวัสดุหนังสังเคราะถ้าได้รับแสงแดดที่ร้อนจัดบ่อย ๆ พื้นผิวของหนังก็จะแตกกรอบเอาได้นั่นเอง
การดูแลเฟอร์นิเจอร์ ที่เป็นวัสดุหนังที่ดีก มี 2 วิธี คือ
- แบบ LEANING คือ การใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ มาเช็ดถูทุก ๆ 6 เดือนโดยเช็ดทำความสะอาดเศษฝุ่นออกไปจากตัวเบาะก่อน เมื่อแห้งดีแล้วก็ทาตามด้วยน้ำยาเคลือบหนัง หรือน้ำยาขัดเงานั่นเอง
- แบบ WAX คือการเคลือบเงาให้เฟอร์นิเจอร์หนังดูใหม่และเงางามอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้วัสดุหนังมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น และทำให้ห้องดูใหม่อยู่ตลอดอีกด้วย
2. เฟอร์นิเจอร์ประเภทไม้
เฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน (Built-In) หรือเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว แบบไม้ เป็นวัสดุที่นิยมใช้กันแพร่หลายมากที่สุด ในเฟอร์นิเจอร์ทุกระดับราคา ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์จากไม้ธรรมชาติแท้ ๆ หรือเป็นไม้อัดที่เคลือบด้วยวัสดุเคลือบผิวอื่น ๆ ให้สามารถเลือกสีสันได้มากกว่าสีน้ำตาลของไม้ ทำให้สามารถตกแต่งห้องได้หลากหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นแบบย้อนยุควินเทจ หรือเป็นแบบโมเดิร์นทันสมัยก็ตาม โดยวัสดุไม้ของเฟอร์นิเจอร์ก็มีวิธีการดูแลที่ต่างกันอีกด้วย
ข้อดีของเฟอร์นิเจอร์ไม้ยุคใหม่ คือ มักจะผสมสารเคลือบมากให้ในเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เฟอร์นิเจอร์เสื่อมง่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดเป็นประจำ และค่อยเช็ดให้แห้งอยู่เสมอ ไม่ให้มีความเปียกชื้นเกาะบนเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม่ว่าจะเป็นไม่เนื้อแข็งหรือไม้เนื้ออ่อนก็ตาม ทั้งคราบเปียกของวงก้นแก้วน้ำ หรือคราบอาหารบนโต๊ะ รอยเปียกและรอยเปื้อนบนหน้าบานตู้ เป็นต้น
3. เฟอร์นิเจอร์ประเภทโลหะ
วัสดุเฟอร์นิเจอร์แบบโลหะ เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ได้รับความนิยมเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยสามารถดีไซน์ในลักษณะที่เรียบหรู หรือหรูหราแบบลวดลายดัดโค้งเยอะแยะ เข้ากับการตกแต่งไม่ว่าจะแบบคลาสสิก หรือแบบโมเดิร์นลอฟต์ก็ลงตัว
การดูแลรักษาเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากโลหะ คือ การป้องกันไม่ให้โดนความชื้น หรือมีความชื้นสะสมอยู่ เนื่องจากความชื้นจะเป็นตัวการทำให้เกิดเป็นสนิมขึ้นมา และกัดกร่อนเนื้อโลหะได้ ดังนั้น จึงควรทำให้ตัวเฟอร์นิเจอร์โลหะแห้งสนิทอยู่เสมอ (คล้าย ๆ การดูแลเฟอร์นิเจอร์ไม้) โดยนอกจากการเช็ดทำความสะอาดด้วยผ้าชุบหน้าบิดหมาดแล้ว ให้ตามเช็ดด้วยผ้าแห้งเสมอไม่ปล่อยให้ความชื่นแห้งไปเอง นอกจากนี้อาจต้องหมั่นพ่น หรือทาสารเคลือบผิว หรือทาสีใหม่ เมื่อพบว่ามีการชำรุดสึกหรอตามพื้นผิวโลหะ เพื่อยืดอายุการใช้งานของเฟอร์นิเจอร์โลหะ และให้ยังคงความสวยงามอยู่นั่นเอง
เลือกแบบไหนดี? ระหว่างเฟอร์นิเจอร์บิ้วอิน กับ เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว
ในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ ควรเลือกซื้อตามความเหมาะสมกับพื้นที่ของห้อง และให้เข้ากับลักษณะการใช้งานของเจ้าของห้องผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก หากเลือกใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน (Built-in) ก็จะสามารถประหยัดพื้นที่ในห้องคอนโดได้มากกว่า อย่างห้องที่มีขนาดพื้นที่จำกัด และยังลงตัวกับพื้นที่ที่เป็นเหลี่ยมมุม หรือช่องเปล่าต่าง ๆ ได้คุ้มค่าทุกตารางนิ้ว ทั้งยังสามารถออกแบบให้ซ่อนลูกเล่นในการใช้งานเพื่อช่วยประหยัดพื้นที่มากขึ้นได้อีกด้วย แต่ตำแหน่งที่ต้องติดตั้งถาวร มีราคาสูง และมีค่าใช่จ่ายในการออกแบบติดตั้งอยู่ไม่น้อย
จะเห็นได้ว่า การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์นั้นนั้น ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ และความชอบของผู้อยู่อาศัยเอง ถ้าหากว่าชอบความเป็นระเบียบลงตัว และอยากใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วภายในห้องได้อย่างคุ้มค่าที่สุด และไม่คิดที่จะเปลี่ยนสไตล์การตกแต่งอีกแท้ การเลือก เฟอร์นิเจอร์ บิ้วอิน (Built-In) น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากเรามีงบประมาจำกัด และมีแนวโน้วว่าจะเปลี่ยนใจเปลี่ยนรูปแบบการตกแต่งอยู่แล้ว เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว (Free Standing) ก็น่าจะดีกว่า ความคงทนของเฟอร์นิเจอร์ทั้ง 2 แบบ ก็จะขึ้นอยู่กับชนิดวัสดุ การดูแลรักษา และความทะนุถนอมในการใช้งานมากกว่านั่นเอง