โครงหลังคา องค์ประกอบสำคัญในการสร้างบ้านที่ต้องรู้!

❝ บ้านของเรานั้นมีส่วนต่าง ๆ มากมาย สำหรับใครที่กำลังจะปรับปรุงบ้าน หรือกำลังสร้างบ้านใหม่ อาจจะมึนงงกับอุปกรณ์ หรือวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ถ้าเรากังวลว่าช่างจะโกงหรือกลัวว่าสร้างไปแล้วเกินงบที่ตั้งไว้ไปมากนั้น เราอาจจะต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถคุยกับช่างได้อย่างเข้าใจมากขึ้น สำหรับบ้านของเรานั้นสิ่งที่สำคัญส่วนหนึ่ง คือ หลังคาบ้าน ที่เป็นเหมือนสิ่งที่ค่อยปกป้องบ้านของเรานั่นเอง ❞

ซึ่งหลังคาบ้านนั้น ความจริงแล้วมีส่วนประกอบหลากหลายชิ้นพอสมควร วันนี้ KACHA จะชวนมาทำความรู้จักกับส่วนประกอบของ “โครงหลังคา” ให้มาขึ้นกันดีกว่า จะมีอะไรบ้าง เพื่อความเข้าใจมากขึ้น จะได้คุบกับผู้รับเหมา หรือช่างซ่อมหลังคาได้ง่ายขึ้น

มารู้จักกับ โครงสร้างหลังคา กันก่อน!

โครงสร้างหลังคา นับว่าเป็นโครงสร้างส่วนที่สำคัญของบ้านอีกส่วนหนึ่งเช่นกัน เพราะ หลังคาบ้าน จะทำหน้าที่คุ้มแดดคุ้มฝนให้แก่ตัวบ้านรวมทั้งผู้อยู่อาศัยด้วย เพราะด้วยเหตุว่าโครงสร้างหลังคา และตัวหลังคา เป็นส่วนที่อยู่สูงสุดของตัวบ้าน หากจะกล่าวถึงโครงสร้างของ หลังคาบ้าน อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ

  1. โครงหลังคา
  2. วัสดุมุงหลังคา

โครงหลังคา

โครงหลังคา เป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคา โดยทำหน้าที่ยึดมุงหลังคาอย่าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ให้อยู่ในลักษณะที่มั่นคงแข็งแรง และเป็นระเบียบ ในขณะเดียวกัน ก็จะทำหน้าที่ยึดตัว หลังคาบ้าน ทั้งหมดให้เชื่อมต่อกับโครงสร้างของเสาและคาน ของตัวบ้านอย่างแข็งแรง โครงหลังคาที่ดีนอกจากจะต้องมีการเชื่อมต่อหรือเกาะยึดอย่างแข็งแรงแล้วยังมีความคงทนต่อดินฟ้าอากาศและสภาพกาลเวลาที่ผ่านไป อีกทั้งการสร้างจะต้องกระทำอย่างประณีตและถูกต้องในแง่ของขนาดและระยะต่าง ๆ เพื่อให้แนวหลังคาที่มุงเสร็จอยู่ในลักษณะเข้าที่เรียบร้อย โครงหลังคาที่ใช้ในบ้านเรือนทั่วไปอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามวัสดุที่ใช้ กล่าวคือ

1. โครงหลังคาไม้

โครงหลังคาที่ทำด้วยไม้ นิยมใช้กันมากในสมัยก่อน เพราะต้นทุนของวัสดุต่ำ ขั้นตอนการปลูกสร้าง ก็ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้เครื่องมือมาก อีกประการหนึ่งบ้านในสมัยก่อนยังนิยมปลูกเป็นบ้านไม้ การเชื่อมต่อระหว่างโครงหลังคากับโครงสร้างของเสาและคานที่ทำด้วยไม้เหมือนกัน สามารถทำได้โดยสะดวก แต่ในปัจจุบัน บ้านเรือนส่วนใหญ่จะปลูกเป็นตึก ประกอบกับไม้เป็นวัสดุที่หายาก และมีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะไม้คุณภาพดีที่ให้ความแข็งแรงทนทาน และคงรูปก็ยิ่งหายาก และมีราคาแพง นอกจากนี้ โครงหลังคาไม้ ยังอาจมีปัญหาของปลวกเกิดขึ้นได้ในภายหลัง ฉะนั้นโครงหลังคาไม้ จึงไม่เป็นที่นิยมทำกันในปัจจุบัน สำหรับอาคารบ้านเรือนทั่วไปที่เป็นตึก แต่ยังมีใช้กันอยู่สำหรับบ้านไม้

210916-Content-โครงหลังคา-02

2. โครงหลังคาเหล็ก

โครงหลังคาที่ทำด้วยเหล็ก เป็นโครงหลังคาที่นิยมใช้กันทั่วไปสำหรับอาคารบ้านเรือนในปัจจุบัน เพราะเหล็กเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องตลาด อีกทั้งมีรูปแบบและขนาดต่าง ๆ ให้เลือกมากมาย เพื่อให้เหมาะสมกับการรับน้ำหนัก และรูปทรงที่แตกต่างกันของบ้านเรือนแต่ละหลัง นอกจากนี้ เหล็กยังเป็นวัสดุ ที่ให้ความแข็งแรง และความคงรูปเป็นอย่างดี ปราศจากปัญหาเรื่องปลวก ในแง่ของความคงทนและอายุการใช้งานนั้น เหล็กที่ผ่านกรรมวิธีป้องกันสนิม เช่น การชุบสังกะสี หรือการเคลือบสีอย่างดีจะมีอายุการใช้งาน ยาวนานหลายสิบปีในสภาพใช้งานปกติ

วัสดุมุงหลังคา

วัสดุที่ใช้มุงหลังคามีอยู่มากมายหลายแบบ วัสดุมุงหลังคาที่ทำด้วยใบจากก็ยังคงพบเห็นได้ตามชนบท ซึ่งให้ความร่มเงาได้ดี แต่คุ้มกันฝนได้ไม่ดีนัก หลังคาบ้านที่ทำด้วยสังกะสีก็ยังพอพบเห็นได้บ้าง เนื่องจากปลูกสร้างง่าย น้ำหนักเบา และมีราคาถูก แต่จะมีปัญหาเรื่องความร้อน เมื่อถูกแสงแดด และมีเสียงดัง เมื่อฝนตก สำหรับวัสดุมุงหลังคาที่ใช้กันมากในปัจจุบัน จะทำด้วยกระเบื้องเป็นส่วนใหญ่เพราะให้ความสวย งาม คงทน ไม่ติดไฟ และคุ้มแดด คุ้มฝนได้เป็นอย่างดี กระเบื้องมุงหลังคาที่นิยมใช้กับอาคารบ้านเรือนทั่วไป สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

210916-Content-โครงหลังคา-03

1. กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา (concrete roofing tile)

กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา ซึ่งมักจะเรียกกันทั่วไปว่ากระเบื้องโมเนีย เป็นกระเบื้องมุงหลังคา ที่นิยมใช้กันมากโดยเฉพาะบ้านอยู่อาศัยเพราะมีความแข็งแรง ป้องกันความร้อนได้ดี เสียงไม่ดังเวลาฝนตก ให้ความสวยงามเพราะมีให้เลือกหลายสี แต่มีข้อเสียอยู่บ้าง คือ มีน้ำหนักมาก และราคาแพงกว่ากระเบื้องมุง หลังคาชนิดอื่น

2. กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา (asbestos cement roofing tile)

กระเบื้องซีเมนต์ใยหินมุงหลังคา ซึ่งมักจะเรียกกันทั่วไปว่ากระเบื้องลอนคู่ หรือกระเบื้องลูกฟูกลอนเล็ก เป็นกระเบื้องมุงหลังคาที่นิยมใช้กันมากเช่นกัน มีความแข็งแรง และสวยงามน้อยกว่ากระเบื้องคอนกรีต แต่มีน้ำหนักเบาและราคาถูกกว่า มักใช้กับบ้านอยู่อาศัยที่ต้องการประหยัด และเนื่องจากการที่มีน้ำหนักเบากระเบื้องชนิดนี้สามารถใช้กับโครงสร้างของหลังคาขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว้าง ๆ ได้ เช่น อาคารโรงงาน กระเบื้องชนิดนี้ มีขนาดของลอนให้เลือก 2 ขนาด คือ ลอนขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่ากระเบื้องลอนคู่ และลอนขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่ากระเบื้องลูกฟูกลอนเล็ก นอกจากนี้ ยังมีวัสดุมุงหลังคาแบบอื่นอีกที่ผลิตขึ้นเพื่อเน้นคุณสมบัติเฉพาะตัว หรือเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษในการใช้งาน เช่น หลังคาพลาสติกใสเพื่อให้แสงสว่างสามารถผ่านเข้าไปในตัวอาคารได้ หลังคากระเบื้องดินเผา เพื่อเน้นศิลปะเฉพาะตัวแบบโบราณ หรือหลังคาเหล็กเคลือบสี เพื่อลดน้ำหนักของโครงสร้าง เป็นต้น ซึ่งวัสดุมุงหลังคาเหล่านี้ มักมีที่ใช้เฉพาะด้านจึงไม่ค่อยพบเห็นกันมากนัก

ส่วนประกอบของ โครงหลังคา มีอะไรบ้าง?

  • แป หรือระแนง (Batten) ไม้สี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่วางอยู่บนจันทัน เพื่อรองรับกระเบื้องหลังคาประเภทต่างๆ และวางห่างกันตามขนาดของกระเบื้องที่ใช้ โดยวางขนานกับแนวอกไก่
  • จันทัน (Rafter) ส่วนที่วางเอียงลาดไปตามลักษณะของหลังคา พาดอยู่บนอเส และอกไก่ เพื่อรองรับแปสำหรับรับกระเบื้องมุงหลังคา จันทัน มีทั้งที่วางอยู่บนหัวเสา และที่ไม่ได้วางพาดอยู่บนหัวเสา โดยทั่วไปจันทันจะวางเป็นระยะทุก ๆ 1 เมตร โดยระยะห่างของจันทัน จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของวัสดุมุงหลังคา และระยะแปด้วย
  • อกไก่ (Ridge) เปรียบเหมือนคานอยู่บริเวณส่วนกลางของหลังคาทรงจั่วหรือทรงปั้นหยา จะวางพาดอยู่บนดั้งบริเวณสันหลังคา ทำหน้าที่รับน้ำหนักจันทันตามแนวสันหลังคา และทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักจากจันทันทุกตัวทั้ง 2 ด้าน ทำให้ต้องแบกรับน้ำหนักมากเป็นพิเศษ
  • ดั้ง (King Post) โดยปกติอกไก่จะวางอยู่บนเสาของอาคาร แต่ถ้าตำแหน่งของอกไก่วางไม่ตรงกับเสาของอาคาร ก็ต้องมีเสาเสริมขึ้นมารองรับที่เรียกว่า ดั้ง เพื่อคอยทำหน้าที่รองรับอกไก่ทดแทนเสาจริงของอาคาร
210916-Content-โครงหลังคา-04
  • ขื่อ (Tie Beam) หรือเรียกว่า สะพานรับดั้ง สืบเนื่องจากอกไก่ไม่ได้วางอยู่ตำแหน่งที่มีเสามารองรับ จึงต้องอาศัยดั้งเข้ามาแบกรับแทน และทำการถ่ายน้ำหนักต่อไปยังคาน ที่เข้ามาแบกรับดั้งอีกที่หนึ่ง คานที่แบกรับดั้งนี้ เรียกว่า ขื่อ ซึ่งขื่อก็จะทำหน้าที่ถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาอาคารต่อไป
  • อเส (Stud Beam) อเส คือ คานชั้นบนสุดของอาคาร ทำหน้าที่ยึดปลายเสาตอนบนเพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น และถ่ายน้ำหนักโครงหลังคาสู่เสา ทำหน้าที่เปรียบเสมือนคานรัดรอบตัวอาคาร และเป็นคานแบกรับน้ำหนักจากจันทันแต่ละตัวด้วย ขนาดของอเสโดยทั่วไปคำนวณตามความยาวของเสา และพื้นที่หลังคาที่รับน้ำหนัก
  • เชิงชาย หรือทับเชิงชาย หรือทับปั้นลม หรือปิดกันนก และปั้นลม เป็นไม้ที่ใช้ปิดปลายชายคาของจันทันทุกตัวโดยเป็นตัวปรับแนวชายคายึดหัวจันทันให้เป็นแนวตรง สวยงาม และป้องกันการผุเปื่อยของไม้ที่ปลายจันทัน อันเนื่องมาจากถูกแดด หรือฝน ซึ่งแดดหรือฝนนี้ จะทำให้โครงสร้างผุได้ง่าย ทับเชิงชาย หรือทับปั้นลม หรือที่เรียกว่า แผ่นปิดกันนก เป็นไม้ที่ตีทับลงไปบนไม้เชิงชาย หรือปั้นลมอีกครั้งหนึ่ง

หลังคาบ้าน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของบ้าน ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลให้ถูกต้อง และรอบคอบ เพราะหากเกิดปัญหาขึ้น การซ่อมแซมจะค่อนข้างยุ่งยาก หวังว่าบทความนี้ จะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึง โครงหลังคา กันมากขึ้นไม่มากก็น้อย

สามารถอ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: