ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดจากอะไร? พร้อมบอกวิธีป้องกันแบบง่าย ๆ
ไฟไหม้ หรืออัคคีภัย เป็นภัยพิบัติที่ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน และชีวิต ในหลาย ๆ ครั้งที่เราพบข่าวไฟไหม้ตามแหล่งข่าวต่าง ๆ มักจะให้สาเหตุของต้นเพลิงว่า “ไฟฟ้าลัดวงจร” แล้วไฟฟ้าลัดวงจร คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร วิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ทำได้อย่างไร? เพื่อการใช้ไฟฟ้าในบ้านได้อย่างอุ่นใจ ปลอดภัยหายห่วง ตาม KACHA ไปดูพร้อม ๆ กันเลย
ไฟฟ้าลัดวงจร คืออะไร?
ไฟฟ้าลัดวงจร(Short Circuit) คือ การไหลของกระแสไฟฟ้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ที่อยู่นอกวงจรไฟฟ้าตามปกติ โดยแต่ละจุดอาจมีแรงดันไฟฟ้าต่างกัน หรือนำไฟฟ้าในประจุตรงข้ามกัน หรือเป็นสื่อนำไฟฟ้าลงดิน ส่งผลให้เกิดการถ่ายเทพลังงานเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดความร้อนสูง และประกายไฟ ซึ่งนำไปสู่เหตุเพลิงไหม้ในที่สุด
ส่วนไฟดูด หรือไฟฟ้าช็อต คือ คำที่ใช้เรียกเหตุการณ์ไฟฟ้าลัดวงจรเช่นกัน แต่มักจะถูกใช้ในสถาณการณ์ที่มนุษย์ หรือสิ่งอื่นที่ไม่อยู่ในระบบไฟฟ้าไปสัมผัสกับวงจรไฟฟ้าโดยตรง หรือการสัมผัสกับสื่อนำไฟฟ้า อย่างเช่น โลหะ หรือน้ำ ที่กำลังมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ก็จะถูกไฟฟ้าช็อต หรือถูกไฟดูด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
ไฟฟ้าลัดวงจรเกิดจากอะไร?
1.ใช้คัตเอาต์ไฟฟ้าแบบเก่า
แม้ไฟฟ้าลัดวงจร ไม่ได้มีสาเหตุโดยตรงมาจากการใช้คัตเอาต์แบบเก่า แต่คัตเอาต์ประเภทนี้ จะตัด หรือต่อวงจรไฟฟ้าได้ ก็ต่อเมื่อยกขึ้นลงด้วยมือ จึงไม่ตัดการทำงานอัตโนมัติ เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยอย่างยิ่ง
2. ฉนวนสายไฟฉีกขาด
สายไฟทุกเส้น จะมีพลาสติกห่อหุ้มเป็นฉนวน เพื่อไม่ให้ลวดนำไฟฟ้าที่อยู่ภายในสัมผัสกันเอง หรือไปสัมผัสกับสิ่งอื่น หากฉนวนสายไฟฉีกขาด ลวดนำไฟฟ้า อาจไปเสียดสีกับสายไฟ หรือสื่อนำไฟฟ้าอื่นจนเกิดการลัดวงจรได้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
3. เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุด
เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ล้วนมีอายุการใช้งานจำกัด หากเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าเกินไป หรือมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเกิดความผิดปกติจนวงจรไฟฟ้าเสียหาย สิ่งเหล่านี้ ก็อาจนำไปสู่เหตุไฟฟ้าลัดวงจร และเพลิงลุกไหม้ได้ไม่ยาก
4. อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน
อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ ปลั๊กไฟ หรือปลั๊กราง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านตลอดเวลา หากอุปกรณ์เหล่านี้ ไม่มีระบบความปลอดภัย และมาตรฐานในการผลิตที่ดีพอ ก็อาจเกิดอาการปลั๊กไหม้ได้ง่าย ๆ
5. ใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง
การใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น สายไฟเส้นเล็กเกินไป ใช้กระแสไฟผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้ามากเกินไป หรือมีการต่อปลั๊กพ่วงมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ามากเกินรับไหว จนเกิดเป็นความร้อนและลัดวงจรได้ในที่สุด
วิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ทำได้อย่างไร?
1. ใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์
หากบ้านไหนยังใช้คัตเอาต์อยู่ ควรเปลี่ยนมาใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์โดยไว เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เมื่อพบความผิดปกติในวงจรไฟฟ้า ถือเป็นปราการด่านสำคัญ ที่จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากไฟฟ้าลัดวงจร
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : เบรกเกอร์ (Circuit Breaker) คืออะไร? มีกี่ประเภท?
2. เปลี่ยนสายไฟที่เก่าและขาด
เมื่อพบเห็นสายไฟในบ้านเริ่มกรอบ หรือมีรอยฉีกขาด สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การตัดกระแสไฟฟ้าในบริเวณนั้น แล้วเปลี่ยนสายไฟใหม่โดยเร็วที่สุด แต่ถ้ายังมีความจำเป็นต้องใช้สายไฟเดิม ก็ต้องซ่อมแซมด้วยเทปพันเกลียวสายไฟให้แน่นหนาที่สุด
3. ตรวจสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้า
ทุกคนในบ้านต้องเป็นหูเป็นตา หมั่นสังเกตอาการ และตรวจสอบสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า หากมีกลิ่นไหม้ ไฟรั่ว ทำงานผิดปกติ หรือมีสภาพเก่าจนพลาสติกกรอบ ก็ควรเลิกใช้ และซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่มาทดแทน
4. เลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน
อย่าเห็นแก่ปลั๊กรางราคาถูกตามตลาดนัด หรือซื้อปลั๊กพ่วงธรรมดา ที่ไร้ซึ่งระบบความปลอดภัยใด ๆ มาใช้งาน แต่ควรมองหาอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฟิวส์ตัดกระแสไฟฟ้าในตัว และได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) จึงจะปลอดภัยที่สุด
5. เลิกใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง
ก่อนใช้ไฟฟ้า ขอให้สังเกตว่า ปลั๊กรางรองรับการใช้ไฟฟ้าได้สูงสุดกี่วัตต์ และต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ให้เกินวัตต์ที่กำหนดไว้ ส่วนการต่อปลั๊กรางเป็นทอด ๆ หรือต่อปลั๊กพ่วงหลายหัวในเต้าเสียบเดียว ก็ถือเป็นพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่ไม่ควรทำ
เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ต้องทำอย่างไร?
เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนเสมอ คือ การตัดกระแสไฟฟ้าออกจากจุดนั้นให้เร็วที่สุด หากเกิดไฟลุกไหม้ ก็ห้ามสาดน้ำก่อนตัดกระแสไฟฟ้าเด็ดขาด หรือถ้ามีคนถูกไฟดูด ก็ห้ามสัมผัสตัวก่อนตัดกระแสไฟฟ้าเช่นกัน เพราะคนช่วยเหลือ อาจถูกไฟฟ้าช็อตตามได้
หากทุกคนรู้จักใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี มีการป้องกันที่ดีตั้งแต่ระบบเบรกเกอร์หลักของบ้าน และใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน ก็ขอให้อุ่นใจไว้ได้เลยว่า จะไม่มีโศกขนาฏกรรมที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรอย่างแน่นอน แล้วอย่าลืมสังเกตบิลค่าไฟฟ้าที่แพงผิดปกติด้วย เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีไฟฟ้ารั่วอยู่ที่ไหนสักแห่งในบ้านก็เป็นได้ ????????
>>สามารถติดตามบทความต่าง ๆ ของ KACHA ได้ตามนี้เลย<<
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :